ต่างชาติไม่ชอบหุ้นไทยแล้วจริงหรือ?

ต่างชาติไม่ชอบหุ้นไทยแล้วจริงหรือ?

สวัสดีครับท่านผู้อ่านทุกท่าน พบกันเช่นเคยทุกวันพุธที่สามของเดือน

ท่านผู้อ่านที่ไม่ได้ติดตามตัวเลขการซื้อขายหุ้นของต่างชาติอย่างใกล้ชิด คงสงสัยว่าทำไมผมถึงตั้งคำถามของบทความในวันนี้ของผมแบบนี้ เพราะที่ผ่านมา ดูเหมือนว่านักลงทุนต่างชาติน่าจะชื่นชอบตลาดหุ้นไทยเป็นอย่างดี เพราะนอกจากตลาดหุ้นไทย จะให้ผลตอบแทนเป็นอันดับหนึ่งในเอเชียในปีที่ผ่านมา มาปีนี้ SET ก็ยังคงปรับตัวขึ้นมากกว่าทุกตลาดหุ้นในเอเชีย (ไม่รวมญี่ปุ่น) ถ้าเทียบกับตลาดหุ้นทั่วโลก เรายังคงอยู่ในอันดับ Top Three ในด้านผลตอบแทนเหมือนกับเมื่อปีที่แล้ว

แต่ที่ผมต้องตั้งคำถามแบบนี้ เป็นเพราะตัวเลขการขายสุทธิของนักลงทุนต่างชาติในเดือนก.พ.ที่ผ่านมา สูงถึง 17,000 ล้านบาท ทำให้ตลอดเกือบ 3 เดือนนับจากต้นปี มีตัวเลขซื้อสุทธิของนักลงทุนต่างชาติ เพียงแค่ 7,500 ล้านบาท หรือประมาณ 250 ล้านดอลลาร์เท่านั้น ซึ่งต่ำกว่าเม็ดเงินกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์ ที่ไหลเข้าไปยังตลาดหุ้นฟิลิปปินส์ และ อีกเกือบ 2,000 ล้านดอลลาร์ ที่เข้าไปลงทุนในตลาดหุ้นอินโดนีเซีย ในช่วงเวลาเดียวกัน

ถ้าคิดในเชิงบวกแบบง่ายๆ การขายของต่างชาติในเดือนที่แล้ว ไม่น่าจะมีอะไรมากไปกว่าการปรับพอร์ตการลงทุน เพื่อรักษาน้ำหนักของตลาดหุ้นไทยไม่ให้สูงเกินกว่าระดับที่ต้องการ การที่ตลาดหุ้นไทยเป็น Outperformer หรือปรับขึ้นมากกว่าทุกตลาดในเอเชียในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา ส่งผลทำให้สัดส่วนของหุ้นไทยในพอร์ตการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติเพิ่มขึ้นโดยอัตโนมัติ ตัวอย่างเช่น ถ้าเดิมนักลงทุนมีน้ำหนักหุ้นไทยอยู่ที่ 10% ของพอร์ต เวลานี้สัดส่วนของหุ้นไทยในพอร์ตอาจจะเพิ่มขึ้นเป็น 15% เพราะราคาหุ้นไทยขึ้นมากกว่าหุ้นประเทศอื่น สมมุตินักลงทุนรายนั้นต้องการรักษาระดับของหุ้นไทยไว้ไม่ให้เกิน 12% ก็จำเป็นต้องมีการขายหุ้นไทยออกมาบางส่วน นี่อาจจะเป็นเหตุผลหนึ่งของการขายหุ้นในช่วงที่ผ่านมา

