อื้อเล้งเฮง ขนมเปี๊ยะร้อยปีแห่งแปลงนาม

 อื้อเล้งเฮง ขนมเปี๊ยะร้อยปีแห่งแปลงนาม

แปลงนามเป็นถนนสายสั้นๆที่มีความยาวเพียง 100 เมตร หากบนถนนสายนี้กลับมีเป็นที่ตั้งของร้านค้าที่มีชื่อเสียงยาวนาน ไม่ว่าจะเป็น เครื่องดนตรีจีน เครื่องครัว ตะเกียงเจ้าพายุ รวมทั้งร้านขายขนมเปี๊ยะที่เป็นหนึ่งในตำนานแปลงนาม

มังกรโชคดีแห่งตระกูลอื้อ

5 (2)

  ทัศนีย์ จินตนาปราโมทย์ ทายาทรุ่นที่ 4 ของร้านขนมเปี๊ยะอื้อเล้งเฮง กล่าวถึงชื่อร้านว่า

อื้อ มาจากแซ่ ส่วน เล้ง หมายถึง มังกร เฮ หมายถึง ความโชคดี

อื้อเล้งเฮง เปิดกิจการมาตั้งแต่ปี 2473 โดย ยุงจัง แซ่อื้อ (อื้อ ยุงจัง) เริ่มต้นจากร้านคูหาเดียว ต่อมาซื้อคูหาที่อยู่ติดกันจากเพื่อนบ้านจึงได้ขยายหน้าร้านให้กว้างขวางขึ้น ส่วนโรงทำขนมอยู่ทางด้านหลังร้านซึ่งมีความยาวไปถึงตรอกพิพากษา 1 เลยทีเดียว

“ร้านเราเปิดมา 88 ปีแล้วค่ะ อากงมาจากเมืองจีน มีฝีมือในการทำขนมเปี๊ยะ จากร้านเล็กแล้วค่อยร้านขยายมาเรื่อยๆจนถึงปัจจุบันนี้มีการทำสินค้ามากขึ้น รูปแบบเปลี่ยนไปมากขึ้นเพื่อให้เหมาะสมกับชีวิตปัจจุบัน”

ร้านขนมที่ไม่มีวันหยุด

เทศกาลไหว้พระจันทร์ เป็นช่วงเวลาที่ร้านยุ่งมากที่สุด โรงขนมต้องเตรียมทำขนมเปี๊ยะเพื่อให้ทันขายในช่วงเทศกาล ถึงกับต้องจ้างแรงงงานเสริมช่วยในครัว รวมทั้งหน้าร้าน สมาชิกในครอบครัวก็ไม่พอรับมือกับลูกค้า เรียกว่าต้องไปเกณฑ์ญาติพี่น้องมาช่วยกันค้าขาย

ภาพบรรยากาศเหล่านี้เราได้เห็นจาก “หนังบ้าน” ภาพยนตร์สั้นที่ เถ้าแก่ยุงจัง ว่าจ้างให้บริษัทเวลลิงตันมาถ่ายทำเป็นภาพยนตร์ขาวดำ ด้วยเหตุผลใดไม่อาจทราบได้ หากลูกหลานได้มาค้นพบม้วนฟิล์มขณะซ่อมแซมบ้าน (ปัจจุบันมอบให้หอภาพยนตร์เก็บรักษาไว้)

ความคึกคักของร้านที่มีลูกค้าเข้ามาซื้อสินค้าตลอดเวลา เป็นสิ่งที่เราได้พบเห็นในปัจจุบัน ซึ่งไม่ต่างจากเมื่อ 80 กว่าปีก่อนเลย เว้นแต่มีขนมขายมากกขึ้น นอกเหนือจากขนมเปี๊ยะที่ขายมาตั้งแต่ยุคอากง ได้แก่

โหงวยิ้งเปี๊ยะ ขนมเปี๊ยะไหว้พระจันทร์ไส้ประกอบไปด้วย อัลมอนด์จีน เม็ดมะม่วงหิมพานต์ เม็ดก๋วยจี๊ งาขาว

ซุ๊ยเปี้ยะ ขนมเปี๊ยะชิ้นเล็กๆๆ

ตั่วเปี๊ยะ ขนมเปี๊ยะขนาดใหญ่ไปจนถึงใหญ่สุด

เหม่งทึ้ง หรือ ขนมงาอ่อน (ใช้เวลากวน 5-6 ชั่วโมง)

หล่าหอ หรือ ขนมโก๋อ่อน ไส้ฟักเชื่อม มันหมู เม็ดก๋วยจี๊

“เฉพาะขนมเปี๊ยะอย่างเดียวเรามีถึง 60 ชนิด” ทัศนีย์ บอกกับเรา

3 (7) (Large)

