การคาดการณ์เศรษฐกิจโลกและไทยปี 2556 (จบ)

การคาดการณ์เศรษฐกิจโลกและไทยปี 2556 (จบ)

“ผลกระทบของปัจจัยเสี่ยงทางการเมืองและหน้าผาทางการคลังต่อเศรษฐกิจไทย” ปัจจัยเสี่ยงทางการเมืองจะเป็นปัจจัยสำคัญที่สุด

ในการกำหนดทิศทางเศรษฐกิจ ปี 2556 ว่าจะเป็นเช่นใดเนื่องจากปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจภายในเป็นปัจจัยเกื้อหนุนให้เศรษฐกิจไทยสามารถเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากปีที่แล้ว ขณะที่ปัจจัยเสี่ยงทางการเมืองมีความไม่แน่นอนสูงและจะส่งผลต่อความผันผวนต่อตลาดการเงินภายในประเทศรวมทั้งการบริโภคและการลงทุนภายในประเทศได้ โดยความเสี่ยงทางการเมืองในไทยมีทั้งความเสี่ยงที่เกิดจากความขัดแย้งของกลุ่มชนชั้นนำและความขัดแย้งเชิงโครงสร้าง ความขัดแย้งที่รุนแรงอาจปะทุขึ้นเป็นวิกฤตการณ์ทางการเมืองจนสั่นคลอนต่อเสถียรภาพของระบบการเมืองได้ซึ่งเป็นปัญหาที่ใหญ่กว่าเสถียรภาพของรัฐบาลใดรัฐบาลหนึ่ง จุดอ่อนไหวที่อาจนำมาสู่วิกฤตการณ์ทางการเมือง อาจเกิดจากปัจจัยต่างๆ ดังต่อไปนี้

ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันที่อาจนำมาสู่การลุกฮือขึ้นของมวลชน การพยายามสร้างสถานการณ์เพื่อเข้ามาสู่อำนาจนอกครรลองระบอบประชาธิปไตยไม่ว่าจะเป็นการรัฐประหารโดยใช้กำลังหรือตุลาการภิวัฒน์ก็ตาม หากมีเหตุทำให้วิกฤตการณ์การเมืองปะทุขึ้นอีก วิกฤตการณ์ทางการเมืองรอบนี้น่าจะยืดเยื้อส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจมากและทำให้ลดทอนโอกาสในการพัฒนาไทยสู่ความเป็นศูนย์กลางของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ฉะนั้น ทุกภาคส่วนของสังคมจึงต้องร่วมกันลดทอนความเสี่ยงต่างๆ ที่จะนำไปสู่วิกฤตการณ์การเมืองรอบใหม่ ส่วนการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้มีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้นจะทำให้เสถียรภาพระบอบประชาธิปไตยและระบบการเมืองมีความมั่นคงยิ่งขึ้น และไม่น่าเป็นเหตุแห่งความขัดแย้งทางการเมืองรอบใหม่หากเปิดโอกาสในการเข้ามามีส่วนร่วมของประชาชนอย่างเต็มที่

สำหรับปัจจัยภายนอก ต้องจับตา ผลกระทบจากหน้าผาทางการคลัง เนื่องจากหน้าผาทางการคลังจะทำให้ตัวเลขการขาดดุลงบประมาณลดลงอย่างรวดเร็วเกินไปทำให้เศรษฐกิจสูญเสียพลังขับเคลื่อนทางการคลังอย่างฉับพลันและรุนแรงเนื่องจากมาตรการการคลังชั่วคราวเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจสิ้นสุดลง โดยมีการประมาณว่า หน้าผาทางการคลังในสหรัฐทำให้ตัวเลขการขาดดุลงบประมาณลดลงมากกว่า 600,000 ล้านดอลลาร์ หรือ ประมาณ 4% ของ จีดีพี

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจเพื่อการปฏิรูป ม.รังสิต มีการประเมินผลกระทบของหน้าผาทางการคลัง (Fiscal Cliff) ที่จะมีผลต่อเศรษฐกิจสหรัฐไว้ในหลายกรณี กรณีแรก ไม่มีปัญหาหน้าผาทางการคลัง (มาตรการลดภาษีและการใช้จ่ายยังคงมีการดำเนินการต่อไปทั้งหมด) กรณีนี้มีความเป็นไปได้น้อย เพราะจะติดปัญหาเพดานหนี้สาธารณะ ขณะนี้สหรัฐสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีของสหรัฐสูงกว่า 100% ขาดดุลงบประมาณราว 9.5% ของจีดีพีเศรษฐกิจสหรัฐ กรณีแรกนี้ เศรษฐกิจสหรัฐอาจขยายตัวได้ถึง 2.5 - 3% ในปี 2556 อัตราการว่างงานลดลง (แต่เป็นผลระยะสั้น) เป็นปัจจัยบวกต่อเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยในปี 2556 แต่จะทำให้แผนการแก้ไขปัญหาหนี้สาธารณะไม่เป็นไปตามเป้าและอาจส่งผลต่อเศรษฐกิจโลกและระบบการเงินโลกในระยะยาวได้

กรณีที่สอง กรณีลดการขาดดุลงบประมาณ 25% จาก Fiscal Cliff ทำให้เศรษฐกิจสหรัฐขยายตัวได้ประมาณ 2.1 - 2.2% เป็นไปตามกรณีพื้นฐานที่ คณะเศรษฐศาสตร์และศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจเพื่อการปฏิรูป ม. รังสิต ได้ประเมินไว้ กรณีนี้จะส่งผลต่อเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยเพียงเล็กน้อยเท่านั้น และ กรณีนี้ช่วยทำให้ความเสี่ยงของการปะทุขึ้นของหนี้สาธารณะของสหรัฐในอนาคตลดลงได้บ้าง

กรณีที่สาม มีการตัดลดมาตรการการใช้จ่ายภาครัฐเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ จะทำให้อัตราการขยายตัวเศรษฐกิจสหรัฐลดลงต่ำกว่า 2% กรณีที่สี่ ลดการขาดดุลงบประมาณ 50% จาก Fiscal Cliff จะทำให้อัตราการขยายตัวต่ำกว่า 1% กรณีที่ห้า ไม่ต่อมาตรการลดภาษี (คิดเป็นเม็ดเงินไม่ต่ำกว่า 2 แสนล้านดอลลาร์) กรณีที่สาม สี่ และห้า จะส่งผลกระทบต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกและส่งผลต่อภาคส่งออกและการท่องเที่ยวของไทยระดับหนึ่ง กรณีหก ลดการขาดดุลงบประมาณ 75% จาก Fiscal Cliff หรือ กรณีเจ็ด ตกหน้าผาทางการคลัง เงินหายไปจากระบบมากกว่า 6 แสนล้านดอลลาร์ ทั้งสองกรณีจะทำให้อัตราการขยายตัวเศรษฐกิจสหรัฐติดลบได้ ทำให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัวลง และ อาจทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตไม่ถึง 4%

สำนักงานงบประมาณรัฐสภา (Congressional Budget Office) ของสหรัฐได้วิเคราะห์หากรัฐบาลสหรัฐยังคงดำเนินนโยบายการคลังตามเดิม กล่าวคือ ยอมให้นโยบายการลดภาษีชั่วคราวของรัฐบาลประธานาธิบดีบุช (Bush Tax Cut) หมดอายุลงตามที่กำหนดไว้ ในคืนวันที่ 31 ธันวาคม 2555 และยอมให้นโยบายการลดภาษีประกันสังคมหมดอายุ ตลอดจนตัดงบประมาณรายจ่ายรัฐบาลลงบางส่วน จะทำให้สหรัฐอเมริกาลดการขาดดุลการคลังจาก 1,089 พันล้านดอลลาร์ ในปี 2555 เหลือลงเหลือ 213 พันล้านดอลลาร์ ในปี 2565 ทำให้หนี้สาธารณะคิดเป็น 58 % ของจีดีพีในปี 2565 แต่ถ้าหากรัฐบาลสหรัฐยืดอายุการลดภาษีต่างๆ และคิดภาษี Alternative Minimum Tax (AMT) ให้สอดคล้องกับอัตราเงินเฟ้อของประเทศ และยังคงให้อัตราการจ่ายตามโครงการประกันสุขภาพของรัฐบาลเหมือนเดิม ตลอดจนชะลอการบังคับใช้ Budget Control Act ปี 2554 จะทำให้สหรัฐขาดดุลการคลัง 1,362 พันล้านดอลลาร์ ในปี 2565 ทำให้หนี้สาธารณะคิดเป็น 89.7 % ของจีดีพีในปี 2565 ซึ่งอาจทำให้เกิดวิกฤตการณ์หนี้สาธารณะได้

