“สงครามและน้ำใจ” ของวรรณสิงห์ ประเสริฐกุล

“สงครามและน้ำใจ” ของวรรณสิงห์ ประเสริฐกุล

ถ้าเรื่องผู้ลี้ภัยทำได้มากกว่าแค่รับฟัง เขาคืออีกคนที่อยากชวนให้เราทำอะไรบางอย่าง

 “In peace sons bury their fathers. In war fathers bury their sons” (เฮอรอโดทัส)

“War is young men dying and old men talking” (แฟรงกลิน ดี. โรสเวลต์)

“Only the dead have seen the end of war” (เปลโต)

คำพูดทั้งหมดดูจะสรุปไปในทางเดียวกัน คือ สงครามมีแต่ความสูญเสีย

ในยามสันติคงต้องเป็นลูกชายเท่านั้นที่ควรฝังศพพ่อของเขา ตรงข้ามกับช่วงสงครามที่อาจเป็นฝั่งพ่อเสียเองที่ต้องจัดการร่างของลูกชาย สงครามคือสิ่งที่คนแก่สร้างเพื่อให้คนหนุ่มต้องไปตาย และคงมีแต่การตายเท่านั้นที่เป็นจุดจบของสงครามที่แท้จริง

ไม่ว่ามันจะมีจุดเริ่มต้นและขยายขอบเขตไปถึงเรื่องใดบ้าง แต่เรื่อง “ผู้ลี้ภัย” คือผลพวงหนึ่งของสงครามและความรุนแรงซึ่งเกิดในทุกพื้นที่ สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) จึงริเริ่มโปรเจค“Namjai for Refugees”เพื่อช่วยระดมทุนช่วยเหลือผู้ลี้ภัย โดยเฉพาะกลุ่มผู้ลี้ภัยที่เปราะบางที่สุด อย่าง ผู้หญิง และเด็ก

ในประเทศไทยโปรเจคนี้ถูกริเริ่มเมื่อปีก่อน โดยมีคนดัง อาทิ สหรัถ สังคปรีชา, นิรุตติ์ ศิริจรรยา, ครอบครัววรรธนะสิน ฯลฯ เข้าร่วมด้วย และระหว่างที่โปรเจคดำเนินไป ในปีนี้ วรรณสิงห์ ประเสริฐกุล นักเขียนหนุ่ม นักทำสารคดี และนักเดินทางได้เข้ามาร่วมด้วย ก่อนที่สุดสัปดาห์ที่ผ่านมาหมาดๆ เขาเพิ่งเสร็จจาก Talk Show “สงคราม และน้ำใจ” ซึ่งสะท้อนประสบการณ์จากการได้ไปเยือนผู้ลี้ภัยในค่าย ไม่ว่าจะเป็นค่ายผู้ลี้ภัยในประเทศไทย หรือค่ายผู้ลี้ภัยในต่างประเทศ

ก่อนขึ้นพูดไม่กี่ชั่วโมง วรรณสิงห์ บอกว่า เป็นเรื่องยากมากๆ ที่จะอธิบายถึงสงครามในทุกมิติ หรือตอบคำถามว่าอะไรคือการแก้ปัญหาผู้ลี้ภัยได้ดีที่สุด แต่ประเด็นหนึ่งที่เราสามารถผลักดันร่วมกันได้ในฐานะมนุษย์โลกคือการช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้ลี้ภัย โดยเฉพาะผู้ลี้ภัยที่อยู่ในที่พักพิงชั่วคราวในประเทศไทยตามแถบชายแดนไทย-พม่า ซึ่งในจำนวนนับแสนคนนี้มีทั้งที่เป็นเด็ก สตรี เป็นบุคคลที่มีศักยภาพไม่ต่างจากเราๆท่านๆ ทว่ากลับไม่เคยได้รับโอกาสแม้แต่จะออกนอกพื้นที่พักพิงชั่วคราวด้วยซ้ำ และจากนี้ไปคือบทสนทนาระหว่างเรากับวรรณสิงห์ ถึงเรื่องผู้ลี้ภัย การเดินทาง และมุมมองผ่านการทำงาน

    IMG_4053

IMG_4342

คุณเป็นคนทำสารคดี เป็นนักเขียน แต่ช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมานี้ เราเริ่มเห็นคุณบนเวที ต้องเปลี่ยนแปลงตัวเองบ้างไหม

