ดร. บัญชา ธนบุญสมบัติ ชายผู้หลงรักมวลเมฆ

ดร. บัญชา ธนบุญสมบัติ ชายผู้หลงรักมวลเมฆ

เมฆเกิดขึ้นจากหลักการธรรมชาติ อธิบายได้ด้วยวิทยาศาสตร์ แต่ยังบอกเล่าวัฒนธรรมของแต่ละที่ และบางที เมฆบนฟ้าก็รักษาอาการอกหักได้

“ทุกทุกวันก็จ้องมองแต่ท้องฟ้า พอถึงเวลาก็ออกไปดูเมฆพลัน 

หน้าเริดเชิดหยิ่งกันทั้งวัน สนุกสุขสันต์ทั้งฉันและเธอ

งานจะสุมงานจะค้างช่างมัน แค่เพียงตัวฉันได้ส่องเมฆก็ลั้นลา

ดวงตะวันสาดทอแสงส่องมา ฉันยังคงหามวลเมฆทั้งวัน”

คือส่วนหนึ่งของบทเพลง “คนรักมวลเมฆ” ที่อธิบายถึงคนกลุ่มหนึ่งได้เป็นอย่างดี และถ้าจะบอกว่าพวกเขาคือใครคงต้องใช้พื้นที่มากมาย เพราะทั้งต่างที่มา ต่างเพศ ต่างอายุ ต่างฐานะ และต่างบทบาททางสังคม พวกเขาแทบไม่มีอะไรเหมือนกันเลย แต่หากจะอธิบายให้สั้นและเข้าใจได้ดีที่สุด นี่คือกลุ่มคนที่รักการดูเมฆ และมารวมตัวกันในนามของ “ชมรมคนรักมวลเมฆ”

ชมรมคนหลงใหลเมฆ 

“คุณเชื่อมั้ยว่าคนในชมรมหลายคนหลงใหลเมฆขนาดที่ว่าบางครั้งขณะเดินทางไปทำงาน แต่เจอเมฆสวยๆ อยู่ฝั่งตรงข้าม เขากลับรถเพื่อไปถ่ายภาพเมฆเลยนะ คิดดูสิ ฮ่าๆ”

“แล้วอาจารย์เป็นแบบนั้นมั้ยครับ”

“ผมเป็นประธาน จะมีอาการน้อยกว่านั้นได้ยังไง ฮ่าๆ”

Dr bancha

ดร. บัญชา ธนบุญสมบัติ ประธานชมรมคนรักมวลเมฆ ที่มีความหลงรักในเมฆไม่แพ้ใครในโลก

จุดเริ่มต้นของชมรมเกิดขึ้นจากชายคนนี้เองที่ต้องการเผยแพร่ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ให้คนทั่วไปได้เข้าถึงและสนุกกับมันมากขึ้น เพราะเขาเชื่อว่าความรู้เป็นสิ่งสวยงาม แต่หากถูกยัดเยียด มันจะกลายเป็นสิ่งไม่สวยงามทันที

กระจาย

ฟ้าลายเห็ดบด ภาพโดย สุธาสินี ไชยโชติวัฒน์

“ปกติผมจะเขียนบทความวิทยาศาสตร์ลงหนังสือพิมพ์หรือบล็อกส่วนตัวอยู่แล้ว ซึ่งส่วนหนึ่งก็เป็นพวกปรากฏการณ์ธรรมชาติที่ออกแนวคุกคาม อย่างพายุ ฟ้าร้อง ฟ้าผ่า แต่ความจริงธรรมชาติยังมีด้านที่สวยงามอีกเยอะแยะ ก็เลยใช้รูปเมฆสวยๆ แปลกๆ มาโพสต์ในเว็บบล็อก และแถมความรู้ไปนิดๆ หน่อยๆ ปรากฏว่ามีเพื่อนมาร่วมแจมมากมาย ก็เลยตั้งเป็นชมรม คนทั่วไปนี่สามารถดูเมฆได้ทุกที่ ทุกวัน อยู่ที่ไหนก็ดูได้ และหากเราเติมความรู้เข้าไปตอนเขาเจอเมฆหรือปรากฏการณ์ท้องฟ้าแบบหนึ่งๆ เขาก็จะสนใจมากครับ"

