“เป็นนักข่าววันนี้ใจต้องแข็ง” ในสมรภูมิข่าวที่เปลี่ยนไป เมื่อยอดไลค์มาแรงกว่าคุณภาพ

“เป็นนักข่าววันนี้ใจต้องแข็ง” ในสมรภูมิข่าวที่เปลี่ยนไป เมื่อยอดไลค์มาแรงกว่าคุณภาพ

คุยกันวันนักข่าว เทคโนโลยีและสื่อโซเชียลทำให้ใครๆ ก็เป็นนักข่าวได้ แถมข่าวชาวบ้านก็ฮิตจนเป็นกระแส เพราะแคร์ยอดไลค์ “นักข่าวมืออาชีพ” จึงต้องเล่นไปกับเขาด้วย แต่เดี๋ยวก่อน! หน้าที่ของนักข่าวคืออะไร แล้วนักข่าวจะอยู่ไม่ได้หรือ? ถ้ายืนหยัดกับอุดมการณ์คนข่าว

นักข่าววันนี้คือใคร?

ในวันที่กล้องบันทึกภาพข่าวตัวเป็นแสนเป็นล้านต้องทำงานแข่งกับกล้องสมาร์ตโฟน วันที่นักข่าวมืออาชีพต้องทำข่าวท่ามกลางข้อมูลที่ไหลบ่าในโลกโซเชียล จนต้องไหลตัวเองไปตามกระแส จึงมักได้ยินประโยคที่ว่า “สื่อสมัยนี้นี่มัน...”  “นักข่าวสมัยนี้ทำงานกันง่ายเนอะ” นิยามและบทบาทหน้าที่ของนักข่าวในวันนี้ได้เปลี่ยนไปแล้วจริงหรือ แล้วจะแค่เล่นง่ายอย่างที่เขาว่าหรือเปล่า?

ลองไปฟังความเห็นจากนักวิชาการและบรรณาธิการข่าวกัน

นักวิชาการด้านสื่อสารมวลชน ดร.มานะ ตรีรยาภิวัฒน์ คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ชี้ว่า

“แต่ก่อนมีเส้นแบ่งชัดระหว่าง ‘นักข่าวมืออาชีพ’ ที่มีองค์ความรู้ด้านการทำข่าวและทำข่าวเป็นอาชีพ กับ ‘นักข่าวพลเมือง’ คือประชาชนทั่วไปนำเสนอข่าวที่ตนพบเจอผ่านสื่อ แต่ตอนนี้เส้นแบ่งเริ่มเบลอ เพราะนักข่าวมืออาชีพเอาข่าวในสังคมออนไลน์มานำเสนอ ถ้าใช้ทักษะนักข่าวมาทำให้ลุ่มลึกขึ้นก็ดี แต่หลายคนก็ไม่ใช้ทักษะ เอามาใช้ตรงๆ ซึ่งเป็นการลดทอนความเป็นมืออาชีพตนลง ยิ่งทำให้ข่าวโซเชียลโดดเด่นมากขึ้น จนความเป็นมืออาชีพถูกตั้งคำถามจากสังคม ทั้งทักษะความสามารถและกรอบจริยธรรม ฉะนั้น จะเห็นว่านักข่าวที่ไม่เป็นมืออาชีพมีเยอะ แม้จะทำเป็นอาชีพก็ตาม”

ด้านจตุรงค์ สุขเอียด บรรณาธิการข่าว รายการข่าว 3 มิติ ช่อง 3 นักข่าวมือรางวัลที่ลงลึกกับข่าวเชิงสืบสวนเห็นว่า

“คนทั่วไปแยกนักข่าวมืออาชีพและมือสมัครเล่นไม่ออก เพราะทำข่าวเหมือนกันหมด ก็ต้องเป็นมืออาชีพที่มองกันเองว่าใครคือมืออาชีพในวงการ อย่างผมผมก็มองออกว่าโพสต์นี้ ข้อมูลนี้มาจากมืออาชีพหรือสมัครเล่น เราสามารถจำแนกได้”

ความต่างของนักข่าวมือสมัครเล่นที่เขาเห็นก็คือ หากมีปัญหาอะไรเกิดขึ้น มือสมัครเล่นก็แค่ปิดเพจหนีไป ไม่รับผิดชอบ “ในขณะที่มืออาชีพมีตัวตน ทีมงานของทุกสำนักข่าวที่มีตัวองค์กร สถาบันรองรับ นำเสนอภายใต้สิทธิ กฎหมายทุกอย่างของวิชาชีพสื่อ”

