รู้ไหม...สิทธิผู้พิการ มีมากกว่า “เบี้ยยังชีพ”

รู้ไหม...สิทธิผู้พิการ มีมากกว่า “เบี้ยยังชีพ”

มีสิทธิอะไรบ้าง ที่ผู้พิการไม่รู้หรือตกหล่นไป

จากตอนแรก ที่เราพบว่า คนพิการนั้นได้รับสิทธิ์พื้นฐานรับเบี้ยยังชีพเดือนละ 800 บาท ถ้าเป็นผู้สูงอายุควบด้วยได้รับเบี้ยผู้สูงอายุระหว่าง 600-800 บาทต่อเดือน เพราะจากข้อมูลการขึ้นทะเบียนนั้นเป็นผู้สูงอายุถึง 50 เปอร์เซ็นต์ เฉพาะในส่วนนี้ภาครัฐใช้งบประมาณเฉลี่ยกว่า 28,000 ล้านบาทต่อปี 

group-418449_1280

ปัจจุบันยังมีคนพิการเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทั้งจากความชรา การเจ็บป่วย และอุบัติเหตุ ซึ่งสิทธิ์พื้นฐานเหล่านี้ คนพิการทุกท่านต้องมีบัตรประจำตัวคนพิการเสียก่อน โดยต้องไปขอใบรับรองแพทย์จากโรงพยาบาลของรัฐ จากนั้นไปขอขึ้นทะเบียนรับบัตร ที่องค์การบริหารส่วนท้องถิ่นตามทะเบียนราษฎร์ (อ่านเพิ่มเติมได้จากตอนแรก คนพิการไทยมาจากไหน : ว่าด้วยเรื่องสิทธิ และความเข้าใจผิดของสังคมไทย)

สำหรับตอนนี้ ผู้เขียนจะแนะนำโรงพยาบาลเอกชน ที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ ที่สามารถออกใบรับรองแพทย์ความพิการให้ได้ โดยอ้างอิงจากระเบียบคณะกรรมการฯ ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขเกี่ยวกับบัตรประจำตัวคนพิการ พ.ศ.2552 (แก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 2 พ.ศ.2554) ระบุ รพ.เอกชน 38 แห่งที่สามารถออกใบรับรองแพทย์ความพิการ ดังนี้

เขต กทม. จำนวน 10 แห่ง รพ.เพชรเวช เขตห้วยขวาง, รพ.กรุงธน 2 เขตราษฎร์บูรณะ, รพ.กว๋องสิวมูลนิธิ เขตป้อมปราบ, รพ.เกษมราษฎร์ ประชาชื่น เขตบางซื่อ, รพ.ตา หู คอ จมูก เขตบางพลัด, รพ.แพทย์ปัญญา เขตสวนหลวง, รพ.เสรีรักษ์ เขตมีนบุรี, รพ.บำรุงราษฎร์ อินเตอร์เนชั่นแนล เขตปทุมวัน, รพ.พระราม 2 เขตบางขุนเทียน, รพ.มนารมย์ เขตบางนา

ภาคกลาง จำนวน 14 แห่ง รพ.เมืองเพชร-ธนบุรี จ.เพชรบุรี, รพ.อ่างทองเวชการ 2 จ.อ่างทอง, รพ.ศุภมิตรเสนา จ.พระนครศรีอยุธยา, รพ.ปิยะมินทร์ จ.สมุทรปราการ, รพ.เอกชัย จ.สมุทรสาคร, รพ.ศรีวิชัย เมืองสมุทรสาคร จ.สมุทรสาคร, รพ.โสธราเวช จ.ฉะเชิงเทรา, รพ.เอกชล จ.ชลบุรี, รพ.กรุงเทพ-พัทยา จ.ชลบุรี, รพ.สมิติเวช ศรีราชา จ.ชลบุรี, รพ.ซานคามิลโล จ.ราชบุรี, รพ.ศุภมิตร จ.สุพรรณบุรี, รพ.เมืองเพชร จ.เพชรบูรณ์, รพ.อินเตอร์เวชการ จ.พิษณุโลก

