ประโยคเด็ด (3)

ประโยคเด็ด (3)

สัปดาห์ที่ผ่านมาเราคุยกันถึงประโยคเด็ดที่ผู้บริหารควรใช้ หากอยากได้ใจและได้งานจากคนที่ดูแล

ประโยคแรก “คุณคิดว่าอย่างไรคะ”

ประโยคที่สอง "ผมขอโทษครับ"

วันนี้มาเพิ่มวลีแสนง่าย ใช้แล้วคนฟังใจอ่อน อยากทำอะไรๆให้ เพราะพี่ไม่เคยละเลย ที่จะเอ่ยคำว่า

“ขอบคุณครับ”

คำนี้ใช้ง่าย ใช้ได้เมื่อมีใครทำอะไรให้เรา ไม่ว่าเขาจะเป็นคนขับรถที่หยุดให้เราข้ามถนน เป็นคนที่ให้บริการเราในร้านอาหาร หรือเป็นคนในที่ทำงานที่ยอมอยู่เย็นกับเรา เพราะเขารู้ว่าเรามีงานด่วน ต้องการความช่วยเหลือ

ดังที่กล่าวถึงในสัปดาห์ที่ผ่านมา รวงข้าวที่มีเมล็ดแน่นสมบูรณ์ ย่อมน้อมลง รวงที่มีเมล็ดเล็กลีบเบา จะเอาแต่ชูช่อ
เปรียบได้กับผู้ใหญ่ของ “จริง” มักอ่อนน้อมถ่อมตน ไม่มีพฤติกรรมกร่าง กลวง ลวงโลก ไม่อุปโหลกว่าตัวเองเด่น ฉันเป็นทุกอย่าง

ผู้ที่ใหญ่จริงเช่นนี้ เมื่อมีใครทำอะไรให้ จึงพร้อมสำนึก ใส่ใจ พร้อมแสดงให้เห็นว่าขอบคุณ

อาจารย์ Tom Peters กูรูผู้โด่งดังจากผลงาน In Search of Excellence ชี้แนะคนทำงาน โดยเฉพาะผู้บริหารว่า ควรทำตนอ่อนน้อมเข้าไว้ พร้อมใส่ใจ ให้ความอบอุ่น และความจริงใจ คนจะจดจำได้ไม่ลืม

“People don’t forget kindness.”

การขอบคุณใคร ถือเป็นการให้เกียรติ ทำให้คนที่ทำอะไรให้เราตระหนักว่า เราเห็นคุณค่า เห็นความสำคัญ เมื่อมีโอกาสในอนาคตเราจะจดจำไว้ พร้อมน้อมทำสิ่งดีๆคืนให้ เป็นวงจรใจ ไม่จบ

ทั้งนี้ การเป็นคนตัว "เล็ก" เป็นเด็กกว่า เราถูกกะเกณฑ์ว่ามีหน้าที่พินอบพิเทา การขอบคุณผู้ที่ “ยิ่งใหญ่” กว่า จึงถือเป็นมาตรฐานธรรมดา ไม่ฮือฮาเท่าไหร่

แต่ในกรณีผู้ใหญ่ ที่แสดงให้เห็นว่าคนที่ “เล็ก” กว่า มีความสำคัญ โดยท่านไม่ปากหนัก พร้อมทักทาย และใช้มธุรสวาจา กล้าทั้งขอโทษ และขอบคุณ ท่านจึงมีสิทธิ์โดดเด่น เพราะท่าน “เป็น” และมีศิลปะของการดูแลคน

แม้เป็นราชสีห์ มีหนูเป็นเพื่อนคอยช่วย ย่อมดีกว่ามีหนูรุมแทะแล้วทิ้ง

ท่านที่อยากเสียน้อย (ลมหายใจไม่กี่วินาที) เพื่อได้มาก (ความชื่นใจของคนใกล้ตัว) ลองมาดูข้อแนะนำในการกล่าวขอบคุณกันค่ะ

