เป็น AEC แล้ว จะตอบโต้การอุดหนุน ทุ่มตลาดหรือใช้มาตรการปกป้องได้หรือไม่

เป็น AEC แล้ว จะตอบโต้การอุดหนุน ทุ่มตลาดหรือใช้มาตรการปกป้องได้หรือไม่

ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (Asean Economic Community : AEC) มีกำหนดเปิดในวันที่ 31 ธันวาคม 2558 เมื่อเปิดแล้ว

อาเซียนจะเป็นตลาดและฐานการผลิตเดียว (Single Market and Production Base) สามารถ เคลื่อนย้ายสินค้า บริการ การลงทุน คนงานที่มีฝีมือ และ เงินทุนภายในอาเซียนได้ อย่างเสรี โดยผ่านกลไกความตกลงทางการค้าภายใต้ความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน AFTA ความตกลงที่ใช้อยู่ในปัจจุบันคือ ASEAN TRADE IN GOODS AGREEMENT : ATIGA โดย ประเทศสมาชิกจะต้องยกเลิกหรือลดภาษีศุลกากรลงตามเป้าหมายที่กำหนด และยกเลิกมาตรการที่ไม่ใช่ภาษี (Non Tariff Barriers) ที่เป็นการจำกัดการนำเข้าไม่ว่ารูปแบบใดๆ สำหรับสินค้าที่มีถิ่นกำเนิดในประเทศอาเซียนให้หมดไป

เมื่ออาซียนเป็นตลาดและฐานการผลิตเดียวและสามารถเคลื่อนย้ายสินค้าได้อย่างเสรีแล้ว มีคำถามตามมาว่า ประเทศสมาชิกยังจะสามารถต่อต้านการทุ่มตลาดหรือตอบโต้การอุดหนุน หรือใช้มาตรการปกป้อง (Safeguard Measures) สำหรับสินค้าที่มีถิ่นกำเนิดจากประเทศอาเซียนได้หรือไม่

การทุ่มตลาด (Dumping) ความหมายโดยสรุปคือ การส่งสินค้าเข้าไปขายในประเทศอื่นในราคาที่ถูกกว่าที่ขายในประเทศผู้ผลิตหรือผู้ส่งออกเองการทุ่มตลาดอาจเกิดขึ้นเพราะผู้ผลิตหรือผู้ส่งออกในประเทศหนึ่งมีสต๊อกสินค้าคงเหลือมาก ต้องการระบายสต๊อก หรือต้องการแย่งส่วนแบ่งตลาดในประเทศอื่น จึงส่งสินค้านั้นไปขายในราคาที่ถูกกว่าที่ขายในประเทศของตน ซึ่งอาจก่อให้เกิดผลเสียหายต่อผู้ผลิตสินค้าชนิดเดียวกันในประเทศที่นำเข้าเช่น ทำให้ขายสินค้าไม่ได้ หรือต้องลดราคาขายลง มีผลกระทบที่อาจต้องลดกำลังการผลิต หรือไม่สามารถขยายกิจการให้เจริญขึ้น ต้องลดจำนวนคนงาน หรือต้องเลิกกิจการไปในที่สุด

ส่วนการอุดหนุน (Subsidies) คือการที่รัฐบาลโดยหน่วยงานของรัฐให้การสนับสนุนทางด้านการเงิน หรือเพิ่มรายได้ หรือช่วยลดค่าใช้จ่าย ในรูปแบบต่างๆ แก่ผู้ผลิตหรือผู้ส่งออกสินค้าในประเทศผู้ผลิตหรือผู้ส่งออก ซึ่งจะทำให้การผลิตหรือการส่งออกสินค้านั้นสินค้านั้นได้เปรียบ มีต้นทุนต่ำลง ผู้ผลิตหรือผู้ส่งออกในประเทศนั้น จึงสามารถ เสนอขายสินค้านั้นในราคาที่ต่ำกว่าผู้ผลิตสินค้าชนิดเดียว กันในประเทศผู้นำเข้าหรือจากประเทศอื่น ซึ่งอาจก่อให้เกิดผลเสียหายต่อผู้ผลิตสินค้าชนิดเดียวกันในประเทศที่นำเข้า คล้ายกับการทุ่มตลาด