จริงๆไม่ได้เยอะขนาดนั้น และผมไม่ได้มองตัวเองเป็นนักพูด นี่อาจเป็นงาน Talk เดี่ยวงานแรก ที่จัดกันจริงๆจังๆ ด้วยซ้ำและผมก็ไม่ได้จัดเอง อย่าง TEDx Bangkok หรือตามมหาวิทยาลัยที่เขาเชิญเราไปพูดเพราะเราทำงานหลักของเราคือการทำสารคดี เขียนหนังสือมากกว่า นี่ยังเป็นงานหลัก แต่ถึงอย่างไรผมก็ไม่ได้มองว่าตัวเองเป็นเฉพาะนักทำสารคดีหรือนักเขียนเท่านั้น ผมมองตัวเองเป็นผู้ผลิตคอนเทนท์ ไม่แน่ว่ามันจะไปอยู่ใน นิทรรศการ ภาพยนตร์ หรือนิยายก็ได้ ถามว่าเปลี่ยนแปลงไหม ก็ไม่นะ มันเป็นการพัฒนามากกว่า แล้วบังเอิญสิ่งที่ผมทำ สถานที่ที่ผมเดินทางไปอาจมีคนเคยไปมาแล้วไม่กี่คน ผมจึงได้รับโอกาสมากหน่อย

คุณมาร่วมกับโปรเจคนี้ได้อย่างไร และทำอะไรบ้าง

ผมว่าคนเราถึงจุดหนึ่งในชีวิต หลังจากเลี้ยงดูตัวเอง ทำงานที่ฝันแล้ว เราก็อยากให้การทำงานของเรามีประโยชน์สูงสุดในทางหนึ่ง หรือทำอะไรให้สังคมบ้างเป็นปกติ และผมเองก็รู้สึกว่าประเด็นที่ตัวเองรู้สึกร่วมที่สุดในโลกใบนี้คือความขัดแย้งและสงคราม ทั้งในแง่การพยายามสร้างความเข้าใจที่มาของความขัดแย้ง รวมถึงผู้ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งเหล่านั้น

ในรอบหลายปีที่ผ่านมาสังคมเราอาจผ่านเรื่องความขัดแย้งมาบ้าง แต่ถ้าพูดในเรื่องสงครามนี่ ถ้าไม่นับพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เราอาจไม่รู้จักคำๆนี้เลย ทั้งที่ถ้ามองว่าเราไม่ได้เป็นแค่คนไทย แต่มองในฐานะมนุษย์โลก สงครามไม่เคยไกลจากเราเลย ผมมีโอกาสสัมผัสมันผ่านการเดินทาง ผ่านการทำสารคดีหลายครั้ง ทั้งในสถานที่ที่เหตุการณ์ผ่านมาแล้ว กำลังดำเนินไป หรือกำลังเกิด แล้วรู้สึกเห็นอะไรบางอย่าง เห็นคนที่เดือดร้อน เห็นคนที่ต้องออกจากบ้าน เห็นคนที่สูญเสีย บางเรื่องแม้จะเกิดมานานแล้ว แต่เมื่อได้ไปนั่งฟัง ได้เห็นสีหน้า แววตา มันก็ทำให้เรารู้สึกมากกว่าที่เราติดตามจากข่าว นั่นคือจุดมุ่งหมายที่ผมทำและเผยแพร่ผ่านงานตัวเองมาตลอด

แล้วก็เป็นความบังเอิญส่วนหนึ่งที่เมื่อ UNHCR ให้โอกาส ผมก็ได้เข้ามาทำ มาทำสื่อ มาช่วยเป็นอีกหนึ่งกลไกที่ช่วยให้คนในสังคมเห็นความสำคัญของเรื่องนี้ ถ้าไม่มีองค์กรมาชวน บางทีเราก็ไม่รู้เหมือนกันว่าจะนำเงินบริจาคไปตรงไหน การเข้าไปพื้นที่ผู้ลี้ภัยก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เราเลยถือเป็นโอกาสที่จะเอาข้อมูลให้กับคน และทำในสิ่งที่เราคิดว่าทำได้