ถ้าจะดูกันแบบลึกลงไปอีกหน่อย ต้องเอาตัวเลขซื้อขายของนักลงทุนต่างชาติในเดือนที่แล้วมาแกะดูว่า เขาขายหุ้นในกลุ่มไหนออกมามากเป็นพิเศษ เพื่อจะได้วิเคราะห์หาสาเหตุของการขายในรอบนี้ จากการคำนวณของผมพบว่า Sector ที่มีแรงขายของต่างชาติมากที่สุดในเดือนที่แล้วคือ Property มียอดขายสุทธิเกือบ 12,000 ล้านบาท รองลงมาคือ Commerce ขายสุทธิ 9,000 ล้านบาท ตามด้วย ICT ขายสุทธิอีกเกือบ 5,000 ล้านบาท ขณะที่ด้านซื้อสุทธิจะเป็น Banking และ Energy ที่มียอดซื้อสุทธิรวมกันอยู่ที่ประมาณ 6,000 ล้านบาท ตามด้วย Food ซื้อสุทธิอีกประมาณ 1,500 ล้านบาท

การได้เห็นตัวเลขชัดเจนแบบนี้ น่าจะเริ่มเห็นภาพแล้วว่า อะไรเป็นสาเหตุของการขายหุ้นอย่างหนักในเดือนก.พ. หุ้นที่ถูกขายโดยต่างชาติส่วนใหญ่จะอยู่ในกลุ่มที่เป็น Significant Outperformer หรือมีการปรับขึ้นของราคาหุ้นสูงกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดมาก เช่น Property Sector ปรับขึ้นถึงกว่า 120% ใน 12 เดือนที่ผ่านมา มากกว่า SET Index ที่ปรับขึ้น 34% ถึงเกือบ 4 เท่า หรือ Commerce ที่ราคาหุ้นเพิ่มขึ้นเกือบ 200% ในช่วง 2 ปีนี้ และหุ้นส่วนใหญ่ในกลุ่มนี้ ซื้อขายกันที่ค่า Forward P/E ที่สูงกว่าตลาดค่อนข้างมากที่ 25-35 เท่า รวมถึง ICT ที่ปรับขึ้นเกือบ 150% ใน 2 ปี ดูเหมือนว่าราคาหุ้นส่วนใหญ่จะสะท้อนข่าวดีเรื่อง 3G มากแล้ว การที่แรงขายส่วนใหญ่ของนักลงทุนต่างชาติอยู่ในหุ้นกลุ่มที่เป็น Significant Outperformer และกลุ่มที่เริ่มมี Valuations ที่ดูแพง เป็นเรื่องที่ไม่น่ากังวล เพราะนี่เป็นวิธีการปกติของการบริหารพอร์ตลงทุน ไม่ใช่สัญญาณว่าเขาไม่ชอบประเทศไทยแล้ว

ทีนี้เรามาลองดูฝั่งซื้อบ้าง จะเห็นว่าทั้ง 3 กลุ่มที่ต่างชาติซื้อเข้าพอร์ต เป็นกลุ่มที่ราคาหุ้นยังปรับขึ้นไม่มากนัก และไม่ได้ Outperform ตลาดมากมายเช่น Banking และกลุ่มที่เป็น Significant Underperformer เช่น Energy ที่ราคาหุ้นไม่ได้ปรับขึ้นเลยในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา รวมไปถึง Food ที่ราคาปรับขึ้นเพียง 24% ซึ่งต่ำกว่า SET Index พอสมควร

สรุปง่ายๆ คือการขายของต่างชาติรอบนี้ เป็นเพียงการ Take Profit ในหุ้นที่ได้กำไรมาก และหุ้นที่เขาอาจจะดูว่าเหลือ Upside ไม่มาก และย้ายเงินเข้ามาลงทุนในหุ้นราคาถูกและหุ้นที่ Underperform การที่นักลงทุนต่างชาติ ยังคงซื้อหุ้นธนาคารพาณิชย์ถือเป็นสัญญาณที่ดี เพราะหมายความว่า เขายังไม่ได้หมดความเชื่อมั่นประเทศไทย เพราะถ้าเป็นอย่างนั้นคงไม่กล้าซื้อหุ้นธนาคาร หรือ หุ้นขนาดใหญ่ในกลุ่ม Energy