สำหรับการใช้มาตรการปกป้อง จะเกิดขึ้นเมื่อมีการนำเข้าสินค้าชนิดใดชนิดหนึ่งเข้ามาในช่วงเวลาหนึ่งเป็นปริมาณมาก และมีผลกระทบต่อผู้ผลิตภายในยังไม่สามารถปรับตัวรองรับการแข่งขันได้ ประเทศผู้นำเข้าจำเป็นต้องใช้มาตรการปกป้องโดยการจำกัดปริมาณนำเข้า หรือขึ้นอากรขาเข้าในช่วงเวลาหนึ่ง เป็นมาตรการชั่วคราว เพื่อให้ผู้ผลิตปรับตัวรับการแข่งขันได้

ความตกลงว่าด้วยภาษีศุลกากรและการค้า (General Agreement on Tariffs and Trade (GATT1947)) หรือเป็น GATT 1994 ในปัจจุบัน ถือว่าการทุ่มตลาดและการอุดหนุนเป็นการค้าที่ไม่เป็นธรรม ในข้อ 6 ของความตกลงจึงบัญญัติให้ประเทศภาคีคู่สัญญาสามารถต่อต้านการทุ่มตลาดหรือตอบโต้การอุดหนุน ที่ก่อให้เกิดหรือคุกคามให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงแก่อุตสาหกรรมภายในของภาคีคู่สัญญา ด้วยการเรียกเก็บอากรต่อต้านการทุ่มตลาดไม่เกินส่วนเหลื่อมการทุ่มตลาดหรืออากรตอบโต้การอุดหนุนไม่เกินส่วนที่ได้รับการอุดหนุนได้ ทั้งนี้ในเรื่องการอุดหนุน ข้อ 16 บัญญัติว่าภาคีคู่สัญญาต้องยุติการอุดหนุนการส่งออกทั้งทางตรงและทางอ้อม ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2501 ในส่วนมาตรการปกป้องได้บัญญัติไว้ในข้อ 19 การดำเนินการฉุกเฉินต่อการนำเข้าผลิตภัณฑ์บางประเภท

เมื่อจัดตั้งองค์การการค้าโลกใน ปี พ.ศ. 2537 ได้มีการจัดทำความตกลงว่าด้วยการปฏิบัติตามข้อ 6 ของความตกลงทั่วไปว่าด้วยภาษีศุลกากรและการค้า 1994 (Agreement on Implementation of Article 6 of the General Agreement on Tariffs and Trade 1994) กำหนดขั้นตอนการพิจารณาดำเนินการเพื่อต่อต้านการทุ่มตลาด และความตกลงตอบโต้การอุดหนุน (Agreement on Subsidies and Countervailing Measures) กำหนดขั้นตอนการพิจารณาดำเนินการเพื่อตอบโต้การอุดหนุน และ ความตกลงว่าด้วยมาตรการปกป้อง (Agreement on Safeguard) กำหนดขั้นตอนการพิจารณากำหนดมาตรการปกป้อง ทั้งนี้หากประเทศสมาชิกจะออกออกกฎ หรือตรากฎหมายภายในเพื่อการดำเนินการในเรื่องดังกล่าว กฎหรือกฎหมายนั้นต้องสอดคล้องกับความตกลงดังกล่าวด้วย