ภาคเหนือ 9 แห่ง รพ.ศิริเวช ลำพูน จ.ลำพูน, รพ.หริภุญชัย เมโมเรียล จ.ลำพูน, รพ.พัฒนเวชสุโขทัย จ.สุโขทัย, รพ.เกษมราษฎร์ ศรีบุรินทร์ จ.เชียงราย, รพ.เขลางค์นคร-ราม จ.ลำปาง, รพ.แพร่-ราม จ.แพร่, รพ.เชียงใหม่ใกล้หมอ จ.เชียงใหม่, รพ.เซ็นทรัลเชียงใหม่ เมโมเรียล จ.เชียงใหม่ 

ภาคอีสาน 2 แห่ง รพ. ป.แพทย์ จ.นครราชสีมา, รพ.พิสัยเวช จ.หนองคาย 

ภาคใต้ 3 แห่ง รพ.กรุงเทพ-ภูเก็ต จ.ภูเก็ต, รพ.มิชชั่นภูเก็ต จ.ภูเก็ต, รพ.ปิยรักษ์ จ.พัทลุง

สำหรับสิทธิคนพิการจะได้รับจากนโยบายของรัฐ อันเนื่องจาก พรบ.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ นั้นมีอีกมากมาย ผู้เขียนจะทยอยแนะนำ สำหรับบทความนี้ขอแนะนำ กองทุนเพื่อความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน (กปถ.) สังกัดกรมการขนส่งทางบก กระทรวงคมนาคม ซึ่งมีรายได้จากการประมูลเลขทะเบียนรถสวย และนำมาเป็นค่าอุปกรณ์ช่วยเหลือคนพิการอันเนื่องมาจากการประสบภัยที่เกิดจากการใช้รถใช้ถนน 

สำหรับปี พ.ศ.2561 ได้ตั้งงบประมาณไว้ 140 ล้านบาท รายการอุปกรณ์ช่วยเหลือคนพิการ มีดังนี้ แขนเทียม (ทุกระดับ) ขาเทียม (ทุกระดับ) รถเข็นธรรมดา (Manual Wheelchair) รถเข็นไฟฟ้า (Power Wheelchair) รถสามล้อโยก เบาะรองนั่งป้องกันแผลกดทับ เตียงนอนธรรมดาพร้อมที่นอนธรรมดา และที่นอนลมป้องกันแผลกดทับ

1584

โดยคนพิการที่มีหลักฐานแสดงได้ว่าเป็นผู้ประสบอุบัติเหตุบนถนน ซึ่งมีถึง 5,000 คนต่อปี คนพิการรายใดที่รถคว่ำ ถูกรถชน รถชนกัน บนถนนทุกเส้นทาง สามารถยื่นคำขอได้ที่สำนักงานขนส่งจังหวัดทั่วประเทศ ส่วนกลางยื่นตรงได้ที่สำนักงานกองทุนฯ กรมการขนส่งทางบก ระหว่างวันที่ 1-31 พฤษภาคม 2561 สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่ 1584 หรือ 0 2271 8888 ต่อ 2511-2515 สามารถดาวน์โหลดเอกสารได้ที่เว็บไซต์ของกรมการขนส่งทางบก กรมการขนส่งทางบกจะอนุมัติเรื่องให้กับคนพิการที่ยังไม่เคยยื่นคำขอก่อน หรือหากเคยได้รับความช่วยเหลือจากหน่วยงานอื่นต้องเกิน 3 ปี หรือถ้าเคยได้รับความช่วยเหลือจาก กปถ. มาก่อนต้องเกิน 5 ปี