3

แต่สิ่งที่ทำให้เส้นแบ่งเลือนรางจนแยกยากคือการที่มีข้อมูลในเพจของคนทั่วไปมาอยู่ในหน้าสื่อหลัก

“เพราะข่าวที่คนทั่วไปนำเสนอมีความจริงปนเท็จอยู่ มีความลวงไม่ลวง พอเกิดความไม่ชัดเจน นักข่าวซึ่งเสมือนผู้หาคำตอบว่าอะไรคือความจริงความเท็จ ก็ไปหยิบโพสต์ในโซเชียลมาขยายความ ทำให้ข้อมูลที่จริงปนเท็จ กลายเป็นข้อมูลที่จริงขึ้นมา แต่บางทีนักข่าวก็ไปเอาข้อมูลมาทำต่อโดยไม่ระมัดระวังก็มี พอทำไปนานเข้า ต้องไม่ลืมว่านักข่าวอาชีพมีจำนวนน้อยกว่าประชาชนที่มีมือถือกันเกือบทุกคนแล้ว พอเอาเวลาไปสนใจเรื่องนี้มาก เราก็ลืมสนใจเรื่องคอร์รัปชั่น เรื่องที่มีผลกระทบต่อประชาชนและสังคมโดยรวมจริงๆ”

สื่อออนไลน์เกิดขึ้นเยอะ พร้อมกับวิวาทะว่าอะไรคือสำนักข่าว นี่คือประเด็นสำคัญ เพราะขณะที่ทุกคนพยายามนิยามตัวเองเป็นสำนักข่าว แต่ก็ทำข่าวในนิยามใหม่ มันก็เกิดปรากฏการณ์ ใครๆ ก็เป็นนักข่าวได้

สำหรับ นภพัฒน์จักษ์ อัตตนนท์ บรรณาธิการทีมข่าวเวิร์คพอยท์ออนไลน์ ซึ่งมีพื้นฐานคนข่าวบอกว่า นักข่าวในวันนี้คือ “คนที่ทำสื่อเป็นข้อเท็จจริง ตอบสนองความต้องการของคน เรื่องที่คนอยากดู หรืออยากรู้ ตอบคำถามที่เขามีอยู่ในใจ ประเด็นคือ เรื่องที่คนอยากรู้ตอนนี้เป็นเรื่องที่สำคัญที่สุดในสังคมที่ควรทำหรือเปล่า ก็อีกเรื่องหนึ่ง”

เขาเห็นว่านิยามที่เปลี่ยนไปตามบริบทของนักข่าวยุคนี้ มีข้อดีข้อเสียต่างกัน

“ข้อเสียตอนนี้อาจเป็นการเฮโลกันไปทำข่าวอะไรก็ตามที่เป็นกระแส แต่ยุคก่อนคนข่าวก็มีข้อเสียตรงที่มีความเป็น กระบอกเสียงทางเดียว มีความอหังการในความเป็นสื่อสูง คิดว่าบอกอะไรพูดอะไรคนก็ต้องฟังกันหมด ซึ่งมันก็เป็นอย่างนั้นจริงๆ เพราะทีวีมีน้อยช่อง หนังสือพิมพ์ก็ไม่กี่เล่ม แต่ตอนนี้ทุกคนมีทางเลือก ก็เลือกเสพได้ เมื่อสภาพความเป็นจริงมันเกิดขึ้น สำหรับตัวนักข่าวก็ต้องพร้อมรับความเปลี่ยนแปลงที่สุด บางคนอาจจะทำข่าวที่ดี แต่คนไม่ดู ก็ต้องพัฒนาฝีมือไปเรื่อยๆ จนกว่าจะตอบโจทย์ทั้ง 2 ทางได้”

สนามออนไลน์และฐานันดรที่ 4

นอกจากนักข่าวที่หยิบประเด็นจากโลกออนไลน์มาขยายความแล้ว ตอนนี้ “สื่อออนไลน์” ก็เปิดตัวขึ้นมามากมาย ส่วนมากมีพื้นฐานจากคนสายนิตยสาร เป็นนักเล่าเรื่องตัวยง แม้จะไม่ใช่นักข่าวเต็มตัว เนื้อหาที่สื่อออนไลน์ (ที่มีคุณภาพ) เหล่านี้ผลิตขึ้นมา จึงมีนิยามใหม่ ที่ทางใหม่ซึ่งอยู่ระหว่างความเป็นข่าว สกู๊ปรายงาน บทความ และปนความเห็นส่วนตัว