ประเทศไทยได้ตราพระราชบัญญัติ การตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุนซึ่งสินค้าจากต่างประเทศ พ.ศ. 2542 ออกใช้บังคับในปี พ.ศ. 2542 และตราพระราชบัญญัติมาตรการปกป้องการนำเข้าสินค้าที่เพิ่มขึ้น พ.ศ. 2550 ออกใช้ในบังคับในปี พ.ศ. 2550 ซึ่งองค์การการค้าโลกก็ได้พิจารณาและให้ความเห็นรับรองแล้วว่า พระราชบัญญัติ การตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุนซึ่งสินค้าจากต่างประเทศ พ.ศ. 2542 และพระราชบัญญัติมาตรการปกป้องการนำเข้าสินค้าที่เพิ่มขึ้น พ.ศ. 2550 มีบทบัญญัติที่สอดคล้องกับ ความตกลงว่าด้วยการปฏิบัติตามข้อ 6 ของความตกลงทั่วไปว่าด้วยภาษีศุลกากรและการค้า 1994 ความตกลงว่าด้วยการอุดหนุนและมาตรการตอบโต้ และความตกลงว่าด้วยมาตรการปกป้อง

ตามบทบัญญัติของความตกลงว่าด้วยการค้าภายใต้ เขตการค้าเสรีอาเซียน AFTA ฉบับที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบันคือ ASEAN TRADE IN GOODS AGREEMENT : ATIGA หมวดว่าด้วยการเยียวยาทางการค้า มาตรา 86 ว่าด้วยมาตรการปกป้อง บัญญัติว่า ประเทศสมาชิกประชาคมอาเซียนที่เป็นภาคีสมาชิกขององค์การการค้าโลกยังคงไว้ซึ่งสิทธิและหน้าที่ภายใต้มาตรา 19 ของแกตต์ 1994 และ ความตกลงว่าด้วยมาตรการปกป้องหรือมาตรา 5 ของความตกลงว่าด้วยสินค้าเกษตร และในมาตรา 86 ว่าด้วยการต่อต้านการทุ่มตลาดและตอบโต้การอุดหนุน ได้บัญญัติว่า ประเทศสมาชิกยืนยันสิทธิและหน้าที่ระหว่างสมาชิกอันเกี่ยวกับการใช้มาตรการต่อต้านการทุ่มตลาดตามมาตรา 6 ของแกตต์ 1944 และความตกลงว่าด้วยการปฏิบัติตามข้อ 6 ของความตกลงทั่วไปว่าด้วยภาษีศุลกากรและการค้า 1994 และการใช้มาตรการตอบโต้การอุดหนุนภายใต้มาตรา 19 ของแกตต์ 1994 และความตกลงว่าด้วยการอุดหนุนและมาตรการตอบโต้

ตามบทบัญญัติของความตกลงATIGA ดังกล่าว ประเทศสมาชิกอาเซียนสามารถใช้มาตรการต่อต้านการทุ่มตลาด หรือตอบโต้การอุดหนุน หรือใช้มาตรการปกป้อง ที่สอดคล้องกับบทบัญญัติของแกตต์และความตกลงภายใต้องค์การการค้าโลก สำหรับการนำเข้าสินค้าที่มีถิ่นกำเนิดจากประเทศสมาชิกอาเซียนได้ ไม่ว่า ก่อนหรือหลังการเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน

ดังนั้น ในส่วนของไทย หากมีการนำสินค้าทุ่มตลาดหรืออุดหนุนที่มีถิ่นกำเนิดในอาเซียนเข้ามาในประเทศไทย และก่อให้เกิดหรือคุกคามให้เกิดความเสียหายต่อผู้ผลิตภายใน หรือมีการนำเข้าสินค้าชนิดหนึ่งชนิดใดที่มีถิ่นกำเนิดจากอาเซียนเข้ามาในช่วงหนึ่งช่วงใดเป็นจำนวนมาก และมีผลกระทบถึงผู้ผลิตภายในยังปรับตัวรองรับการแข่งขันไม่ได้ ไม่ว่าก่อนหรือหลังการเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ก็สามารถดำเนินการตามพระราชบัญญัติ การตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุนซึ่งสินค้าจากต่างประเทศ พ.ศ. 2542 หรือพระราชบัญญัติมาตรการปกป้องการนำเข้าสินค้าที่เพิ่มขึ้น พ.ศ. 2550 เพื่อคุ้มครองผู้ผลิตภายในประเทศได้