เชื่อมโยงวัฒนธรรมด้วยเมฆ

“ไม่เคยรู้มาก่อนว่ามีคนชอบดูเมฆเหมือนกัน” สมาชิกหลายคนบอกกับ ดร. บัญชา หลังรู้ว่าในโลกนี้มีชมรมคนรักมวลเมฆอยู่

ทรงกลด

วงแสงโคโรนา ภาพโดย ภคพร บรรจงจัด

บางคนบอกว่าเมฆสามารถรักษาอาการอกหักได้ บางคนมองเมฆแล้วช่วยคลายความเครียด  บางคนดูเมฆชมฟ้าแล้วมีความหวัง และบางคนถึงกับเขียนบรรยายความรู้สึกที่เกิดจากการดูเมฆได้เป็นเรื่องเป็นราวยาวหลายหน้ากระดาษ 

“มันมหัศจรรย์มากครับ ตอนแรกที่ตั้งชมรมก็ไม่ได้คิดว่าจะมีคนที่ชอบดูเมฆมากขนาดนี้ อย่างเพลงประจำชมรมหรือโลโก้ก็ได้คนในชมรมนี่แหละที่ช่วยกันทำ แทบทุกอย่างฟรีหมด เพราะทำกันด้วยใจรักล้วนๆ”

Meeting¡∫—µ‘-MedRes

Meeting ชมรมคนรักมวลเมฆ วิทยาเขตล้านนา ภาพโดย บัญชา ธนบุญสมบัติ

การดูเมฆบอกอะไรกับเราบ้าง แน่นอนว่าอย่างน้อยคือเรื่องสภาพอากาศ แต่หากลงลึกไปกว่านั้นการดูเมฆยังเชื่อมโยงไปถึงวัฒนธรรมของแต่ละพื้นที่อีกด้วย

“โดยทั่วไป คนเราจะรู้อยู่แล้วใช่มั้ยครับว่าถ้าฟ้าครึ้มๆ มืดๆ เนี่ย เดี๋ยวฝนจะตกแน่นอน แต่คนในชมรมหลายคนจะรู้มากกว่านั้น เช่น ถ้าเมฆมีสีเขียวนิดๆ แสดงว่ามักจะมีลูกเห็บตก หรือถ้าบนเมฆฝนฟ้าคะนองมีหัวจุกเหมือนผมเด็กผูกจุก อาจจะมีฟ้าผ่ารุนแรงและลูกเห็บขนาดใหญ่ตกลงมา” 

เห็ด

เมฆหมวกแก๊ปเหนือยอดภูเขาไฟฟูจิ ภาพโดย กรองกาญจน์ เพชรแอน

“ส่วนเรื่องวัฒนธรรมก็เกี่ยวกับการดูเมฆนะครับ คือเวลาผมไปบรรยายในที่ต่างๆ เนี่ย ผมจะบอกเสมอว่า เรามาแลกเปลี่ยนความรู้กันนะ ก็เลยทำให้เราได้รู้เพิ่มขึ้นหลายๆ อย่างเมฆรูปแบบเดียวกัน แต่ถ้าต่างพื้นที่อาจจะเรียกไม่เหมือนกัน

เช่น เมฆฟ้าลายเห็ดบดจะเป็นชื่อที่คนอีสานเรียกกัน เพราะถ้าเกิดเมฆชนิดนี้เมื่อไหร่ ให้เข้าป่าไปหาเห็ดได้เลย เจอแน่นอน ซึ่งมันก็สอดคล้องกับวิทยาศาสตร์ในแง่ที่ว่าเมฆเต็มฟ้าแบบนี้แสดงว่าอากาศมีความชื้นสูงพอสมควร และเห็ดก็ขึ้นในที่ชื้นอยู่แล้วใช่มั้ยครับ เป็นไปได้ว่าชาวบ้านคงสังเกตกันมานานและบอกต่อกันมาเรื่อยๆ  ส่วนฟ้าลายเห็ดบดของคนอีสานนี่ คนใต้จะเรียกว่าเมฆชนิดนี้ว่าแกล๊ดฝ่าครับ มีเกร็ดสนุกๆ ว่าถ้าเกิดเมฆแบบนี้เมื่อไหร่จะมีหนุ่มสาวที่รักกัน แต่พ่อแม่ของทั้งสองฝ่ายไม่ยินยอม ทั้งคู่จะหอบผ้าหอบผ่อนหนีตามกันไป!”

