สวยง่าย จ่ายสยอง

สวยง่าย จ่ายสยอง

เชื่อหมอก็ไม่ได้ อ่านฉลากก็ไม่การันตี ตรวจเลข อย.ยังเจอปลอม แล้วในวันที่ “ครีม” อยู่รอบตัวเรา จะเชื่อใครดี?

การทลายโรงงานบริษัทผลิตอาหารเสริม เครื่องสำอาง ในเครือข่ายเมจิกสกิน ที่โรงงานในจังหวัดปทุมธานี ทำเอาหลายคนคงช็อกกับภาพกระสอบบรรจุผงหลากสีที่เป็นต้นตำรับ “ผงชง” สูตรมหัศจรรย์ เนรมิตความสวยได้ตามสั่ง ไม่ว่าจะลดน้ำหนัก สลายไขมัน ผิวขาวออร่า รวมถึงครีมเว่อร์วังการันตีดาวล้านดวงที่กวนเองกับ “มือ”

จุดขาย​ “โฮมเมด” อาจใช้ได้กับเบเกอรี่หอมหวาน หรืองานอาร์ตอื่นๆ แต่คงไม่ใช่กับอาหารเสริม สกินแคร์ รวมถึงเครื่องสำอางที่จุดวัดผลไม่ใช่เรื่องความอร่อยหรือสวยงาม แต่เกี่ยวข้องกับพิษโทษต่อร่างกาย เป็นราคาสุดสยองที่ต้องจ่ายเพื่อแลกมาซึ่งความสวย

ยิ่งเมื่อคนรุ่นใหม่จำนวนหนึ่งคิดน้อยแต่อยากได้เงินมาก คิดอะไรไม่ออกก็ขายครีม ขายอาหารเสริมออนไลน์ สมัครเป็นตัวแทนครีมกิโล เห็นแก่การได้เงินง่าย ลงทุนนิดเดียว เดี๋ยวยอดออเดอร์ก็กลับมา เรื่องความถูกต้องไม่ต้องถามหา เอะอะก็หงายการ์ดว่า สินค้ามี “อย.” โดยไม่ได้สนว่า เป็นเลขจริงหรือปลอม เช่นกันกับดารา คนดัง รวมถึงเน็ตไอดอล อีกหนึ่งสถานะในฝันของคนยุคใหม่ เมื่อความดังแปรค่าเท่ากับ “ยอดผู้ติดตาม” สนนราคาของ “ค่าโพสต์” ก็ตามมา 

ทั้งหมดกลายเป็น “วงจรธุรกิจความงาม” ที่โอบล้อมด้วยความจอมปลอม สินค้าปลอม อย.ปลอม สรรพคุณปลอม คำโฆษณาของคนดังก็ยังปลอม โดยดาราบางคนยอมรับว่า ไม่เคยแม้แต่จะทดลองใช้หรือกินเลยด้วยซ้ำ แต่ก็รับเงินเขามาเพื่อรีวิวว่า ดีอย่างนั้นดีอย่างนี้ และที่เจ็บกว่าคือ ถ้าเอาชื่อบริษัทข้างกล่องไปเสิร์ชดู ก็จะพบว่า บางราย แม้กระทั่งชื่อบริษัทก็ยังปลอม! 

แล้วผู้บริโภคอย่างเราๆ จะเชื่ออะไรได้อีก..

  • ความงามใต้ถุนบ้าน

ถ้าดูที่ตัวเลขคำขอการจดแจ้งผลิตและอนุมัติให้ผลิตเครื่องสำอางจากกระทรวงสาธารณสุข ตั้งแต่ปี 2554 - 2558 พบว่า มีสถิติที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2558 มีผู้มาขอจดแจ้งผลิตเครื่องสำอาง จำนวน 13,907 ราย เพิ่มขึ้นจากปี 2557 คิดเป็นร้อยละ 32 ในขณะที่อนุมัติให้ผลิตเครื่องสำอางในปี 2558 มีจำนวน 8,045 ราย เพิ่มสูงขึ้นจากปี 2557 คิดเป็นร้อยละ 38 และมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง 

ขณะที่ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย, กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ก็ร่วมยืนยันว่า ธุรกิจเครื่องสำอางและครีมบำรุง ยังคงเป็นธุรกิจดาวรุ่งในบ้านเรา 

จึงไม่น่าแปลกใจว่า วันนี้หันไปทางไหนก็เจอแต่โฆษณาสินค้าความงาม ตั้งแต่ครีม เครื่องสำอาง รวมถึงอาหารเสริมเต็มไปหมด โดยมีหน้าใหม่เข้ามาทำตลาดเป็นจำนวนเยอะมาก

