เจนเนอเรชั่นจำนำข้าว

เจนเนอเรชั่นจำนำข้าว

พฤติกรรมการใช้เงินของลูกชาวนาเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วในยุคสมัยการจำนำข้าว

วันไหน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธกส.) สถาบันการเงินหลักในการรับจำนำข้าว เกิดหมดสภาพคล่องขึ้นมาจริงๆ อย่างไม่ได้บอกล่วงหน้า และแก้ไขไม่ได้ในวันเดียวกันอย่างที่เคยเกิดในบางสาขา ในวันนั้น ไม่มีใครรู้ว่า ชาวนาจำนวนหนึ่งที่เป็นพ่อแม่และรักลูกที่มีคนเดียวหรือสองคนดุจแก้วตาดวงใจ จะรับมืออย่างไรกับพฤติกรรมการใช้เงินของลูกในชีวิตประจำวันที่เปลี่ยนไปหมดแล้ว

ลูกที่กำลังเรียนหนังสือปริญญาตรีเป็นความหวังของครอบครัว ได้เปลี่ยนมือถือเป็นสมาร์ทโฟนราคาเหยียบสองหมื่นตั้งแต่เมื่อจำนำข้าวปีแรก 2554 เปลี่ยนมอเตอร์ไซค์ใหม่ บ้างเพิ่งมีรถคันแรก ค่าน้ำมัน เสื้อผ้า รองเท้า ฯ ค่าเครื่องดื่มถ้วยละ 30-45 บาท ลูกที่เป็นนักศึกษาคนเดียวในบ้าน ใช้เงินสดอย่างต่ำวันละ 200-300 บาท แม้ในต่างจังหวัด

พ่อแม่ชาวนาสมัยนี้มีลูก 1-2 คน ต่างก็รักลูก รู้สึกว่า ลูกก็น่าจะมีชีวิตมีโอกาสที่ดีกว่าชีวิตพ่อแม่ที่ตลอดมาขาดแคลนเงินสด ขาดแคลนการได้บริโภคสิ่งต่างๆ เมื่อพอมีโอกาสหยิบยื่นเงินสดให้ลูกได้ทันทีหลังจากเอาข้าวที่เก็บเกี่ยวแล้วไปจำนำ พ่อแม่ก็มีความสุขที่จะให้เงินลูกใช้และตนเองก็จัดงานบุญงานฉลอง ก่อนที่จะนำเงินไปทำอื่น เช่น ชำระหนี้เก่า หรือซื้อหาสิ่งใดให้ตนเอง กระทั่งทำฟันปลอมก็ยอมรอ

ช่างไม่ต่างอะไรนักกับปรากฏการณ์ “ลูกจักรพรรดิ-ลูกจักรพรรดินี” ในประเทศจีน ที่นโยบายมีลูกคนเดียวทำให้พ่อแม่ตามใจปรนเปรอลูกคนเดียวอย่างมาก นสพ. อินเตอร์เนชั่นแนล เฮอรัลด์ ทริบูน วันที่ 26-27 มกราคม ได้รายงานปรากฏการณ์บัณฑิตปริญญาตรีในเมืองจีนที่เมินงานโรงงานทุกชนิด เห็นว่าเมื่อได้เรียนหนังสือถึงขั้นอุดมศึกษา เรียนจบก็ควรได้งานสำนักงานๆ ดีทำ มีรายได้ที่สมควร จึงจะสมเกียรติ เมื่อไม่ได้งานสำนักงานทำในทันทีที่จบ จำนวนมากยอมตกงาน บ้างยอมทำงานอื่นๆ ชั่วคราว เช่น งานยามรักษาความปลอดภัย งานขายตรง และมองหางานใหม่เป็นงานนั่งโต๊ะ บัณฑิตปริญญาตรีและสูงกว่าปริญญาตรีในเมืองจีนจึงมีอัตราไม่มีงานทำสูงกว่าผู้เรียนจบต่ำกว่าปริญญาตรี โดยที่บัณฑิตจีนทำแบบนี้ได้ก็เพราะแต่ละคนเป็นลูกคนเดียวหลานคนเดียวของครอบครัวขยาย พ่อแม่ปู่ย่าตายายช่วยเหลือจุนเจือส่งค่าครองชีพให้ บัณฑิตปริญญาตรีตกงานบางคนมีสมาชิกครอบครัวขยายถึง 5-6 คนช่วยส่งเงินจุนเจือให้ลูกหลานใช้ไปก่อนระหว่างเลือกงานรองานจนกว่าจะได้งานนั่งโต๊ะสำนักงาน แม้เงินเดือนและสวัสดิการจะน้อยกว่างานโรงงานการผลิตที่ใช้ทักษะฝีมือระดับกลาง อย่าง ปวส. ก็ตาม

