การสำรวจโพลล์กับนักรัฐศาสตร์และคุณป้า

การสำรวจโพลล์กับนักรัฐศาสตร์และคุณป้า

ช่วงนี้มีการทำโพลล์สำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับผู้สมัครแข่งขันชิงตำแหน่งผู้ว่ากรุงเทพฯกันมาก

แต่คนกรุงเทพฯหลายคนที่ผมรู้จักก็เปรยว่า ไม่เคยมีใครมาสัมภาษณ์เขาบ้างเลย ผมก็เห็นด้วย เพราะยังไม่มีใครมาสัมภาษณ์ผมเช่นกัน อาจเป็นด้วยเหตุผลที่พูดๆ กันก็ได้ว่า การจะสัมภาษณ์พวก “บ้านมีรั้ว” อาจจะยากกว่าสัมภาษณ์ผู้คนที่เดินสัญจรไปมาตามท้องถนน ซึ่งตัวผมเองก็ไม่ได้เดินสัญจรตามท้องถนนมานานพอสมควร ไปไหนมาไหนก็ใช้รถเสียส่วนใหญ่ ดังนั้น คนกรุงเทพฯที่มีวิถีชีวิตแบบผมคงไม่มีโอกาสได้ถูกสัมภาษณ์ และแน่นอนว่า ทัศนคติของคนประเภทนี้จึงยังไม่ได้มีโอกาสแสดงออกในโพลล์ต่างๆ ดังนั้น การเลือกตั้งผู้ว่ากรุงเทพฯในวันที่ 3 มีนาคม 2556 จึงมีความน่าสนใจไม่น้อย ที่ว่าน่าสนใจไม่น้อยก็เพราะในการเลือกตั้งครั้งนี้ ดูเหมือนว่าพรรคเพื่อไทยจะตั้งใจกันเต็มที่ที่จะสนับสนุน “ท่านพงศพัศ” ให้ชนะการเลือกตั้ง ซึ่งต่างจากสองครั้งที่ผ่านมา ด้วยเหตุนี้ ผลโพลล์ในทุกระยะในการเลือกตั้งครั้งนี้จึงมีความน่าสนใจติดตามกว่าการเลือกตั้งสองครั้งที่ผ่านมา เพราะครั้งก่อนๆ ไม่ว่าผลโพลล์จะออกมาอย่างไร ดูเหมือนว่า คนกรุงเทพฯส่วนใหญ่ (รวมทั้งพรรคเพื่อไทย) รู้อยู่แก่ใจว่า อย่างไรเสียผู้สมัครจากพรรคประชาธิปัตย์คงชนะการเลือกตั้งอย่างแน่นอน จะลุ้นกันเพียงว่าชนะมากหรือน้อยเท่านั้น

อย่างที่กล่าวไปว่า คราวนี้ พรรคเพื่อไทยทุ่มสุดตัวในการเลือกตั้งผู้ว่ากรุงเทพฯ ผลโพลล์ส่วนใหญ่ที่บ่งชี้คะแนนนำของท่านพงศพัศจึงมีนัยความหมายยิ่ง ขณะเดียวกัน “คนบ้านมีรั้ว” ที่โพลล์เข้าไม่ถึงก็มีความหมายไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าด้วย จึงน่าสนใจว่า ตกลงแล้ว แต่ละสัปดาห์ “คนมีบ้านมีรั้ว” คิดอะไร ? และในที่สุดแล้ว พวกเขาจะตัดสินใจอย่างไร ?

