ส่องโลกการจัดการ เพิ่มผลิตภาพองค์กร

ส่องโลกการจัดการ 
เพิ่มผลิตภาพองค์กร

ตั้งแต่ปี 2556 เป็นต้นไป การนำแนวคิด เครื่องมือ และวิธีการจัดสมัยใหม่มาใช้ จะมีความสำคัญมากขึ้น

เมื่อนึกถึงความสามารถการแข่งขันไม่ว่าจะเป็นระหว่างประเทศ หรือระหว่างหน่วยงาน ดัชนีชี้วัดหนึ่งซึ่งมีความสำคัญและมักใช้อ้างอิงอยู่เสมอ อีกทั้งมีความเชื่อมโยงอย่างใกล้ชิดกับความสามารถของบุคลากรในประเทศนั้นๆ เพราะถ้ากำลังแรงงานในประเทศมีคุณภาพทั้งด้านการศึกษา ทักษะ ความคิด และการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีแล้ว จะมีผลต่อปัจจัยอื่นๆไปโดยปริยาย ผลิตภาพ (Productivity) จึงมีนัยในเชิงตัวชี้วัดที่บ่งบอกสถานะ และยังใช้ในความหมายถึงการพัฒนาในทางที่ดีขึ้นด้วย อาทิ จิตสำนึกด้านผลิตภาพ (Productivity awareness) การเพิ่มผลิตภาพ (Productivity improvement) เป็นต้น


จากการรวบรวมผลการศึกษาถึงสาเหตุที่เป็นไปได้ในการลดลงของผลิตภาพ เปรียบเทียบกับวงจรเศรษฐกิจที่ผ่านมา แม้ว่าผลิตภาพบางประเทศจะเคยอยู่ในระดับสูงและเติบโตต่อเนื่อง พบว่ามาจาก


1. การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ได้ผลักดันให้องค์การต่างๆ จ้างพนักงานมากขึ้น เพื่อรองรับกับโครงการหรือธุรกิจใหม่ๆ เป็นผลให้เกิดการแย่งชิงตัวพนักงานกันมากในตลาดแรงงาน ปริมาณของแรงงานที่เข้าสู่ภาคบริการมากขึ้น และค่าจ้างในบางสาขาวิชาที่สูงขึ้นในช่วงธุรกิจบูมสุดขีดนี่เองที่ส่งผลให้ผลิตภาพลดลงในช่วงเศรษฐกิจปกติ


2. โครงสร้างทางเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไปโดยมีสัดส่วนของภาคบริการเพิ่มสูงขึ้น ในขณะที่ภาคการผลิตยังคงสำคัญ และภาคเกษตรน้อยลง ไม่ว่าจะดูในแง่ของสัดส่วน GDP หรือในแง่ของกำลังแรงงานที่เคลื่อนตัวไปสู่ภาคบริการ และภาคการผลิตไฮเทคมากขึ้น นี่จึงเป็นสิ่งสะท้อนถึงความต้องการคนทำงานที่ไม่ใช่แค่ทักษะความสามารถ แต่ยังหมายถึงคนที่มีความรู้ในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี และความคิดสร้างสรรค์ในการพัฒนาสิ่งใหม่ๆ ที่เรียกว่า Knowledge Worker มีผลกระทบต่อ


a. การจ้างงานพราะมีความแตกต่างกันอย่างมากในเชิงผลิตภาพระหว่างคนทำงานตามขั้นตอนปฏิบัติ และคนทำงานที่ใช้การคิดวิเคราะห์ จะพบว่าลักษณะของ Knowledge Worker คือ
1. ขอบเขตของงานที่รับผิดชอบไม่ตายตัว
2. มีลักษณะการทำงานที่เป็นตัวของตัวเอง
3. มีนวัตกรรมและความคิดแบบก้าวกระโดดอยู่เสมอ
4. มีการเรียนรู้และถ่ายทอดอย่างต่อเนื่อง
5. มุ่งพัฒนาคุณภาพเป็นหลัก โดยไม่เน้นปริมาณ
6. คนทำงานที่ใช้การคิดวิเคราะห์เปรียบเสมือนทรัพย์สินที่มีคุณค่า ไม่ใช่ต้นทุนเหมือนคนที่ใช้แรงงาน


b. ต่อโครงสร้างองค์กร แน่นอนถ้าเราเข้าไปพิจารณาโครงสร้างขององค์การด้านผลิต จะมีระดับชั้นของพนักงาน และสายการบังคับบัญชาเป็นชั้นๆ ในขณะที่องค์การสร้างสรรค์จะไม่เป็นเช่นนั้น
c. วิธีบริหารจัดการภายใน และการพัฒนาทรัพยากรบุคคล
d. การลงทุนในอุปกรณ์ เครื่องจักร เครื่องมือ และเทคโนโลยีใหม่ๆ
3. ขาดความใส่ใจในการออกแบบระบบที่ดีเพียงพอ
4. ผลของการลงทุนทางเทคโนโลยีที่ล่าช้าเกินไป


จากการประชุมเชิงปฏิบัติการ Thailand Competitiveness Conference 2012 เมื่อวันที่ 11 ก.ย. 2555 ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจที่นำทีมโดยนายกรัฐมนตรี ได้ร่วมประชุมกับนักธุรกิจชั้นนำของประเทศกว่า 100 คน โดยรายงานที่นำเสนอครั้งนี้เป็นพัฒนาการจากความร่วมมือของ TMA สำนักงานคณะพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ผลการประชุมครั้งนั้น ผู้นำในภาคธุรกิจเอกชนได้นำเสนอวิสัยทัศน์และยุทธศาสตร์ในการพัฒนาอุตสาหกรรมที่ประเทศไทยมีศักยภาพสูง 6 อุตสาหกรรม ได้แก่ Food, Automotive, Rubber, Logistics, Preferred Destination และ Healthcare และเรื่องที่เป็นประเด็นพื้นฐานสำหรับการพัฒนาศักยภาพในการแข่งขันของประเทศอีก 4 เรื่อง ได้แก่ Green Economy, Technology and Innovation, Corporate Responsibility and Sustainability และ Human Resource Development


ซึ่งพบว่าทั้งหมดมีประเด็นที่ต้องร่วมกันปรับปรุงดังนี้
- เรื่อง Human Resource Development ประเทศไทยควรพัฒนาด้านการอาชีวศึกษา และมีการบริหารอุปสงค์และอุปทานของแรงงานระดับปริญญาตรีให้มีความสมดุล
- เรื่อง Technology and Innovation ประเทศไทยต้องลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการวิจัยและพัฒนา รวมทั้งส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือระหว่างสถาบันวิจัยกับองค์กรภาคธุรกิจ
- เรื่อง นโยบาย กฎหมายและกฎระเบียบต่างๆ ประเทศไทยจำเป็นต้องปรับปรุงกฎหมายและกฎระเบียบที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการพัฒนาประเทศ รวมทั้งมีความแน่นอนในการกำหนดนโยบาย
- เรื่อง ความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน ผู้บริหารจากทั้งภาครัฐและเอกชนที่เข้าร่วมการระดมความคิดเห็น เห็นพ้องกันว่าในการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศนั้น ภาครัฐและเอกชนจำเป็นต้องมีความร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง จึงควรจัดตั้ง “Top Team” เพื่อร่วมกันกำหนดทิศทาง และผลักดันการดำเนินการในด้านต่างๆที่ได้กล่าวมาแล้ว


ซึ่งเมื่อนำข้อสรุปจากการสัมมนาดังกล่าว มาพิจารณาร่วมกับผลสำรวจเกี่ยวกับการจัดการองค์การจะพบว่า เครื่องมือ ระบบ และวิธีการบริหารจัดการสมัยใหม่ที่นิยมนำมาใช้และผู้บริหารพึงพอใจต่อผลการใช้งานในแต่ละครั้งจะแตกต่างกันไป จากข้อมูลการสำรวจความคิดเห็นบริษัทชั้นนำต่างๆ ต่อเนื่องกันหลายปี โดย Bain & CompanY Inc. พบว่ามีอยู่ 2 เครื่องมือการจัดการที่มีอยู่ในทุกครั้งที่สำรวจ และติด Top 5 มาตลอดคือ Benchmarking และ vision and mission Statement ส่วนเครื่องมือที่สำรวจพบบ่อยในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาแต่ไม่พบเจอในอดีตคือ การวางแผนกลยุทธ์ (Strategic Planning) การรับจ้างช่วงภายนอก (Outsourcing) และ การพัฒนาบุคลากรตามความความสามารถ (core Competencies) ซึ่งสอดคล้องกับการแข่งขันทางธุรกิจสมัยใหม่


ในขณะที่เครื่องมือด้านการมุ่งเน้นตลาดและลูกค้า มีการเปลี่ยนแปลงที่น่าสนใจในเนื้อหาสาระ โดยทศวรรษก่อนหน้านี้จะใช้เครื่องมือด้านการประเมินความพีงพอใจ (Customer satisfaction) เป็นหลัก แต่ปัจจุบันหลุดจาก Top 10 ไปแล้ว เมื่อความต้องการลูกค้าเปลี่ยนไปเข้าสู่ยุคการตลาด 3.0 ตลาดจึงถูกแบ่งออกเป็นส่วนย่อยๆ มากมายเต็มไปหมด การแบ่งส่วนการตลาดและลูกค้า (Customer segmentation) จึงเริ่มมีความสำคัญแต่ยังเทียบไม่ได้กับ CRM (Customer relationship management) ที่มาแรงแซงทางโค้งในช่วงไม่กี่ปีนี้ โดยล่าสุดติดอยู่ในกลุ่ม Top 5


ตั้งแต่ปี 2556 เป็นต้นไป การนำแนวคิด เครื่องมือ และวิธีการจัดสมัยใหม่มาใช้ จะมีความสำคัญมากขึ้น โดยไม่นำมาใช้แบบตรงๆ หรือทำตามแนวฝรั่งต่างชาติที่เป็นคนพัฒนาขึ้นเป็นอันขาด แต่จะต้องนำมาปรับใช้ให้เหมาะกับบริบทของไทย ที่มีวัฒนธรรมของคนทำงานที่หลากหลาย โดยเฉพาะเมื่อประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนมีผลในปี 2558 บริษัทข้ามชาติชั้นนำในประเทศไทยจะมีลักษณะเป็นขนมชั้น ที่ด้านบนเป็นผู้บริหารจากประเทศเศรษฐกิจชั้นนำของโลก ตรงกลางเป็นผู้จัดการคนไทย วิศวกร และกลุ่มวิชาชีพอาจจะเป็นลูกผสมที่มาจากประเทศต่างๆ ในอาเซียน โดยมีคนงานระดับไร้ฝีมือ และกึ่งฝีมือมาจากประเทศเพื่อนบ้านของเรา