ครม.สัญจร : บุกไปข้างหน้า อย่าลืมข้างหลัง

ครม.สัญจร : บุกไปข้างหน้า อย่าลืมข้างหลัง

การออกไปประชุมนอกสถานที่ หรือต่างจังหวัด ของคณะรัฐมนตรี (ครม.) หรือ ครม.สัญจร ถือเป็นอีกมิติกิจกรรมที่สร้างสรรค์ของรัฐบาล

มิเพียงได้ลงสัมผัสพื้นที่พร้อมกันทั้งคณะ ยังใช้โอกาสนี้สร้างเม็ดงาน ด้วยเม็ดเงิน โดยใช้โจทย์ความต้องการของประชาชน ภาคเอกชน เป็นตัวตั้ง จังหวัดเป็นผู้เสนอโครงการ ครม.สัญจร เป็นผู้สนับสนุนงบประมาณที่เหมาะสม ถ้าเห็นว่า เข้าท่า เป็นโครงการที่ดี เหมาะสม ก็อนุมัติกันในที่ประชุมวันนั้นเลย

อนุมัติเร็ว เห็นผลเร็ว ดูจะได้การตอบรับที่ดีจากประชาชน

ครม.สัญจร จึงมิเพียงเป็นการประชุมนอกสถานที่ ยังต้องการมาเห็นปัญหาประชาชน หาทางสร้างสุข สลายทุกข์ สร้างงานโครงการพัฒนาต่างๆ รวมทั้งส่งเสริมศักยภาพการแข่งขันให้จังหวัด ภาคธุรกิจเอกชนตามบริบทและสภาพการณ์เป็นไปแต่ละพื้นที่ เป็นผลดีและประโยชน์ทางตรง

มิติกิจกรรม ครม.สัญจร จึงเวิร์ค เพราะตอบโจทย์ความต้องการ ทั้งจังหวัด ภาคเอกชน ประชาชน และรัฐบาล ทำให้ไปได้สวย รัฐบาลคงจะใช้รูปแบบการประชุมนี้บุกไปข้างหน้าสู่จังหวัดต่างๆ ตามที่เห็นว่าเหมาะสม ยกเว้นมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบและวิธีการเป็นอย่างอื่นที่ดีกว่า หรือมีเหตุผลความจำเป็นอย่างอื่น ขึ้นกับรัฐบาลจะพิจารณา

สัญจรมาแล้วหลายครั้ง ลงพื้นที่มาแล้วหลายจังหวัด อาทิเช่น สุราษฎร์ธานี เชียงใหม่ อุดรธานี ฯลฯ ล่าสุดมีโปรแกรมประชุมสัญจรครั้งต่อไป 20 - 21 มกราคม 2556 ที่อุตรดิตถ์ ทั้งให้เพชรบูรณ์ ตาก สุโขทัย พิษณุโลก โดยผู้ว่าราชการจังหวัด เข้าร่วมและเสนอความคิด โครงการพัฒนาต่างๆ ถือเป็นโอกาสภาคเหนือตอนล่าง ถือเป็นการพัฒนาบูรณาการเชิงพื้นที่ระดับภาค

โดยรวมๆ ถือว่า แจ้งเกิดโครงการต่างๆ จากเวที ครม.สัญจรไปมากพอสมควร ใส่งบไปก็เยอะ อย่างที่บอกเป็นโอกาสสร้างเม็ดงาน ด้วยเม็ดเงิน ไปที่ไหน ให้ที่นั่น “ใช้เงินทำงาน” ประโยชน์ตกกับประชาชนในพื้นที่ เพราะส่งผลถึงศักยภาพการแข่งขัน ชีวิตดีขึ้น ความเป็นอยู่ดีขึ้น ถือเป็นอีกกุศโลบายการบริหารที่น่าสนใจ

เมื่อเสียงตอบรับดี จบอุตรดิตถ์ ก็คงจะมีกำหนดการประชุมครั้งต่อไป ส่วนเป็นจังหวัดใด อยู่ในใจ ครม.

