ปรัชญาเศรษฐศาสตร์ : ค่าแรงหรือเงินทาน ?

ปรัชญาเศรษฐศาสตร์ : ค่าแรงหรือเงินทาน ?

นักปรัชญาและนักประวัติศาสตร์ชาวอังกฤษชื่อ คอลลิงวูด (R.G. Collingwood : 1889-1943) ได้แบ่งการกระทำของมนุษย์ออกเป็นสามประเภทใหญ่ๆ

นั่นคือ 1) การกระทำเพื่อตอบสนองความต้องการเฉพาะหน้า 2) การกระทำทางเศรษฐกิจ และ 3) การกระทำทางศีลธรรม การกระทำทั้งสามแบบนี้มีจุดเน้นและลักษณะพื้นฐานที่แตกต่างกัน การกระทำประเภทแรกเน้นที่การตอบสนองความต้องการหรือความปรารถนาที่บุคคลมีอยู่เฉพาะหน้าหรือเป็นความต้องการ ณ ปัจจุบัน ส่วนการกระทำทางเศรษฐกิจเน้นที่การกระทำเพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งที่ต้องการอย่างสะดวกที่สุด โดยได้ประโยชน์สูงสุดและเป็นผลกำไรแก่ตัวผู้กระทำ (profitable) ขณะที่การกระทำทางศีลธรรมมีจุดเน้นที่เรื่องการทำตามหน้าที่ (duty) ที่แต่ละคนคิดว่าเป็นสิ่งที่ดี

ตัวอย่างของการกระทำที่ 1) ได้แก่ การที่เด็กส่งเสียงร้องขึ้นเพียงเพราะรู้สึกอยากทำเช่นนั้น หรือการที่คนซึ่งกำลังโกรธเตะเก้าอี้จนกระเด็นเพราะรู้สึกอยากทำเช่นนั้น การกระทำเหล่านี้ไม่ได้เกิดจากการคิดคำนวณอย่างเป็นเหตุเป็นผลของตัวผู้กระทำว่าทำไปเพื่อหวังให้เกิดผลใดขึ้นนอกเหนือจากตัวการกระทำเอง ไม่ได้ทำเพราะมุ่งหวังผลประโยชน์อย่างอื่นหรือเพื่อบรรลุเป้าหมายอย่างอื่นที่เขาต้องการในขณะนั้น อย่างไรก็ดี การที่เด็กส่งเสียงร้องขึ้นก็อาจกลายเป็นการกระทำทางเศรษฐกิจได้ หากเหตุผลที่เด็กทำเช่นนั้นเป็นเพราะต้องการให้พ่อแม่มาสนใจ นั่นคือเด็กใช้เสียงร้องเป็นเครื่องมือเพื่อบรรลุผลลัพธ์อย่างอื่น อันเป็นสิ่งที่เขาต้องการอย่างแท้จริง ซึ่งก็คือความสนใจของพ่อแม่ ทำนองเดียวกัน หากเหตุผลของการที่ชายผู้ที่โกรธเตะเก้าอี้ เป็นเพราะ เขามองว่าการทำเช่นนั้นคือ วิธีที่ดีในการระบายความอัดอั้นตันใจของตนออกมา แทนที่จะเก็บกดอารมณ์โกรธไว้ซึ่งอาจก่อให้เกิดผลเสียต่อจิตใจและร่างกายในระยะยาวได้ การกระทำสองชนิดหลังนี้ต้องถือว่าเป็นการกระทำทางเศรษฐกิจตามเกณฑ์ของคอลลิงวูด เนื่องจากมีลักษณะที่หวังประโยชน์ที่ไม่ใช่แค่ประโยชน์เฉพาะหน้าจากการได้ทำการกระทำนั้นในตัวของมันเอง

