ทำอย่างไรให้ทีมท้อ

ทำอย่างไรให้ทีมท้อ

ช่วงที่ผ่านมา ดิฉันโชคดีได้มีโอกาสศึกษาและร่วมงานกับคณาจารย์จาก University of California ที่ Berkeley ซึ่งล่าสุด

ได้รับการจัดอันดับให้เป็นมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงที่สุดในโลกอันดับ 5 รองจาก Harvard, MIT, University of Cambridge และ Stanford

 Dr. Mark Rittenberg ผู้อำนวยการ Berkeley Executive Coaching Institute สถาบันพัฒนาผู้บริหารของมหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการโค้ชและพัฒนาผู้นำ ได้ทำศึกษาและสร้างเนื้อหารวมทั้งกระบวนการหลากหลาย ให้ผู้บริหารนำไปใช้ในการโค้ชทีม

 ปัจจัยสำคัญที่อาจารย์ฟันธงว่า เป็นหัวใจของการนำทีม คือ หัวหน้าต้องเข้าใจความต้องการพื้นฐานของคนทำงาน 4 ประการ คือ

 1. Be seen อยู่ในสายตา
 หากหัวหน้าอยากทำให้ทีมท้อ ไม่ต้องรอช้า กรุณาทำท่าไม่ใส่ใจ ไม่เหลียวแล มองลูกน้องให้เห็นเหมือนเป็นโต๊ะตู้ กวาดตาดู แต่ไม่ต้องเห็น เพราะเขาเป็นเหมือนหัวหลักหัวตอ

 ทำให้เขาเข้าใจว่า จะเอาอะไรนักหนา ก็แค่เป็นลูกน้องคนหนึ่ง

 หากอยากทำให้เขากระดี๊กระด๊า กรุณาทักทาย ใส่ใจในสารทุกข์สุกดิบ สอดส่องดูแล ห่วงใย

 ไม่ว่าจะเห็นกันหรือไม่ ทำให้เขามั่นใจว่าเขาอยู่ในสายตาเราตลอด

 2. Be heard หัวหน้ารับฟัง

 หากอยากให้ลูกน้องฝ่อ ขออย่าให้เขาออกความเห็น พูดอะไรไม่ต้องฟัง

 หรือหากจำเป็นต้องฟัง ก็ฟังเป็นพิธีให้เสร็จๆ เราจะได้สรุป จะได้ตัดสินใจ จะสอดคล้องกับสิ่งที่เขาพูดหรือไม่ มิใช่ประเด็น อุตส่าห์ทำท่าฟัง ก็น่าจะดีใจแล้ว จะเอาอะไรอีก

 หากอยากให้ลูกทีมฮึกเหิมพองฟู กรุณาใช้หูให้เป็นประโยชน์ มีสมาธิ ตั้งใจฟังด้วยความสนใจใคร่รู้ว่าเขามีอะไรจะบอก

 จะเห็นด้วยหรือไม่ ยังมิใช่เรื่องใหญ่ เพราะเราอาจมองคนละด้าน จะค้าน จะคิดต่าง เป็นประเด็นที่ต้องสร้างความเข้าใจและสรุปกันในที่สุด

 ที่สำคัญคือ อย่างน้อยหัวหน้าให้เกียรติ ให้ความสำคัญกับลูกทีม โดยพร้อมตั้งใจฟังอย่างมีสติ 

 ทักษะหนึ่งที่สำคัญ เพื่อยืนยันให้ลูกน้องตระหนักว่าลูกพี่ฟังอยู่ คือ การ Playback หรือการที่หัวหน้าเล่ากลับไปว่า จากที่ผมฟังคุณ สรุปเป็นประเด็นได้ดังนี้

 หากทำเช่นนี้ได้ ถือว่าอย่างน้อยตั้งใจฟัง อันเป็นจุดตั้งต้นของการสร้างความเข้าใจและความไว้เนื้อเชื่อใจ ให้เกียรติซึ่งกันและกัน

 3. Be appreciated ได้รับการชื่นชม

 หากอยากให้ลูกทีมเบื่อหน่ายจนร่ำๆ จะลาไปขายข้าวต้มมัด กรุณาจัดหนัก จัดเต็ม เวลาเขาทำอะไรผิด

 แต่ต้องไม่เผลอชื่นชมยามเขาทำอะไรดี เดี๋ยวน้องพี่จะเหลิง

 กรุณาคิดให้ได้ว่า เขาทำดีเขาก็ย่อมรู้แก่ใจ ไม่เห็นต้องให้ใครชื่นชมให้เลี่ยน

 นอกเหนือจากนั้น เราจ้างเขามาก็เพื่อให้ทำดีมีผลงาน หากทำได้ดี ทำได้งาน ก็ถูกต้องแล้ว ไม่ต้องเยินยอตอกย้ำ ก็เขาทำตามหน้าที่

 หากอยากให้ลูกทีมมีพลัง ต้องหมั่นจับถูก ทำอะไรดี ต้องชื่นชม ให้สมกับผลงาน และความมุ่งมั่นตั้งใจ และต้องไม่ลืมขอบคุณ ให้กำลังใจ

 ทำให้เขามั่นใจว่าเมื่อทำดี ลูกพี่เห็นครับ

4. Be able to contribute มีส่วนสร้างผลงาน

 หากลูกพี่อยากมีลูกน้องซังกะตาย กรุณาตอกย้ำว่าเขาเป็นตัวถ่วง เขาเป็นภาระ เขาทำอะไรได้น้อยนิด ควรคิดพิจารณาตัวเอง

 ต้องไม่สอนงาน ให้เขาทำงานปลีกย่อย ที่ไม่ค่อยมีใครอยากทำเพราะน่าเบื่อ ให้เขาทำไปเรื่อยเปื่อยเฉื่อยแฉะ อย่าสนใจ เพราะเขาไม่สำคัญ

 หากอยากให้เขากระปรี้กระเปร่า ต้องนั่งจับเข่าเพื่อสอนและคุย ให้เขาพร้อมลุยงาน ตระหนักว่าตนเป็นส่วนสำคัญของทีม

 ทำให้เขาเห็นว่าทุกงานมีคุณค่า ขึ้นอยู่กับว่าจะทุ่มเทแค่ไหน งานจะเล็กหรือใหญ่ ไม่ใช่ประเด็น ทุกคนมีสิทธิเป็นคนสำคัญ

 สรุปว่าหัวหน้าที่เล่นเป็น กับ หัวหน้าที่จนมุมตนเอง เก่งต่างกันประการฉะนี้