ยังรอผู้ว่าฯเสมอ... กทม. เมืองแห่งหนังสือโลก 2556

ยังรอผู้ว่าฯเสมอ... กทม. เมืองแห่งหนังสือโลก 2556

อยู่ใกล้อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ไปมาสะดวกที่สุดจากทุกจุดของกรุงเทพฯ ห้องสมุดศูนย์การเรียนรู้ของกรุงเทพมหานคร ซอยพระนาง

ที่นี่มีชุดหนังสือที่พิเศษกว่าห้องสมุดกทม. แห่งไหนๆ ในบรรดา 30 แห่งที่อยู่ในความดูแลรับผิดชอบของ (ผู้ว่าฯ) กทม.

หมายถึง หนังสือ 15,000 เล่ม ที่ นักเขียนรุ่นใหญ่ลายครามและบรรณาธิการผู้เป็นนักอ่านอย่างยั่งยืน อาจินต์ ปัญจพรรค์ ในวัย 85 ปี ร่วมกับคู่ชีวิต แน่งน้อย ปัญจพรรค์ ได้ยกมรดกหนังสือส่วนตัว ให้ไว้ ทุกวันนี้ ทั้งสอง ยังอ่านหนังสือ ซื้อหนังสือ และ ยังรับหนังสือที่มีผู้ส่งมาให้อ่าน “เข้าบ้าน” อยู่เสมอทุกวันมิได้ขาด

“ห้องหนังสืออาจินต์” อยู่บนชั้น 3 ชั้นสูงสุดของอาคาร มีงานเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อปลายเดือนธันวาคม ที่ผ่านมา หลายสัปดาห์ให้หลัง ได้ตั้งใจไปเยี่ยมชมคนเดียวเงียบๆ แบบเดียวกับเมื่อตั้งใจไปชมภาพเขียนหลังวัน เปิดงาน เพื่อจะได้พินิจพิศชมในความสงบที่ในวันเปิดงานไม่ค่อยจะอำนวยเท่าไรนัก

ขณะนั้นเป็นเวลาเกือบ 11 โมง วันพุธ มีผู้มาใช้ห้องนั่งอยู่แล้วสิบกว่าคน บรรยากาศในห้องโปร่งสบาย มีแสงสว่างเต็มที่ เก้าอี้ที่นั่งคงไม่พอหากมีคนมาใช้ห้องนี้เกิน 30-40 คนพร้อมๆ กัน เว้นแต่จะนั่งบนพื้นหรือไปให้ห้องอื่น นักอ่านผู้เที่ยวไปชมห้องสมุดกทม. มาแล้วเกือบจะทั้ง 30 แห่งคนหนึ่ง กระซิบว่า ห้องสมุด ของ กทม. แห่งซอยพระนางนี่แหละที่ “ไฮโซ” ที่สุด หมายความว่า อยู่ในสภาพดี ทันสมัย น่าใช้ น่านั่ง โดยที่ส่วนตัวผู้เขียน ยังรู้สึกว่าห้องสมุดกทม. ในสวนลุมพินี ที่เคยไป น่าจะ “ไฮโซ” กว่า ในแง่นี้ คือ มีเก้าอี้นั่งสบายอยู่มากกว่าแน่นอน มีเทคโนโลยีไอทีเพื่อการอ่านมากกว่า เป็นต้น

จะอย่างไรก็ดี วันนั้น ตั้งใจไปดูหนังสือของ อาจินต์ ปัญจพรรค์ ไม่ใช่ไปจัดอันดับ “ไฮโซ” ของห้องสมุดกทม.

กว่าจะรู้ตัวว่าได้ใช้เวลาไปกับการ เดิน “ดู” หนังสือ ก็ใช้เวลาไปแล้วกว่าชั่วโมง เป็นการ “ดู” จริงๆ ราวกับว่าไปชมภาพหรือสิ่งของ มือไม่ได้เอื้อมไปหยิบจับเล่มไหนที่วางอยู่บนชั้นแบบเปิด คือ ส่วนที่ให้หยิบได้เอง ออกมาอ่านเลย ได้แต่เดินไปหยุดชมอยู่ตรงหน้าตู้ชั้นหนังสือตู้แล้วตู้เล่า อย่างไม่ได้ตั้งใจมาก่อนว่าจะทำอย่างนี้


เป็นความรู้สึกที่แปลกมาก ที่เมื่อเห็นหนังสือชุดเดียวกับที่เราก็มี หลายสำนวนแบบเดียวกัน เช่น สามก๊ก มีทั้งฉบับวณิพกที่คนทั่วไปนิยมอ่าน ทั้งฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) ที่นักเรียนอักษรศาสตร์ต้องเรียน แต่มองไปที่ชั้นหนังสือของ “อาจินต์” แล้ว กลับไม่รู้สึกเลยว่าเหมือนหนังสือของเรา ทั้งๆ ที่หน้าตาสันหนังสือ ปกหนังสือ เหมือนกันกับของเราทุกอย่าง