คอลลิงวูดยอมรับว่า ในบางแง่มุม การกระทำทั้งสามแบบนี้อาจไม่สามารถแยกออกจากกันได้อย่างเด็ดขาด นั่นคือ จากที่การกระทำทางเศรษฐกิจเป็นการกระทำที่จะต้องถูกขับเคลื่อนด้วยความต้องการบางสิ่งบางอย่างเสมอ ทำให้การกระทำชนิดนี้มีลักษณะที่คาบเกี่ยวอยู่กับการกระทำตามความต้องการเฉพาะหน้าด้วย ขณะเดียวกัน การกระทำทางเศรษฐกิจก็มีลักษณะที่คาบเกี่ยวกับการกระทำทางศีลธรรมเช่นกัน เนื่องจากการกระทำชนิดนี้อาจถูกประเมินค่าได้ในแบบเดียวกับที่การกระทำทางศีลธรรมอาจถูกประเมินได้ ยกตัวอย่าง เราสามารถประเมินได้ว่าการลงทุนซื้อหุ้นของบริษัทแห่งหนึ่งเพื่อหวังที่จะทำกำไรเป็นการตัดสินใจที่รอบคอบหรือมีประสิทธิภาพหรือไม่ แต่นอกจากนี้แล้ว เรายังสามารถประเมินได้ว่าการทำเช่นนั้นถูกศีลธรรมหรือไม่ด้วย โดยพิจารณาว่า บริษัทที่ไปลงทุนนั้นดำเนินธุรกิจชนิดที่ถูกหรือผิดต่อศีลธรรม ลักษณะอีกประการหนึ่งของการกระทำทางเศรษฐกิจที่คอลลิงวูดเน้นคือ การกระทำชนิดนี้โดยเนื้อแท้แล้วเป็นเรื่อง ภายใน บุคคลมากกว่าเป็นเรื่อง ระหว่าง บุคคล เพราะตามปรกติเรามักเข้าใจว่า การกระทำทางเศรษฐกิจเป็นกิจกรรมที่กระทำโดยผู้กระทำสองคนต่อกันหรือระหว่างกัน (เช่น ผู้ขายกับผู้ซื้อ) และ เป็นประโยชน์ แก่ผู้กระทำทั้งสองฝ่ายในแง่ที่มอบสิ่งที่ทั้งสองฝ่ายพึงพอใจให้แก่ทั้งคู่ นอกจากนี้ การกระทำทางเศรษฐกิจยังเป็นการกระทำที่ รอบคอบ ด้วย ในแง่ที่ผู้กระทำทั้งสองฝ่ายต่างมุ่งแสวงหาในสิ่งที่ตนต้องการมากที่สุดจากอีกฝ่ายหนึ่ง

แต่คอลลิงวูดชี้ว่า ที่จริงแล้ว การกระทำทางเศรษฐกิจเป็นเรื่องของตัวบุคคลที่เป็นผู้กระทำแต่ละคนเอง มากกว่าที่จะเป็นเรื่องระหว่างบุคคล โดยเขายกตัวอย่างเรื่องการแลกเปลี่ยนเพื่อมาอธิบายข้อนี้ เช่น หากนาย ก. ขายขนมปังให้แก่นาย ข. เพื่อแลกกับนมที่นาย ข. มีอยู่ ตามความเข้าใจทั่วไป เรามักคิดว่าในการกระทำเช่นนี้คือ นาย ก. ให้ขนมปังของตนแก่นาย ข. ซึ่งเป็นผู้ที่ต้องการขนมปังนั้น เพื่อแลกกับนมของนาย ข. ซึ่งเป็นสิ่งที่นาย ก. ต้องการ ดังนั้น จุดเน้นจึงอยู่ที่การที่ นาย ก. ให้ขนมปังแก่ นาย ข. และ นาย ข. ให้นมแก่ นาย ก. กลับคืนมา แต่คอลลิงวูดชี้ว่า ที่จริงแล้ว สิ่งที่เกิดขึ้นในการแลกเปลี่ยนทุกครั้งไม่ใช่การที่คนที่แลกเปลี่ยนสองคน (ในที่นี้คือนาย ก. และนาย ข.) นำสิ่งของที่ตนมีมาแลกเปลี่ยนกัน หากแต่เป็นการที่ คนทั้งคู่ทำการแลกเปลี่ยนกับตัวเอง โดยนาย ก. แลกเปลี่ยน “การที่ตนจะได้กินขนมปัง” อันเป็นสิ่งที่เขาต้องการน้อยกว่า กับ “การที่ตนจะได้กินนม” อันเป็นสิ่งที่เขาต้องการมากกว่า ส่วนนาย ข. นั้นแลกเปลี่ยน “การที่ตนจะได้กินนม” อันเป็นสิ่งที่เขาต้องการน้อยกว่า กับ “การที่ตนจะได้กินขนมปัง” อันเป็นสิ่งที่เขาต้องการมากกว่า