ร้านขนมครบวงจร

จากร้านขายขนมเปี๊ยะเลื่องชื่อในถนนแปลงนาม ถนนที่เดิมมีชื่อว่า ตรอกป่าช้าหมาเน่า เนื่องจากเคยเป็นบริเวณทิ้งขยะในเยาวราชทำให้มีกลิ่นเน่าเหม็นเหมือนหมาเน่า ภายหลังได้รับการเปลี่ยนขานให้เป็นมงคลนามในชื่อ ถนนแปลงนาม

  อื้อเล้งเฮง ในวันที่ประกอบกิจการมาถึงทายาทรุ่นที่ 4 มีชื่อเรียกขานติดปากกันว่าเป็นร้านขนมเปี๊ยะร้อยปีที่มีขนมไหว้เจ้าจำหน่ายทุกเทศกาล รวมทั้งชุดเครื่องไหว้ที่ใช้ในพิธีบวงสรวง พิธีไหว้ครู และพิธีแต่งงาน

“กล่าวได้ว่าเราเป็นขนมที่ครบวงจรที่สุดในประเทศไทย ถ้าอยากได้ขนมทุกเทศกาลของคนจีนมาที่นี่ได้ทุกอย่าง ตั้งแต่ของไหว้ระดับบ้านไปจนถึงระดับประเทศ ส่วนมากเป็นงานที่สั่งของจากเราไป

นอกจากขนมไหว้ของคนจีน คนไทยขนมซื้อฝากผู้ใหญ่ หรือซื้อไปกินเอง หรือซื้อไปจำหน่าย บอกได้เลยว่าเรามีลูกค้าที่สั่งของเราไปแทบทุกจังหวัดทั่วประเทศ”

ด้วยเหตุที่เทศกาลงานไหว้เจ้าของจีนในแต่ละปีจะมีถึง 8 เทศกาลด้วยกัน ได้แก่

ครั้งที่ 1 ของปี ไหว้เดือน 1 วันที่ 1 คือ ตรุษจีน เรียกว่า “ง่วงตั้งโจ่ย”

ครั้งที่2 ไหว้เดือน 1 วันที่ 15 เรียกว่า “ง่วงเซียวโจ่ย”

ครั้งที่ 3 ไหว้เดือน 3 วันที่ 4 เรียกว่า “ไหว้เช็งเม้ง” เป็นประเพณีที่ลูกหลานไปไหว้บรรพบุรุษที่ฮวงซุ้ย

ครั้งที่ 4 ไหว้เดือน 5 วันที่ 5 เรียกว่า “โหงวเหว่ยโจ่ย” เป็นเทศกาลไหว้ขนมจ้าง

ครั้งที่ 5 ไหว้เดือน 7 วันที่ 15 คือ ไหว้สารทจีนเรียกว่า “ตงง้วงโจ่ย”

ครั้งที่ 6 ไหว้เดือน 8 วันที่ 15 เรียกว่า “ตงชิวโจ่ย” หรือเทศกาลไหว้พระจันทร์

ครั้งที่ 7 ไหว้เดือน 11 ไม่กำหนดวันแน่นอน เรียกว่า “ไหว้ตังโจ่ย”

ครั้งที่ 8 ไหว้เดือน 12 วันสิ้นปี เรียกว่า ไหว้สิ้นปี หรือ “ก๊วยนี้โจ่ย” (ที่มา : ประเพณีจีน,2543)

โรงขนมของร้านจึงแทบจะไม่มีวันได้หยุด ไหนจะต้องเตรียมขนม ของไหว้ประจำเทศกาล ไหนจะเป็นขนมแต่งงาน ซึ่งต้องทำให้เสร็จทันตามกำหนด ยังไม่รวมขนมที่ทำขายหน้าร้านทุกวัน ในฐานะลูกสาวและเป็นตัวแทนของคนสมัยใหม่ ทัศนีย์ ยอมรับว่าเป็นงานใหญ่ในการรับช่วงการบริหาร และเป็นงานที่กล่าวได้ว่าไม่มีวันหยุดเลย

9 (2) (Large)

 

ทำด้วยใจ

แม้จะเหนื่อย ท้อบ้างบางครั้ง หากการทำงานหนักทำให้ได้เรียนรู้หลายสิ่งหลายอย่าง ทัศนีย์ บอกกับเราว่า

“ต้องขอบคุณลูกค้าที่ทำให้เราได้เรียนรู้ เราเป็นคนรุ่นใหม่อาจยังไม่รู้ ธรรมเนียมมากนัก แต่โดยลักษณะงานทำให้เราได้พบผู้ใหญ่หลายๆท่าน ซึ่งแต่ละท่านมักเล่าประสบการณ์ของท่านให้เราฟัง ทำให้เราชื่อว่า การไหว้เจ้าต้องดีจริงๆ ผู้หลักผู้ใหญ่ถึงเชื่อมั่นขนาดนี้