ล่าสุด เพื่อนของผมคนหนึ่งที่เป็นเพื่อนร่วมอาชีพ นั่นคือ เป็นนักรัฐศาสตร์สอนหนังสือในมหาวิทยาลัยของรัฐเช่นกัน และเขาก็เป็น “คนบ้านมีรั้ว” ด้วยเช่นกัน ได้เล่าให้ผมฟังว่า วันหนึ่งมีคนโทรศัพท์มาที่บ้านตอนช่วงบ่าย เป็นเสียงผู้หญิง อ้างว่า เป็นสวนดุสิตโพลล์ (ซึ่งไม่รู้ว่าเท็จหรือจริง ? ต้องพึงฟังหูไว้หู) เธอไม่ได้ถามข้อมูลพื้นฐานส่วนบุคคลอะไรเลย ไม่ว่าจะเป็นรายได้และระดับการศึกษา เธอยิงคำถามตรงไปเลยว่า จะไปเลือกตั้งผู้ว่าหรือไม่ ? เพื่อนนักรัฐศาสตร์ของผมตอบว่า จะไป ต่อมาเธอถามต่อว่า ตัดสินใจแล้วหรือยังว่าจะเลือกใครเป็นผู้ว่า ? เพื่อนตอบว่า ตัดสินใจแล้ว เธอก็ถามว่า ในผู้สมัครสามคนนี้ (ท่านผู้อ่านคงเดาได้ว่า สามคนนี้คือใคร ?) จะเลือกใครคนใดคนหนึ่งหรือไม่ ? เพื่อนตอบว่า เลือก... (ท่านผู้อ่านคงเดาได้อีกเช่นกันว่า แม้ว่าผู้สอบถามจะให้ตัวเลือกมาสามตัวเลือก แต่ตัวเลือกสองในสามนั้นเป็นตัวเลือกที่โดดเด่นที่สุด และบังเอิญว่า หนึ่งในสองนั้นก็เป็นผู้สมัครที่อยู่ในใจของเพื่อนผมอยู่แล้ว)

หลังจากที่เธอทราบคำตอบแล้วว่า เพื่อนผมจะเลือกใคร เธอก็ถามในทำนองซักต่ออีกว่า “ไม่สนใจคนใหม่ๆ บ้างรึคะ ท่านพงศพัศท่านก็เป็นตำรวจดีมีฝีมือนะคะ ไม่ลองพิจารณาหน่อยหรือ นโยบายยุทธศาสตร์ก็เชื่อมต่อกับรัฐบาลได้ ? ” เพื่อนผมก็ติงไปว่า “นี่เข้าข่ายถามนำนะ การทำโพลล์ไม่น่าถามนำแบบนี้ สวนดุสิตโพลล์ให้ถามแบบนี้รึครับ ?” เธอผู้นั้นก็รีบจบการสนทนาและวางหูไปทันที ซึ่งก็เป็นอะไรที่ทะแม่งๆ โดยเฉพาะในความรู้สึกของคนที่เป็นนักรัฐศาสตร์อย่างเพื่อนผมที่มีความรู้ในเรื่องระเบียบวิธีการทำโพลล์ไม่น้อยหน้าใครทีเดียว

ต้องขอเรียนว่า จากที่รู้จักเพื่อนผมคนนี้ เขาคงไม่มีความจำเป็นอะไรที่จะกุเรื่องนี้ขึ้นมา แต่สิ่งที่ไม่สามารถฟันธงลงไปได้ก็คือ ผู้ที่โทรศัพท์มานี้เป็นคณะทำงานของสวนดุสิตโพลล์จริงๆ หรือเปล่า ? ซึ่งผมก็ไม่สามารถฟันธงไปได้ เพราะถ้าไม่จริงก็จะเป็นการกล่าวหาสวนดุสิตโพลล์ไป

แต่กระนั้น เพื่อนผมได้เล่าให้ฟังอีกว่า หลังจากโทรศัพท์ครั้งนั้น เขาได้มีโอกาสไปพูดคุยกับเพื่อนในหมู่บ้านเดียวกันที่เป็น “คนบ้านมีรั้ว” ที่เป็นสตรีมีอายุ ที่เขาเรียกว่า “คุณป้า” เขาได้เล่าเรื่องโทรศัพท์สำรวจโพลล์ให้คุณป้าฟัง เมื่อฟังเสร็จ คุณป้าแกก็บอกว่า รู้สึกทะแม่งๆ เหมือนกัน และเธอก็เจอโทรศัพท์แบบเดียวกันนี้ด้วยเมื่อไม่กี่วันก่อน (ซึ่งเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ เพราะป้าและเพื่อนผมเป็นคนหมู่บ้านเดียวกัน ถ้าหากโทรศัพท์เข้าไปยังโทรศัพท์บ้าน ก็สามารถทำได้โดยการไล่หมายเลขโทรศัพท์ในหมู่บ้าน ซึ่งก็ไม่รู้เหมือนกันว่าได้ข้อมูลแบบนี้มาจากองค์กรไหน ! และถ้าหากเป็นคนธรรมดาที่ไม่ใช่หน่วยงานที่ทำโพลล์ จะสามารถเข้าถึงข้อมูลนี้ได้อย่างไร ?)

