วิธีบริหารลูกพี่ (2)

วิธีบริหารลูกพี่ (2)

สัปดาห์ที่แล้ว เราเริ่มคุยกันเรื่องการบริหารหัวหน้าคนใหม่ ให้น้องๆหน้าใส ไล่ไปถึงพี่ๆหน้าเก่า

ใช้เป็นแนวทางวางวิธีที่จะพิชิตใจบุคคลที่มีความสำคัญยิ่งใหญ่ในชีวิตคนทำงาน

วันนี้เรามาหารือกันเพิ่มเติมเพื่อเสริมประสิทธิภาพในการ Manage upwards หรือ การบริหารหัวหน้า

ก่อนอื่น มาทำความเข้าใจเรื่องการบริหารคนสำคัญท่านนี้ ว่ามีวิธีคิดหลายแบบ

บางวิธีเป็นเรื่องดี เป็นเรื่องทันยุคทันสมัย เป็นสิ่งที่ใครๆควรทำ

แต่บางอย่างเป็นเรื่องสุ่มเสี่ยง มืออาชีพเลี่ยงได้ กรุณาใช้ทางเบี่ยง เลี่ยงดีกว่า

การบริหารลูกพี่ในแง่ดี คือ การทำทั้งงานและบริหารความสัมพันธ์ โดยมีเป้าหมายเพื่อทำให้หัวหน้าเชื่อถือ เชื่อมือ เชื่อใจ ให้โอกาส ทั้งยังเป็นการสร้างบรรยากาศที่น่าทำงาน เพราะต่างใส่ใจ ให้เกียรติซึ่งกันและกัน

ส่งผลดีให้ทั้งองค์กร ทั้งตัวพี่ และตัวลูกน้องนอกไส้ในที่ทำงาน

การบริหารลูกพี่รูปแบบที่น่าเลี่ยง คือการ Manipulate มิใช่ Manage

การ Manipulate ลูกพี่ คือ การบริหารหัวหน้าอย่างช่ำชอง แต่ต่างกันตรงมองประโยชน์ตนเป็นที่ตั้ง หลายครั้งจึงพร้อมเอาเปรียบ ทั้งลับ ทั้งหลอก ทั้งลวง เพราะห่วงแต่ตนเอง

หลายท่านที่บริหารลูกพี่เช่นนี้ อาจเกิดจากความเชื่อว่า ตนเองรู้ดีกว่า เก่งกว่าหัวหน้า หรือเห็นว่าพี่ไม่มีน้ำยา หรือไม่ว่าพี่เป็นใคร เขาก็ต้องกระหน่ำเอาใจ พูดได้แค่ ถูกครับพี่ดีครับท่าน ใครอื่นใดเสียหายช่างมัน องค์กรนี้ ประเทศนี้ ไม่ใช่ของฉันคนเดียว

การ Manipulate ลูกพี่เช่นนี้ แม้ได้สิ่งที่ตนเองต้องการ ก็คงได้เฉพาะกิจ และต้องแลกกับศักดิ์ศรี และความผ่าเผย สง่างาม จึงต้องถามตัวเองดีๆ

นอกจากนั้น ทุกครั้งที่เห็นว่าลูกพี่ตกยุค กรุณาคิดติดอยู่ในใจเสมอว่า ไม่ว่าเราจะมีความเห็นเช่นไร ไม่ว่าเขาจะเก่งจริงหรือไม่ การที่เราเป็นลูกน้องและเขาเป็นหัวหน้า ณ ขณะนี้ ท่าจะต้องมีสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นเพราะลูกพี่มีประสบการณ์มากกว่า เก๋ากว่า อายุงานมากกว่า มีเครือข่ายดีกว่า สารพัด

ดังนั้น หากเลือกจะเป็นมืออาชีพ ต้องก้าวผ่านกับดักตนเอง กระโดดให้พ้นความคิดเวียนวนที่คนจนขุ่นในใจ ว่า ทำไมๆๆ มีลูกพี่เช่นนี้ ไม่มีได้ไหม

แล้วตั้งหลักใหม่ว่า เรามีเขาแล้วในวันนี้ จะทำวิธีใด ให้ทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ถือเป็นข้อสอบ ลูกน้องคนไหนตอบได้ก่อน ถือว่าประสบความสำเร็จในหน้าที่

สัปดาห์นี้ มี 5 ประเด็นเป็นข้อคิดในการทำให้ลูกพี่ดีใจว่า ทำไมช่างโชคดี มีลูกน้องเช่นเรา