ที่ค่อนข้างน่าสนใจคือ ถ้าดูตัวเลขการซื้อขายของนักลงทุนต่างชาติสะสมตั้งแต่ต้นปี (Year-to-Date) กลุ่มที่มียอดซื้อสุทธิ เป็นอันดับแรกคือ ICT (ซื้อสุทธิ 16,000 ล้านบาท) ไม่ใช่ Banking แสดงว่ายังมีต่างชาติอีกมากที่เชื่อว่ายังเหลือ Upside อีกเยอะในหุ้นกลุ่มนี้ ตามด้วย Banking (ซื้อสุทธิ 15,000 ล้านบาท) และ Energy (ซื้อสุทธิ 11,000 ล้านบาท) ขณะที่ฝั่งขายสุทธิอันดับต้นๆ ยังคงเป็น Property (ขายสุทธิ 17,000 ล้านบาท) และ Commerce (ขายสุทธิ 12,000 ล้านบาท)

จริงๆ แล้วตัวเลขเหล่านี้ สอดคล้องกับมุมมองของต่างชาติที่ผมได้พบที่ฮ่องกงเมื่อ 3 สัปดาห์ที่ผ่านมา ที่ผมได้มีโอกาสร่วมไปกับคณะของนายกรัฐมนตรี และรองนายกฯ กิตติรัตน์ ณ ระนอง ในการเยือนฮ่องกงอย่างเป็นทางการ และนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับเศรษฐกิจและตลาดทุนไทย ให้กับนักลงทุนที่นั่นได้รับทราบ รวมไปถึงนักลงทุนในลอนดอนที่ผมได้เดินทางไปพบเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เกือบทั้งหมดของนักลงทุนที่ผมได้พบในทั้ง 2 ที่ ยังคงมีมุมมองที่เป็นบวกต่อตลาดหุ้นไทย และจะสอบถามถึงเรื่องความคืบหน้าของโครงการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานมูลค่า 2 ล้านล้านบาทเป็นหลัก โดยประเด็นที่นักลงทุนให้ความสนใจมากที่สุดก็คือ:

1.เงินที่จะใช้ลงทุนในโครงการนี้จะมาจากที่ไหน ซึ่งท่านรองนายกฯ ก็ได้ตอบอย่างชัดเจนว่าส่วนหนึ่งจะมาจากการกู้ในประเทศ และอีกส่วนหนึ่งจะมาจากภาคเอกชนจากนโยบาย PPP

2.การลงทุนมากขนาดนี้จะทำให้ต้องมีการก่อหนี้อย่างมากมายหรือไม่ ซึ่งทางผู้อำนวยการสำนักบริหารหนี้สาธารณะก็ยืนยันว่าระดับหนี้จะไม่เกิน 50% ของ GDP อย่างแน่นอน

3.จะมีมาตรการใดหรือไม่ที่จะนำมาใช้เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการล่าช้าในการดำเนินโครงการนี้ ซึ่งท่านรองนายกฯ ก็รับปากว่าจะดูแลให้เกิดขึ้นตามแผนที่วางไว้ให้ได้ และการที่ภาครัฐออกข่าวอย่างต่อเนื่องก็เป็นเหมือนการผูกมัดไปโดยปริยายว่าจะต้องทำให้ได้ตามแผน

นอกจากเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน นักลงทุนกลุ่มนี้ยังให้ความสนใจเป็นพิเศษกับแนวโน้มเงินเฟ้อของไทย รวมไปถึงนโยบายการเงินของแบงก์ชาติอีกด้วย โดยส่วนตัวแล้ว ผมยังคงมีมุมมองที่เป็นบวกกับตลาดหุ้นไทย และยังเชื่อเหมือนเดิมว่าก่อนที่ Equity Supercycle รอบนี้จะจบลง มีโอกาสสูงมากที่เราจะได้เห็น SET Index ทำสถิติ New High ใหม่ที่เกิน 1,800 จุด

พบกันใหม่เดือนหน้าครับ สวัสดี