4

“ในช่วงที่ผ่านมา สื่อออนไลน์เกิดขึ้นเยอะ พร้อมกับวิวาทะว่าอะไรคือสำนักข่าว นี่คือประเด็นสำคัญ เพราะขณะที่ทุกคนพยายามนิยามตัวเองเป็นสำนักข่าว แต่ก็ทำข่าวในนิยามใหม่ มันก็เกิดปรากฏการณ์ ใครๆ ก็เป็นนักข่าวได้ คนทั่วไป บล็อกเกอร์ และแอดมินเพจ” ณัฐกร เวียงอินทร์ Digital Content Editor ของ GM Live ตั้งข้อสังเกต

เพราะโลกออนไลน์คือพื้นที่ในการนำเสนอข่าวที่ทุกสำนักไม่ว่าจะเป็นองค์กรสื่อเดิม หรือสื่อออนไลน์ ต้องลงมาต่อสู้เพื่อแย่งชิงความสนใจในสนามเดียวกัน ‘นักข่าว’ จึงกำลังถูกช่วงชิงนิยามว่า “ต้องเป็นนักข่าวที่มาจากสำนักข่าว หรือแอดมินเพจก็ได้”

เมื่อก่อนข่าวจะเน้นประเด็นสำคัญกับชีวิตคน เช่น คอร์รัปชั่น ทุกสำนักข่าวต้องตามเจาะลึก แต่เดี๋ยวนี้ไม่ใช่ มีแต่แชร์ โพสต์ คลิป ข่าวเกินครึ่งมาจากกล้องมือถือ หมายความว่าข่าวครึ่งหนึ่งมาจากโพสต์ของชาวบ้าน ไม่ได้มาจากการทำข่าวของนักข่าว

ณัฐกรเสริมว่า “จริงๆ ตอนนี้โลกอยู่ในคอนเซปต์ โลกเสรี ไม่มีอะไรเป็นศูนย์กลางอีกแล้ว อย่างแนวคิดของบล็อกเชน หรือ คริปโตเคอเรนซี่ ก็ถูกเซ็ตขึ้นมาได้ ข่าวเองก็ไม่ต่างกัน ทุกคนสามารถเซ็ตประเด็นขึ้นได้ อย่างกรณีป้าทุบรถ ที่สามารถนำมาสู่การตั้งคำถามเชิงโครงสร้าง เมื่อก่อนมียายไฮ ซึ่งต่อสู้เป็น 10 ปี แต่มาถึงป้าทุบรถนี่ ทุบแล้วเซ็ตประเด็นได้เลย ทุกคนก็เข้ามาทำข่าวกันหมด”

แม้ว่าตอนนี้เรามีสื่อที่หลากหลาย ทั้งติดตามอ่านจากเพจดัง เพจเฉพาะทางความสนใจ เว็บสื่อออนไลน์ที่มีแนวทางเฉพาะในการนำเสนอ ฯลฯ และต่อให้เขายังสงสัยว่า สื่อสารมวลชนยังเป็นฐานันดรที่ 4 อยู่ไหม เพราะในงานแถลงข่าวต่างๆ ตอนนี้เมื่อก่อนมีแต่สื่อจากสำนักข่าว แต่ตอนนี้สื่อออนไลน์คือกระบอกเสียงสำคัญ อัตราส่วนระหว่างสื่อออนไลน์กับสื่อดั้งเดิมที่อยู่ในสนามข่าวมีพอๆ กัน บางครั้งสายออนไลน์ก็มากกว่าเสียอีก แต่ณัฐกรก็ยังยืนยันว่า ‘สำนักข่าว’ นั้นสำคัญ เพราะสื่ออันหลากหลายยังทำข่าวไปกับกระแสสังคมและลูกค้า (โฆษณา)

“แต่เมื่อเราพูดถึงคำว่า ‘สำนักข่าว’ มันจะมีชุดจรรยาบรรณ หรือชุดของสถาบัน ความสำคัญของการเป็นแหล่งข่าว ซึ่งมันก็ยังมีอยู่ เวลาที่เกิดประเด็นใหญ่ๆ สถานที่แจ้งแรกๆ ก็ยังคงเป็นสำนักข่าว สมมติ เกิดแผ่นดินไหวขึ้นสักที่ในไทย สิ่งที่คนจะหาที่แรกไม่ใช่ชาวบ้านแต่เป็นสำนักข่าวหลัก”