หากรัฐบาลสหรัฐเลือกยืดมาตรการการคลังกระตุ้นเศรษฐกิจออกไป หรือไม่ยอมตกหน้าผาทางการคลัง (Fiscal Cliff) รัฐบาลจำเป็นต้องแบกรับภาระดอกเบี้ยจากหนี้สาธารณะที่เพิ่มขึ้นของรัฐบาลเองในอนาคต ส่งผลให้รัฐบาลต้องลดรายจ่ายภาครัฐและดำเนินนโยบายเพิ่มภาษีต่างๆ เพื่อนำมาชำระหนี้ที่เพิ่มขึ้นในอนาคต นอกจากนี้ หนี้สาธารณะที่เพิ่มขึ้นก็จะส่งผลให้เงินออมในประเทศลดลง ส่งผลให้มีการกู้ยืมเงินนอกประเทศเพิ่มขึ้น อีกทั้งยังส่งผลการลงทุนในประเทศลดลงอีกด้วย การที่รัฐบาลสหรัฐก่อหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นและยังคงดำเนินนโยบายการคลังแบบขาดดุล อาจนำมาสู่ปัญหาวิกฤตการณ์หนี้สินแบบยูโรโซน ส่งผลให้ความเชื่อมั่นของนักลงทุนสั่นคลอนและเงินดอลลาร์สหรัฐอาจสูญเสียสถานะของเงินสกุลหลักของตลาดการเงินโลกในอนาคต หากรัฐบาลสหรัฐยอมตกหน้าผาทางการคลังจะส่งผลเศรษฐกิจของสหรัฐถดถอยในปีหน้า ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยและอาจทำให้การเติบโตไม่ถึง 4% ในปี 2556 แต่จะส่งผลให้เศรษฐกิจสหรัฐแข็งแกร่งและฐานะทางการคลังปรับตัวดีขึ้นในระยะต่อไป

นโยบายบางส่วนที่ผมอยากเสนอแนะในการเตรียมรับมือปัจจัยเสี่ยงและโอกาสต่างๆ ในปี พ.ศ. 2556 มีดังนี้

1. รัฐบาลต้องเร่งปรับโครงสร้างและปฏิรูประบบเศรษฐกิจให้เกิดความสมดุลระหว่างภาคส่งออก ภาคบริการและเศรษฐกิจภายในประเทศ ภาคส่งออกจะมีการแข่งขันกันสูงจากการเปิดเสรีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ภาคส่งออกจึงมีประสิทธิภาพสูงและปรับตัวพร้อมรับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนได้แต่ผลตอบแทนจากภาคส่งออกจะต่ำลง ขณะที่ภาคบริการมีการเปิดเสรีค่อนข้างล่าช้า มีอำนาจผูกขาดและกึ่งผูกขาดอยู่จึงให้ผลตอบแทนสูงแต่ประสิทธิภาพต่ำ

2. เร่งรัดการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจทั้งหมด ทั้งระบบขนส่งมวลชนระบบรางและระบบโลจิสติกส์ ระบบชลประทาน ระบบพลังงาน ระบบโทรคมนาคม เป็นต้น

3. พัฒนาระบบการศึกษาและระบบบริการสาธารณสุขให้ทั่วถึงและมีคุณภาพ ทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงการให้บริการได้อย่างเพียงพอ

4. ผลักดันให้มีการปฏิรูปที่ดินและกระจายการถือครองที่ดิน และ ปัจจัยการผลิต

5. นโยบายการปรับค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทเป็นการปรับค่าแรงในอัตราก้าวหน้าที่จะก่อให้เกิดการกระจายรายได้และลดความไม่เป็นธรรมทางเศรษฐกิจ แต่อาจส่งผลกระทบต่อกิจการขนาดเล็กที่ใช้แรงงานในสัดส่วนสูงในกระบวนการการผลิต มาตรการของรัฐบาลในการบรรเทาผลกระทบควรมุ่งเน้นไปที่การลดรายจ่ายและต้นทุนให้กับกิจการขนาดเล็กแต่ไม่ควรลดการจ่ายสมทบกองทุนประกันสังคม เพราะจะส่งผลต่อระบบสวัสดิการและความยั่งยืนทางการเงินของกองทุนประกันสังคมในระยะยาว

6. ลดเงื่อนไขและปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ที่จะนำมาสู่ความขัดแย้งรุนแรงหรือวิกฤตการณ์ทางการเมืองรอบใหม่

7. ส่งเสริมและพัฒนาสภาพแวดล้อมเพื่อให้สามารถดึงดูดเม็ดเงินการลงทุนโดยตรง (Foreign Direct Investment) ระยะยาวจากต่างประเทศและการถ่ายทอดเทคโนโลยี

8. วางยุทธศาสตร์และเป้าหมายเพื่อให้ “ไทย” ก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจอาเซียนและสามารถใช้โอกาสความรุ่งเรืองของเอเชียตะวันออก หรือ ศตวรรษแห่งเอเชีย เพื่อยกระดับฐานะของไทยสู่ประเทศพัฒนาแล้ว

ทำได้ตามที่กล่าวมาข้างต้นรัฐบาลอยู่ครบเทอมแน่นอน ครับ