การรุกไปข้างหน้าด้วยการบุก ครม.สัญจร ไปที่ไหน ใส่งบที่นั่น ใช้เงินทำงาน ไม่เป็นปัญหา แต่ที่เป็นห่วง ก็คือ ครม.สัญจร ได้เหลียวกลับไปดูโครงการต่างๆ จังหวัดพื้นที่ต่างๆ ที่เสนอขอ และอนุมัติงบให้ไปนั้น ประโยชน์ตกกับประชาชน (บ้าง) หรือยัง? เป็นเรื่องที่อยากชวนผู้อ่านร่วมคิด มีความเห็นอย่างไร

บุก (ครม.สัญจร) ไปข้างหน้าไม่กลัว แต่กลัวลืมข้างหลัง ซึ่งหมายถึง 2 ประการ กล่าวคือ

ประการแรก การติดตามงานโครงการที่จังหวัดเสนอขอ และ ครม.สัญจร อนุมัติไปตั้งแต่การประชุมสัญจรครั้งแรก ถึงครั้งหลังสุด ทั้งโครงการเร่งด่วน โครงการระยะสั้น และระยะยาว มีอะไรบ้าง ประโยชน์ตกกับประชาชนบ้างหรือยัง มากน้อยเพียงใด ทำโครงการอะไรแล้วเสร็จบ้าง หรืออยู่ระหว่างดำเนินการอย่างไร เป็นไปตามเป้าหมายงานหรือไม่ ประการใด เพราะไม่ค่อยได้ทราบผลความคืบหน้าที่เด่นชัด ความเคลื่อนไหวต่างๆ ที่ชัดเจนเท่าที่ควร อาจแล้วเสร็จ ประโยชน์อาจตกกับประชาชนบ้างแล้ว แต่เราไม่รู้ ที่ไม่รู้ เพราะ ครม.ไม่ได้โหมออกข่าว หรืออย่างไร หรืออาจออกข่าวบ้างแล้ว แต่ออกข่าวน้อย คงต้องติดตามไล่เรียงไปเป็นรายโครงการ ติดตามการเบิกจ่ายงบโครงการ ติดตามระยะเวลาโครงการจะแล้วเสร็จตามกำหนดเวลามั๊ย เพื่อจะได้เห็นภาพการทำงาน และมิให้เกิดปัญหาโครงการล่าช้า มิใช่อื่นใด มองว่ารัฐบาลกำลังรุกไปได้ดี จะกลายเป็นตั้งรับ เพราะบุกไปแต่ข้างหน้า ลืมมองข้างหลัง

ประการที่สอง การประชาสัมพันธ์ (PR) โครงการที่แล้วเสร็จ ประชาชนได้ประโยชน์อะไร อย่างไร เป็นผลดีต่อชาวบ้านอย่างไร จากงบที่ใส่ไปให้ ควรหยิบโครงการนั้นๆ ออกมา เพื่อสื่อสารประชาสัมพันธ์กับประชาชนมากขึ้น สังคมทราบข่าวสาร (บ้าง) น่าจะดี หรือไม่ ประการใด

หรือที่อยู่ระหว่างดำเนินการ ในระยะใกล้ๆ นี้มีอะไรจะแล้วเสร็จอีกบ้าง เป็นความสุข ความหวังของประชาชนในพื้นที่อย่างไร กระทั่งอะไรที่กำลังเตรียมการอยู่ ก็ควรบอกกล่าวให้ได้รับรู้กันบ้าง ย่อมเป็นผลดี ชิงให้รู้ ย่อมดีกว่ารอให้ถาม

กรณีที่ส่งสัญญาณว่า ประสบปัญหาล่าช้า จะได้เร่งรัด หากไม่มีการสื่อสารบอกกล่าวความคืบหน้าให้ประชาชนทราบ (บ้าง) เหมือนกับว่า ใส่งบแล้วเงียบไป จะกลายเป็นตั้งรับ โอกาสจะเป็นวิกฤตโดยไม่ตั้งใจ และตรงนี้เองที่จะทำให้มีคนกังขาโดยไม่จำเป็นว่า ใช้เงินทำงานอย่างไร

การไปห้ามคนคิดอะไรล่วงหน้าในยุคใหม่นี้ไม่ได้แล้ว คิดแล้วเห็นอย่างไรพูดอย่างนั้น กล้าแสดงออกอีกด้วย ไม่ยอมกันแล้ว เป็นสังคมเปิด มีสื่อสมัยใหม่เพียบ หลากหลาย เข้าถึงง่าย ใช้การก็ง่าย ดีไม่ดี ประท้วงทวงถาม ปิดถนน เพราะขาดการสื่อสารประชาสัมพันธ์ สร้างความเข้าใจ

ดังนั้น อย่างน้อยๆ ควรต้องมีข่าวสารความเคลื่อนไหวด้านนี้ออกมาพอสมควร มากไป (อาจ) ไม่ดี คนอาจมองว่าคุยโว น้อยไปก็ไม่ได้ เพราะจะอ่อนพีอาร์ เข้าไม่ถึงการรับรู้ จดจำของประชาชน ทำให้ประชาชนรับรู้ไม่ได้ (พีอาร์) ก็ไร้ประโยชน์