ยืนยันอีกหนึ่งเสียงโดย “จีน” จีราภัสร์ อริยบุรุษ ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ Jeban.com คอมมูนิตี้ความงามแถวหน้าของเมืองไทย ที่เล่าว่าพวกธุรกิจอาหารเสริม เครื่องสำอางที่เป็นรายเล็ก รายน้อย หรือที่ทำแบบโออีเอ็ม เริ่มมีเยอะก็ราวๆ 5-6 ปีที่แล้ว โดยเฉพาะอาหารเสริมที่เยอะมาก แทบจะมีรายใหม่เข้ามาทุกวัน โดยมองว่า อาหารเสริมเริ่มบูมขึ้นหลังเทรนด์ออกกำลังกายมาแรง​ ซึ่งคนที่เข้าฟิตเนสมักจะกินอาหารเสริมด้วย อาหารเสริมจึงเริ่มเป็นที่รู้จักตั้งแต่นั้น และกลายเป็นช่องทางให้คนฉวยโอกาสใช้คำว่า “อาหารเสริม” มาเคลมสรรพคุณละลายไขมัน ลดความอ้วน คุมความผอม ฯลฯ

ส่วนกระแสขายครีมที่คนทำกันเกลื่อน โดยเฉพาะที่เป็นอันตราย คือพวกครีมเถื่อน ครีมกวนเองไม่ได้มาตรฐานนั้น จีนเล่าว่า กลุ่มนี้ระบาดหนักๆ ก็สัก 3 ปีที่ผ่านมา

"ครีม เขาขายราคาแพงด้วยนะ ไม่ใช่ถูกๆ เทียบกรัมต่อกรัม แทบไม่ต่างกับการซื้อครีมในดรักสโตร์หรือในห้างเลย" จีนกล่าว

และรู้ไหมว่า.. 

ทำครีมเดี๋ยวนี้มันง่ายแสนง่าย
ลืมเครื่องจักรในโรงงานไปได้เลย
มีแค่กะละมังกับที่ตีไข่
คุณก็สามารถทำครีมได้แล้ว

“สมัยก่อน การทำครีมทำยาก ราคาแพง เพราะต้องลงทุนสร้างโรงงานเป็นเรื่องเป็นราวถึงจะทำได้ แต่ปัจจุบัน ตั้งแต่มีการคิดค้นวัตถุดิบสำคัญที่สามารถประสานน้ำและน้ำมันให้เข้ากันได้ เราเรียกมันว่า ‘สารเชื่อมผสาน’ หรือ Emulsifier การทำครีมก็ง่ายขึ้นมาก แค่กะละมังใบนึง ที่ตีไข่อันนึง ก็สามารถตีครีมได้แล้ว” ดร.นภัตสร ดิษฐาวุฒิกุล อาจารย์ประจำ สำนักวิชาวิทยาศาสตร์เครื่องสำอาง มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ร่วมยืนยันถึงความง่าย

ใช่, เราสามารถกวนครีมเองที่บ้านได้อย่างง่ายๆ และเราก็สามารถสั่งซื้อส่วนผสมสำหรับการทำสกินแคร์สูตรเด็ดเฉพาะของตัวเองได้ทั่วไป จะเอาสูตรไหน ส่วนผสมอะไร สเต็มเซลล์ เปปไทด์ ไฮยารูลอน หรือจะวิตามินซี ฯลฯ หรืออยากได้เนื้อแบบไหนจะเอาแบบครีม เจล หรือน้ำตบก็มีให้เลือกช้อปได้ตามใจชอบ

หรือถ้าคิดไม่ออก อยากได้สูตร เข้ากูเกิ้ลเลยมีให้เลือกเพียบ แต่ใครจะรับประกันว่า สูตรที่คิดว่า “เด็ด” นั้น ปลอดภัย ไม่เป็นโทษ

โดยเฉพาะถ้าไม่ได้คิดแค่ทำเล่นหรือใช้เองที่บ้าน โดยถ้าคิดจะทำขาย ก็ต้องส่งสูตรไปให้อย.ตรวจก่อน และเตรียมสถานที่ผลิตให้ได้มาตรฐาน ซึ่งประเด็นนี้แหละที่กำลังถูกพูดถึงในวงกว้าง เพราะจากที่เคยคิดว่า ถ้าเห็นตราประทับ “อย.” หมายถึงสินค้านั้นปลอดภัย เพราะความจริง เราสามารถขอเลขที่ อย. ได้โดยผ่านช่องทางออนไลน์.. ง่ายนิดเดียว

z1Kk0EmP

  • ‘ปลอดภัย’ ไม่ได้โม้ ?

ขณะที่ขั้นตอนการขอผ่านระบบออนไลน์ e-Submission เกิดขึ้นเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ประกอบการน้ำดี แต่เมื่อกลายเป็นช่องทางหากินของผู้ผลิตที่ไม่มีคุณภาพ ทาง อย. จึงรีบออกมาแถลงปรับเพิ่มมาตรการให้มีเจ้าหน้าที่คัดกรองอีกชั้นหนึ่งโดยจะกินเวลาประมาณสามวันทำการ ไม่ใช่ทำแล้วได้เลยอย่างแต่ก่อน