“อย่างในหนังเรื่อง War Room จะเห็นชัดว่า เรามองข่าวเป็นสินค้า หรือมองข่าวเป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์กับคน กรณีมีข่าวว่าวุฒิสมาชิกสักคนตาย ทุกคนต่างเล่นข่าว แต่สื่อพระเอกยังไม่ทำอะไร พร้อมกับประโยคทำนองว่า ‘เขาเป็นคน ไม่ใช่ข่าว ต้องรอ’ สุดท้ายวุฒิสมาชิกคนนั้นรอดชีวิต นี่คือ ความน่าเชื่อถือของสถาบันสื่อที่สื่อสารไปแล้วคนจะฟัง แต่มันก็แลกมาด้วยอะไรหลายอย่าง ตกลงเราจะเอาอะไร ความเร็ว ความแมส หรือความน่าเชื่อถือ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ต้องถ่วงดุลให้ดี”

เป็นนักข่าวใจต้องแข็ง

การนำเสนอข่าวแต่ก่อนจะเป็นแนวดิ่ง คือเป็นเชิงลึก และเป็นการสื่อสารทางเดียว แต่ตอนนี้ภูมิทัศน์ของนั้นอยู่ในแนวระนาบ ใครๆ ก็ทำข่าวได้ โต้ตอบกันได้ และข่าวก็กลายเป็นเรื่องทั่วๆ ไป กว้าง ไม่ลงลึก แต่เข้าถึงทุกคน ซึ่งนี่เป็นทั้งข้อดีและข้อเสีย แต่ในฐานะนักข่าวแล้ว การทำข่าวเชิงลึกที่ส่งผลต่อสังคมและประชาชนยังเป็นสิ่งที่ต้องยึดมั่น

1_1

จตุรงค์เล่าว่า “เมื่อก่อนข่าวจะพุ่งไปที่ประเด็นสำคัญกับชีวิตคน เช่น คอร์รัปชั่น ทุกสำนักข่าวต้องตามติด เจาะลึก แต่เดี๋ยวนี้ไม่ใช่ มีแต่แชร์ โพสต์ คลิป ตอนนี้ข่าวเกินครึ่งมาจากกล้องมือถือ หมายความว่าข่าวครึ่งหนึ่งมาจากโพสต์ของชาวบ้าน ไม่ได้มาจากการทำข่าวของนักข่าว ความใส่ใจในการทำคอนเทนต์หายไป บางทีต้องยอมรับว่าองค์กรข่าวเขากลัวว่าจะตกกระแสโซเชียล ใจไม่แข็งครับ ผลจะเกิดต่อการขายโฆษณาไม่ได้ เพราะไม่มีตัวเลขไปอ้างกับคนซื้อโฆษณา”

ถ้าผู้เสพเรียกร้องคุณภาพ สื่อคุณภาพก็จะมีตัวตน ถ้าเรียกร้องแต่ข่าวขยะ ก็จะได้แต่ข่าวขยะ

สำนักข่าวอยู่ได้ด้วยเงิน การทำข่าวต้องใช้เงิน ทุกสำนักข่าวมีนายทุนของบริษัท มีเครือข่ายนักการเมืองที่สามารถคุกคามนักข่าวได้ หากทำข่าวกระทบไปถึง

“แต่เราก็ต้องทำ ถ้าเราทำเพื่อประชาชน ทำในสิ่งที่ประชาชนได้ประโยชน์ เราก็ขอให้ประชาชนเป็นเกราะให้เรา และองค์กรเราด้วย ถ้ามีปัญหา โซเชียลมีเดียก็คือตัวแทนของสังคมและประชาชน เราก็ต้องใช้โซเชียลมีเดียปกป้องเราว่าเราถูกคุกคามจากการทำข่าวนี้ ให้โซเชียลมีเดียมาเป็นเพื่อนเรา อย่าให้โซเชียลมีเดียมาเป็นผู้นำข่าวสารเรา เราต้องเป็นผู้นำให้เขา ทำให้เขาแชร์ข่าวที่เราไปทำให้ได้”

มาพร้อมกันได้ไหม? ความน่าเชื่อถือกับรายได้

ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการทำหน้าที่นักข่าวก็คือเศรษฐกิจ ตอนนี้ยอดวิว ยอดแชร์ คือตัวเลขอ้างอิงสำหรับการขายโฆษณา แต่ก็ไม่ได้เป็นคำตอบสำหรับทุกธุรกิจ โดยเฉพาะสื่อสารมวลชน ที่ความน่าเชื่อถือคือสิ่งสำคัญ จตุรงค์บอกว่า “ความน่าเชื่อถือไม่ได้วัดที่ตัวเลข แต่อยู่ที่ประสบการณ์”