ชีวิตประจำวันของคนรักเมฆ

“ตอนนี้ชมรมกลายเป็นแหล่งเรียนรู้ทางวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมไปแล้วครับ ฮ่าๆ บางครั้งก็มีศิลปะด้วย เช่น สมาชิกคนไหนที่มีความสามารถในการวาดรูป เขาก็จะจินตนาการภาพจากก้อนเมฆว่าเป็นรูปอะไรแล้วก็วาดลงไปครับ มีหมดครับทั้งคนทั้งสัตว์ ยิ่งกว่านั้นคือ บางคนอย่าง คุณอ้อ วาดเป็นซีรี่ส์การ์ตูนเลยครับ เพื่อนสมาชิกชอบกันมาก” 

dog

นิทานเมฆ ภาพโดย Oraphan Aor

“อีกเรื่องหนึ่งที่ผมว่ามันกลายเป็นพฤติกรรมปกติของสมาชิกไปแล้วแล้วคือ การรายงานสภาพอากาศ เพราะสมาชิกเราเรียกได้ว่าน่าจะมีทุกจังหวัดในประเทศไทย แต่ละคนก็จะมาโพสต์กันว่าวันนี้แถวๆ ที่ฉันอยู่เป็นยังงี้ๆ นะ แล้วเวลาถ่ายภาพเมฆและท้องฟ้าเนี่ย ก็มักจะมีสถานที่ติดมาครับ เพื่อนๆ ก็จะถามกันว่าที่ไหนๆ เลยกลายเป็นการพาเที่ยวแบบไม่รู้ตัวครับ

ปรมาณู

เมฆฝนฟ้าคะนองรูปทั่ง ภาพโดย ภัทรกร ดำรงค์สกุล

และถ้าวันไหนเกิดปรากฏการณ์พิเศษ เช่น หมวกเมฆสีรุ้ง หรืออาทิตย์ทรงกลดสวยๆ นี่ ชั่วโมงนึงอาจมีโพสต์เข้ามาหลายร้อยภาพเลยนะครับ ผมว่านี่คือการบันทึกปรากฏการณ์ ณ ขณะนั้นได้ดีที่สุดที่หนึ่งครับ”

ไม่น่าเชื่อว่าจากเว็บบล็อก “ชายผู้หลงรักมวลเมฆ” ในระบบ GotoKnow.org ที่เริ่มจากผู้ชายเพียงคนเดียว จะเติบโตขึ้นมาพร้อมกับจำนวนคนที่รักในการดูเมฆเหมือนกันเกือบๆ 6 หมื่นคน จนทำให้มีภาพในชมรมมากกว่าหนึ่งแสนภาพ และบางภาพ ดร. บัญชา ก็ได้ขออนุญาตเพื่อนสมาชิกนำไปจัดทำเป็นหนังสือรวบรวมภาพเมฆและปรากฏการณ์ในบรรยากาศแทบทุกรูปแบบบนโลกในหนังสือเล่มสำคัญชื่อ Cloud Guide 

Cloud Guide ª°ÀπÈ“

“ในหนังสือมีภาพเมฆและปรากฏการณ์ในบรรยากาศหลายร้อยภาพครับ เกินกว่าครึ่งเป็นภาพของเพื่อนสมาชิกคนไทย ที่เหลือที่ยังจำเป็นต้องใช้ภาพจากต่างประเทศ เพราะปรากฏการณ์บางอย่างเกิดเฉพาะที่จริงๆ”

cat

เมฆแมวกวัก ภาพโดย พุทธิพร อินทรสงเคราะห์

อ่านเรื่องนี้จบแล้ว ผู้อ่านบางท่านอาจนึกสนุกอยากดูเมฆขึ้นมาบ้าง ไม่ยากเลยครับ เพียงแค่คุณหยิบโทรศัพท์มือถือขึ้นส่องฟ้า จากนั้นก็นำไปโพสต์ในชมรมคนรักมวลเมฆ 

www.facebook.com/groups/CloudLoverClub  

รับรองได้ว่าเพียงเท่านี้ชีวิตคุณก็จะสนุกและได้รับความรู้เพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน