แดนซ์คอมพานี โมเดล นักเต้นเต็มเวลา

แดนซ์คอมพานี โมเดล นักเต้นเต็มเวลา

ไม่ใช่คณะละคร ไม่ได้ทำงานเฉพาะกิจ แต่ “นักเต้นอาชีพ” ในบริษัทแห่งนี้ ทำงานเต็มเวลาไม่ต่างจากมนุษย์เงินเดือน ต่างเพียงว่างานของพวกเขาคือศิลปะการเต้นระดับมาสเตอร์พีซ

แดนซ์ คอมพานีมีอยู่มากมายในต่างประเทศ แต่ไม่ใช่ในไทย พอได้ยินว่าเป็นนักเต้นของบริษัท มีเงินเดือน มีประกันสังคม เต้นเต็มเวลา 6 ชั่วโมงต่อวัน ก็ขมวดคิ้วว่าเป็นไปได้หรือ? แล้วพวกเขาทำอย่างไรให้บริษัทเติบโต พนักมีเงินเดือน มีสวัสดิการ มีสิทธิประโยชน์ในอาชีพมากว่า 10 ปีแล้ว

พิเชษฐ กลั่นชื่น แดนซ์ คอมพานี (Pichet Klunchun Dance Company) คือบริษัทเดียวที่ทำเรื่องนั้นอยู่ โดยมีรากฐานจากความเป็นศิลปินเดี่ยว ซึ่งได้การยอมรับระดับโลกของพิเชษฐ กลั่นชื่น ในฐานะ โขน แดนเซอร์ (Khon Dancer) ที่นำโขนสู่เวทีศิลปะสมัยใหม่

เราเพียงนึกภาพไม่ออกว่า โมเดลการสร้างธุรกิจที่ยึดมั่นในการสร้างผลงานศิลปะการเต้นระดับมาสเตอร์พีซ แล้วส่งต่อไปให้คนอื่นนั้นเป็นไปอย่างไร? หรือมันจะเป็นได้เฉพาะกับคนคนนี้เท่านั้น แต่ศิลปินเจ้าของบริษัทยืนยันว่า โมเดลนี้ทำตามได้แน่นอน

ตารางงานของแดนซ์คอมพานี

11 นาฬิกาของทุกวันจันทร์ - ศุกร์ คือเวลาของพนักงานในคอมพานีแห่งนี้ ซึ่งประกอบไปด้วยผู้จัดการและนักเต้นอีก 6 ชีวิต รวมเจ้าของบริษัทด้วย ทุกวันนักเต้นจะเริ่มด้วยการวอร์มร่างกาย 1 - 2 ชั่วโมงกับชุดท่ารำไทย ซึ่งประกอบเรียงร้อยใหม่เพื่อฝึกการเคลื่อนไหวที่มักใช้ในการแสดง

ซ้อมรำ 2

ช่วงบ่ายคือการฝึกเต้น เช่น งานที่กำลังสร้างอยู่หรือการซ้อมงานที่จะออกแสดง ราว 6 โมงเย็น - 1 ทุุ่ม ก็เลิกงาน แต่ช่วงที่มางานเยอะ ก็ต้องอยู่ซ้อมต่อหลังมื้อเย็น การฝึกซ้อมคือส่วนสำคัญที่ไม่เคยละทิ้ง เพราะที่นี่คือแดนซ์ คอมพานี บริษัทที่ทำงานศิลปะโดยสื่อสารผ่านการเต้นเท่านั้น

กระโดด

นักเต้นทำงานหลักคือการฝึกซ้อมก็จริง แต่ก็ยังมีงานอื่นๆ ที่ต้องช่วยบ้าง เช่น งานเอกสาร การเป็นแอดมินเพจ หรืองานด้านเทคนิค เพื่อแบ่งเบาภาระของ โศจิรัตน์ สิงหลกะ ผู้จัดการ ซึ่งจัดการงานหลังบ้านทุกสิ่งอย่างให้ทั้งหมด ตั้งแต่การทำเอกสารต่างๆ เพื่อขอทุน ขอวีซ่า ตอบอีเมล์ ประสานงานดูแลงานนอกเหนือจากการแสดงให้ราบรื่น

ชีวิตของนักเต้น

คนทั่วไปอาจคิดว่าเป็นนักเต้นอาชีพจะมั่นคงหรือ? ไปรู้จักบางมุมมองของนักเต้นที่คอมพานีแห่งนี้กัน