แต่กระนั้น ในการแลกเปลี่ยนระหว่างคนสองคน บางครั้งเราพบว่าผู้กระทำการฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ได้กระทำออกมาจากเหตุผลทางเศรษฐกิจ กล่าวคือ ไม่ได้กระทำโดยคำนึงถึงผลประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับตอบแทนกลับคืนมาจากสิ่งที่กระทำ แต่ทำออกมาจากเหตุผลทางศีลธรรม เช่น ยอมเสียเปรียบหรือได้สิ่งที่ตนต้องการน้อยกว่าที่ตนควรได้ เพื่อให้อีกฝ่ายได้ในสิ่งที่เขาจำเป็นต้องได้ (need) ยกตัวอย่างเช่น หากนาย ก. อยู่ในสถานะที่สามารถเลือกได้ว่าจะกินขนมปังหรือดื่มนม และตัวนาย ก. เองต้องการกินขนมปังมากกว่านม แต่กระนั้น นาย ก. ก็ตัดสินใจเลือกดื่มนมแทนเพราะเห็นว่าอีกฝ่ายคือนาย ข. จะเดือดร้อนมากหากไม่ได้กินขนมปังไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม ในกรณีเช่นนี้ คอลลิงวูดวิเคราะห์ว่า สิ่งที่เกิดขึ้นระหว่างนาย ก. และนาย ข. ไม่ถือเป็นการแลกเปลี่ยน และจึงไม่อาจจัดให้เป็นการกระทำทางเศรษฐกิจได้ แต่การกระทำดังกล่าวเป็นการให้ (gift) แบบหนึ่ง เพราะสิ่งที่นาย ก. ได้รับกลับมาคือการได้ดื่มนม ซึ่งการได้ดื่มนมไม่ใช่เหตุผลที่ทำให้นาย ก. ยอมแลกขนมปังของตนกับนมตั้งแต่แรก (เนื่องจากการที่นาย ก. ยอมดื่มนมแทนนั้น เกิดจากที่เขาต้องการให้นาย ข. ได้กินขนมปัง) สิ่งนี้ทำให้การกระทำของนาย ก. ไม่มีลักษณะเป็นการกระทำทางเศรษฐกิจในปรัชญาของคอลลิงวูด

การวิเคราะห์ในลักษณะเดียวกันนี้ยังใช้ได้กับกรณีของค่าแรงด้วย คอลลิงวูดอธิบายว่า การว่าจ้างแรงงานจะถือเป็นการกระทำทางเศรษฐกิจก็ต่อเมื่อนายจ้างและลูกจ้างเห็นว่า การว่าจ้างครั้งนั้นเป็นวิธีที่จะทำให้ตนได้มาซึ่งสิ่งที่ต่างฝ่ายต่างต้องการอย่างแท้จริง ซึ่งในกรณีของนายจ้างก็คือแรงงาน และค่าแรงในกรณีของลูกจ้าง แต่กระนั้น ก็มีสถานการณ์พิเศษบางสถานการณ์ที่การว่าจ้างแรงงานไม่ได้มีลักษณะเช่นนั้น ดังที่เขาได้อธิบายไว้ว่า “เราอาจไม่สามารถวิจารณ์ค่าแรงที่ลูกจ้างผู้อาบเหงื่อต่างน้ำได้รับในเชิงเศรษฐศาสตร์ได้ เพราะลูกจ้างอาจพร้อมที่จะทำงานเพื่อค่าแรงจำนวนดังกล่าวได้ ทั้งๆ ที่ใจจริงก็อยากได้รับค่าแรงที่มากกว่านั้น แต่เหตุผลที่ทำให้เขาพร้อมที่จะทำงานเพื่อค่าแรงจำนวนนั้นก็เพราะความที่เขายากจนมาก ทำให้ในกรณีนี้ คำถามที่ควรจะเกิดขึ้นก็คือ เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว สมควรหรือไม่ที่เขาจะได้รับ "ค่าแรง" แทนที่จะเป็นเพียง "ของบริจาค" หรือแค่ "เงินทาน" ?”