ยกระดับคุณภาพการศึกษาอย่างไร : LLEN มีคำตอบ (2)

ยกระดับคุณภาพการศึกษาอย่างไร : LLEN มีคำตอบ  (2)

คำตอบ สำหรับการยกระดับคุณภาพการศึกษาประการที่สอง คือ การเปลี่ยนวิธีพัฒนาหรือการหนุนเสริมคุณภาพครู

โครงการวิจัยและพัฒนาเครือข่ายเชิงพื้นที่เพื่อหนุนเสริมการพัฒนาการเรียนรู้ หรือ Local Learning Enrichment Network (LLEN) ได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบจากการอบรมครูแบบเดิม คืออบรมครูจำนวนมากในระยะสั้นๆ มาเป็นระบบการให้คำชี้แนะ นิเทศ ติดตามดูแล ณ สถานที่ปฏิบัติงาน (site visit) ให้คำปรึกษา (coaching) โดยใช้รูปแบบ/วิธีการหลากหลาย ที่สำคัญคือให้ครูได้เรียนรู้จากการปฏิบัติจริง เข้าใจกระบวนการจัดการความรู้ อีกทั้งมีการทบทวนหลังปฏิบัติการ (After Action Review)

มหาวิทยาลัยต่างๆ ที่ร่วมในโครงการมีทั้งสิ้น 15 แห่ง ใช้หลักการเดียวกันข้างต้น แต่ยุทธศาสตร์/ยุทธวิธีดำเนินงานแตกต่างกันไป

กรณีจังหวัดกำแพงเพชร มหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร ที่มุ่งเน้นการเพิ่มคุณภาพการเรียนรู้ในวิชาวิทยาศาสตร์ระดับมัธยมศึกษา ได้สร้างเครือข่าย “ครูวิทย์เพื่อศิษย์” ครูที่เข้าร่วมโครงการจะพบปะเรียนรู้ร่วมกันเป็นประจำทุกวันเสาร์ที่มหาวิทยาลัย เรียนรู้เทคนิคการจัดการเรียนการสอนต่างๆ จากอาจารย์มหาวิทยาลัยและเพื่อนครูด้วยกัน ที่เน้นเป็นพิเศษ คือ วิธีการเรียนผ่าน “โครงงาน” ครูได้เรียนรู้เสมือนเป็นนักเรียน

จังหวัดนครราชสีมา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ได้ช่วยพัฒนาคุณภาพคุณภาพการเรียนรู้ด้านคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ระดับมัธยมศึกษาตอนปลายของโรงเรียนในสังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครราชสีมา ได้จัดกิจกรรมต่างๆ เพื่อหนุนเสริมคุณภาพครู สลับการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ยุทธศาสตร์ที่ใช้คือ “เมื่อพัฒนาครูรุ่นที่หนึ่งแล้ว ให้ครูรุ่นที่หนึ่งมีส่วนร่วมถ่ายทอดให้แก่ครูรุ่นที่สอง” ควบคู่ไปกับอาจารย์มหาวิทยาลัย

ส่วนกรณีมหาวิทยาลัยมหิดล โดยสถาบันนวัตกรรมการเรียนรู้ได้มุ่งเน้นการยกระดับคุณภาพการเรียนในวิชาวิทยาศาสตร์ระดับมัธยมศึกษาตอนต้นในจังหวัดสมุทรสงคราม ได้ใช้การจัดกิจกรรมเชิงปฏิบัติการเพื่อฝึกให้ครูลงมือทำเอง เสริมทักษะและเทคนิควิธีการต่างๆ ที่ครูต้องการ สลับกับการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ทำให้ครูสามารถสร้างนวัตกรรมทางการเรียนการสอนในหัวข้อต่างๆ ทางวิทยาศาสตร์ได้เอง และที่สำคัญในการจัดกระบวนการเรียนการสอนด้านวิทยาศาสตร์ให้แก่นักเรียนนั้น ได้เชื่อมโยงกับสภาพแวดล้อมและแหล่งเรียนรู้ในท้องถิ่น โดยมีปราชญ์ชาวบ้านและครูภูมิปัญญาเป็นวิทยากรให้ความรู้และคำปรึกษา ทำให้นักเรียนได้เรียนรู้จากสภาพที่เป็นจริงในท้องถิ่น

ที่เชียงใหม่ คณาจารย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้สนใจการหนุนเสริมการเรียนรู้รายวิชาประวัติศาสตร์ในระดับประถมศึกษาปีที่ 4-6 โดยใช้ทุนเครือข่ายต่างๆ ในเชียงใหม่ร่วมดำเนินการ ทำให้โรงเรียนได้พัฒนาหลักสูตรสถานศึกษาวิชาประวัติศาสตร์ นักเรียนได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์ในพื้นที่จริง นอกจากนี้ ยังได้มีการบูรณาการการเรียนวิชาประวัติศาสตร์กับวิชาคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ชีววิทยา ฯลฯ