ในความรู้สึกตลอดเวลาขณะนั้นก็คือ นั่นเป็นหนังสือของ อาจินต์ ปัญจพรรค์ เป็นชิ้นเดียวในโลก ไม่เหมือนของเราหรือของใคร แม้จะชื่อเรื่องเดียวกัน พิมพ์ครั้งเดียวกันก็ตาม ราวกับว่าเช่นเดียวกับปากกาด้ามหนึ่ง เก้าอี้ตัวหนึ่ง หมวกใบหนึ่ง ฯ ที่มิได้ทำขึ้นชิ้นเดียว แต่เมื่อได้เป็นของของคนคนหนึ่ง และคนคนนั้นเป็นคนพิเศษ มีคนเดียวในโลก ของชิ้นนั้นก็จึงเป็น “ของพิเศษ” ชิ้นเดียวในโลกขึ้นมาในความรู้สึก แบบเดียวกับเวลาไปพิพิธภัณฑ์ ชมเครื่องใช้สิ่งของของบุคคลสำคัญคนเดียวคนนั้นในโลก ที่เราต้องการรู้จักและชื่นชม

ยิ่งเล่มไหนของ อาจินต์ ปัญจพรรค์ อยู่ในตู้กระจก ยิ่งไปยืนหยุด “ชม” อยู่อย่างนั้น โดยไม่นึกอยากขอให้เปิดตู้เพื่อหยิบจับเปิดอ่านดูแบบเป็นหนังสือทั่วไปแต่อย่างใด

“ชม” อยู่อย่างนั้นเป็นนาน ในใจประหวัดนึกอยู่ตลอดเวลากับตัวเองว่า เล่มนี้ชุดนี้ของ “อาจินต์” เราก็มี เล่มนี้ชุดนี้ของ “อรชร” ของ “พนมเทียน” สมัยเราอยู่ประถม 7 เคยยืมจากห้องสมุดประชาชน ของเมืองพะเยา มาอ่าน อ้อ หนังสือแปลเล่มนี้ “อาจินต์” ก็มีหรือ เรื่องสั้นชุด เหมืองแร่ ฉบับตีพิมพ์ครั้งแรกๆ ที่เราไม่เคยเห็นหน้าตาเป็นอย่างนี้นี่เอง นั่นไง นิตยสาร ฟ้าเมืองไทย ที่เราเคยติดงอมแงม ฯลฯ

กว่าจะหยิบเล่มหนึ่งมาดูเพื่อพลิกๆ อ่านว่าเป็นเรื่องอะไร ก็คือหนังสือเก่าเล่มบางๆ หน้ากระดาษเหลืองไปหมดแล้ว บางแผ่นทำท่าจะร่วง ชื่อเรื่อง ชีวิตรักเจ้าเชียงใหม่ ผู้แต่งคือ คุณปราณี ศิริธร ณ พัทลุง พิมพ์ พ.ศ. 2523 มีเรื่องชีวิตรักของสาวพม่า มะเมี๊ยะ ที่เป็นตำนานให้กับเพลงชื่อนี้ ของจรัล มโนเพ็ชร อันโด่งดังและคนจำนวนมากรวมทั้งผู้เขียน ก็ออกจะเชื่อว่าเป็นเรื่องจริง จนกระทั่งเมื่อเร็วๆ นี้ สมฤทธิ์ ลือชัย ท้าทายให้มองใหม่ด้วยการสืบค้นใหม่ นับว่าเป็นโชคที่เดินมาชนหนังสือเล่มนี้ แน่ใจว่าถึงจะรู้ชื่อเรื่องมาก่อนและตั้งใจหา ก็คงยากและอาจไม่พบแล้วในห้องสมุดทั่วๆ ไป

หากห้องสมุด 30 แห่งของ กทม. และทุกแห่งในทุกอำเภอทุกจังหวัด มี “คนพิเศษ” และกลุ่มคนบางกลุ่มได้ช่วยกันทำให้ห้องสมุดได้มี ความพิเศษ อย่างหนึ่งอย่างใดขึ้นมา อย่างเช่นห้องสมุดศูนย์การเรียนรู้ ซอยพระนาง มีห้องหนังสืออาจินต์ เน้นด้านวรรณกรรม บางแห่งมีห้องนักเขียนในท้องที่ บางแห่งมีต้นฉบับการ์ตูนของนักการ์ตูนมีชื่อเสียง ฯลฯ เราก็จะมีห้องสมุดที่มีค่ามีความหมายขึ้นมาอีกมากมายหลายแห่ง มีจิตวิญญาณที่พิเศษกว่าบรรดาห้องสมุดทั้งหลายที่ว่า "มีชีวิต" นั้น

สำคัญกว่าการเป็นที่อ่านหนังสือ ห้องสมุด ต้องเป็นที่สร้างแรงบันดาลใจให้เกิดการอ่านโดยวิธีใดวิธีหนึ่งด้วย กรุงเทพมหานครที่ได้รับเลือกจากยูเนสโกให้เป็น เมืองหนังสือแห่งโลก พ.ศ. 2556 ก็เพื่อสร้างแรงบันดาลใจและการลงมือทำให้เกิดการอ่านอย่างกว้างขวาง ในประเทศไทยที่ คนอ่านหนังสือน้อย ไม่เฉพาะในเมืองหลวง

ยังรออยู่เสมอ ผู้ว่าฯ กทม. และ การประกาศรับรองผลการเลือกตั้งกรุงเทพมหานคร เมืองหนังสือโลก พ.ศ. 2556 ได้เริ่มขึ้น และ ต้องออกเดินหน้าสุดกำลังแล้ว