ร่วมลงทุนเพื่อพัฒนาชาติ

ร่วมลงทุนเพื่อพัฒนาชาติ

ใครจะไปคิดว่าวันหนึ่งเราจะสามารถเข้าไปลงทุนในกิจการสาธารณูปโภค อย่างไฟฟ้า น้ำประปา ถนน ทางด่วน สนามบิน หรือแม้แต่เขื่อนก็ยังได้

ในอนาคตอันไม่ไกลนี้ มันจะเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ค่ะ และในทางกลับกันหน่วยงานภาครัฐ หากมีความคิดจะทำโครงการสาธารณูปโภคเพื่อพัฒนาความเป็นอยู่ของประชาชน ก็ไม่จำเป็นต้องรองบประมาณรัฐบาลอย่างเดียวเหมือนเมื่อก่อนอีกแล้ว เพราะนี่คือเครื่องมือการลงทุนและการระดมทุนสำหรับการนี้โดยเฉพาะ เรียกว่า กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน หรือ Infrastructure fund ค่ะ

กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานดีอย่างไร?
กองทุนรวมประเภทนี้จะระดมเงินทุนจากประชาชนไปลงทุนในกิจการที่เป็นสาธารณูปโภค ซึ่งเป็นโครงการที่มีความจำเป็นต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งนอกจากจะช่วยแบ่งเบาภาระของภาครัฐในการจัดหางบประมาณและการก่อหนี้สาธารณะเพื่อนำเงินมาพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ และสำหรับผู้มีเงินออมกองทุนยังเป็นทางเลือกการลงทุน ที่น่าสนใจเพิ่มเติมจากที่มีอยู่แล้ว

ผลตอบแทนจากกองทุนรวมนี้คล้ายกับผลตอบแทนของการลงทุนในกองทุนรวมตราสารหนี้หรือกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ คืออยู่ในรูปเงินปันผลซึ่งมีโอกาสได้รับในอัตราที่สูงกว่าดอกเบี้ยเงินฝาก และ จ่ายปันผลในแต่ละงวดบัญชีไม่น้อยกว่าร้อยละ 90 ของกำไรสุทธิที่ปรับปรุงแล้ว และอาจมีกำไรส่วนต่างของราคาเมื่อขายหน่วยลงทุนในตลาดหลักทรัพย์อีก โดยผลตอบแทนในกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานนี้ ผู้ลงทุนรายย่อยจะได้รับยกเว้นภาษีเป็นเวลา 10 ปี (ขึ้นอยู่กับหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกรมสรรพากรจะประกาศกำหนดในอนาคต) ดังนั้น สำหรับผู้ที่มองหาการลงทุนที่มีโอกาสได้รับผลตอบแทนสม่ำเสมอเพื่อเสริมประสิทธิภาพพอร์ตการลงทุน กองทุนรวมประเภทนี้จึงเป็นตัวเลือกที่ตอบโจทย์ได้เป็นอย่างดี

ลงทุนอย่างผู้รู้ ต้องดูอะไรบ้าง?
กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานถือเป็นสินค้าการลงทุนที่ค่อนข้างซับซ้อน นอกจากจะต้องดูข้อมูลพื้นฐานทั่วไปเหมือนการลงทุนในกองทุนรวมประเภทอื่นแล้ว เรื่องหลัก ๆ ที่ควรพิจารณามีดังนี้

-กิจการที่กองทุนรวมไปลงทุนมีความแตกต่างกัน ซึ่งจะมีผลต่อกระแสรายได้ของกองทุนและผลตอบแทนที่ผู้ลงทุนจะได้รับ กิจการบางประเภทมีความเสี่ยงต่ำในเรื่องผลตอบแทน เพราะจะมีรายได้ที่แน่นอนจากสัญญาสัมปทานระยะยาวกับภาครัฐ เช่น กิจการไฟฟ้าหรือประปา ในขณะที่กิจการบางประเภทมีความเสี่ยงสูงเนื่องจากรายได้จะขึ้นอยู่กับปริมาณการใช้งานจริง อย่างเช่น โครงการทางพิเศษที่มีรายได้แปรผันตามจำนวนผู้ใช้บริการ

-ความคืบหน้าของโครงการ เนื่องจากกองทุนสามารถเข้าไปลงทุนในกิจการที่ยังไม่ได้เริ่มก่อสร้างหรือยังสร้างไม่เสร็จ ที่เรียกว่า greenfield project ดังนั้นหากเป็นกรณีนี้ ผู้ลงทุนควรพิจารณาความเสี่ยงที่โครงการจะก่อสร้างไม่เสร็จตามกำหนด หรือมีค่าใช้จ่ายที่สูงกว่าประมาณการ ซึ่งจะส่งผลต่อผลตอบแทนที่ผู้ลงทุนจะได้รับ ในขณะที่หากเป็นโครงการที่มีความคืบหน้าไปมากความเสี่ยงในเรื่องนี้ก็จะลดน้อยลง หรือในกรณีที่เป็นโครงการที่สร้างแล้วเสร็จและมีรายได้ในเชิงพาณิชย์แล้ว (brownfield project) ก็จะไม่มีความเสี่ยงในเรื่องนี้

-กองทุนรวมบางกองอาจแบ่งประเภทหน่วยลงทุนเป็นหลายชนิด โดยระบุเรื่องสิทธิและข้อจำกัดต่าง ๆ ที่แตกต่างกัน ผู้ลงทุนจึงต้องศึกษารายละเอียดให้เข้าใจ

-นอกเหนือจากที่กล่าวมาแล้วยังมีปัจจัยความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นอาทิ ความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง เทคโนโลยี ตลอดจนการใช้สินค้าทดแทนต่าง ๆ ที่อาจกระทบต่อการดำเนินกิจการ หรือปริมาณการใช้งานของโครงสร้างพื้นฐาน

มาถึงตรงนี้ หลายคนคงพอมีคำตอบให้ตัวเองได้บ้าง ถ้าคุณเห็นว่ากองทุนรวมประเภทนี้เหมาะสมกับแผนการลงทุนของคุณ ก็เตรียมเงินไว้ลงทุนกันได้ และที่สำคัญคือคุณควรกระจายเงินลงทุนไปในสินทรัพย์ที่หลากหลาย ให้พอร์ตการลงทุนมีความยืดหยุ่นและสร้างผลตอบแทนให้คุณได้อย่างยั่งยืนในระยะยาวนะคะ