จากการดำเนินงานที่คณาจารย์จากมหาวิทยาลัยเข้าไปเสริมหนุนคุณภาพการเรียนรู้ มีข้อสังเกตว่า ไม่จำเป็นต้องเป็นอาจารย์จากคณะครุศาสตร์หรือศึกษาศาสตร์อย่างเดียว อาจารย์จากคณะอื่นๆ ก็มีความสามารถและเหมาะสมเช่นกัน เพียงแต่ว่า คณาจารย์เหล่านี้ควรเข้าใจหลักวิธีการจัดการเรียนการสอน (pedagogy) และหลักจิตวิทยาบ้าง

จากผลการดำเนินงานหนุนเสริมครูด้วยวิธีการให้ความรู้ คำแนะนำ การได้ลงมือปฏิบัติจริง การออกเยี่ยมในสถานศึกษาโดยคณาจารย์ ผลลัพธ์ที่เห็นชัดเจน คือ ครูเปลี่ยน นักเรียนเปลี่ยน

ครูเปลี่ยน คือ ครูปรับแนวคิดและมุมมองในการจัดการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง ครูมั่นใจขึ้นเพราะผ่านการปฏิบัติจริงด้วยตนเอง สร้างสื่อและนวัตกรรมเองได้ มีความสุขและศรัทธาในวิชาชีพครูเพิ่มขึ้น ครูที่กำแพงเพชรกล่าวหลังจากเข้าร่วมโครงการว่า “เหมือนกบออกนอกกะลา” ส่วนที่เพชรบุรี ครูกล่าวว่า "ได้คิดนอกกรอบมากขึ้น สอนนอกห้องเรียนได้ และก็เรียนไปพร้อมกับนักเรียน"

สิ่งประดิษฐ์ และผลงานจากโครงงานครูหลายคนถูกคัดเลือกให้นำไปเสนอในที่ประชุมนานาชาติหรือได้รับรางวัลจากการประกวดสื่อ แม้กระทั่งครูบางคนสามารถนำเป็นผลงานไปขอเลื่อนวิทยฐานะได้

แต่รางวัลหรือการได้รับการยกย่องเหล่านี้ไม่สำคัญเท่ากับการเปลี่ยนที่ตัวนักเรียน ที่พบอันดับแรกคือ ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนส่วนใหญ่สูงขึ้น เปรียบเทียบจากคะแนนทดสอบก่อนและหลังเรียน หรือผลจากคะแนนโอเน็ตในหลายโรงเรียนที่สูงขึ้น และการที่ครูเปลี่ยนวิธีการจัดการเรียนการสอน และพฤติกรรม ทำให้นักเรียนมีความสุขในการเรียนเพิ่มขึ้น นักเรียนสนใจมาเรียนมากขึ้น และสนุกกับการเรียนด้วยโครงงาน การเรียนจากแหล่งเรียนรู้นอกห้องเรียน การเข้าค่าย ฯลฯ รวมทั้งได้พบว่า ได้ช่วยพัฒนาทักษะอื่นๆ ที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 อาทิเช่น ทักษะการคิดวิเคราะห์ ทักษะชีวิต ทักษะทางสังคม เช่นการทำงานร่วมกับผู้อื่น รวมทั้งทักษะด้านสารสนเทศ


คำตอบที่ได้จากโครงการวิจัยและพัฒนานี้ยืนยันได้ว่า การพัฒนาครูต้องเปลี่ยนจากเดิม (training แบบไม่มีเป้าหมายชัดเจน และเน้นจำนวนมากๆ ที่เป็น mass) มาเป็นระบบ coaching การให้คำแนะนำ ปรึกษา ด้วยวิธีการที่เหมาะสม จึงจะได้ผล

ดังนั้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่มีจุดหมายในการพัฒนาครูให้ส่งผลถึงนักเรียนได้แท้จริง ควรปรับวิธีการจัดสรรงบประมาณให้ลงไปถึงพื้นที่และสถานศึกษา เอื้อและสนับสนุนให้มีการบริหารจัดการที่ดีในพื้นที่ให้สามารถระดมสรรพกำลังในการยกระดับคุณภาพการเรียนรู้ของเด็กและเยาวชนที่สอดคล้องกับบริบทของพื้นที่ด้วย ดังคำกล่าวของ ศาสตราจารย์ นพ.วิจารณ์ พานิช ที่ว่า “ใช้พลังของการจัดการ ไปสร้างกลไกในการจัดการความร่วมมือและสื่อสารในพื้นที่ และนำไปสู่การใช้พลังความร่วมมือและพลังความรู้”