บอกเล่าชีวิตผู้ลี้ภัยผ่านลายปักงานฝีมือ

บอกเล่าชีวิตผู้ลี้ภัยผ่านลายปักงานฝีมือ

ไม่ว่าวันนี้เราจะคิดถึงความรักในแบบไหน ยังมีกลุ่มคนที่ยังต้องการความรัก และความช่วยเหลือในฐานะเพื่อนมนุษย์อยู่ พวกเขาถูกเรียกว่า "ผู้ลี้ภัย"

ไม่ว่าลวดลายจะถูกประดิษฐ์ขึ้นในระบบอุตสาหกรรม หรือเป็นมรดกผ่านมือจากรุ่นสู่รุ่น ทุกอย่างล้วนมี “ภาษา” ในการบอกเล่าตามแบบฉบับของตัวเอง รวมทั้งเรื่องราวของความรู้สึกนึกคิดที่ “เร้น” เอาไว้หลังงานฝีมือเหล่านั้นอย่างมิดชิด

S__66453547

ความฝันในวัย 70 ของ “ปา” คือการได้อยู่ด้วยกันพร้อมหน้าพร้อมตากับลูกหลาน

มันเป็นทั้งหลักการ และวิถีวัฒนธรรมที่ “ชาวม้ง” ในเวียดนาม ยึดถือปฏิบัติสืบต่อกันมา

ไม่ต่างจาก “ลายปักผ้า” อันเป็นเอกลัษณ์

ถึงจะหูตาฝ้าฟางไปตามอายุ แต่การขยับของมือตามกลไกที่ถูกปลูกฝังมาชั่วชีวิตก็ทำให้ลายผ้าปักออกมาดูโดดเด่นขึ้นมา

เธอว่ามันเป็นทั้ง “ศรัทธา” และ “ความหวัง”

ศรัทธา...ในทักษะที่พระผู้เป็นเจ้ามอบให้
ความหวัง...ที่ครอบครัวจะได้กลับไปเป็นครอบครัวอีกครั้ง

ด้วยขนบความเชื่อที่แตกต่าง ทำให้เธอและลูกหลานต้องระหกระเหินออกจากบ้านในช่วงบั้นปลายชีวิต

อ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ ยิ่งกลายเป็นปัญหาเมื่อต้องมาอยู่ต่างบ้านต่างเมือง

สิ่งที่หญิงชราคนนึงจะทำได้ก็คือ การบอกเล่าเรื่องราวในชีวิตของบรรพบุรุษผ่านศิลปะการใช้มืออย่างเรียบง่ายที่สุด

เพื่อหวังว่าวันหนึ่งศรัทธาต่อความปราถนาอันแรงกล้านั้นจะเป็นจริงขึ้นมา

S__66453551

คนทั่วไปรู้ดีว่า “เมเฮนดี” หรือ “เฮนน่า” ศิลปะการเพ้นท์ร่างกายที่สืบทอดกันมาแต่โบราณ

ทุกครั้งที่เธอบรรจงแต้มแต่ละจุดแต่ละสีให้กลายเป็นลวดลายเกี่ยวกระหวัดไปมานั้น มักจะแฝงไปด้วยความตั้งใจเสมอ

หากสังเกตก็จะรู้ว่า “ความสมมาตร” ในลายเพ้นท์แบบนี้นั้นเป็นความสามารถเฉพาะตัวของ “คิตตี้” เท่านั้น

อีกด้านของความนิ่งที่บรรจงถ่ายทอดลงไปนั้น มีข้อความบางอย่างในจิตใจของเธอต้องการจะสื่อสารถึงผู้คนที่ได้เห็นด้วย

มันเรียกว่า “ความเท่าเทียม”

ตั้งแต่จำความได้ เธอ และครอบครัวไม่เคยได้สัมผัสมันอย่างแท้จริง

เพียงเพราะความเชื่อที่แตกต่าง แม้การงานจะมั่นคงเพียงใด แม้จะทำตัวเป็นศาสนิกชนที่เคร่งครัดแค่ไหน

“นอกรีต” ในสายตาคนรอบข้างก็คือ “นอกรีต”

จากการกลั่นแกล้งด้วยคำพูด เริ่มลุกลามไปยังวัตรปฏิบัติ กระทั่งถึงขั้นประทุษร้ายครอบครัว

เธอและพี่น้องอีก 3 คนต้องออกจาโรงเรียนมาอย่างไม่มีทางเลือก

ล่วงเลยมาหลายปีแล้วที่เธอต้องมาใช้ชีวิตในเมืองแปลกหน้าอย่างหลบๆ ซ่อนๆ อย่างนี้

ลวดลายที่ฝึกปรือจนชำนาญจึงกลายเป็นเครื่องมือหารายได้เล็กๆ น้อยๆ กับสมุดบันทึกเล่มกระทัดรัด

ที่จะใช้แปะข้อความนี้ผ่านลวดลายเหล่านี้ไปให้ได้มากที่สุด

“เท่าเทียม”

S__66453553

เป้าหมายในชีวิตล้วนเป็นแรงผลักดันให้เราดิ้นรนไปสู่จุดหมายนั้นให้ได้ไม่ว่าจะยากแค่ไหน

เจ้าของกิจการ นักเดินทาง หรีอ มหาเศรษฐี

สำหรับ “วา” เธอมีความฝันอย่างเดียว คือ “ออกไปข้างนอก”

มันดูเป็นเรื่องง่ายๆ ที่ยากเย็นเหลือเกินสำหรับเด็กสาวที่มีรั้วลวดหนามอาณาเขตไม่เกิน 3 กิโลเมตร เป็นโลกทั้งใบ ตลอด 17 ปีที่เติบโตมา

