Pod Art บันทึกปัจจุบันของ ธนชัย อุชชิน

 Pod Art บันทึกปัจจุบันของ ธนชัย อุชชิน

ความคิดถูกร้องเป็นเพลง ความรู้สึกถูกวาดเป็นภาพ

_ERT6882 (Large)

หลังจากที่พาเราย้อนกลับไปอ่านไดอารีเมื่อ 17 ปีก่อนในนิทรรศการ Pod Art ครั้งแรกที่วูฟแพค สเปซ เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา

ก่อนที่ปลายปีจะเป็นเรื่องราวของอนาคต อันเป็นภาคจบของนิทรรศการศิลปะไตรภาคที่มี อังกฤษ อัจฉริยโสภณ ภัณฑารักษ์เป็นผู้กำกับทิศทาง

ดูเหมือนว่า Pod Art จะมาพร้อมกับพื้นที่ทางศิลปะใหม่ๆเสมอ ปลายปีนี้ก็เช่นกัน

_ERT6911 (Large)

กล้าหาญ มั่นใจมากขึ้น

“ผมคิดว่างานชุดนี้ของพี่ป๊อดมีความมั่นใจมากขึ้น เพราะได้ทำงานและแสดงงานอย่างต่อเนื่อง มีความกล้าหาญ มั่นใจ ทำให้งานสนุกขึ้น แน่นขึ้น เต็มที่ขึ้น

ผมคิดว่าเขาเหมือนอยู่ในเส้นทางศิลปินทำงานเต็มตัวนอกจากเป็นนักร้องนะครับ เมื่อก่อนอาจจะอยู่นอกวิถีของการเป็นจิตรกร เมื่อก่อนเหมือนเป็นงานอดิเรก ครั้งนี้เขาจริงจัง” อังกฤษ กล่าวถึงผลงานศิลปะของป๊อด ในนิทรรศการแสดงเดี่ยวครั้งที่ 2 ที่บันทึกความรู้สึกผ่านภาพเขียน ประหนึ่งการจดไดอารีในแต่ละวัน

“ผมว่าเขามีความมั่นใจ มีอิสระภาพ งานเขาไม่มีสเก็ตช์ ไม่ได้คิดล่วงหน้า ผืนผ้าใบว่างเปล่าแล้วมาเผชิญหน้ากับมัน” อังกฤษยกตัวอย่างผลงานจิตรกรรมขนาดใหญ่สูงราว 3 เมตรที่แขวนอยู่บริเวณโถงทางเข้าเยโล เฮ้าส์

 “เขาเผชิญหน้ากับมัน ไม่ได้คิดมาก่อนว่าจะทำอะไร มีสีอยู่ตรงหน้าแล้วละเลงตรงนั้นเลย ผมมองว่าอันนี้เป็นคุณสมบัติที่ดี

 ศิลปินบางคนมีภาพในหัวก่อน แต่พี่ป๊อดเจอผ้าใบว่างเปล่าแล้วเขาก็วาดลงไปเลย เหมือนเป็นการตอบโต้กับผ้าใบว่างเปล่า ซึ่งกำลังถามเขาว่าจะวาดอะไร ซึ่งเขาก็ตอบโต้ด้วยการใส่สีลงไป

ผมว่านี่เป็นจุดเด่นของเขาซึ่งสัมพันธ์กับเรื่องเวลา มันบันทึกวันที่ เป็นหลักฐานที่บันทึกวันเวลาของศิลปิน ทุกคนมีเวลาเป็นของตัวเอง แต่สำหรับเขามีเวลาไปกับการสร้างสรรค์งานศิลปะ”

20170824175629625 (Large)

บทสนทนากับตัวเอง

ภาพเขียนเป็นบทสนทนากับตัวเอง เขียนเพลงเป็นบทสนทนากับผู้อื่น ป๊อด โมเดิร์นด็อกให้คำนิยามผลงานของตัวเอง พร้อมกับเฉลยถึงที่มาของชื่อภาพเขียนทุกภาพล้วนมาจาก วัน เดือน ปี ที่วาด

“สาเหตุที่ชื่อเป็นวัน เดือน ปี เพราะว่าบางวันที่ผมแต่งเพลงไม่ออก ผมรู้สึกเสียดายวันเวลา ไม่มีโปรดักท์ ไม่มีผลงานอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน

ผมจึงอยากให้ทุกวันเป็นวันที่มีคุณค่าสำหรับผม ศิลปะทำให้ผมสามารถออกจากเรื่องราวได้ แต่การแต่งเพลงผมต้องหาเรื่องราวมาใส่ แต่ก็มีบางช่วงเวลาที่เราไม่อยากเอาเรื่อง ศิลปะตอบสนองผมได้”

ป๊อด ย้อนเหตุการณ์เมื่อปี 2543 ที่เขาหันมาทำงานคอลลาจและเริ่มวาดรูปลงในไดอารี ด้วยเหตุที่เขียนเพลงไม่ออก “มีรุ่นน้องคนหนึ่งมาที่บ้านเห็นงานผมแล้วบอกว่า พี่ป๊อดงานพี่เหมือนเด็กอนุบาล "ผมนอย" ผมขาดความมั่นใจแล้วหยุดไปสิบปี จนเมื่อปี 2556 ผมหยิบงานชิ้นนั้นมาดู ...มันสวยนะโว้ย"

ป๊อดเล่าต่อว่า “จนนิทรรศการ Pod Art ครั้งที่ผ่านมา รุ่นน้องคนนั้นมาดู ผมบอกกับเขาว่า นายรู้มั้ยนายทำให้เราหยุดวาดรูปมาสิบปี เพราะนายบอกว่างานเราเหมือนเด็กอนุบาล เขาบอกว่า พี่ป๊อดผมบอกว่างานเหมือนเด็กอนุบาลเลยน่ารักดี แต่ไม่ได้พูดคำว่าน่ารักดีออกมา”

เมื่อความมั่นใจกลับคืนมา เราจึงได้เห็นเส้นและสีที่เข้มแข็ง มั่นใจ รวมทั้งรูปทรงของเฟรมที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นทรงกลม ทรงสี่เหลี่ยมขนาดเล็ก ขนาดใหญ่ ไปจนถึงผลงานที่สูงราว 3 เมตร

“มีทั้งงานคอลลาจที่ผมขยายออกมาจากไดอารีแล้วพิมพ์ออกมาสร้างสรรค์เป็นงานชิ้นใหม่ มีบางชิ้นเป็นแอบสแตรคแบบกึ่งๆที่มองเห็นเป็นรูปทรงให้คาดเดาบ้าง

ผลงานชุดนี้ผมเห็นพัฒนาของตัวเองเมื่อกลับไปย้อนดูงานเก่า ผมเห็นว่ามีคนเมตตาผมมาก ไม่ใช่ว่านิทรรศการครั้งนี้งานผมจะโปรมาก แต่งานชุดแรกมีความหน่อมแน้มไร้เดียงสาอยู่มาก” ป๊อด บอกกับเรา

20170824175633301 (Large)

ศิลปะแบบป๊อด

“ถ้าเราฟังเพลงของป๊อด และดูภาพของป๊อดไปด้วย เราอาจจะบอกได้ว่า ความคิดถูกร้องเป็นเพลง ความรู้สึกถูกวาดเป็นภาพ” อังกฤษ ให้คำจำกัดความ

“มีเพียงความคิดเท่านั้นที่ย้อนกลับไปมาในอดีตและอนาคต ลมหายใจของเราเท่านั้นที่อยู่กับปัจจุบัน จังหวะของสีและรูปทรงที่เคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลง บันทึกปัจจุบันของศิลปิน และเราเรียกสิ่งนี้ว่า Pod Art” ภัณฑารักษ์ สรุปภาพของศิลปะแบบป๊อดได้อย่างชัดเจน

พบกับ Pod Art นิทรรศการไตรภาค ลำดับที่ 2 ของ ธนชัย อุชชิน ได้แล้ววันนี้ – 30 กันยายนที่ เยโล เฮ้าส์ พื้นที่สร้างสรรค์ทางศิลปะแห่งใหม่ที่พลิกฟื้นโกดังเก่าริมคลองแสนแสบให้เต็มไปด้วยบรรยากาศศิลปะ ที่มีทั้งแกลลอรี คาเฟ่ ออฟฟิศและสตูดิโอขนาดเล็ก ตั้งอยู่ในซอยเกษมสันต์ 1 ( FB: @yelohouse ) www.yelohouse.com

20170824180020317 (Large)