สื่อเซนเซอร์ตัวเอง สื่อไร้รสนิยม และคุกคามสื่อ : จากเหนือเมฆ 2 โก๊ะตี๋ ถึงเอเอสทีวี

สื่อเซนเซอร์ตัวเอง สื่อไร้รสนิยม และคุกคามสื่อ : จากเหนือเมฆ 2 โก๊ะตี๋ ถึงเอเอสทีวี

เพียงไม่ถึงสองสัปดาห์เข้าสู่ปีงูเล็ก คนทำสื่อก็เจอทั้งพิษและฤทธิ์จากสามเหตุการณ์ซึ่งนำสื่อไปอยู่ในสปอตไลท์ความสนใจของประชาชน

เริ่มจากการระงับการออกอากาศของละครเหนือเมฆ 2 ทางสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 การล้อเลียนเด็กดาวน์ซินโดรมในรายการทอล์คโชว์ข่าวยอดนิยมในสถานีเดียวกัน และล่าสุดการตบเท้าของนายทหารกว่า 50 คนไปที่บ้านพระอาทิตย์เพื่อประท้วงการนำเสนอข่าวของเอเอสทีวีเกี่ยวกับผู้บัญชาการทหารบก

เหตุการณ์แรกซึ่งได้กลายเป็นปรากฏการณ์สังคมไปแล้ว เริ่มจากการตัดสินใจหยุดการแพร่ภาพของละครหลังข่าวเรื่องเหนือเมฆ 2 มือปราบจอมขมังเวทย์ ทางช่อง 3 ตั้งแต่วันที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2556 ด้วยเหตุผลที่ไม่ชัดเจน ทั้งๆ ที่ละครก็ออกอากาศมาจนเหลืออีกเพียงสองตอนจะจบแล้ว ตามหลักการ การระงับการออกอากาศในลักษณะนี้น่าจะมีประเด็นที่ร้ายแรงในเนื้อหาละครเป็นปัจจัย ทว่าจากการตอบรับของคนดูละครเรื่องนี้ ก็ไม่ปรากฏอะไรที่เป็นปัญหา ก่อนหน้านี้มีละครอย่าง ดอกส้มสีทอง และแรงเงาซึ่งเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กว้างขวางจนถึงขั้นต่อต้าน ช่อง 3 ก็ยังไม่รู้ร้อนรู้หนาวนำเสนอต่อไปจนจบ แม้จะมีการปรับเนื้อหาให้ดูเหมือนมีสำนึกทางสังคมมากขึ้นก็ตาม

ในกรณีเหนือเมฆ 2 สามารถประมวลสมมติฐานที่เป็นไปได้สำหรับสาเหตุของการเซนเซอร์ละครเรื่องนี้ได้ดังนี้

1) ผู้บริหารช่อง 3 มีความอ่อนไหวสูงในการกำกับดูแลตนเองจากการที่เคยถูกคาดโทษโดยคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) จากกรณีสาวเปลือยอกวาดรูปในรายการ ไทยแลนด์ ก็อตทา เลนต์ (Thailand Got Talent) ตอนนั้น ช่อง 3 ถูกตัดสินว่าทำผิดตามมาตรา 37 แห่งพระราชบัญญัติการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 กสทช.ได้ลงโทษทางปกครองด้วยการปรับทางสถานีในอัตราสูงสุดคือ 500,000 บาทและยังได้สั่งให้ช่อง 3 ตรวจสอบและงดเว้นมิให้เกิดการเผยแพร่รายการในลักษณะนี้ซ้ำอีกต่อไป

2) การแทรกแซงอันเป็นผลของการสั่งตรงของ “ผู้มีอำนาจ” ซึ่งอาจเป็นใบสั่งจากในองค์กรช่อง 3 เองที่รู้ๆ กันว่า “ผู้ใหญ่” ในสถานีมีความสัมพันธ์โยงใยกับการเมืองแนบแน่น หรือจากนอกองค์กร ทั้งนี้ เนื้อหาละครเรื่องนี้มีหลายตอนที่ดูเหมือนเป็นการเสียดสีผู้มีอำนาจทางการเมืองในอดีตคือ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรและครอบครัว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสัมปทานดาวเทียมที่ไม่โปร่งใส การนิยมไสยศาสตร์ และการตั้งชื่อตัวละครบางตัวให้พ้องเสียง แม้แต่สื่อต่างชาติอย่าง วอลสตรีทเจอร์นัล (Wall Street Journal) ก็ยังมีการตั้งข้อสังเกตในประเด็นเหล่านี้ (ดู http://blogs.wsj.com/searealtime/)