ลูกค้าที่มาซื้อของเรา ทุกคนใจเกินร้อย จะมาทำลวกๆไม่ได้ต้องทำด้วยใจเหมือนกัน ตอนนี้เราเข้าใจแล้วว่าอาชีพนี้ไม่มีวันหยุด แต่ได้บุญนะคะ”

10 (1) (Large)

ขนมโก๋อ่อนสำหรับงานแต่งงาน

เคล็ดลับที่ทำให้อื้อเล้งเฮง ครองใจลูกค้ามาเกือบร้อยปี คืออะไร

“วัตถุดิบได้มาตรฐาน มีสต็อกวัตถุดิบที่เพียงพอ ขั้นตอนในการทำถูกต้องตามแบบแผนประเพณีตามที่อากงสอนไว้ ไม่ได้สักแต่ว่าทำ ตั้งใจทำทุกขั้นตอน ทุกอย่างอยู่ที่ใจมากกว่า เราจะอบรมคนงานเลยว่างานที่บ้านเราเป็นงานไหว้ฉะนั้นเราต้องทำด้วยความเคารพ เริ่มจากตรงนี้ ตั้งใจทำ อย่าซี้ซั้วทำ วันที่ลูกค้าเดินมาบอกว่าขอบคุณขนมสวยมาก เขาทำให้เรารู้สึกมีคุณค่า”

ทัศนีย์ เล่าว่าเคยมีบางครั้งที่อาจรู้สึกหงุดหงิดกับงานทำขนมแต่งงานที่ต้องรีบเร่ง อยู่มาวันหนึ่งญาติผู้ใหญ่ของเจ้าบ่าวเจ้าสาวมาที่ร้านแล้วบอกกับเธอว่า

 “ซื้อขนมแต่งงานร้านนี้ไปแล้วดีจังเลยลูกแต่งงานแล้วรักกัน ไม่ทะเลาะกันเลย ทำให้เราคิดว่า ขนมปลา (ขนมโก๋อ่อน สำหรับงานแต่งงาน ทำเป็นรูปปลาสื่อถึงความมั่งคั่งมั่งมี) ถ้าไม่สวยต้องให้ช่างทำใหม่ให้สวย จะไม่มีของไม่สวยแล้วส่งไปให้ลูกค้า เพราะคนเราแต่งงานครั้งเดียว ก็ต้องอยากได้ของที่ดีที่สุด จริงๆต้องขอบคุณลูกค้าที่ทำให้เรารักงานของเรามากขึ้น ทำให้เรารู้ว่างานของเรามีคุณค่ามากๆ”

ของไหว้รสชาติต้องอร่อย

6 (4) (Large)

ขนมไหว้เจ้ารสชาติอาจไม่เน้นเท่าไหร่ จริงหรือไม่ เจ้าของร้านตอบทันทีว่า

“ที่อื่นเราไม่รู้นะ แต่ของเราอร่อย ทำจากวัตถุดิบสดใหม่ อย่าขนมโก๋อ่อนรูปปลา เราจะบอกลูกค้าว่าเก็บได้ไม่เกิน 7 วัน อยากให้มารับก่อนวันแต่งสัก 2 วัน หาเวลาหน่อย เวลาเสร็จพิธีแล้วคนในงานได้ทานจะได้อร่อย เราห่วงชื่อเสียงร้านเราด้วย ถั่วที่เป็นวัตถุดิบหลักที่ทำเสร็จสองวันกับเจ็ดวันรสชาติกลิ่นก็ต่างกันแล้ว”

เรากลับบ้านพร้อมกับถั่วตัดถุงโตที่หวานหอมด้วยถั่วงาที่เพิ่งทำเสร็จออกมาไม่นาน ขนมเปี๊ยะในตำนานไส้ถั่วรสหวานเนื้อเนียน และขนมลูกเต๋าที่เราได้เห็นช่างขนมบรรจงปั๊มลายสีแดงลงบนขนมอย่างตั้งอกตั้งใจ พร้อมกับคิดถึงประโยคทิ้งท้ายก่อนจากกันของทายาทรุ่นที 4 ของร้านที่ว่า

“งานนี้แม้ว่าจะเป็นงานที่เหนื่อย แต่ต้องทำต่อไปเพื่อไม่ให้หายไป ยิ่งเราเอายุมากขึ้นเรายิ่งเข้าใจว่างานวัฒนธรรมมันมีสตอรี่ มีเรื่องราวที่ต้องเก็บไว้ แม้คนอื่นไม่รู้แต่เราอยากให้มันคงมีอยู่อย่างดีที่สุด”

แม้ว่าเตาในโรงทำขนมแห่งนี้จะไม่มีวันหยุดก็ตาม ขนมสำหรับทุกเทศกาลยังคงมีให้เราไหว้เจ้าและรับประทานกันสืบไป

หมายเหตุ : อื้อเล้งเฮง ถนนแปลงนาม เปิดทุกวัน 8.00-18.30 น. วันอาทิตย์ปิด 17.00 น. โทร 0 2222 0369 ,0 2623 1747-9