ไทยแลนด์ แดนขยะ ?!

ไทยแลนด์ แดนขยะ ?!

ขณะที่ปัญหามากมายกำลังรุมเร้าทั่วโลก ปัญหา ‘ขยะ’ ก็เป็นวิกฤตการณ์หนึ่งที่ถูกยกเป็นประเด็นเร่งด่วนในวันสิ่งแวดล้อมโลกปีนี้

ไม่รู้จะโทษนิสัย โทษระบบกฎหมาย หรือจะโทษผู้ลักลอบนำขยะเข้ามา ทว่า ทุกอย่างตั้งแต่เรื่องใกล้ตัวอย่างการคัดแยกขยะก่อนทิ้ง, การทิ้งขยะลงถัง, การลดใช้วัสดุฟุ่มเฟือยที่จะกลายเป็นขยะในที่สุด ไปจนถึงเรื่องใหญ่กว่าอย่างปัญหาบ่อขยะ, ปัญหาสารพิษรั่วไหลสู่ธรรมชาติ และอีกสารพัดอย่าง ปฏิเสธไม่ได้จริงๆ ว่าเหล่านี้คือสิ่งยืนยันว่าการจัดการขยะทั้งระบบของบ้านเรา ‘ล้มเหลว’

  • ขยะพลาสติก...วิกฤตที่ไม่ย่อยสลาย

ความพังพาบสวนทางกับกระแสอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมซึ่งเกิดขึ้นทั่วโลก เมื่อเดือนธันวาคม 2017 สหประชาชาติได้ประกาศให้มลพิษขยะพลาสติกในมหาสมุทรทั่วโลกเป็นวิกฤตสำคัญของโลก ถึงขนาดมีการตั้งเป้าว่าจะลดปริมาณให้ได้ภายในปี 2025 ลิซ่า ซเวนซัน หัวหน้าฝ่ายมหาสมุทรของสหประชาชาติ นิยามสถานการณ์ปัจจุบันว่าเป็นวิกฤตที่กำลังเป็นที่สนใจจากทั่วโลก แต่การแก้ปัญหาจะไม่เกิดขึ้นถ้าทุกคนไม่ช่วยกัน

สถานการณ์เลวร้ายนี้ทำให้เมื่อต้นปีที่ผ่านมา สหภาพยุโรปได้ประกาศแผนเร่งด่วนเพื่อต่อสู้กับขยะพลาสติก เพราะที่ผ่านมาประเทศสมาชิกได้ผลิตขยะพลาสติกมากถึง 25 ล้านตันต่อปี! แต่มีเพียง 30 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่ถูกนำไปรีไซเคิล โดยมีเป้าหมายว่าภายในปี 2030 ขยะพลาสติกอย่างน้อย 55 เปอร์เซ็นต์ในยุโรปจะต้องถูกรีไซเคิลและนำกลับมาใช้ใหม่ พ่วงท้ายด้วยการผลักดันให้ประเทศสมาชิกเก็บภาษีสำหรับ ‘พลาสติกใช้แล้วทิ้ง’ ด้วย

ด้านพี่เบิ้มของโลกอย่างสหรัฐอเมริกา แม้ในระดับชาติยังไม่มีแผนการชัดเจน แต่ในบางรัฐก็ได้ออกมาตรการแก้ไขขยะภายในรัฐของตัวเองไปแล้ว เช่น ปี 2014 รัฐแคลิฟอร์เนีย เป็นรัฐแรกในสหรัฐฯ ที่เก็บเงินลูกค้าเพิ่มหากต้องการใช้ถุงพลาสติกหรือถุงกระดาษ จนกลายเป็นตัวอย่างให้อีกหลายรัฐทำตาม เช่น ฮาวาย นิวยอร์ก ซีแอตเทิล เป็นต้น

ที่ไม่กล่าวถึงไม่ได้คือทวีปแอฟริกาเพราะแก้ไขปัญหาขยะพลาสติกอย่างจริงจังที่สุดทวีปหนึ่งของโลก โดยเฉพาะประเทศเคนย่าที่ออกกฎหมายเข้มข้นและรุนแรงที่สุดในโลก คือ ห้ามผลิต ห้ามขาย และห้ามซื้อถุงพลาสติกทุกประเภท ผู้ฝ่าฝืนมีโทษจำคุกสูงสุด 4 ปี และปรับสูงสุด 4 หมื่นดอลลาร์สหรัฐเลยทีเดียว

ส่วนประเทศแอฟริกาใต้ เป็นประเทศแรกในแอฟริกาที่ออกกฎห้ามใช้ถุงพลาสติกตั้งแต่ปี 2003 เป็นต้นมา หลังจากนั้นมีอีก 15 ประเทศร่วมด้วย