อันที่จริง ตรงนี้เป็นผลงาน ครม.สัญจรล้วนๆ น่าชิงตีปี๊บพีอาร์ด้วยซ้ำ มีแต่ได้กับได้ ตอกย้ำข่าวสารเท่าใด ผลงานโดดเด่นเท่านั้น ยิ่งโดดเด่น กลายเป็น “แบรนด์ (Brand) รัฐบาล” อีกต่างหาก คนจดจำได้ไม่รู้ลืม อยู่ที่ ครม.สัญจร จะมีกลวิธีประชาสัมพันธ์อย่างไร เช่น นายกรัฐมนตรี อาจออกไปดูพื้นที่โครงการเป็นการตรวจเยี่ยม เยี่ยมชมโครงการที่แล้วเสร็จของแต่ละจังหวัด อีกสักรอบมั๊ย ? หรือไม่ ประการใดไม่ว่าจะเป็นสุราษฎร์ธานี เชียงใหม่ อุดรธานี หรือที่อื่นๆ เป็นต้น อยู่ที่ศิลปะผู้นำ

การไปเยี่ยมชมโครงการ ถือเป็นกลวิธีพีอาร์อย่างหนึ่ง หากทำได้ ก็ครบวงจร การไปรอบแรก คือ ไปปลูกไปสร้าง ส่วนการไปรอบสอง เหมือนไปเก็บดอกเก็บผล อยู่ที่โฆษกรัฐบาล จะเล่นพีอาร์อย่างไร อยู่ที่รัฐมนตรีเจ้ากระทรวงที่เกี่ยวข้อง โฆษกกระทรวงนั้นๆ จะให้ข่าวสารอย่างไร อยู่ที่ผู้ว่าราชการจังหวัดเจ้าของโครงการ ประชาสัมพันธ์จังหวัด จะมีมุมพีอาร์โครงการอย่างไร ประสานเสียง มุ่งหวังผลพีอาร์อย่างรู้จังหวะโอกาส เป็นกลยุทธ์อย่างหนึ่ง ไม่จำเป็นต้องรอโครงการแล้วเสร็จถึงจะออกข่าว แม้โครงการยังไม่แล้วเสร็จ อยู่ระหว่างดำเนินการ หรือคืบหน้าแค่ไหน ก็ออกข่าวได้ ถ้าเล่น PR เป็น ไม่เช่นนั้น มันดูเงียบๆ แผ่วๆ ไป ไม่คึกคักเหมือนตอนเดินทางไปประชุมสัญจร

คนเราจะให้ความสนใจกับอะไรที่มันคึกคัก มักไม่ค่อยให้ความสนใจอะไรที่มันเงียบๆ แผ่วๆ ไม่เช่นนั้น ประเดี๋ยวจะไปให้ความสนใจกับการใช้เงิน ไม่ให้ความสนใจกับผลของการใช้เงิน (ผลสำเร็จของโครงการ) อยู่ที่รัฐบาลพีอาร์อย่างไร

การบุกไปข้างหน้าของ ครม.สัญจร เป็นผลดี แต่การลืมข้างหลัง ไม่ติดตามงานของ ครม.สัญจร อาจเป็นผลเสีย

ฉะนั้น จบอุตรดิตถ์แล้ว ก่อนสัญจรไปจังหวัดไหน ประเมิน ทบทวนสักนิด ติดตามผลงานความก้าวหน้าของโครงการจังหวัดต่างๆ ที่ผ่านมา แล้วตามด้วยพีอาร์ จะดี หรือไม่ ประการใด

เป็นไปได้หรือไม่ หากจะร่วมกับสื่อ (อาจซื้อสื่อ) เปิดมุมคอลัมน์ สักมุมหนึ่งในหน้าหนังสือพิมพ์ หรือเป็นช่วงเวลาสกู๊ป สักช่วงเวลาหนึ่งในรายการข่าวโทรทัศน์ หรือสื่อสมัยใหม่อื่นๆ และใช้กลยุทธ์พีอาร์อย่างรู้จังหวะโอกาสโดยนายกรัฐมนตรี โฆษกรัฐบาล รัฐมนตรีเจ้ากระทรวง โฆษกกระทรวง ผู้ว่าราชการจังหวัด ประชาสัมพันธ์จังหวัด ประสานเสียง จัดคิว ผลัดกันนำเสนอทางหนังสือพิมพ์ หรือโทรทัศน์ต่อเนื่องอย่างเหมาะสม หนุนนำกัน ส่งรับกัน เสริมกัน-ย้ำกันอย่างเป็นแพ็กเกจ โฟกัสผลงาน โฟกัสการรับรู้ โฟกัสการจดจำ ตอกย้ำภาพผลงานรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในรูปแบบ “ครม.สัญจร” !!