ชนวนความขัดแย้งรุนแรงที่กำลังจะเกิดขึ้น

ชนวนความขัดแย้งรุนแรงที่กำลังจะเกิดขึ้น

สมมุติว่า ในอนาคต พรรคเพื่อไทยหาเสียงโดยการโจมตีสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์บางคนว่า “สั่งฆ่าประชาชน”

พรรคประชาธิปัตย์จะร้องต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งหรือไม่ว่าพรรคเพื่อไทย “หาเสียงโดยการใส่ร้าย” ? เช่นเดียวกันกับที่ขณะนี้ ทนายความของพรรคเพื่อไทยได้ทำเรื่องร้องต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งในกรณีการเลือกตั้งผู้ว่ากรุงเทพมหานครที่เพิ่งจบสิ้นไป โดยผู้สมัครของพรรคประชาธิปัตย์ อันได้แก่ ม.ร.ว. สุขุมพันธ์ บริพัตร เป็นผู้ชนะการเลือกตั้ง ในกรณีการหาเสียงโจมตีผู้สมัครของพรรคเพื่อไทยอันได้แก่ พลตำรวจเอก พงศพัศ พงศ์เจริญ ภายใต้วาทกรรม “เผาบ้านเผาเมือง” หากคณะกรรมการการเลือกตั้งหรือหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบตัดสินคำร้องของพรรคเพื่อไทยมีความเห็นว่า การหาเสียงของพรรคประชาธิปัตย์ไม่ผิดกติกาใดๆ แน่นอนว่า ในอนาคตข้างหน้า พรรคเพื่อไทยก็ย่อมมีสิทธิ์ที่จะเดินหน้าใช้วาทกรรม “ฆ่าประชาชน” หาเสียงได้เช่นกัน

ประเด็น “เผาบ้านเผาเมือง” และประเด็น “สั่งฆ่าประชาชน” เป็นประเด็นความขัดแย้งทางการเมืองระดับชาติ และยังอยู่ในกระบวนการยุติธรรมอยู่ พูดง่ายๆ ก็คือ ยังไม่สามารถตัดสินชี้ขาดลงไปได้ว่า เหตุการณ์เดือนเมษา-พฤษภาคม พ.ศ. 2553 นั้น ใครบ้างเป็นฝ่ายผิด ดังนั้น พรรคการเมืองที่เป็นคู่ขัดแย้งก็ไม่ควรที่จะดึงประเด็นที่ยังไม่ยุติลงมาเล่นอย่างที่เพิ่งเกิดขึ้นไปในการเลือกตั้งผู้ว่ากรุงเทพฯที่ผ่านไป เพราะเมื่อดึงประเด็นดังกล่าวนี้มาใช้หาเสียง ก็ลงเอยที่มีการร้องเรียนอย่างกำลังเกิดขึ้นขณะนี้ และยากที่จะหาข้อยุติที่ไม่เกิดวิกฤตความรุนแรงตามมา

จินตนาการว่า หากมีการตัดสินที่นำไปสู่การประกาศว่า การเลือกตั้งผู้ว่าฯที่ผ่านมาเป็นโมฆะ คนกรุงเทพฯจำนวนล้านสองแสนที่ลงคะแนนให้ ม.ร.ว. สุขุมพันธ์คงไม่สามารถยอมรับได้ ในขณะที่คนกรุงเทพฯอีกล้านต้นๆ ก็จะออกมาสนับสนุนคำตัดสินดังกล่าว แล้วอะไรจะเกิดขึ้น ?

หรือถ้ามีการประกาศรับรองชัยชนะของ ม.ร.ว. สุขุมพันธ์ แน่นอนว่า ในการหาเสียงเลือกตั้งไม่ว่าระดับไหน พรรคเพื่อไทยก็สามารถที่จะนำประเด็น “สั่งฆ่าประชาชน” มาโจมตีประชาธิปัตย์ได้ ขึ้นอยู่ว่า จะทำหรือไม่เท่านั้น ? หรือจะตัดสินเฉพาะแกนนำประชาธิปัตย์บางคนที่ทางพรรคเพื่อไทยมีหลักฐานในการปราศรัยชัดเจนในการใช้วาทกรรม “เผาบ้านเผาเมือง” ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้น ก็ “อาจจะ” ไม่มีวิกฤตรุนแรงตามมา และยังจะสามารถวางบรรทัดฐานในการหาเสียงเลือกตั้งในอนาคตต่อไปได้ด้วย นั่นคือ ทั้งสองพรรคไม่สามารถดึงประเด็นความขัดแย้งที่ยังไม่ยุติถึงที่สุดมาใช้หาเสียงได้

แต่ก็น่าคิดว่า การตัดสินลงโทษเฉพาะรายบุคคลจะเป็นที่ยอมรับของพรรคเพื่อไทยและประชาชนที่ลงคะแนนให้ พลตำรวจเอกพงศพัศหรือไม่ ? เพราะถ้าการหาเสียงดังกล่าวของพรรคประชาธิปัตย์ถือเป็นความผิด อันส่งผลให้ผู้สมัครของพรรคประชาธิปัตย์ชนะ และผู้สมัครของเพื่อไทยแพ้ แน่นอนว่า พรรคเพื่อไทยและคนที่ลงคะแนนให้คงยากที่ยอมรับผลเพียงแค่นั้น ! และในทำนองกลับกัน หากเป็นพรรคประชาธิปัตย์ที่โดนพรรคเพื่อไทยหาเสียงในแบบที่ฝ่ายตนเห็นว่าผิดกติกา และส่งผลให้คนของพรรคพ่ายแพ้ ประชาธิปัตย์และคนที่ลงคะแนนให้จะยอมรับได้หรือไม่ ?

สมมุติว่า การหาเสียงของพรรคประชาธิปัตย์ถูกตัดสินว่าไม่ผิด และสมมุติว่าพรรคเพื่อไทยตัดสินใจใช้วาทกรรม “สั่งฆ่าประชาชน” ในการเลือกตั้งครั้งหน้า และพรรคประชาธิปัตย์หาเสียงโดยใช้วาทกรรม “เผาบ้านเผาเมือง” ผู้เขียนจินตนาการว่า ในช่วงระหว่างการหาเสียงก็ดี หรือในตอนประกาศผลเลือกตั้งก็ดี โอกาสที่จะเกิดวิกฤตความขัดแย้งใช้รุนแรงกันและกันระหว่างประชาชนสองฝ่ายจะมีสูงมากๆ และไม่ใช่แค่ในสนามเลือกตั้งในกรุงเทพฯเท่านั้น แต่ทั่วประเทศเลยทีเดียว ความเป็นไปได้ที่จะเกิดจลาจลไปจนถึงสงครามกลางเมืองก็จะมีสูงมากๆ

แต่ยังไม่ต้องคิดไปไกลถึงการเลือกตั้งทั่วไปที่ยังไม่เกิดขึ้นในเร็วๆ นี้ เพราะรัฐบาลพรรคเพื่อไทยยังมีเวลาอยู่ถึงกลางปี 2558 โน่น แต่ที่น่าเป็นห่วงและต้องห่วงอย่างยิ่งก็คือ คณะกรรมการการเลือกตั้งจะตัดสินคำร้องของพรรคเพื่อไทยต่อการหาเสียงเลือกตั้งผู้ว่าฯของพรรคประชาธิปัตย์อย่างไร อาจจะประกาศรับรองไปก่อน แล้วไปสอยทีหลังตามระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้ นั่นคือ ม.ร.ว. สุขุมพันธ์มีเวลาทำงานไปอีกหนึ่งปี แล้วสมมุติว่า หลังจากนั้น ถูกตัดสินให้พ้นจากตำแหน่ง แล้วให้มีการเลือกตั้งกันใหม่ คิดว่าไม่น่าจะเกิดวิกฤตรุนแรงอะไรมากนักหรืออาจไม่มีเลย แต่ถ้าไม่ประกาศรับรอง และตัดสินให้การเลือกตั้งผู้ว่าฯเป็นโมฆะ ผู้ตัดสินจะต้องอธิบายให้สังคมเข้าใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพี่น้องล้านสองแสนคนที่หย่อนบัตรเลือกผู้สมัครของประชาธิปัตย์ ผู้เขียนยังเชื่อว่า หากอธิบายได้ และขณะเดียวกัน ทุกฝ่ายพยายามใช้เหตุผลในการทำความเข้าใจ และป้องกันมิให้เกิดการปลุกระดมมวลชนขึ้นมาได้ เรื่องนี้ก็คงจะยุติลงได้โดยไม่มีความรุนแรงใดๆ เกิดขึ้น

ขณะเดียวกัน ในช่วงเวลาขณะนี้ สังคมทุกภาคส่วนจะต้องช่วยกันจับตาดูมิให้มีใครถือโอกาสปลุกระดมมวลชนขึ้นมา นั่นคือ ต้องระวังกรณี “น้ำผึ้งหยดเดียว” ให้ดี แต่บอกได้เลยว่า ใครก็ตามที่ต้องรับผิดชอบพิจารณาตัดสินปัญหาประเด็นการหาเสียงเลือกตั้งผู้ว่าฯนี้......คงต้องหนักใจเพราะเรื่องมันยากจริงๆ และนี่คือ ชนวนความขัดแย้งรุนแรงที่กำลังจะเกิดขึ้น เป็นชนวนใหม่ที่ไม่มีใครคาดคิดมาก่อน แต่เป็นชนวนใหม่ที่สืบสานมาจากชนวนเก่าที่ยังคาราคาซังอยู่