1.ทำทันที ไม่ต้องรีรอ

รอขอบคุณตอนประเมินผลปลายปี หรือตอนที่พี่ว่าง ก็น่าจะได้ ใช่ไหมครับ

ได้ แต่ไม่ดี เพราะน้องอาจจะลืมไปแล้วว่าได้ทำอะไรดีๆให้ หรือช่วงที่รอ คิดตลอดเวลา ว่าพี่ไม่เห็นคุณค่ากับสิ่งที่เขาทำให้

สรุปว่า ทำดี อย่าเดี๋ยว

2.แสดงให้เห็นว่าเราตั้งใจ

หากขอบคุณด้วยวาจา ควรใช้ภาษาท่าทางประกอบ อาทิ มองตา ยิ้มให้ พร้อมกล่าวขอบคุณอย่างจริงใจ

หรือกรณีที่เขียนเป็นลายลักษณ์อักษร ก็เขียนให้เห็นประเด็นว่าเรามิใช่ขอบคุณแบบลวกๆให้เสร็จๆ แต่ทำอย่างตั้งใจ โดยใช้วิธีต่างๆ เช่น ระบุชื่อ และ ตั้งใจใส่เนื้อความที่จะขอบคุณอย่างเฉพาะเจาะจง

ระบุชื่อ

เปรียบเทียบ “พี่ขอบคุณมากที่ช่วยพี่“ กับ ”พี่ขอบคุณคุณสมชายมากที่ช่วยพี่“

ใช้ชื่อเพราะเขาไม่ใช่คุณอะไรก็ได้ในโลกนี้ ที่ไม่สำคัญ ไม่ต้องมีชื่อเสียงเรียงนาม พี่รู้ว่าคุณคือสมชาย คนที่ทำอะไรดีๆให้พี่ แค่นี้น้องก็พองฟู

ตั้งใจใส่เนื้อความที่จะขอบคุณอย่างเฉพาะเจาะจง

เปรียบเทียบ “ขอบคุณมากค่ะ” กับ "ขอบคุณมากค่ะที่ช่วยเร่งหาข้อมูลให้ หากไม่ได้คุณสมชายพี่ต้องตายแน่"

เราขอบรรจงขอบคุณเพราะรู้สึกเช่นนั้นจริงๆ มิใช่ทำพอเป็นพิธี ทำให้เสร็จๆ

3.ขอบคุณอย่างจริงใจ ไม่ใช่ขอบคุณแบบเฝือ พร่ำเพรื่อ จนเบื่อฟัง

นึกภาพหัวหน้าที่ก้มหน้าก้มตาอ่านหนังสือ ขณะที่ขยับปากขมุบขมิบขอบคุณ เมื่อแม่บ้านวางกาแฟให้ข้างตัว แม่บ้านเอาน้ำมาวางให้อีกรอบ ท่านก็ขอบคุณโดยไม่ได้ละสายตาจากหน้ากระดาษ รอบสุดท้าย เอาปาท่องโก๋มาวางให้ ท่านก็ไม่ละเลยที่จะบอกขอบคุณอีกที แต่พี่ไม่เงยหน้า เพราะเอกสารสำคัญกว่าไง

เปรียบเทียบกับหัวหน้า ที่พร้อมหยุดอ่านเอกสาร 10 วินาที เพื่อเงยหน้า สบตาแม่บ้านใจดี พร้อมยิ้มให้อย่างมีไมตรี และพูดว่า

“ขอบคุณค่ะ ได้ขนมของสมศรี พี่เลยมีแรงทำงาน”

ครั้งหน้า นอกจากกาแฟ น้ำ และปาท้องโก๋ น้องสมศรีจะมีขนมครกยกมาให้อีก

เสีย 10 วินาที กับ วาจา ที่มาฟรีๆ พี่ได้ตอบแทนเป็นขนมครก และความอิ่มอกอิ่มใจที่ต่างมีให้กัน

ไม่ว่ามองในแง่ใด อย่างไรๆ ก็คุ้มค่ะ