ห้องสมุดรีไซเคิลในตุรกี เก็บหนังสือจากกองขยะมาเป็นห้องสมุดชุมชน

ห้องสมุดรีไซเคิลในตุรกี เก็บหนังสือจากกองขยะมาเป็นห้องสมุดชุมชน

กลุ่มคนเก็บขยะในกรุงอังการาของตุรกีเปิดห้องสมุดสาธารณะแห่งหนึ่งขึ้นมาในเขตคังคายา หนังสือทุกเล่มครั้งหนึ่งเคยถูกทิ้งเป็นขยะมาแล้ว

พนักงานเก็บขยะเห็นหนังสือถูกทิ้งไว้ตามกองขยะริมถนนรวมกับข้าวของอื่นๆ ที่เจ้าของไม่อยากครอบครองอีกต่อไป ทำให้เกิดแนวความคิดว่าน่าจะนำไปให้คนอื่นได้อ่านต่อ พวกเขาจึงรวบรวมหนังสือที่ถูกทิ้งอยู่นานหลายเดือน เมื่อเรื่องราวถูกเล่าขานแบบปากต่อปาก ชาวบ้านก็เริ่่มบริจาคหนังสือให้โดยตรง


เดิมทีหนังสือในห้องสมุดแห่งนี้เปิดให้ยืมเฉพาะพนักงานและครอบครัวเท่านั้น แต่เมื่อหนังสือเพิ่มจำนวนขึ้นและผู้คนทั้งชุมชนเริ่มสนใจ ห้องสมุดจึงเปิดให้ประชาชนทั่วไปยืมเมื่อเดือนกันยายน 2560


“เราเริ่มหารือกันเรื่องสร้างห้องสมุดจากหนังสือไม่ใช้แล้ว เมื่อทุกคนสนับสนุนโครงการจึงเกิดขึ้น” อัลเปอร์ ทาสเดเลน นายกเทศมนตรีอังคายาเล่า สำนักงานของเขาดูแลการเปิดห้องสมุดรีไซเคิล ซึ่งตั้งอยู่ในโรงงานเก่า ณ สำนักงานใหญ่กองสุขาภิบาล ด้วยผนังอิฐเก่าและโถงทางเดินยาวสถานที่นี้จึงเหมาะจะเป็นห้องสมุดอย่างยิ่ง
“ไม่ผิดหรอกหากจะบอกว่า หลายคนทิ้งหนังสือพวกนี้ไว้ข้างถนน ขณะที่อีกหลายๆ คนกำลังต้องการมัน” ทาสเดเลนเล่า


ปริมาณหนังสือในห้องสมุดเพิ่มพูนขึ้นเรื่อยๆ จนสามารถแบ่งปันหนังสือที่ได้รับการกู้ชีวิต ไปยังโรงเรียน โครงการการศึกษา และแม้แต่เรือนจำได้
“ครูจากโรงเรียนตามหมู่บ้านทั่วตุรกีก็ร้องขอหนังสือมา” ทาสดาเลนกล่าวและว่า ทางการท้องถิ่นจึงต้องจ้างบรรณารักษ์ทำงานเต็มเวลาดูแลห้องสมุดแห่งนี้โดยเฉพาะ

 

ห้องสมุด1_1

 

ถึงวันนี้ห้องสมุดมีหนังสือกว่า 6,000 เล่ม17 ประเภท ตั้งแต่วรรณกรรมไปจนถึงสารคดี นิยายรักโรแมนติก ตำราเศรษฐศาสตร์ นิยายสยองขวัญ หนังสือเด็ก ภายในยังมีการ์ตูนในมุมหนังสือเด็กยอดนิยม และหมวดงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์โดยเฉพาะ ใช่แต่ภาษาอังกฤษ หนังสือภาษาฝรั่งเศสก็มีไว้คอยบริการด้วย ผู้อ่านสามารถยืมหนังสือได้ครั้งละ 2 สัปดาห์ และต่อเวลาได้หากต้องการ


ผลงานดีๆ นานาชนิดของทั้งนักเขียนต่างชาติและตุรกีต่างรวมกันอยู่ที่นี่ ไม่ว่าจะเป็นเจ.เค. โรว์ลิง, ชาร์ลส ดิกเคน, เจ.อาร์.อาร์. โทลคีน, ออร์ฮัน ปามุก และอี.แอล. เจมส์ เจ้าของผลงาน ฟิฟตี้ เชดส์ ออฟเกรย์
ห้องสมุดรีไซเคิลเปิดให้บริการตลอด 24 ชั่วโมงโดยบรรณารักษ์คนขยัน อีเรย์ ยิลมาซ วัย 20 ปี โดยเทศบาลเป็นผู้จ่ายเงินเดือนให้
เขาเล่าว่า จนถึงขณะนี้มีคนยืมหนังสือไปแล้ว 147 เล่ม โดยสมาชิกจำนวนมากซึ่งรวมถึงพนักงานเก็บขยะ 700 คนในเขตคันคายา 
ทางเทศบาลอวดว่า ห้องสมุดแห่งนี้เป็นแห่งเดียวในเขตคันคายาที่เปิดให้บริการต่อสาธารณะ
“การอ่านหนังสือพัฒนาความฉลาดของคน กระตุ้นแนวคิดใหม่ๆ ที่นี่เราจึงนำเสนอความคิดใหม่จากหนังสือสู่ผู้คน” บรรณารักษ์ผู้กระตือรือร้นเล่า ซึ่งไม่แตกต่างจากความรู้สึกของผู้อ่าน