3) การที่ทางสถานีตัดสินใจเซนเซอร์ตัวเอง (โดยไม่มีการขอมา) ด้วยความหวาดกลัวปัญหาสืบเนื่องจากความยุ่งยากทางกฎหมายที่ช่อง 3 ประสบอยู่แล้วในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) กำลังสอบสวนการขยายสัมปทาน 10 ปี (จากพ.ศ. 2553 ถึง พ.ศ. 2563) ระหว่าง อสมท กับ ช่อง 3 โดยไม่มีการประมูลตามกฎหมาย ซึ่งอาจเข้าข่ายผิด พระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ หรือ พระราชบัญญัติร่วมทุน 2535 หรือกรณีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูลความผิดพิธีกรเล่าข่าวชื่อดังของช่อง 3 คือ นายสรยุทธ สุทัศนจินดา ฐานสนับสนุนพนักงานของ อสมท ให้กระทำความผิดเรื่องการไม่รายงานการโฆษณาเกินเวลาของรายการ

ไม่ว่าสาเหตุที่แท้จริงคืออะไร แต่ช่อง 3 ก็ได้เสียรังวัดไปแล้วอักโขในแง่ของความโปร่งใสและจริงใจกับประชาชนคนดู การอ้างถึงมาตรา 37 ของพรบ.การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 อย่างคลุมเครือ ตามมาด้วยการใช้ตรรกะแบบงงๆ บอกว่าละครก่อให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในสังคมจึงตัดสินใจไม่แพร่ภาพต่อ ทั้งที่เสียงวิจารณ์เป็นผลมาจากการแบนละครถือเป็นการดูถูกสามัญสำนึกของคนดูละคร โดยเฉพาะละครน้ำดีอย่างเหนือเมฆ 2 ที่พยายามตีแผ่พฤติกรรมเลวร้ายของนักการเมืองบางคนบางกลุ่ม ยิ่งไปกว่านั้น การแบนละครเรื่องนี้ยังสามารถส่งผลให้เกิด “บรรยากาศแห่งความกลัว” ในหมู่ผู้จัดละครทำให้ไม่อยากหยิบยกประเด็นทางการเมืองมาทำละครอีกเพราะกลัวชะตากรรมแบบเดียวกัน

ความวัวยังไม่ทันหาย ช่อง 3 ก็สร้างความควายให้เกิดขึ้นอีก เมื่อพิธีกรรายการ ทอล์คโชว์ ข่าวชื่อดังคนเดิมกับพิธีกรคู่หูคือ “โก๊ะตี๋” ได้ร่วมกันล้อเลียนเด็กที่มีอาการดาวน์ซินโดรมในเชิงตลกขบขัน ผ่านรายการ “เรื่องเล่าเช้านี้” ช่วงข่าวบันเทิงในวันที่ 9 มกราคม 2556 จากการย้อนดูคลิปย้อนหลังในเว็บไซต์ยูทูป (http://www.youtube.com/watch?v=HHplRcJUa_Q) พบว่าเริ่มจากการเปิดมุกโดยนักร้องที่เชิญมาแสดงในรายการคือ “พลพล พลกองเส็ง” ว่า "พอดีในช่วงใกล้วันเด็ก ผมก็เลยมีลูกชายคนหนึ่งเป็น ดาวน์" จากนั้น พิธีกรหลักคือสรยุทธก็พูดต่อขึ้นว่า “ดาวน์…ดาวน์ซินโดรม” และพลพลจึงรับมุกต่อว่า "ดาวน์ซินโดรม อยากจะมารายการนี้ด้วย ก็เลยอยากจะขอเชิญให้มา เค้าอยากเจอคุณสรยุทธ" จากนั้นก็มีเสียงร้องเรียกเหมือนเสียงเด็กว่า “ป๊า” และปรากฏเป็นโก๊ะตี๋รัดผมแกละสองข้าง ทาแป้งจนหน้าขาวโพลน ออกมาในชุดเสื้อยืดตัวเล็กรัดติ้วเปิดให้เห็นพุงเป็นชั้นและกางเกงขาสั้นพร้อมแสดงท่าทางขบขันจากสติที่ไม่สมบูรณ์ สรยุทธจึงบอกให้โก๊ะตี๋หันไปถามพลพลว่า "ถามคุณพ่อซิว่าทำยังไงถึงออกมาอย่างนี้ได้"

หลังจากมีการออกอากาศเนื้อหาดังกล่าว แฟนเพจเฟซบุ๊ค@เปิดโลกกว้างเส้นทางแห่งรักดาวน์ซินโดรม Together We Rise Down Syndrome ซึ่งเป็นพื้นที่ออนไลน์สำหรับแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารของครอบครัวซึ่งมีลูกที่มีอาการดังกล่าว ก็ได้ขึ้นสเตตัสเรียกร้องขอความเห็นใจจากพิธีกรข่าวชื่อดังและทีมงานผู้ผลิตรายการครอบครัวข่าว 3 ถึงการนำเสนอภาพลักษณ์ของผู้มีอาการดาวน์ซินโดรมว่าส่งผลทำร้ายจิตใจโดยตรงกับผู้ประสบปัญหาดังกล่าวและครอบครัว ต่อมากลุ่มเดียวกันได้เดินทางไปที่สถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 เพื่อยื่นหนังสือ ท้ายที่สุดนายสรยุทธ โก๊ะตี๋ และทีมงานก็ได้ออกมาขอโทษและบอกว่าเป็นความผิดพลาดที่ไม่ได้ตั้งใจ ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ที่หนาหูในพื้นที่ออนไลน์ถึงความไม่เหมาะสมและไม่ตระหนักถึงความอ่อนไหวในการนำเสนอเกี่ยวกับความพิการ