เขาเคยไปพูดที่สมาคมนักข่าวฯ ว่า “ผมไม่เชื่อว่ายอดวิวทั้งหลายจะดีไปกว่าความน่าเชื่อถือของตัวนักข่าวหรอก อย่าหลงกระแส อยากได้เรตติ้งชั่วครู่ชั่วยาม เพราะมันมาเร็วไปเร็ว แต่ความน่าเชื่อถือสร้างกันเป็น 10 ปี 20 ปี คนจึงไว้ใจว่ากี่ปีผ่านไปคนคนนี้ก็ยังยืนยันที่จะทำสิ่งนี้ ผมว่ามั่นคงกว่า ก็กลับไปที่คนขายโฆษณา เขาสามารถขายความน่าเชื่อถือ และนักข่าวที่มีคุณภาพได้”

และนักข่าวก็สามารถสร้างความน่าเชื่อถือผ่านโซเชียลเน็ตเวิร์กด้วยเช่นกัน “นักข่าวทุกคนตอนนี้ก็มีเพจเฟซบุ๊คกันหมด ทุกคนมียอดฟอลโลว์สู้เน็ตไอดอลไม่ได้หรอก แต่เมื่อมีเหตุการณ์ที่เขาต้องการคำตอบ เขาจะตามนักข่าว ไม่ใช่เน็ตไอดอล ความน่าเชื่อถือของข่าวสำคัญกว่าเรตติ้ง กระแสโซเชียลมีเดียก็จะทำให้มูลค่าความน่าเชื่อถือของนักข่าวแพงขึ้นในอนาคตด้วย”

ด้านดร.มานะเห็นว่าหากธุรกิจสื่อเน้นแต่รายได้จากข่าวปั่นกระแส แทนที่จะทำข่าวเชิงสืบสวน ต่อไปจะกลายเป็นเงื่อนตายผูกคอตัวเองในอนาคต เพราะถึงตอนนี้ก็มีงานวิจัยในต่างประเทศหลายแห่งระบุชัดแล้วว่า

“คุณภาพข่าวที่ดีสร้างรายได้ได้ ขายได้ สร้างความน่าเชื่อถือให้องค์กรสื่อ แต่การเต้นตามสื่อแมส ตามโซเชียล จะบั่นทอนองค์กรเอง”

นักข่าวในอนาคต

ยิ่งเส้นแบ่งพร่าเลือน ยิ่งข่าวโซเชียลหวือหวามาเร็วไปเร็วมากเท่าใด นักข่าวมืออาชีพจะยิ่งมีความสำคัญมากขึ้นเท่านั้น เพราะเมื่อเกิดวิกฤติขึ้นมา คนจะหันไปหาสื่อมืออาชีพเพื่อหาคำตอบกับเรื่องนั้นๆ

“ในอนาคตสังคมยิ่งต้องการนักข่าวที่มีความมุ่งมั่นในการเกาะติดเรื่องที่ผลกระทบทางสังคมจริงๆ เช่น เรื่องการเมือง การคอรัปชั่น ความเคลื่อนไหวที่มีผลกับสิทธิประโยชน์ของประชาชนจะเป็นอย่างไร บทบาทของนักข่าวอาชีพก็ต้องทำงานที่เป็นเรื่องของสาธารณชนเป็นหลัก” จตุรงค์ยืนยัน

5

แต่ทั้งนี้ผู้เสพข่าวเองก็มีส่วนสำคัญเช่นกัน โดยควรสนับสนุนสื่อที่มีคุณภาพ “ถ้าผู้เสพเรียกร้องคุณภาพ สื่อคุณภาพก็จะมีตัวตน ถ้าเรียกร้องแต่ข่าวขยะ ก็จะได้แต่ข่าวขยะ ผู้เสพไม่ควรแค่เป็นนักรบคีย์บอร์ดที่เอาแต่ด่าว่าสื่อ แต่ไม่ช่วยสนับสนุนเสพข่าวดี” ดร.มานะ แนะ

คนข่าวประสบการณ์สูงทิ้งท้ายว่า นักข่าวต้องยืนหยัดทำข่าวที่มีคุณภาพและมีประโยชน์ต่อสังคม แม้ตอนนี้จะอยู่ท่ามกลางข่าวดราม่าล้นทะลัก แต่เขาก็เชื่อว่าต่อไปสถานการณ์นี้ก็จะ ‘สะเด็ดน้ำ’ คนทำข่าวตัวจริงจะถูกคัดกรองขึ้นมา สำนักข่าวจะมีมูลค่าสูงด้วยความน่าเชื่อถือ

“ขออย่าได้หวั่นไหว”