แต่ในกรณีของคุณป้าคนนี้ แตกต่างไปจากเพื่อนนักรัฐศาสตร์ของผม เมื่อถูกถามคำถามในแบบเดียวกัน เธอกั๊กไปก่อนว่า เธอยังไม่ได้ตัดสินใจเลือกใครในหนึ่งในสามรายชื่อที่ผู้หญิงที่อ้างว่าเป็นสวนดุสิตโพลล์นำเสนอ เมื่อยังไม่ตัดสินใจ ผู้หญิงในโทรศัพท์ก็กล่าวขึ้นทันทีว่า “ไม่สนใจท่านพงศพัศหรือคะ ท่านก็เป็นตำรวจดีมีฝีมือนะคะ ไม่ลองพิจารณาหน่อยหรือ นโยบายยุทธศาสตร์ก็เชื่อมต่อกับรัฐบาลได้ ?” ต่างจากเพื่อนนักรัฐศาสตร์ แม้ว่าคุณป้าแกจะเห็นว่ามันเป็นการชี้นำ แต่เธอไม่ได้รู้สึกว่ามันไม่ถูกต้องในแง่วิชาการ แต่เธอตอบกลับไปตรงๆ เลยว่า “เลือกท่านพงศพัศอยู่แล้วหละ” และยิงคำถามกลับไปว่า “แต่หนูมาจากพรรคเพื่อไทยหรือสวนดุสิตกันแน่คะ ? ถ้ามาจากพรรค ก็บอกมาตรงๆ พี่จะได้ฝากข่าวถึงพี่... (ขอไม่เปิดเผยชื่อ/ผู้เขียน) เขาเป็นแกนนำแดงตัวแม่ของเขตดุสิตเลย !”

ผู้หญิงคนนั้นไม่ตอบและได้วางสายไป !

อย่างที่บอกไป คุณป้าแกต่างจากเพื่อนนักรัฐศาสตร์ของผม คุณป้าแกไม่ได้ติดใจทางวิชาการอะไรเลยหรอกครับ เพราะแกเป็นเสื้อแดงตัวแม่ในหมู่บ้าน “บ้านมีรั้ว” ! แกกลับดีใจด้วยซ้ำ และเชื่อว่าผู้หญิงในโทรศัพท์นั้นน่าจะเป็นพวกเดียวกันกับแก มากกว่าจะเป็นสวนดุสิตจริงๆ และด้วยความเชื่อที่ว่า เป็นพี่น้องสีเสื้อเดียวกันกับแก แกจึงสำแดงความกว้างขวาง เกทับปรับสู้ ขอส่งข่าวถึงเพื่อนรุ่นพี่ที่เป็นแกนนำเสื้อแดงตัวแม่ที่เขตดุสิตไปโน่น

ที่คุณป้าแกเล่าให้เพื่อนนักรัฐศาสตร์ของผมฟังอย่างสนุกสนาน ก็เพราะเพื่อนนักรัฐศาสตร์ของผมเป็นคนไม่มีสีเสื้อ ดีไม่ดีคุณป้าอาจจะเข้าใจว่า เขาเป็นพวกเดียวกันกับแกด้วยซ้ำ เพราะเพื่อนผมมีพื้นเพภูมิลำเนาจากจังหวัดที่เป็นเสื้อแดง

ขณะเดียวกัน ถ้าผู้หญิงในโทรศัพท์คนนั้นเป็นพี่น้องเสื้อแดงแรงฤทธิ์จริงๆ ก็อาจจะเผลอรับฝากข่าวจาก “แกนแม่ถึงแกนแม่” ไปก็ได้ แต่นี่คงไม่ใช่กระมัง ถึงรีบวางหูโทรศัพท์ไป แต่จะเป็นสวนดุสิตโพลล์จริงๆ หรือเปล่าก็สามารถบอกได้เช่นกัน

ไม่รู้ว่าสำรวจโพลล์จริงๆ หรือเปล่า ?! แต่ถ้าเป็น ก็ถือว่าเป็นการสำรวจความเห็นควบหาเสียงให้ไปด้วยเลยในคราเดียวกัน แบบ two in one ! ต้องอย่างนี้ ป้าชอบ !