อะไรคือสิ่งที่คุณชอบในการทำงานครั้งนี้

อาจไม่ใช่แค่โปรเจคนี้ แต่จากการเดินทาง การศึกษาในประเด็นความขัดแย้งในโดยรวม สิ่งที่ผมชอบอย่างแรกคือทริปที่อันตรายที่สุดได้สอนอะไรให้เราเยอะที่สุด เช่น ที่ประเทศอัฟกานิสถาน ซึ่งที่แห่งนี้ไม่ใช่แค่เรื่องของผู้ลี้ภัยซึ่งหมายถึงผู้ที่ต้องการหลีกหนีจากพื้นที่สงครามเท่านั้น แต่มันหมายถึงมีผู้ที่ใช้ชีวิตในสงครามจริงๆเลย ต้องกินข้าว ดูหนัง ขณะที่อีกด้านก็มีเสียงระเบิด ผมประทับใจที่ได้เห็นความเป็นคน เห็นความเป็นมนุษย์ที่ลึกซึ้ง เช่นเดียวกับที่ซีเรีย อิรัก เราได้เห็นวัฒนธรรม ความสามารถ ความฉลาดเฉลียวของเขา ความคิดและความลึกซึ้งทางอารมณ์ของคน เป็นสิ่งที่เราไม่ค่อยเห็นผ่านสื่อเลย นั่นคือสิ่งที่เราชอบและอยากนำเสนอ

ในประเทศไทยผมได้มีโอกาสลงไปค่ายผู้ลี้ภัยที่ จ.แม่ฮ่องสอน ซึ่งเป็นพรมแดนไทยพม่าและเป็นหนึ่งในค่ายผู้ลี้ภัยทั้งหมด 9 ค่าย 4 จังหวัดตามแนวชายแดนฝั่งตะวันตกซึ่งได้แก่ ราชบุรี กาญจนบุรี แม่ฮ่องสอน และตาก

ค่ายผู้ลี้ภัยบ้านแม่สุรินทร์ที่ผมไป เป็นพื้นที่พักพิงชั่วคราวมากว่า 20 ปีแล้ว มีคนอยู่ที่นั่นประมาณ 2 พันคน เราได้เห็นเงื่อนไขชีวิตที่น่าสนใจและกระตุกเราหลายๆอย่าง เช่น บ้านที่เขาสร้างก็ต้องเป็นบ้านไม้ตลอด เพราะประเทศไทยไม่เคยลงนามเป็นภาคีของอนุสัญญาว่าด้วยด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัย ค.ศ.1951นั่นแปลว่าเราไม่สามารถรับผู้ลี้ภัยแบบถาวรได้ บ้านที่เขาอยู่จึงเป็นได้แค่สิ่งปลูกสรา้งชั่วคราว บางคนเกิดในค่าย ติดอยู่ในบ้านเราเป็นสิบๆปี ไม่เคยออกไปนอกค่ายเลย นอกจากนั้นเราเห็นการทำงานของหน่วยงานซึ่งมักถูกวิจารณ์ เรื่องไหนดีหรือไม่ดีไม่รู้ แต่มันก็บอกว่ายังมีคนทำงานด้านนี้อย่างเอาจริงเอาจังอยู่ ผมอยากเป็นส่วนหนึ่งที่ร่วมชูประเด็นนี้ขึ้นมาแล้วเกิดการลงมือทำจริงๆ จะเล็กๆน้อยๆ อะไรก็ได้ที่ทำได้ มันดีกว่าการถกเถียงแต่ไม่มีการกระทำ ซึ่งมันจะเกิดประโยชน์ค่อนข้างน้อย

คนธรรมดาสามารถช่วยเหลือผู้ลี้ภัยอย่างไรได้บ้าง

แน่เลยครับว่าสิ่งแรกคือเข้าใจและรับฟัง และต่อไปก็แน่นอนว่าคือเงินบริจาค คือเราไม่สามารถแก้สถานการณ์ทางการเมืองจากประเทศที่เขาจากมาได้ แต่สิ่งที่ UN ทำได้คือพัฒนาคุณภาพชีวิต ให้ผู้ลี้ภัยอยู่ได้ดีขึ้นในขณะที่เขาต้องอยู่ในสภาพเหล่านี้ เช่น สอนเรื่องการงานอาชีพ สอนหนังสือให้เด็ก หรือจัดเวิร์คชอปเรื่องคุณแม่เลี้ยงเดี่ยวที่ดูแลเด็กกำพร้าที่เกิดจากสงคราม ดูแลผู้สูงอายุ หรือขั้นตอนต่างๆที่เกี่ยวข้อง เช่น การจดทะเบียนเกิดซึ่งเป็นเอกสารที่รัฐบาลไทยรับรองว่านี่เป็นคนพม่าที่เกิดในแผ่นดินไทย หรือส่งผู้หนีภัยการสู้รบกลับบ้านด้วยความสมัครใจ แบบที่เคยทำกับกลุ่มนำร่อง 71 คนซึ่งสำเร็จมาแล้ว รวมไปถึงส่งไปประเทศที่สาม อย่างสหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย ตามแต่นโยบาย อย่างไรก็ตามสถิติมันก็บอกว่าในจำนวนผู้ลี้ภัยทั่วโลก จะมีเพียง 1% เท่านั้นที่สามารถลี้ภัยเพื่อไปขอาศัยและได้ทำงานในประเทศเหล่านี้ได้ ซึ่งถือว่าน้อยมาก

จากสถิติบอกเราว่าวิกฤตการณ์ผู้ลี้ภัยตอนนี้ ถือว่าเป็นวิกฤตการณ์ที่รุนแรงที่สุดของโลกแล้ว โดยตัวเลขผู้ลี้ภัยกว่า 65.6 ล้านคน ถือว่าสูงที่สุดนับตั้งแต่สิ้นสงครามโลกครั้งที่ 2 ด้วยซ้ำ และผู้ลี้ภัยเหล่านั้นมีไม่น้อยมีพรสวรรค์ ถ้าได้รับความช่วยเหลือ พวกเขาก็จะมีโอกาสเหมือนคนทั่วไปได้เพราะเมื่อเขามีศักยภาพ เขาก็จะช่วยเหลือตนเองและคนอื่นๆได้ไม่ว่าจะอยู่ที่ใดก็ตาม

ในฐานะที่คุณเดินทางมามาก และมักชอบไปในสถานที่แปลกๆ หรือคนส่วนใหญ่มองว่าอันตราย คุณต้องการสื่อสารอะไร

เราไมได้เริ่มจากคนข้างนอก แต่เราเริ่มที่ว่าเราอยากรู้อะไร และที่คิดว่ามันเป็นPassion (ความหลงใหล) ไปจนแก่ คือความพยายามเข้าใจมนุษย์ ผมมองว่ามนุษย์อย่างเราๆ เมื่อเงื่อนไขรอบตัวเปลี่ยน ก็สามารถหยิบอาวุธได้โดยไม่คิดอะไรเลย หรือสามารถเอาผลประโยชน์ตัวเองเหนือความทุกข์ยากของเพื่อนมนุษย์คนอื่นได้ มันเป็นมิติของความเป็นคนธรรมดา เราก็อยากจะเข้าใจว่าเงื่อนไขของความเปลี่ยนแปลงจากคนธรรมดามันอยู่ตรงไหน เราอยากเข้าใจมันก่อน แล้วลองคิดต่อว่ามีวิธีป้องกันเรื่องเหล่านั้นตรงไหนได้บ้าง

เคยมีคนถามว่าผมไปพื้นที่เหล่านี้รู้สึกกลัวบ้างไหม ผมก็ต้องตอบว่ากลัวครับ แต่ยิ่งทำมันก็ยิ่งเติมเต็มเรา คือโอเคแง่หนึ่งมันได้เห็นโลกกว้าง อะดรีนาลีนมันก็หลั่งแบบชีวิตลูกผู้ชาย(ยิ้ม) แต่ในเชิงประโยชน์มันก็ทำให้เรามองเห็นและเปิดโอกาสให้เราทำอะไรได้มากขึ้น คือตั้งแต่ทำรายการ เถื่อน Travel (รายการโทรทัศน์) ผมก็ได้รับเชิญให้ไปพูดเรื่องความขัดแย้งบ่อยมาก กับอีกเรื่องคือการสร้างพลังให้กับตัวเอง ซึ่งเรื่องนี้สำหรับผมมันไม่ยากเพราะคิดว่าตัวเองมีมันอยู่แล้ว

จนถึงตอนนี้การเดินทางของวรรณสิงห์เป็นเรื่องของการงานและสังคม หรือ Passion ส่วนตัวกันแน่

คือส่วนตัวสัก 90% อย่าง เถื่อน Travel ผมทำโดยเริ่มต้นจากการไม่มีสปอนเซอร์ด้วยซ้ำ คือทำเพราะอยากทำ แล้วค่อยตระเวนขาย ตอนแรกยังไม่รู้จะชื่อรายการเลย พอขายได้แล้วหักค่าใช้จ่าย เงินเก็เหลือเข้าตัวเองแบบว่าอย่านับเลยดีกว่า (หัวเราะ) แต่มันแฮปปี้กับชีวิตครับ รู้สึกว่าได้ทำกับสิ่งที่ฝันมานานแล้ว ถ้ามองว่ามันเป็นการหาเลี้ยงชีพไหม ก็คงไม่ เพราะถ้าคิดว่าเลี้ยงชีพเราคงทำอย่างอื่นที่เสี่ยงตายน้อยกว่า สิ่งนี้มันเป็นการเลี้ยงชีวิตมากกว่า

IMG_4155

IMG_4149

คุณเคยบอกว่าความสุขของมนุษย์ควรจะประกอบไปด้วยการจัดความสัมพันธ์และพอใจกับ 3 สิ่งได้แก่ กับตัวเอง กับผู้อื่น และสัมพันธ์กับโลก ยังเชื่อเช่นนี้อยู่ไหม

ผมยังเชื่ออยู่นะ ความสัมพันธ์กับตัวเองก็คือเราซื่อสัตย์กับตัวเอง ความสัมพันธ์กับผู้อื่นคือเราไม่ได้คิดถึงแต่ตัวเองอย่างเดียวแล้ว แต่คือมีผู้อื่นซึ่งต้องเทคแคร์ในชีวิต และสัมพันธ์กับโลกซึ่งกว้างกว่าสองเรื่องแรก

ผมว่าถึงจุดหนึ่งในชีวิตทุกคนคงอยากมีประโยชน์กับสังคมทั้งนั้น อย่างน้อยๆ เขาก็จะไปวัดเพื่อบริจาคเงิน นั่นเพราะว่ามันไม่พออีกแล้วที่จะดูแลแค่ตัวเองหรือคนที่อยู่ในสายตา ผมว่าธรรมชาติมนุษย์พยายามจะเติมเต็มในส่วนนี้ด้วย เพื่อให้ตัวเองมีความหมาย และถ้าถามกลับว่าทำไมผมยังทำรายการแบบนี้อยู่ ก็เพราะว่ามันได้ทำอะไรให้กับโลก และผมเชื่อว่าถ้าทำอะไรและมีโอกาสทำทุกคนก็จะทำในรูปแบบต่างๆกันไป สุดท้ายมันไม่ใช่เรื่องความสุข แต่มันคือความเติมเต็มมากกว่า คือผมไม่ต้องการอะไร วันเกิดมีคนถามว่าอยากได้อะไร เราก็รู้สึกว่าไม่อยากได้อะไร สิ่งที่ทำอยู่คือสิ่งที่อยากทำ แล้วก็ได้ทำแล้ว

ผู้หญิงแบบไหนครับที่คนอย่างคุณมองหา

ถึงวันนี้ผมก็อายุ 33 แล้ว คงไม่คิดอะไรมากกว่าความสบายใจแล้วละ เราอาจจะเคยวาดฝันต่างๆนาๆ แต่ความสบายใจคือสิ่งที่หายากมาก และถ้ามีได้ ก็ควรรักษามันไว้ดีๆ แค่นี้ดีกว่า

มองว่ากลุ่มคนที่ชอบคุณ ติดตามงานคุณคือคนกลุ่มไหน

คงต้องย้อนไปถึงสื่อที่ทำ คือผมทำสารคดีการเดินทางในมุมมนุษย์นิยม แล้วก็พยายามที่จะเข้าใจทุกพฤติกรรมของแต่ละเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นผู้ก่อการร้าย พฤติกรรมของฆาตกร โสเภณี พ่อค้าหนังโป๊ และสื่อที่เราอยากทำคือต้องการเข้าใจในทุกมุมว่าทำไมเขาถึงทำเช่นนั้น โดยที่จะเห็นด้วยหรือไม่ก็ได้ และถึงแม้เราจะไม่เห็นด้วย แต่เราก็ไม่อยากให้ความไม่เห็นด้วยมาหยุดการที่เราจะเข้าใจเรื่องราวเหล่านั้น

บางคนอาจจะมองว่าสื่อควรต้องเลือกข้าง หรือมีจุดยืนบ้างว่าอันนี้ถูก หรืออันนี้ผิด และมันก็มีประโยชน์เหมือนกัน แต่ผมก็มองว่าสื่อที่ชี้นำทางความคิดมันมีอยู่แล้ว ดังนั้นถ้าถามว่ากลุ่มคนที่ดูผมคือใครก็คนที่ชอบแบบนี้โดยที่ไม่ได้ชี้ผิดชี้ถูก คนที่ชอบโต้แย้งหรือต้องการชี้ผิดชี้ถูกก็อาจจะไม่ชอบเรา แม้จะเป็นริเบอรัล หรือคอนเซอร์เวทีฟก็ตาม

ตัวอย่าง เช่น ตอนผมไปเกาหลีเหนือผมก็พยายามเข้าใจระบบ เข้าใจมุมมองของคนที่นั่นว่าเขาคิดอย่างไร ฝั่งที่ริเบอรัล ก็คงไม่ชอบ ว่าทำไมผมถึงไม่ประณามประเทศนี้ หรืออย่างตอนที่ผมเห็นใจคุณไผ่ (ดาวดิน) ก็จะมีอีกฝั่งที่ด่าเรา ทั้งที่ในความเป็นจริง คือเราไม่ได้เห็นด้วยในทุกๆเรื่อง แต่เราเข้าใจความเป็นคนของพวกเขา

ความคิดแบบนี้ บางคนเรียกว่าโลกสวย เวลาคนบอกว่าวรรณสิงห์โลกสวยคุณคิดอย่างไรบ้าง

ก็ไม่คิดอะไรครับ คือถ้าคนที่เห็นสงคราม เห็นด้านมืดเหมือนเรา แล้วยังโลกสวยก็ต้องมีการมองโลกในแง่ดีสูงเท่าที่ควร (หัวเราะ) ซึ่งในแง่หนึ่งเรสก็คิดว่าโลกมันสวยจริงๆ คือการเดินทางไม่ได้เห็นแค่คน เราเห็นธรรมชาติด้วย วิวบางวิวเห็นแล้วแบบว่า “ให้ตายก็ไม่ลืม”  คือธรรมชาติมันสวยอยู่แล้ว ทุกคนรู้ดี แต่อีกมุมหนึ่งโลกสวยก็กลายเป็นวาทกรรมอีกแบบไว้ ตัดสินคนที่มีพื้นฐานในมุมมองที่ไม่พอดีกับกรอบที่คุณมีอยู่แล้ว แล้วก็เอาคำว่าโลกสวยมาครอบ ในเรื่องที่ไม่ตรงกับชุดความคิดของคุณ ดังนั้นการที่ผมมีคำว่าโลกสวยมาครอบในบางครั้ง แปลว่าความเห็น ท่าทีของผม มันไม่ตรงกับคนบางคน ซึ่งมันก็เป็นเรื่องปกติมาก เพราะมันก็ไม่จำเป็นต้องตรงกันอยู่แล้ว แต่ว่าการที่เขาตอบโต้กลับมาด้วยคำว่าโลกสวยอย่างเดียวมาครอบ โดยที่ไม่มีความหมายอะไรเลย มันก็แค่จะบอกว่าความเห็นนี่มันไม่ค่อยสมเหตุสมผลในมุมของเขา

ไม่รู้สึกอะไรเลยถ้าใครจะว่าคุณโลกสวย

เอาเป็นว่า เราทำงานเต็มที่แล้ว ใครจะว่าอย่างไรก็ตามสบาย แต่ทั้งนี้สำหรับเถื่อน Travel ในซีซั่นแรกฟีดแบ็คมันก็เป็นบวกมากกว่าลบ ผมก็ได้ยินด้านลบมาครั้งเดียวคือในตอนเกาหลีเหนือ แต่ก็ไม่เป็นไรครับ เราทำในพื้นที่สาธารณะ มานานเราก็ต้องรับฟัง แต่ให้ต้องมานั่งเครียด คงไม่แล้ว

IMG_4249

  21433176_1523938661021593_1920270931042338604_n

  21557942_1523938794354913_3555770900871525627_n