ปาฐกถา "ความสุขประชาชาติ" โดย ฯพณฯ นายกรัฐมนตรีแห่งภูฏาน

ปาฐกถา "ความสุขประชาชาติ" โดย ฯพณฯ นายกรัฐมนตรีแห่งภูฏาน

ในโอกาสงานเฉลิมฉลองการก่อตั้งหอการค้าไทย ครบ 80 ปี ระหว่างวันที่ 16-23 พฤศจิกายน 2555 ณ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค เมืองทองธานี

หอการค้าไทย ได้เรียนเชิญ ฯพณฯ จิกมี วาย ทินเลย์ (Jigmi Y Thinley) นายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรภูฏาน แสดงปาฐกถาพิเศษเรื่อง “ภูฏาน:การพัฒนาประเทศที่มุ่งเน้นความสุขมวลรวมประชาชาติ” เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2555 ได้มีการถอดความปาฐกถา และจัดพิมพ์พร้อมคำแปลที่แปลโดย คุณเกริกไกร จีระแพทย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ไว้ด้วย ปาฐกถาพิเศษนี้น่าจะเป็นประโยชน์ให้ข้อคิดต่อผู้ติดกับหลงระเริงกับนโยบายประชานิยมสุดลิ่มทิ่มประตูได้บ้างว่า ประเทศไทยกำลังติดหล่มกับนโยบายประชานิยมและละเลยต่อปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานไว้ และต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มาตรา 83 ที่บัญญัติว่า “รัฐต้องส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการดำเนินการตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” และกำลังทำลายตนเองด้วยนโยบายประชานิยม วันนี้จึงขออนุญาตนำปาฐกถาดังกล่าวมาถ่ายทอดในบทความนี้ โดยสรุปความจากคำแปล และยกมาบางประโยคที่เป็นการเน้น เพื่อให้เหมาะสมกับเนื้อที่ของบทความ

ท่าน นายกรัฐมนตรีได้กล่าวนำถึงหัวข้อปาฐกถาไว้อย่างน่าสนใจ คือ

“ข้าพเจ้ารู้สึกยินดีที่ได้รับเชิญมากล่าวถึงหัวข้อ “ความสุขประชาชาติ” (Gross National Happiness : NGH) อันเป็นหลักนำในการพัฒนาภูการมา 4 ทศวรรษ.....”

“เมื่อพูดถึงหัวข้อปาฐกถา ต้องยอมรับในความคล้ายคลึงของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชกับแนวปรัชญา ความสุขประชาชาติ ที่น่าสนใจยิ่งที่แนวคิดทั้งสองมาจากความห่วงใยเดียวกันของกษัตริย์ทั้งสองพระองค์ และบังเกิดขึ้นในเวลาใกล้เคียงกันในทศวรรษ 1970

ข้าพเจ้าคิดว่าสาเหตุที่หอการค้าไทยได้ให้ความสนใจในแนวคิดและกระบวนทัศน์การพัฒนาของภูฏาน เกิดจากความไม่พึงพอใจที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ กับรูปแบบการพัฒนาเดิมๆ ที่ใช้ GDP เป็นตัววัดระดับการพัฒนา ตัววัดเหล่านี้ถูกใช้มาอย่างไม่ลืมหูลืมตา และอย่างผิดๆ และเป็นที่ยอมรับว่า เป็นตัวจำเลย ที่นำสังคมมนุษย์สู่หนทางที่ทำลายตนเอง.....”

ท่านกล่าวต่อมาเป็นเชิงคำถามว่า แล้วใช้อะไรเป็นตัววัดแทน GDP "คำถามคือเราจะพึงวัดอะไร และที่นำไปสู่กระบวนการวิเคราะห์และรอบคอบว่า จุดมุ่งหมายของชีวิตและการพัฒนาควรเป็นอันใด"

เพื่อเป็นการตอบคำถามดังกล่าว ท่านได้กล่าวถึงกรณีที่มีการสัมมนาในหัวข้อ “ความสุข” ที่มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ที่มีนักวิชาการเข้าร่วมสัมมนาจำนวนมากรวมถึงผู้ได้รับรางวัลโนเบลถึง 6 ท่าน และ การที่สมัชชาองค์การสหประชาชาติ (UNGA) ได้มีมติรับ “ความสุข” เป็นเป้าหมายของการพัฒนาสังคม ตลอดจนการที่ประเทศที่พัฒนาแล้วหลายประเทศ เช่น สหราชอาณาจักร อิตาลี ออสเตรเลีย บราซิล ญี่ปุ่น กำลังพัฒนาตัวชี้วัดความสุข รวมทั้งการที่สหรัฐอเมริกา กำลังพัฒนาตัวชี้วัดความเป็นอยู่ที่ดีโดยอ้างอิงถึง “ตัวชี้วัดความสุข” ของภูฏานด้วย จึงเป็นนัยแห่งคำตอบได้ว่า ตัววัดที่จะใช้แทน GDP คือ “ความสุข”

ท่านได้กล่าวต่อมาถึงกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลกในศตวรรษที่ผ่านมา เป็นศตวรรษที่มีการเผชิญหน้ากัน ของประเทศต่างๆ เป็นศตวรรษของนาครภิวัฒน์ ประชากรเคลื่อนย้ายจากชนบทพัฒนาการเป็นสังคมเมืองมากขึ้นและจะมากขึ้นอีก ท่านกล่าวถึงชีวิตคนเมืองตอนหนึ่งว่า “คนจำนวนมากตระหนักว่าชีวิตเมืองเป็นชีวิตของความเปล่าเปลี่ยว และสับสนวุ่นวาย สิ่งที่สังคมครอบครัว เพื่อนบ้านยื่นให้ยามอยู่ชนบท ถูกทดแทนโดยสวัสดิการรัฐ ซึ่งกำลังเป็นภาระยิ่งในหลายประเทศที่ร่ำรวย การพัฒนาเมืองที่ปราศจากทิศทาง จึงน่าจะทำให้ความสุขน้อยลง อย่างน้อยก็เป็นความจริงจากผลสำรวจ ความสุขประชาชาติ ในภูฏาน”

สำหรับ ความหมายของ “ความสุข” ท่านมีความเห็นว่า “ความสุขน่าจะหมายถึง การเกิดอย่างมีสุข การเลี้ยงดู การทำงานที่มีความหมายและให้ความพึงพอใจ การเจริญวัยอย่างมีความสุขใจและความมั่นคง และตายอย่างสงบสุข ท่ามกลางครอบครัวและญาติมิตร”

ส่วนการวัดความเจริญที่ผ่านมาว่า ท่านเห็นว่า เราหลงรับ GDP และกลไกตลาดเป็นมาตรวัดและเป็นแหล่งที่มาของความสุขและความอยู่ดีกินดี จนละเลยว่าสิ่งใดมีความหมายต่อชีวิตอย่างแท้จริง เพราะความไม่พึงพอใจต่อรูปแบบดั้งเดิมดังกล่าว อดีตกษัตริย์ภูฏาน จึงได้กำหนดให้ “ความสุขประชาชาติ” เป็นกรอบการพัฒนา โดยมีเป้าประสงค์ที่ชัดเจนคือ "ความสุขของประชาชนชาวภูฏานโดยทั่วไป"

รัฐบาลภูฏานมีหน้าที่ต้องดำเนินงานตามสี่เสาหลักแห่ง “ความสุขประชาชาติ” อันเป็นปัจจัยสร้างความสุขคือ การพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมที่ยั่งยืนและทัดเทียม การอนุรักษ์นิเวศวิทยาภูเขา การส่งเสริมความหลากหลายและการเจริญเติบโตของวัฒนธรรม และเสาหลักที่ 4 คือ ธรรมาภิบาล

ในส่วนของดัชนีชี้วัด “ความสุขประชาชาติ” รัฐบาลภูฏานได้กำหนดขึ้นโดยความร่วมมือของนักวิชาการและนักปฏิบัติจากทุกมุมโลก และผลการประชุมทางวิชาการ ดัชนีชี้วัดนี้เป็นการต่อยอดจากเสาหลักทั้งสี่ที่กล่าวมาแล้ว และประกอบด้วยกรอบ 9 กรอบคือ 1. มาตรฐานความเป็นอยู่และการกระจายรายได้ 2. สุขภาพอนามัย 3. มาตรฐานการศึกษา 4. ความหลากหลายทางชีวภาพ 5. ความหลากหลายทางวัฒนธรรม 6. พลังความคึกคักแห่งชุมชน 7. การใช้เวลา 8. ความสุขทางจิตใจ และ 9. คุณภาพของธรรมาภิบาล

ในการสำรวจสำมะโนประชากรและครัวเรือนครั้งล่าสุด พบว่า ระดับความสุขของประชากรชาวภูฏานเป็น ดังนี้ คือ ไม่ค่อยมีความสุข 3% มีความสุข 52% และมีความสุขมาก 45%

ต่อข้อโต้แย้งว่า ดัชนี “ความสุขประชาชาติ” ใช้ข้อมูลในเชิงอัตวิสัย (Subjective) วัดผลยาก และความสุขเช่นว่าก็ไม่พึงนำมาใช้เป็นสิ่งกำกับอภิบาลสังคม ท่านเห็นว่า ความไม่เชื่อถือในเชิงข้อมูลนี้ จะนำไปสู่การมองข้ามความสุขในกระบวนการวางแผน การบริหารการปกครอง และการพัฒนา และเห็นว่า การไม่คำนึงถึงข้อมูลเพียงเพาะวัดผลยาก เท่ากับปล่อยให้รัฐหลุดพ้นจากพันธกรณีสำคัญที่ทำให้ประชาชนแสวงหาความสุขได้ และ ท่านก็ได้ย้ำว่า

“หากมีความไม่มีสุขปรากฏขึ้น ณ ที่ใด รัฐบาลก็ต้องจัดการแก้ไขโดยไม่ต้องรอข้อมูลในเชิงภาวะวิสัย (Objective) ก็ไม่สามารถแจงความจริงของอัตวิสัยได้

การเปลี่ยนรูปแบบการวัดด้าน “ผลิตภัณฑ์ประชาชาติ” เป็น "ความสุขประชาชาติ" ต้องมีการเปลี่ยนแปลงวิธีการดำรงชีวิตที่แล้วมา และจะต้องเกิดจากการรับรู้ ความสำเร็จก้าวหน้าด้านวัตถุของมนุษย์อันน่าทึ่ง และยอมรับว่าแม้จะมีอะไรใหม่ๆ อีกก็ไม่มีความจำเป็นต่อการทำให้เกิดความเจริญเพิ่มขึ้นหรือเติมความสุขให้ยิ่งใหญ่กว่านี้”

ท่านกล่าวปิดท้ายก่อนจบว่า “ก่อนจบ ขอถือโอกาสเรียนว่ามีความสุขที่เห็นความหยั่งลึกของสัมพันธภาพระหว่างประเทศและประชาชนทั้งสองที่มีวัฒนธรรมร่วมในความจงรักภักดีต่อกษัตริย์ทั้งสองพระองค์ที่ทรงทศพิธราชธรรม..”