แต่การอดทนก็มีความหมายเท่าๆ กับการฝึกปรือ อย่าง หญิงสาวชาวกระเหรี่ยงทุกคนต้องทอผ้าเป็น ไม่ว่า “เสื้อเม็ดเดือย” หรือ “ผ้าถุง”

การสอดด้ายขวางเข้าไประหว่างด้ายยืน แยกสลับกันสม่ำเสมอ ก็จะได้ผ้าเนื้อเรียบ และเป็นสีเดียวกันตลอดผืน

หรือจะสอดสีเข้าไประหว่างด้าย ก็ขึ้นอยู่กับความชำนาญ และการเอาไจใส่ของแต่ละคน

วาอยากเรียนต่อ แต่ด้วยรั้วลวดหนาม ทำให้เธอไม่มีโอกาสได้พบเจอวิชาความรู้ใหม่ๆ

วาอยากออกไปพบเจอโลก แต่ก็รั้วลวดหนามอีกนั่นแหละที่กีดขวางทางไว้

ว่ากันว่า ผ้าทอจะเป็นสื่อกลางระหว่างคนทำกับคนใช้ได้ เธอก็อยากจะให้คำๆ นั้นเดินทางไปสะกิดให้คนที่มองเห็นเสื้อตัวนี้ มีความหมายมากกว่าลวดลาย และสีสันที่เห็น

ใต้เส้นด้ายที่เบียดตัวกันแน่นมีคำว่า “อิสรภาพ” ซ่อนอยู่อย่างเงียบเชียบ

S__66453555

เมื่อไม่มีสามีที่เป็นเสาหลักของบ้านก็ต้องเป็นหน้าที่ของ เบนซิง ที่ต้องดูแลลูกๆ ทั้ง 6 คนของตัวเอง

ระเบิดลูกนั้น นอกจากจะคร่าคนที่เธอรักที่สุดไปอย่างไม่มีวันกลับแล้ว ยังกระแทกตัวแม่ม่ายลูกติดคนหนึ่งให้ตกอยู่ในวังวนของชะตากรรมที่ไม่มีทางเลือกด้วย

เมื่อไม่มีทางเลือก หญิงวัย 40 ก็ไม่เลือกงานที่จะทำ

รับจ้าง ปลูกผัก หรืออะไรก็ตามแต่ที่จะพอมีรลยได้เอามาจุนเจือลูกๆ เธอไม่ (มีสิทธิ) ปฏิเสธ

แน่นอนว่าการเป็นทั้งแม่และพ่อ (และผู้ปกครอง) ของเด็กๆ วัยกำลังกินกำลังนอนจำนวนครึ่งโหลนั้นไม่ง่าย

ท้อบ้าง แต่ก็ไม่มีสิทธิปริปาก...

ที่จะทำได้ก็คือ ใส่ความเหนื่อยหน่าย และอ่อนล้าลงไปในทุกอณูของความรู้สึกที่กำลังถักทอเป็นกระเป๋าย่ามใบสวย

เปล่า, ไม่ใช่กระเป๋าที่จะเต็มไปด้วยความรู้สึกไม่ดี แต่มันเป็นแรงผลักดันที่จะต้องทำให้ 7 ชีวิตนี้เดินไปข้างหน้าด้วยความมั่นคงให้ได้

แต่ละดิ้น แต่ละปัก ล้วนหมายถึงแรงปราถนาของชีวิต

เธออยากให้ “ความหวัง” ของเธอที่มีอยู่เต็มในกระเป๋าทุกใบที่ตัวเองทำขึ้นมา ส่งสัมผัสไปถึงทุกคน

เหมือนอย่างที่เธอนับวันรอจะได้ไปจากชะตาชีวิตที่ไม่มีทางเลือกแบบนี้

S__66732034

คุณคิดว่า ในชีวิตประจำวันเราใกล้ชิด “ผู้ลี้ภัย” แค่ไหน

ในปี 2016 เป็นต้นมา ทั่วโลกจะมีผู้ลี้ภัยไม่ต่ำกว่า 22.5 ล้านคน

ขณะที่ กรุงเทพมหานคร มี ‘ผู้ลี้ภัยในเขตเมือง’ (Urban Refugee) อยู่ราวค่อนหมื่นคน ที่เดินทางมาจาก ปากีสถาน ซีเรีย หรือโซมาเลีย...

รวมทั้งผู้คนในประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคอาเซียน ไม่ว่าจะเป็น เมียนมา กัมพูชา เวียดนาม และอีกหลายๆ ชาติที่ฝังตัวอยู่อย่างเงียบเชียบ

หลายคนตกอยู่ในสภาวะ “กลับตัวไม่ได้-ไปต่อก็ไม่ถึง”

เมื่อไทยเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศที่ไม่ได้เป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัย และบ้านเราไม่มีกฎหมายการให้สถานะผู้ลี้ภัย

แต่ใช้คำว่า ‘ผู้หนีภัยสงคราม’ แทน

ในทางปฏิบัติ คนกลุ่มนี้จึงอยู่ภายใต้กฎหมายการตรวจคนเข้าเมืองเหมือนชาวต่างชาติอื่นๆ ทำให้พวกเขามีโอกาส ถูกจับ-กักกัน-เนรเทศ ได้ตลอดเวลา

คงไม่มีใครอยากหนีออกจากบ้านตัวเองมาระหกระเหินเร่ร่อนอย่างนี้

ข้าวของจากฝีมือของพวกเขาจึงไม่ใช่แค่การประทั่งชีวิต แต่เป็นลมหายใจถึงอนาคตที่รออยู่อีกด้วย