พร้อมกันนี้ก็ได้ทำงานเชิงรุกร่วมกับเครือข่ายสังคมออนไลน์โดยเฉพาะเพจดังๆ ทั้งหลายเพื่อรับแจ้งเบาะแสของสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐาน ขณะเดียวกันก็เตรียมออกกฎกระทรวงเพื่อกำหนดมาตรฐานของสถานผลิตเครื่องสำอาง เพื่อเป็นการประกันคุณภาพของผลิตภัณฑ์ที่ผลิตจากสถานผลิตที่เป็นมาตรฐาน โดยน่าจะประกาศใช้ได้ในเดือนมิถุนายนที่จะถึงนี้ รวมถึงได้ประสานงานกับ กสทช. เพื่อสอดส่องการโฆษณาผ่านสื่อออนไลน์เชิงรุก และกำลังอยู่ระหว่างพูดคุยกับสภาอุตสาหกรรมเพื่อพัฒนาการออกตรา อย. ที่รัดกุมและปลอมยากขึ้น

แม้จะเห็นความพยายามจัดการปัญหา แต่เราต้องขีดเส้นใต้ตัวโตๆ ไว้ด้วยว่า เลขที่ อย.” คงไม่สามารถเป็นใบการันตีความปลอดภัยได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ 

ต้องยอมรับว่า ปัจจุบัน อย. ไม่ได้มีบุคลากรที่เพียงพอต่อจำนวนสูตรหรือสินค้าที่ยื่นขอจดแจ้ง โดยที่ทำได้หลักๆ ก็คือ การตรวจดูส่วนผสมรวมถึงชื่อสินค้าและคำโฆษณาว่า อวดอ้างเกินจริงหรือไม่ แต่ไม่มีกำลังมากพอที่จะไล่ตรวจสินค้าทุกตัวที่ยื่นขอได้ ทำได้เพียงสุ่มตรวจ โดยเฉพาะกับสินค้าที่เป็นปัญหา ถูกร้องเรียน หรือมีความน่าสงสัยเท่านั้น

และมันก็ไม่ต่างอะไรกับเกม “โปลิศจับขโมย” เมื่อฝ่ายหนีได้เปรียบกว่าฝ่ายไล่ และพร้อมแหกกฎเสมอ ต่อให้มาตรการของอย.เข้มข้นอีกหลายเท่าตัว ถ้าคนมันจะปลอม ก็ทำได้ทั้งนั้น 

“วิจารณญาณ” ของเหล่าผู้บริโภคนั่นต่างหากที่ต้องพึ่งพาตัวเองให้มากกว่านี้..

รู้ไหมว่า เราสามารถตรวจข้อมูลเบื้องต้นด้วยตัวเองได้ตั้งหลายวิธี

ตั้งแต่การตรวจสอบเลขที่ อย. โดยแค่เข้าไปที่เว็บไซต์ www.fda.moph.go.th ของอย. และเลื่อนไปที่ส่วนบริการประชาชน ก็จะเจอ “ระบบตรวจสอบผลิตภัณฑ์” โดยเราก็แค่กรอกเลขที่ อย. ลงไป รายชื่อสินค้านั้นๆ ก็จะปรากฏขึ้น ถ้าชื่อไม่ตรงกับสินค้าที่เรากำลังตรวจสอบ ก็ไม่ต้องสืบต่อเลยว่า “ปลอม” ชัวร์

นอกจากนี้ เรายังสามารถไปที่ “บริการออนไลน์” ในเว็บไซต์กรมพัฒนาธุรกิจ กระทรวงพาณิชย์ www.dbd.go.th และกรอกข้อมูลยืนยันตัวบุคคลไม่ถึง 5 นาที เราก็สามารถมีแอคเคานท์สำหรับตรวจเช็คการจดทะเบียนบริษัท ทั้งรายนามกรรมการ ที่ตั้งบริษัท รวมถึงงบกำไรขาดทุน ซึ่งเมื่อทีมงานทดลองตรวจสอบ บางบริษัทไม่เคยส่งงบการเงินเลยแม้แต่ปีเดียวก็ยังมี

“อยากฝากบอกให้ผู้บริโภคหาข้อมูลด้วยตัวเองให้มากขึ้น หรือตรวจสอบไปถึงแหล่งผลิตเลยได้ยิ่งดี มีโรงงานจริงไหม สถานที่จดทะเบียนบริษัทอยู่ที่ไหน เช็คดูในกูเกิ้ลแม็ปหน่อยซิว่า ที่ตั้งเป็นอย่างไร ที่อยู่ปลอมหรือเปล่า อยู่ย่านไหน เชื่อถือได้หรือไม่ นอกจากนี้สรรพคุณที่เขาอวดอ้างมา ถ้ามันเว่อร์วัง มหัศจรรย์มาก ก็ต้องใช้วิจารณญาณเยอะหน่อย เทียบความน่าจะเป็น ความอยากสวยกับความเป็นไปได้ว่า มันเป็นไปได้จริงเหรอ” จีน-จีราภัสร์ ฝากบอกมายังผู้บริโภคทั้งหลาย

เพราะคงไม่มีตราประทับใดบนโลกนี้ช่วยเราได้เท่า “สติ” ที่ต้องคิดให้ถี่ถ้วนก่อนจะหลงเชื่อแล้วต้องมานั่งเสียใจภายหลัง