มาถึงทวีปเอเชียกลับมีสถิติน่าอับอาย ข้อมูลขององค์กร Ocean Conservancy ระบุว่า จีน อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม และไทย ผลิตขยะพลาสติกมากกว่าหลายประเทศในทวีปอื่นรวมกัน กระทั่งเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ประเทศเหล่านี้จะเกิดอุทกภัยเพราะปริมาณขยะและการจัดการที่ล้มเหลว

ไม่ต้องไปไหนไกล เฉพาะในกรุงเทพมหานคร เมืองหลวงที่ ‘ชีวิตดีๆ ที่ลงตัว’ ก็มีตัวเลขชวนขายหน้า คือ ในจำนวนขยะที่ กทม.จัดเก็บวันละ 10,000 ตัน เป็นถุงพลาสติกวันละ 80 ล้านใบ คำนวณง่ายๆ ประชากรในกรุงเทพฯ 10 ล้านคน เท่ากับเราทิ้งถุงพลาสติกกันคนละ 8 ใบในแต่ละวัน มิหนำซ้ำพฤติกรรมของคนที่ ‘ใช้แล้วทิ้ง’ อย่างเดียว เมื่อไม่ใช้ซ้ำอย่างนี้กว่าที่ถุงพลาสติกหนึ่งใบจะย่อยสลายต้องใช้เวลา 450-500 ปี ของเดิมที่ฝังกลบไปไม่ทันสลาย ของใหม่ก็มาเติมทุกวัน หลุมฝังกลบจะกี่หลุมก็คงไม่พอ

ใช้กันไม่ยั้งมือแบบนี้อาจเพราะมองไม่เห็นปัญหาว่าแค่ถุงพลาสติกเบาๆ จะเป็นปัญหาหนักหนาอะไร นิตยา วงษ์สวัสดิ์ ผู้จัดการมูลนิธิโลกสีเขียว ชวนมองปัญหาใกล้ตัวคนกรุง โดยเฉพาะยามนี้ที่ฤดูฝนกำลังถล่ม

มีข้อมูลน่าสนใจว่าปัญหาน้ำท่วมในกทม.ส่วนหนึ่งเกิดจากขยะพลาสติกที่ถูกทิ้งลงแม่น้ำ ลำคลอง ทำให้อุดตันท่อระบายน้ำ บางส่วนไหลลงสู่ทะเล ส่งผลกระทบต่อสัตว์ทะเล และระบบนิเวศทางทะเล จากสถิติทั่วโลก พบขยะที่เป็นถุงพลาสติกสูงถึง 5 แสนล้านใบต่อปี เกินกว่าครึ่ง พบอยู่ในทะเล และใน 1 ปี มีสัตว์น้ำตายจากถุงพลาสติก 1 ล้านตัว

“ขยะส่วนมากของบ้านเราคือถุงพลาสติก แน่นอนว่าเวลาฝนตกหรือมีพายุ แค่ถังขยะล้ม ขยะก็ไหลลงท่อระบายน้ำ แล้วไปสู่ลำน้ำสาธารณะ พอไปถึงประตูกั้นน้ำก็จะอุดตัน นี่คือปัญหาของการทิ้งขยะอย่างไม่ดูแล”

เรื่องราวความโหดร้ายของขยะพลาสติกที่ใช้กันจนเคยชินยังไม่หมด มีข้อมูลจากสถาบันนโยบายโลก (Earth Policy Institute) ระบุว่า ทั่วโลกใช้ถุงพลาสติกมากถึงปีละ 3,000 ล้านใบ ปัญหาคือถุงพลาสติกส่วนมากเป็นพลาสติกประเภทโพลิเอทิลิน (Polyethylene: PE) ย่อยสลายไม่ได้ โดยเฉพาะไมโครพลาสติก (microplastics) พลาสติกขนาดจิ๋ว ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางเล็กกว่า 5 มิลลิเมตร มักจะตกค้างหรือไหลลงสู่แหล่งน้ำต่างๆ ผ่านท่อระบายน้ำทั่วโลก กระทบต่อระบบนิเวศทั้งทางน้ำและทางบก เข้าสู่ห่วงโซ่อาหาร เป็นภัยคุกคามต่อสิ่งมีชีวิตทุกชนิดรวมถึงมนุษย์ด้วย

 

  • ขยะอิเล็กทรอนิกส์...วิกฤตโลกดิจิทัล

ไม่ได้มีแค่ขยะพลาสติกที่เป็นปัญหาใหญ่ไปทั่วโลก โดยเฉพาะในประเทศที่กำลังพัฒนา...ไม่เว้นไทย

ด้วยความที่อนุสัญญาบาเซลว่าด้วยการควบคุมการเคลื่อนย้ายข้ามแดนและการกำจัดของเสียอันตราย (Basel Convention on the Control of Transboundary Movements of Hazardous Wastes and Their Disposal: Basel Convention) ไม่ได้ระบุว่าห้ามขนย้าย นำเข้า ส่งออก ผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ เพราะเมื่อหมดอายุยังนำกลับมาใช้งานหรือแยกชิ้นส่วนได้ ดังนั้นในหลายประเทศในเอเชียจึงไม่มีข้อห้ามเรื่องนี้ กลายเป็นช่องโหว่ช่องใหญ่ที่ ธารา บัวคำศรี ผู้อำนวยการกรีนพีซเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ประจำประเทศไทย บอกว่าเกิดเป็นปัญหาการค้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ข้ามชาติจากประเทศพัฒนาขนย้ายมาทิ้งในประเทศกำลังพัฒนา โดยเฉพาะในทวีปแอฟริกาและเอเชีย

ที่ผ่านมาการนำเข้าอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้าที่พังแล้ว จะถูกเหมารวมว่าเป็น ‘ขยะพลาสติก’ ซึ่งอนุสัญญาบาเซล ยกให้เป็นขยะรีไซเคิล จึงถูกขนย้าย ส่งออก และนำเข้าอย่างค่อนข้างเสรี ด้วยความที่ขยะอิเล็กทรอนิกส์เป็นธุรกิจมีมูลค่ามหาศาล ในกองขยะมีวัสดุมีค่าแฝงอยู่ ทั้งแร่หายากไปจนถึงทองคำ ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมรีไซเคิลจึงจะแยกของมีค่าเหล่านี้ออกมาแล้วที่เหลือคือขยะ ทว่าต้นทุนของกระบวนการที่ได้มาตรฐานและถูกกฎหมายค่อนข้างแพง ประเทศไทยจึงเป็นหนึ่งในทำเลทองของผู้ลักลอบทำอุตสาหกรรมรีไซเคิลอย่างผิดกฎหมายและไม่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม อย่างที่เป็นเรื่องเป็นราวล่าสุดที่ จ.ฉะเชิงเทรา

...การพบแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์และขยะอุตสาหกรรมจำนวนมหาศาลใส่ถุงวางไว้กลางแจ้ง ขณะที่คนงานบางส่วนกำลังคัดแยกเพิ่มเติม บางส่วนกำลังหลอมตะกั่วเพื่อคัดแยกทองคำ ในโรงงานคัดแยกขยะที่มีเนื้อที่รวมกว่า 100 ไร่ เสมือนภูเขาขยะอิเล็กทรอนิกส์ชวนสะพรึง เพราะแต่ละขั้นตอนทำกันอย่างไร้มาตรฐาน แน่นอนว่าสารเคมีต่างๆ มีโอกาสรั่วไหลและปนเปื้อนไปในธรรมชาติอย่างไม่ต้องสงสัย

พล.ต.อ.วิระชัย ทรงเมตตา รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ผู้ที่นำกำลังเจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจค้นโรงงานดังกล่าว เปิดเผยว่า “โรงงานแห่งนี้ลักลอบนำกากวัสดุขยะอุตสาหกรรม มาคัดแยกและแปรรูปวัสดุขยะอุตสาหกรรม โดยใช้ความร้อนหลอมละลายเอาสารโลหะหนัก เช่น สารตะกั่ว ไปจำหน่ายต่อซึ่งขั้นตอนส่วนนี้ส่งผลให้เกิดมลพิษอย่างรุนแรง ได้สั่งการให้ตรวจสอบในเรื่องการขออนุญาตและขยายผลว่าบุคคลใดเป็นเจ้าของโรงงานแล้ว พบว่า เจ้าของโรงงานเป็นนายทุนชาวจีน เบื้องต้นคาดว่าโรงงานแห่งนี้ผิด 2 ข้อหา คือ ประกอบการแปรรูปขยะอันตรายโดยไม่ได้รับอนุญาต และไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนและวิธีการทำลายขยะอุตสาหกรรม ตาม พ.ร.บ.โรงงาน”

นี่เป็นผลพวงที่ผู้อำนวยการกรีนพีซเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ประจำประเทศไทย บอกว่าเกิดจากการเข้ามาของขยะอิเล็กทรอนิกส์ในนาม ‘ขยะรีไซเคิล’

 

  • ขยะล้นไทย...อย่างไรดี

ทั้งขยะพลาสติกล้นบ้าน ขยะอิเล็กทรอนิกส์ล้นเมือง ดูเหมือนวิกฤตนี้จะหนักหนาสำหรับประเทศไทยที่กลายเป็น ‘ที่ทิ้งขยะ’