คนพิการทุพพลภาพจากกลุ่มที่ทำงานในระบบ มีการใช้สิทธิ์ประกันสังคม นอกจากเรื่องการขึ้นทะเบียนขอรับเงินเดือน 50 เปอร์เซ็นต์ ของเงินเดือนสูงสุดไม่เกิน 7,500 บาท ยังมีค่าเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลและเวชภัณฑ์เดือนละไม่เกิน 2,000 บาท โดยสำรองจ่ายไปก่อน แล้วนำมาเบิกจ่ายย้อนหลัง แต่ต้องมีใบรับรองแพทย์ด้วย 

อย่าลืมด้วยว่า ปัจจุบันยังให้ค่าเดินทางเพิ่มเติมอีกเดือนละ 500 บาท และยังสามารถเบิกจ่ายวัสดุอุปกรณ์สำหรับการดำรงชีวิตได้อีกกว่าร้อยรายการ (สอบถามเพิ่มเติมที่สำนักงานประกันสังคมจังหวัดทั่วประเทศ) รายการที่สำคัญอาทิเช่น อุปกรณ์ร่างกายเทียม เวชภัณฑ์ เบาะรองนั่งป้องกันแผลกดทับ รถเข็นไฟฟ้า (Power Wheelchair) เป็นต้น

สำหรับรถเข็นไฟฟ้า มีมูลค่าสูงถึง 150,000 บาท มีคนพิการทุพพลภาพกว่า 50,000 รายที่มีสิทธิ์ได้รับ แต่มีคนพิการรู้สิทธิ์ข้อนี้น้อยมาก มูลค่ารวมของรถเข็นไฟฟ้าเพียงรายการเดียว มากถึง 7,500 ล้านบาท แต่สถานการณ์จริงคือ เจ้าหน้าที่ประกันสังคมแต่ละจังหวัดไม่ค่อยทราบถึงสิทธิ์นี้ เพราะไม่ค่อยมีคนพิการไปยื่นคำขอ ไม่มีแบบฟอร์ม ต้องทำหนังสือยื่นเรื่องเอง และต้องพิสูจน์ว่า รถเข็นไฟฟ้าเหมาะสมกับความพิการทุพพลภาพ มีใบรับรองแพทย์ 

dx5_110461

ดังนั้นเฉพาะสิทธิ์นี้สามารถติดต่อผู้เขียนโดยตรงที่มือถือ 08 6314 7866 ผู้เขียนจะแนะนำให้คำปรึกษารายละเอียดขั้นตอนทั้งหมด จนได้รับรถเข็นไฟฟ้า แบบไม่ขอส่วนแบ่ง ไม่มีคอรัปชั่น

บทความนี้ทุกท่านทราบถึงสิทธิคนพิการจาก 2 หน่วยงาน คือ กองทุนเพื่อความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน (กปถ.) และจากประกันสังคม รวมกันมากกว่า 9,000 ล้านบาท การที่คนพิการไม่รู้สิทธิ์จากเจ้าหน้าที่รัฐ 

ส่วนตัวก็ถือว่า คนพิการคล้ายๆ จะถูกละเมิดสิทธิ์แบบปิดตาหนึ่งข้างเช่นกันครับ

หมายเหตุ : ข้อเขียนชุดนี้ เป็นมุมมองความคิดในเรื่องที่แวดล้อมคนพิการในสังคมไทย จากปลายปากกาของ นักทุพลภาพมืออาชีพตัวจริงอย่าง ปรีดา ลิ้มนนทกุล นักขับเคลื่อนสิทธิเพื่อคนพิการ และความเท่าเทียมกันในสังคม โดยเขาจะมาร่วมแบ่งปันความรู้เรื่องสิทธิ และความเท่าเทียมของผู้พิการ เพื่อสร้างความเข้าใจ และนำไปสู่การลบความไม่รู้ อคติ ที่มีต่อสมาชิกอีกกลุ่มหนึ่งของสังคมไทย ทุกวันอังคาร กลางเดือน และสิ้นเดือน กับ 12 เรื่องราว 12 มุมมองเกี่ยวกับผู้พิการที่สังคมไทยอาจมองข้าม หรือไม่เคยรู้มาก่อน