1. รู้ว่าปัญหาไหนแก้ได้เอง กรุณาอย่าวิ่งหาลูกพี่ทุกครั้งที่มีเรื่องปวดหัว ลองกรองดูก่อนว่า ฉันสามารถแก้ไขได้ด้วยอำนาจที่ท่านให้ไว้ได้หรือไม่

หากได้ กรุณาทำหน้าที่ให้สมศักดิ์ศรีที่เขาไว้ใจ

หากไม่มั่นใจ ย่อมให้หัวหน้าช่วยได้ แต่สิ่งที่ไม่ควรทำ คือโกยให้แต่ปัญหา แล้วทำตาใส รอให้หัวหน้าสั่ง อย่างน้อยส่งปัญหาให้ ก็ควรต้องแสดงสติปัญญา เสนอว่า วิธีแก้น่าจะทำอย่างไรในมุมของเรา หัวหน้าจะเลือกหรือไม่ ทำใจว่าไม่ใช่ประเด็นใหญ่

ลูกน้องที่ช่วยพี่ “ทำ” หาไม่ยาก แต่ที่หาลำบาก คือ คนที่ช่วย “คิด” ช่วยใส่ใจ ช่วยให้ความเห็น

2. เสนอทางเลือก ไหนๆเราจะช่วยหัวหน้าคิด อย่ายึดติดกับทางออกทางเดียว ลองเสนอหลายแนวทาง พร้อมข้อดี และข้อจำกัดของแต่ละวิธี...ลูกพี่ต้องปลื้ม

บางท่านบอกว่า เสนอทีไร ก็ไม่เห็นเอา เสียเวลา เสียสมอง

ในชีวิตจริง ย่อมมีสถานการณ์เช่นนี้ สิ่งที่ลูกน้องทำได้ คือ ไม่ย่อท้อ ทำความเข้าใจว่า ลูกพี่มีแนวทางในการตัดสินใจเช่นไร ทำไมเขาไม่เอา คราวหน้าจะได้หาทางที่ช่วยลูกพี่ได้มากขึ้น

ที่สำคัญ อัตตาของเรา กรุณาเอาไว้ที่บ้าน

3. ใช้เวลาของหัวหน้าอย่างรู้ค่า หากเรามีงานเยอะ ยุ่งมาก สันนิษฐานได้ไม่ยากว่า หัวหน้าน่าจะเยอะ ยุ่ง มาก และ ยากกว่า ดังนั้นเวลาประชุมหรือขอหารือกับหัวหน้า ต้องทำการบ้าน สรุปประเด็นให้เห็นชัด เพื่อการตัดสินจะได้ง่าย
อย่าทำให้หัวน่าเบื่อหน่ายเวลาคุยกับเรา ยิ่งเขาเริ่มชินว่าลูกน้องคนนี้ เยิ่นเย้อ พูดวกวน ไม่เข้าใจ แถมไม่ทำการบ้าน...งานเข้า!

4. สัญญาอะไร ทำให้ได้ตามสัญญา วิธีบริหารหัวหน้าให้ไว้ใจเรา ต้องไม่ให้เขากังวล ว่าหนนี้พี่พึ่งเราได้หรือไม่ เราจะลืมไหม ทำไม่ได้จะบอกให้เขารับรู้เนิ่นๆหรือเปล่า หรือ รอจนปัญหาเน่าคามือ

หากไม่อยากให้หัวน่าเชื่อถือ กรุณาทำทีผีเข้าผีออก ทั้งหลอก ทั้งลืม

5. อย่าทำให้หัวหน้าขายหน้า ลูกพี่มักหวังพึ่งลูกน้อง โดยเฉพาะในรายละเอียด นึกภาพว่า หัวหน้าต้องไปหารืองานกับหัวหน้าของหัวหน้า แต่ปรากฏว่าหน้าแตกเยิน เพราะความขาดๆเกินๆของลูกน้อง งานที่เตรียมให้ไม่รอบคอบ ตอบไม่ครบ...จบทั้งพี่ทั้งน้อง

พึงตระหนักว่า หากหัวหน้าดูดี ย่อมเป็นศักดิ์เป็นศรี เป็นพลังของทีม

หากพี่เอาตัวไม่รอด ลูกทีมย่อมไม่ปลอดภัย

ดังนั้น ช่วยทำให้ลูกพี่ดูดีมีผลงานเถิด จะเกิดผลค่ะ