“นี่เป็นสิ่งที่ทำให้ผู้คนยิ่งกว่ามีความสุข ผมยืมหนังสือไปให้แม่อ่านด้วย” มาลิก เออร์แคน สมาชิกเจ้าหน้าที่พิการรายหนึ่งในจำนวนหลายรายยืนยัน เขายืมหนังสือกลับบ้านไปให้ภรรยาและลูกอ่าน และว่าตอนนี้ห้องสมุดกำลังดึงผู้สนใจนอกเมืองเข้ามาเยี่ยมเยือนด้วย
“เมื่อเร็วๆ นี้ผมพาญาติจาก จ.ซีวาส ทางภาคกลางของประเทศมาดูห้องสมุดแห่งนี้ พวกเขาได้ยินข่าวก็เลยอยากมาเห็นด้วยตาของตนเอง เพื่อนหลายคนก็เรียกร้องเข้ามาว่าอยากดูหลังจากเห็นในข่าว พาพวกเรามาดูหน่อยสิห้องสมุดแบบนี้ไม่เหมือนที่อื่นเลย พวกเขาบอกกับผมแบบนี้” เออร์แคนเล่าเสริม เขาทำงานให้เทศบาลมา 2 ปีครึ่งแล้ว

 

ห้องสมุด3_1

 

ห้องสมุดกลายเป็นที่จับตามองของทั้งในตุรกีและนานาชาติ ทำให้หนังสือจำนวนมากหลั่งไหลเข้ามามากมาย ไม่ใช่แค่จากถังขยะอีกต่อไปแล้ว

 

เอมิราลี อูร์เตอคิน ผู้จัดการห้องสมุดเล่าว่าชาวตุรกีจากเมืองอื่นๆ ตอนนี้ถึงกับลงทุนส่งหนังสือมาทางไปรษณีย์เพื่อบริจาคให้ห้องสมุด ขณะเดียวกันพนักงานเก็บขยะก็ยังเดินหน้ารวบรวมหนังสือที่ถูกทิ้งอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน
“ประชาชนมาเยี่ยมเรามากมายเหลือเกิน ไม่มาเปล่ายังบริจาคให้ด้วย พวกเขาพูดว่า นี่เป็นโครงการที่ดีเราอยากสนับสนุน” ผู้จัดการโครงการเล่าพร้อมเสริมว่า ห้องสมุดให้ชีวิตใหม่แก่หนังสือที่ถูกโยนทิ้งไปแล้ว ตอนนี้หนังสือพวกนั้นนำมาให้คนอื่นอ่านกันฟรี ๆ


แม้ขณะนี้ห้องสมุดยังไม่มีแผนขยายพื้นที่ แต่ได้จุดประกายโครงการใหม่ๆ เกี่ยวกับหนังสือถูกทิ้ง

 

ผู้จัดการโครงการเล่าว่า ในปีนี้พวกเขาจะสร้างห้องสมุดเคลื่อนที่ขับไปเยี่ยมโรงเรียนต่างๆ ในกรุงอังการาทุก ๆ 15 วัน เพื่อให้เด็กๆ ได้เข้าถึงหนังสือมากขึ้น โดยจะให้บริการกับโรงเรียนที่ไม่มีห้องสมุด หรือมีหนังสือน้อย
นอกจากนี้ ระหว่างไปเยือนเด็กๆ จะได้เพลิดเพลินกับการแสดงดนตรีของวงทินกรุ๊ป ประกอบด้วยพนักงาน 11 คน ใช้ถังขยะและโลหะทิ้งแล้วมาบรรเลง วงดนตรีวงนี้ก่อตัวขึ้นพร้อมกับการเปิดห้องสมุด


“พวกเรามีความสุข ห้องสมุดทำให้เรามีอัตลักษณ์ไม่เหมือนใคร” ผู้จัดการโครงการกล่าวอย่างภาคภูมิใจ
สำหรับบรรยากาศภายในห้องสมุด บ่อยครั้งที่สถานที่แห่งนี้เนืองแน่นไปด้วยลูกหลานพนักงานเทศบาลและนักเรียนจากโรงเรียนใกล้เคียง ที่นี่ยังมีพื้นที่อ่านหนังสือกว้างใหญ่ และกระดานหมากรุกวางไว้สำหรับผู้มาเยือน ทั้งยังเป็นที่แวะพักเหนื่อยยอดนิยมของนักปั่นจากหุบเขาไม่ไกลนัก มาแวะพักหาหนังสืออ่านพร้อมกับดื่มชาคลายเหนื่อย


“เมื่อก่อน ผมคิดอยากจะมีห้องสมุดไว้ที่บ้าน แต่ตอนนี้พวกเรามีห้องสมุดที่นี่แล้ว” เซอร์ฮัน เบย์เตอมูร์ คนเก็บขยะวัย 32 ปีกล่าวถึงห้องสมุดรีไซเคิลอย่างมีความสุข