โอ _ จุฬาลักษณ์ เอกวัฒนพันธ์ พนักงานรุ่นแรกที่ช่วยงานพิเชษฐมาแต่ต้น จุฬาลักษณ์เรียนจบนาฏศิลป์ตะวันตกมา ถ้าไม่เป็นอาจารย์หรือรับเต้นตามอีเวนท์ ไม่เคยมีใครบอกว่า “จบเต้นแล้วไปไหน?” เธอจึงติดตามพิเชษฐมาจนถึงทุกวันนี้ 

โอ

“การทำงานที่นี่ทำให้เราไม่เป็นนักเต้นที่เพ้อเจ้อ” จุฬาลักษณ์บอกเมื่อเราถามถึงส่วนดีของการทำงาน “พี่เขาจะให้โจทย์มาว่าให้ไปอ่านหนังสือเล่มนี้ ไปดูข่าว แล้วมาพูดคุยกัน ซึ่งดีมาก ทำให้ได้พัฒนาศักยภาพ ความคิด ชีวิต คนอื่นอาจรู้สึกว่าคอมพานีนี้ไม่สนุก ไม่ตลก แต่จริงๆ เรากำลังทำอะไรบางอย่างอยู่ให้มันเกิดอีกสิ่งหนึ่ง นี่คือส่วนที่ดีที่เราไม่ได้ทำให้สนุก แต่เราทำงาน และมันทำให้ชีวิตเราเปลี่ยน แต่ก่อนเป็นคนขี้เกียจ เที่ยวสนุกไปวันๆ แต่กระบวนการฝึกทำให้เราได้พิจารณามากขึ้น มีสติมากขึ้น”

ฟลุค _ ปรเมษฐ์ มณีรัตน์ หนุ่มที่จบโขนยักษ์จากสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ เขาเริ่มจากการร่วมงานเป็นโปรเจค จนกระทั่งเข้ามาทำงานเต็มตัวได้ 7 ปีแล้ว 

“การเดินทางเยอะ ทำให้ผมเห็นโลกที่เขาจริงจังกับศิลปะ ประชากรที่ได้เสพงานศิลปะด้วยสวัสดิการรัฐ อยู่ที่นี่ทำให้ผมโตกว่าคนอื่น เรามองไปข้างหน้า เห็นอนาคต เห็นการสานต่อ เรามีความเชื่อมั่นว่าเราทำได้” เขายอมรับว่าการทำงานกับพิเชษฐส่งอิทธิพลต่อความคิดเขา แต่ที่นี่เปิดโอกาสในการแสดงความคิดเสมอ

ฟลุค

“พี่พิเชษฐตั้งโจทย์ให้คิด เพราะเขาต้องการสร้างคนที่เป็นตัวของตัวเอง ไม่ใช่เขา เขาให้องค์ความรู้และความเป็นเหตุเป็นผลไว้ เรารับมาทำต่อ มันก็เป็นของเรา ถามว่ามีอิทธิพลไหม มีเยอะครับ เพราะเขาเป็นมาสเตอร์ สอนลูกศิษย์เหมือนหนังจีนครับ สุดท้ายแล้วเราต้องไปหาท่าสุดท้ายของคุณเอง” ปรเมษฐ์จึงหาทางต่อยอดโขนเช่นกัน แม้จะขัดกับแนวประเพณี แต่เขายืนยันว่าไม่ใช่การลบล้าง 

ส่วนความมั่นคงในอาชีพนั้น เวลา 7 ปีที่นี่คือคำตอบ “ความเป็นศิลปินนี่แหละทำให้มั่นคง อาชีพศิลปินใครบอกว่าไส้แห้ง ผมว่าไม่นะ พวกผมก็เลี้ยงตัวเองได้ ทำงานใช้ชีวิตเหมือนคนปกติ จัดการทุกสิ่งทุกอย่างได้ มากกว่าคนที่บอกว่ามั่นคง แต่จัดการทุกสิ่งไม่ได้เสียอีก”

เกด _ กรกาญจน์ รุ่งสว่าง ซึมซับนาฏศิลป์ไทยมาจากครอบครัวคณะลิเกและพี่ๆ ที่เป็นครูนาฏศิลป์ กรกาญจน์เคยตามรอยนั้น แต่กลับก้าวสู่เส้นทางนักเต้น เมื่อได้เห็นโลกกว้างผ่านการร่วมงานกับพิเชษฐ

“เกดไม่มีภาพในหัวว่าจบไปแล้วจะเป็นนักเต้นเลย พอได้เริ่มงานกับ อ.พิเชษฐตั้งแต่ปี 1 เกดก็ได้ออกเดินทาง เห็นโลก เห็นความเป็นไปได้ของอนาคตเรา”

เกด

กรกาญจน์ทำงานที่นี่มาตั้งแต่ปี 2010 ทางคอมพานีสนับสนุนนักเต้นให้รับทุนเพื่อหาประสบการณ์ในต่างประเทศด้วย เธอเคยได้ทุน Asian Cultural Council ไปเป็นศิลปินในพำนักที่นิวยอร์ก 7 เดือน เธอจึงมีแนวทางชัดเจน โดยสร้างงานของตัวเองไปด้วย สำหรับงานส่วนตัว เธอพยายามหาทุนด้วยตัวเอง นี่เป็นสิ่งที่คอมพานีส่งเสริม “เราอยากให้เขาออกไปทำงานกับข้างนอก และออกไปจากเราด้วย” พิเชษฐบอก

ผดุง จุมพันธ์ นักแสดงโขนลิง ที่วิถีชีวิตและอาหารการกินคือปัญหาใหญ่สุด ลูกอีสานที่ต้องเดินทางไปแสดงทั่วโลกต้องอดทนกับอาหารที่ไม่คุ้น แต่เข้าข้ามผ่านปัญหาเหล่านั้นมาแล้ว ส่วนเรื่องทัศนคติต่อการออกนอกกรอบโขนประเพณี มิใช่ปัญหา เพราะเป็นคนไม่ยึดติด

จากคนใช้ชีวิตสบายๆ ต้องมาเข้มงวดกับการฝึก เขาเคยตั้งคำถามกับตัวเองว่าจะเลือกชีวิตแบบไหน ที่เขาเลือกเส้นทางนี้ต่อก็เพราะ “เงินครับ ทำให้เรามีชีวิตต่อไปได้” ที่สำคัญคือเขาอยากรู้ว่า “การเต้นคืออะไร ทำไมการเต้นจึงพาเราไปที่ต่างๆ ได้ เราเข้าใจการเต้นหรือเข้าใจชีวิตตัวเองไหม” แม้จะเต้นกับคอมพานีเต็มตัวมา 7 ปีแล้ว แต่เขาก็ยังหาคำตอบอยู่

ผดุง

“มันมีหลายระดับครับ เหมือนกับลูกโลกที่มีดินหินเป็นชั้นๆ เราต้องรู้จักแต่ละชั้นให้จริง กว่าที่จะไปถึงลาวา ตอนนี้ผมกำลังขุดอยู่ ผมเข้าใจแล้วว่าปลูกพืชแบบไหนใช้ดินระดับไหน แต่ลึกไปกว่านั้นต้องเจอหิน เจออะไร ยังไม่รู้ แต่เราอยากไปถึงขั้นลาวาเลยครับ”

ในอีก 3 เดือนข้างหน้า ผดุงจะเดินทางไปนอร์ธแคโรไรนาเป็นเวลา 6 สัปดาห์ ด้วยทุนของ American Dance Festival แร่ธาตุในผืนดินที่ต่างกันคงช่วยการขุดค้นของเขาไม่น้อย

มิ้น _ ภาวิดา วชิรปัญญาพร นักเต้นรุ่นล่าสุด ที่จบนาฏศิลป์ตะวันตกมา เธอเคยคิดว่าเส้นทางหลังเรียนจบจะตรงไปที่อุตสาหกรรมบันเทิง แต่เมื่อได้ไปเวิร์คชอปกับพิเชษฐตอนเป็นนักศึกษา และถูกวิพากษ์ว่า “แบบนี้คือเต้นไม่เป็น” ความคาใจทำให้ต้องไปร่วมเวิร์คชอปอีกหลายครั้ง จนได้รับคำชวนให้มาร่วมโปรเจคหนึ่งของพิเชษฐ ที่ได้เดินทางไปแสดงที่ญี่ปุ่น เป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้ภาวิดามองอนาคตของเธออีกแบบ แดนซ์ คอมพานีที่เคยเห็นแต่ในหนัง มีจริงที่ต่างประเทศ และมีในไทยด้วย

มิ้น

การฝึกฝนตลอด 2 ปี ทำให้เธอเข้าใจการเต้นมากขึ้น โดยไม่ได้แยกรำไทยออกไป จากคนที่ไม่ชอบการเต้นแนวคลาสสิค การฝึกรำไทยทุกวัน กลับช่วยให้เข้าใจแก่นของการเต้นแนวประเพณี ทั้งรำไทยและบัลเล่ต์ ภาวิดายังได้ระบบคิด วิธีสร้างอะไรเป็นของตัวเอง และการอยู่ในหน้าที่ของนักเต้น

“ไม่ใช่แค่แสดงแล้วจบ แต่ต้องทำให้ดีที่สุด เพราะนั่นคือการหางานต่อไป ถ้าเราเต้นดีมาก ก็จะมีคนมาทาบทามอีก 2 ปีข้างหน้า ไปเต้นที่นั่นที่นี่ไหม เป็นแบบนี้ ต้องทำตัวให้พร้อมและดีตลอดเวลาเพื่อไปต่อ ทุกอย่างคืออนาคต จึงต้องซ้อมตั้งแต่เช้าถึงเย็น เพราะนี่คือฟูลไทม์”

โมเดลแดนซ์ คอมพานี

มองดูโรงละครช้างอาคารใหม่ ก็รับรู้ได้ว่าคอมพานีประสบความสำเร็จทีเดียว แม้การทำงานตลอดสิบกว่าปีที่ผ่านมา ทำให้มีผู้สนับสนุนมากมาย แต่เงินขยายที่ทางและการก่อสร้างก็มาจากน้ำพักน้ำแรงของพวกเขาเอง แสดงว่านี่คือธุรกิจที่สามารถดูแลพนักงานและขยายงานได้ แน่นอน ไม่ใช่โมเดลแบบธุรกิจทั่วไป

  • ทำงานกับองค์กรและเทศกาลศิลปะทั่วโลก

พิเชษฐ อธิบายให้ฟังว่าความไม่พร้อมในประเทศทำให้เขาต้องทำงานกับต่างประเทศ ซึ่งเป็นตลาดใหญ่กว่า

“มีเทศกาลศิลปะหลายๆ พันเทศกาล และมีโรงละครอีกหลายๆ พันทั่วโลก ที่เหล่านี้คือที่ที่เรานำงานไปแสดง พาตัวเองไปที่ที่มีเทศกาลศิลปะ แล้วได้เงินค่าจ้างจากเทศกาลศิลปะเหล่านั้นมาดูแลคนของเรา”

20180426161021288

ส่วนเงินทุนในการสร้างงานแต่ละชิ้น โศจิรัตน์ เสริมว่า

“เวลาพี่พิเชษฐทำงานจะเริ่มจากคิดงาน โดยไม่คำนึงว่าเราจะมีเงินทุนไหม มีคนดูไหม คิดจากความตั้งใจจะทำเรื่องนี้ ด้วยความที่เขาทำงานมานาน ต่างประเทศก็มีคนรู้จัก องค์กรต่างๆ เชื่อมั่น เมื่อก่อนทำงานคนเดียวไม่ยาก เพราะใช้เงินไม่เยอะ แต่เมื่อมีน้องๆ เข้ามา ต้องใช้เงินเยอะขึ้น เราใช้วิธีเขียนพรอพโพซอลไปยังองค์กรที่สนับสนุนเรามาเป็นอย่างดี”

เดือน

หากองค์กรนั้นสนใจก็จะให้ทุนสร้าง ผู้สนับสนุนทุนจะมีทั้งรายหลักที่ให้เป็นก้อนใหญ่ และผู้สนับสนุนแบบร่วมผลิต เมื่องานชิ้นนั้นเสร็จ ก็นำไปจัดแสดง ได้ค่าแสดงในการทัวร์ต่อรอบในเรทต่างๆ กัน “ถ้าเป็นคนออกทุนก้อนใหญ่ให้ เวลาเราไปแสดงในเทศกาลเขา ก็ไม่คิดเงิน เพราะเขาให้เงินสร้างมาแล้ว แต่ถ้าเป็นผู้ร่วมสนับสนุน ก็จะมีเรทน้อยกว่าปกติ แต่ถ้าเป็นทัวร์กับเทศกาลที่เขาไม่ได้ร่วมผลิตกับเรา ก็เป็นอีกเรทหนึ่ง”

รายได้จึงมาจากการแสดงตามเทศกาลต่างๆ โดยทางคอมพานีไม่ได้เป็นฝ่ายติดต่อขอไปแสดงที่ใด แต่ทางเทศกาลต่างๆ เป็นผู้ติดต่อเข้ามาเอง 1 ปีล่วงหน้า ฉะนั้น ตารางการทำงานของคอมพานีวางไว้ล่วงหน้า 1 ปี ซึ่งหมายถึงการวางแผนการเงินด้วย

ทางคอมพานียังเลือกเทศกาลที่จะไป “ถ้าต้องไปแบบไม่มีค่าตั๋วเครื่องบินให้ หรือมีค่าตั๋ว แต่ไม่มีเงินค่าแสดงให้ สำหรับเรา ถ้าไม่มีค่าตั๋วเครื่องบิน ไม่มีค่าที่พัก ไม่มีค่าอาหาร ไม่มีค่าแสดงให้ เราปฏิเสธทันทีครับ เพราะที่นี่เป็นบริษัท เป็นมืออาชีพ เรามั่นใจในคุณภาพของเรา นั่นคือเหตุผลที่ต้องทำงานหนัก เพราะถ้าพลาดครั้งเดียวก็จบ”

  • ตอบโจทย์ตลาดโลกด้วยจุดยืนที่แท้

การสร้างงานศิลปะไม่ต้องสำรวจความต้องการตลาดที่ไหน “เป็น ‘เรา’ นี่แหละครับคือการตอบโจทย์ตลาดโลก”

เหยียบเหลี่ยม

และตัวตนของคอมพานีนี้มาจากการสร้างชื่อของพิเชษฐ “ผมว่าผมเริ่มต้นได้ถูก โดยสร้างความเชื่อมั่นจากตัวเองก่อน เป็นศิลปินเดี่ยว ขายชื่อเราและความมั่นใจ ตอนไปทำงานมักมีคำถามว่า คุณวางแผนอะไรไว้ในอนาคต ผมบอกเสมอว่าต้องการฟื้นฟูนาฏศิลป์ไทยให้อยู่ในสังคม แบบไม่ไปอยู่ในที่ไม่เหมาะไม่ควร ให้ไปอยู่ในพื้นที่ทางศิลปะจริงๆ และต้องการสร้างคอมพานีขึ้นมา เพื่อให้คนรุ่นใหม่มีอาชีพทำ นี่คือสิ่งที่เราพูดในตลาดโลก เมื่อวันหนึ่งที่เราพร้อม เขาก็ยินดีสนับสนุนเรา”

ทั้งนี้ คอมพานียืนอยู่บนชื่อเสียงของพิเชษฐ ฉะนั้น นี่คงเป็นโมเดลที่ใครๆ ทำตามได้ยาก แต่พิเชษฐเห็นต่าง

"ทุกคนทำตามได้หมดครับ 1. มีศิลปะของตัวเอง 2. มีคุณภาพ มีศิลปะของตัวเอง เช่น รู้ว่าคุณมาจากประเทศไทย ไม่ใช่ไปเต้นบัลเล่ต์ฮิปฮอป เขาไม่เอาอยู่แล้ว และต้องมีคุณภาพ ถ้าไม่ใช่ระดับมาสเตอร์พีซ มันก็จบ ฉะนั้น คุณต้องไปหาศิลปะของคุณก่อนแล้วสร้างให้ดี ง่ายแค่นี้เอง แต่มันยากตรงที่หาไม่เจอ แต่พอเจอแล้วจะใช้ได้ตลอดทั้งชีวิต กินยาวเลยครับ ยิ่งอยู่นาน อำนาจการต่อรองเรื่องเงินก็ยิ่งสูง ในวันที่เราเริ่ม อาจได้ค่าตัวแค่สามพัน แต่พอเราทำต่อไปเรื่อยๆ จะกลายเป็นสามแสน"

ย่อเหลี่ยม

พิเชษฐเสริมว่า คนไทยไม่เห็นว่าการเต้นเป็นงานศิลปะที่มีมูลค่า เห็นแต่เพนท์ติ้งที่มีศิลปินไทยขายงานได้หลักล้าน “ไม่มีใครรู้ว่าการแสดงโปรดักชั่นหนึ่งก็ขายได้หลักล้านเหมือนกัน มูลค่าด้านศิลปะเกี่ยวกับเธียเตอร์ในไทยยังเป็นศูนย์ หากมองในระดับมาสเตอร์พีซ”

ฉะนั้น หากสามารถสร้างงานแสดงให้ถึงระดับนั้นได้ การเป็นนักเต้นอาชีพย่อมมีอนาคตแน่นอน