ต่อกรณีนี้ คงไม่ต้องบอกว่าไม่ใช่ครั้งแรกที่รายการเรื่องเล่าเช้านี้ หรือ รายการอื่นๆ ในเครือออกอาการ “หลุด” และได้ตอกย้ำหรือขยายปัญหาให้กับคนที่ด้อยโอกาสหรือไร้สิทธิไร้เสียงในสังคมไทย แม้ไม่อยากฟื้นฝอยหาตะเข็บ แต่มีหลายๆ กรณีของความผิดพลาดในอดีตจากรายการนี้ที่ได้กลายเป็นกรณีศึกษาในรั้วมหาวิทยาลัยไปแล้ว สำหรับการนำเสนอข่าวหรือเนื้อหาอื่นที่ขาดความระมัดระวังและไร้รสนิยมอันดี

กรณีสุดท้ายคือการที่ทหารกลุ่มหนึ่งไปชุมนุมที่บริเวณหน้าสำนักงานหนังสือพิมพ์เอเอสทีวีผู้จัดการอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่วันศุกร์ที่ 11 มกราคม และวันเสาร์ที่ 12 มกราคม 2556 เพื่อเรียกร้องให้สื่อในเครือเอเอสทีวี ผู้จัดการ ขอโทษผู้บัญชาการทหารบก เนื่องจาก เห็นว่าสื่อในเครือดังกล่าว เสนอข่าวและวิพากษ์วิจารณ์ผู้บัญชาการทหารบกด้วยถ้อยคำที่ไม่สุภาพ เป็นการหมิ่นศักดิ์ศรีผู้บังคับบัญชาและกองทัพ ยิ่งไปกว่านั้น กองทัพบกยังได้มีการออกคำสั่งห้ามผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์เอเอสทีวีผู้จัดการ และสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมเอเอสทีวีเข้ามาทำข่าวในกองบัญชาการกองทัพบกด้วย

แม้หลายฝ่ายอาจจะสะใจกับท่าทีของกองทัพในการให้บทเรียนกับสื่อ แต่ต้องขอประเมินตามหลักการในระบอบประชาธิปไตยว่า ปฏิกิริยาของกองทัพไม่เอื้อต่อการสร้างภาพลักษณ์ของทหารสมัยใหม่ที่ควรจะรู้ว่า เสรีภาพในการแสดงออกของสื่อเป็นสิทธิที่ได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ หากมีกรณีที่มองว่าสื่อทำให้เสื่อมเสียชื่อเสียงก็ควรที่จะใช้ช่องทางของกฎหมาย เช่น การฟ้องหมิ่นประมาทตามมาตรา 326 และ มาตรา 328 ของประมวลกฎหมายอาญา หรือจะเป็นการใช้กลไกการกำกับดูแลกันเองของสื่ออย่าง สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ หรือ สภาวิชาชีพข่าววิทยุโทรทัศน์ไทยก็ย่อมจะ “สวย” กว่า การอาศัยแรงคนไปกดดัน หมดสมัยแล้วที่สถาบันใดจะอยู่เหนือการวิพากษ์วิจารณ์ ยิ่งเป็นสถาบันที่มีอำนาจแห่งอาวุธยุทโธปกรณ์เป็นที่ตั้งก็ยิ่งจะดูน่ากลัว และเสมือนเป็นการคุกคาม หากมีการรวมหมู่กันมากดดันอย่างที่ปรากฏต่อสายตาประชาชนในช่วงที่ผ่านมา

สรุปภาพรวมสถานการณ์สื่อไทยหลังปีใหม่ ต้องบอกว่า ความท้าทายยังคงปรากฏทั้งในระดับภายในคือ จากตัวคนทำสื่อเอง (อัตตา สำนึก ความระมัดระวัง ความกล้าหาญทางจริยธรรม) และจากองค์กรสื่อ (นโยบาย โครงสร้างความเป็นเจ้าของ จรรยาบรรณ) ไปจนถึงระดับภายนอกคือ อิทธิพลทางการเมือง ธุรกิจ และ โครงสร้างของอุตสาหกรรมสื่อ อย่างไรก็ดี ได้แต่หวังว่า หลักการแห่งประโยชน์สาธารณะจะได้รับการคำนึงถึงบ้างไม่ว่าจะในระดับใดก็ตาม