คำถามต่อมาคือเมื่อเป็นอย่างนี้จะแก้ที่ตรงไหนให้ถูกจุด ธาราบอกว่า จำเป็นต้องแก้กฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวกับการนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้าให้ถี่ถ้วนมากขึ้น เช่น การกำหนดพิกัดอัตราศุลกากรให้ชัดเจน ปิดช่องโหว่ที่มักถูกนำมาใช้ เช่น ความเป็นขยะรีไซเคิล

“ไทยไม่มีกฎหมายว่าด้วยการจัดการซากผลิตภัณฑ์และเครื่องใช้ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ มีเพียงกฎหมายโรงงาน, สิ่งแวดล้อม และสาธารณสุข เท่านั้น แต่ไม่เคยมีโครงสร้างพื้นฐานด้านกฎหมายที่รองรับการนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่นำเข้ามารีไซเคิลอย่างที่ควรจะเป็น”

ในแง่กระบวนการของผู้บังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง สุรพล ชามาตย์ หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม ยกตัวอย่างกรณีโรงงานขยะฉะเชิงเทราว่าพบมีการขออนุญาตดำเนินกิจการคัดแยกและบดทำลายขยะ แต่เกิดอัคคีภัยเมื่อต้นปีที่แล้วทำให้ชาวบ้านละแวกนั้นตั้งข้อสังเกตถึงมลพิษที่เกิดขึ้นจึงแจ้งหน่วยงานราชการเข้ามาตรวจสอบ จึงพบว่าขยะเหล่านั้นอันตราย คัดแยกไม่ได้ หลังจากตรวจสอบได้ให้กรมโรงงานอุตสาหกรรมพิจารณาสั่งปิดโรงงานดังกล่าวไว้ชั่วคราวเนื่องจากการตรวจสอบลักษณะของโรงงานพบว่า มีการจัดการที่ผิดสุขลักษณะ เพราะเก็บมลพิษไม่ได้

“สำหรับวิธีการทำลายซากวัสดุอันตรายประเภทนี้ ต้องมีระบบการจัดการที่เป็นโรงงานปิด ต้องใช้การเผาด้วยความร้อนสูงและมีการจัดการที่ดี จึงจะสามารถคัดกรองสารมลพิษต่างๆ ได้ ซึ่งในประเทศไทยมีการจัดการบ่ออุตสาหกรรมที่ถูกต้องประมาณ 3 ถึง 4 บ่อ หลังจากนี้จะให้อุตสาหกรรมจังหวัดฉะเชิงเทรา ทำการตรวจสอบตั้งแต่การขอใบอนุญาตประกอบโรงงาน การนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ การทำลายขยะอุตสาหกรรม รวมถึงรายละเอียดทั้งหมดว่าผิดอะไรบ้าง เพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป”

ด้านผู้จัดการมูลนิธิโลกสีเขียว เสนอแนะทางออกว่านี่ไม่ใช่ปัญหาระดับปัจเจก แต่เป็นปัญหาสาธารณะที่จะนำไปสู่หายนะ ถ้ายังไม่มีใครลงมือทำ

“หลายส่วนต้องมีส่วนร่วมแก้ไขปัญหานี้ ประชาชนก็ต้องตระหนักว่านี่คือปัญหาของส่วนรวม เราจะใช้ถุงพลาสติก จะก่อให้เกิดขยะก็ต้องคิดทบทวนให้ดีว่าเรากำลังสร้างปัญหาหรือเปล่า ในขณะที่ภาครัฐก็ต้องมีนโยบายที่จริงจังมากขึ้นในการช่วยวางระบบหรือดูแลให้ดีขึ้น เช่น คิดภาษีถุงพลาสติก หรืออะไรที่เป็นนโยบายนำไปสู่การแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม

ภาคเอกชน ร้านค้า ก็ต้องตระหนักว่านี่เป็นปัญหาส่วนรวม ที่เจอส่วนมากคือภาคเอกชนจะคิดว่าถ้าเขาไม่บริการลูกค้า เขาจะถูกมองว่าไม่ดี มองว่าไม่มีเซอร์วิสมายด์ แต่สิ่งหนึ่งที่ร้านค้าทำได้คือต้องสื่อสารให้ลูกค้าเข้าใจว่านี่กำลังช่วยสังคมอย่างไร”

ขยะที่ทับถมจนกลายเป็นกองภูเขา จะเพิ่มขึ้นจนสูงเสียดฟ้า หรือว่าลดลงเหลือในปริมาณน่าพอใจ ทุกคนทุกองค์กรต่างมีส่วนสร้างสรรค์และทำลายด้วยกันทั้งสิ้น ถ้ายังไม่รู้ว่าใครจะเริ่มต้นแก้ปัญหาก่อน ก็เริ่มที่ตัวคุณนั่นแหละ!

20180529173513173