บัณฑิตปริญญาตรีของไทยที่มีอัตราตกงานสะสมเกือบสองแสนคนจะเข้าข่ายแบบเดียวกันนี้หรือไม่ ที่ครอบครัวช่วยรองรับดูดซับปัญหาไว้ ทำให้แม้จะอยู่ในภาวะตกงานไม่มีงานทำแต่สามารถมีชีวิตตกงานต่อไปได้เรื่อยๆ อย่างไม่เดือดร้อน ไร้ภาวะกดดันอะไรมากนัก

ผู้จัดการโรงสีสหกรณ์ชุมชนแห่งหนึ่งซึ่งกำลังหายใจแผ่วๆ เนื่องจากนโยบายจำนำข้าวในภาคเหนือตอนบน ให้ความเห็นว่า เป็นห่วงชาวนาและลูกๆ ชาวนาที่ต่อไปจะแก้ปัญหาวินัยการใช้เงินของตัวเองอย่างไร เพราะว่าจะเดือดร้อนฉับพลัน หนี้เก่าไม่ได้ใช้ เงินสดที่ได้มาก็ใช้ไปหมด เหลือทางเดียวคือไปเดินขบวนเรียกร้องเอาจากรัฐบาล

ส่วนการที่โรงสีสหกรณ์ชุมชนอย่างของเขาแทบจะไม่มีข้าวมาสี ไม่มีชาวนามาขายข้าวเปลือกให้เพราะแทบทุกคนเอาข้าวไปจำนำกับรัฐบาลหมด จากที่เคยสีทุกวันหยุดวันเดียวต่อสัปดาห์ก่อนนโยบายจำนำข้าว ได้ลดลงมาเป็นสี่วัน สามวัน และขณะนี้สีเพียงวันเดียวต่อสัปดาห์ แบบเดียวกับโรงสีเอกชนบางโรงที่ก็ต้องหยุดสีเพราะไม่อยากใช้ “วิชามาร” จึงไม่ยอมเข้าโครงการจำนำข้าวของรัฐบาล เกรงว่าการไม่มีเส้นสายใหญ่กับทางราชการ อาจถูกจับเป็นไก่สองสามตัวเชือดให้ลิงดูเรื่องคอร์รัปชันจำนำข้าว ก็จะได้ไม่คุ้มเสียทำลายเกียรติประวัติทำโรงสีมาตั้งแต่รุ่นปู่ย่า เขาบอกว่าความเปลี่ยนแปลงขาลงเหล่านี้บรรดาโรงสีอย่างเขาต้องยอมรับซึ่งก็คงจะชั่วคราว เพราะเป็นไปไม่ได้ที่นโยบายจำนำข้าวอย่างนี้จะดำเนินอีกต่อไปอย่างไม่มีวันสิ้นสุด ข้าวสารแค่มีกลิ่นยากันแมลง จีนก็ส่งกลับมาให้เห็นกันแล้ว ส่วนข้าวเปลือกเก็บไว้นานเกิน 2 ปีก็รู้กันอยู่ว่าขายยาก ขายไม่ได้ ถึงขั้นเน่าก็แปลว่าจบกัน

ผู้จัดการโรงสีสหกรณ์ชุมชนผู้นี้มองไปข้างหน้าว่า นอกจากเรื่องพฤติกรรมวินัยการใช้เงิน ชาวนาไทยเตรียมตัวรับวิถีการผลิตที่กำลังเปลี่ยนอย่างไม่หวนคืนแล้วหรือยัง ไม่ใช่เฉพาะเรื่องอากาศเปลี่ยนแปลงที่ยังต้องใช้เวลากว่าจะเห็นกันจังๆ ปัญหาอยู่ตรงหน้าขณะนี้คือการขาดแคลนแรงงานคนและต้องใช้เงินสดจ้างคนคุมเครื่องจักรมาทำงานในนาข้าว เช่น ไถ หว่าน เก็บเกี่ยว นวด บรรทุกใส่รถไปขาย ต้นทุนการผลิตมีแต่จะสูงขึ้นๆ โดยขณะนี้รายได้สูงจากจำนำข้าวสามารถรับมือไว้ได้

แต่ถ้านโยบายจำนำข้าวถึงจุดจบล่ะ โดยปัญหาขาดแรงงานคนก็ยังมีอยู่เหมือนเดิม ชาวนาระดับกลางที่เคยจ้างแรงงานและเครื่องจักรมาช่วยจะยังทำการผลิตข้าวทำนาต่อไปได้หรือไม่อย่างไร ต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นนี้ ชาวนารายย่อยที่มีจำนวนมากจะปรับตัวอย่างไร

หรือว่าทุกปัญหาจะมุ่งหน้าไปเดินขบวนประท้วงและขอเงินกองทุนต่างๆ กันที่หน้าทำเนียบ