ดนตรีเพื่อภาพยนตร์ รู้จักนักแต่งฟิล์มสกอร์ผู้อยู่เบื้องหลัง “อนธการ”

ดนตรีเพื่อภาพยนตร์ รู้จักนักแต่งฟิล์มสกอร์ผู้อยู่เบื้องหลัง “อนธการ”

เวลาชมภาพยนตร์ รื่นรมย์กับภาพและเสียงของนักแสดงตรงหน้า แต่อาจลืมนึกถึงองค์ประกอบหลักอีกหนึ่งอย่าง ที่เสริมอารมณ์ของคนดูไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าลีลาการแสดง "ดนตรีประกอบภาพยนตร์" คือสิ่งนั้น

ช่วงเวลาชมภาพยนตร์ เรารื่นรมย์กับภาพและเสียงของนักแสดงตรงหน้า แสดงดีส่งอารมณ์ให้คนดูเข้าถึง เราก็เพลิดเพลินไปกับมหรสพนี้ได้อย่างเต็มที่ แต่ใครเลยจะนึกถึงองค์ประกอบหลักอีกหนึ่งอย่างของภาพยนตร์ ที่ส่งเสริมอารมณ์ของคนดูไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าลีลาการแสดง "ดนตรีประกอบภาพยนตร์" คือสิ่งนั้นเอง

เราได้พูดคุยกับนักแต่งดนตรีประกอบภาพยนตร์ คนรุ่นใหม่น่าจับตามองกับผลงานดนตรีที่คว้ารางวัลระดับประเทศมาแล้ว ฟิว - ชัพวิชญ์ เต็มนิธิกุล

จุดเริ่มต้นเส้นทางสายดนตรี

เมื่อถามถึงจุดเริ่มต้นเส้นทางสายดนตรีประกอบ ฟิว - ชัพวิชญ์ เต็มนิธิกุล ที่มีความสนใจในงานศิลปะทั้งการวาด ออกแบบ และงานด้านดนตรี ว่าเพราะเหตุใดเขาจึงเลือกหันเหตัวเองมายังเส้นทางสายดนตรีประกอบภาพยนตร์ เขาพูดด้วยน้ำเสียงนิ่งๆ แต่มั่นใจในคำตอบว่า "ที่เกี่ยวกับดนตรีของผม เริ่มเรียนดนตรี ตอนช่วงประมาณ 6-7 ขวบ ตอนนั้นเล่นเปียโนอย่างเดียวนะ คือเล่นเปียโนคลาสสิคมา เรียนมาเรื่อยๆ เรียนจน ม.ปลายเลยครับ แต่ตอนนั้นก็ยังไม่ได้คิดจะเรียนดนตรีจริงจังอะไร จนมาถึงเวลาจะเข้ามหาวิทยาลัย ผมก็เพิ่งมาคิดตอนหลังช่วง ม. ปลาย ว่าสิ่งที่เราถนัดอะไรที่สุดคืออะไรกันนะ แต่จริงๆ ตอนนั้นก็สอบติดแล้วด้วยซ้ำ ก็ติดนิเทศศิลป์ แต่ว่าไม่เอาครับ มาเลือกเรียนดนตรี เพราะว่าพ่อก็สนับสนุนทางนี้ด้วย"

20170628101855851

จากแรงสนับสนุนทำให้ชัพวิชญ์ตัดสินใจเลือกเรียนในคณะที่น้อยคนนักจะรู้จัก วิทยาลัยดนตรี สาขาการประพันธ์เพลง มหาวิทยาลัยรังสิต ซึ่งเป็นวิทยาลัยดนตรีแห่งที่ 4 ของประเทศไทยที่เปิดสอนเฉพาะทางดนตรี หลังจากจบปริญญาตรีชัพวิชญ์ก็ไม่รอช้า เดินทางไปต่อในสาขาประพันธ์ดนตรีประกอบภาพยนตร์ต่อที่สหรัฐอเมริกาทันที

"หลังจากจบที่เมืองไทย ผมไปต่อด้านดนตรีประกอบภาพยนตร์โดยเฉพาะ ที่ Film Scoring จาก The University of California, Los Angeles ครับ"  

เดินเข้าสู่สายประพันธ์ดนตรีประกอบภาพยนตร์

ชัพวิชญ์เล่าบรรยากาศการเรียนที่อเมริกาให้ฟังว่า การเรียนการสอนที่นั่นเป็นสิ่งใหม่ทั้งหมด เพราะในขณะนั้นเมืองไทยยังไม่มีสาขาประพันธ์ดนตรีประกอบภาพยนตร์เฉพาะทาง

"ตอนเรียนวิทยาลัยดนตรีเราได้เรียนครอบคลุมทุกอย่างของดนตรี แต่ว่าเป็นสาขาแต่งเพลงคอมโพสิชั่น ซึ่งก็ไปในทางดนตรีคลาสสิก ที่ผมเลือกไปต่อสายการประพันธ์ดนตรีประกอบภาพยนตร์โดยเฉพาะเลย ก็เพราะชอบครับ แล้วถ้าเป็นงานคลาสสิกเลยก็จะหางานยากครับ ต้องเป็นแบบการจ้างแต่ง จะเป็นเชิงซับซ้อนฟังยากๆ แต่ว่ามันก็เอามาประยุกต์ใช้ได้ครับ พอไปเรียนที่อเมริกาการเรียนไม่เหมือนกันเลยครับ เพราะว่าวิชาการประพันธ์ดนตรีประกอบภาพยนตร์ที่เมืองไทยยังไม่มีสอนจริงจัง จะเรียนก็แค่คร่าวๆ เป็นพื้นฐาน แต่ที่อเมริกามันเป็น Commercial เต็มตัวเลย  จริงๆ คือเขาเปิดกว้างครับ แต่พอมันเป็นหนังแนวนี้มันก็จะเขียนดนตรีได้อยู่ไม่กี่แบบ คือเหมือนเขียนเพื่อหนัง ไม่ได้เขียนเพื่อตัวเอง แต่ที่เรียนรังสิตนั้นคือเรียนเขียนเพื่อตัวเองอะไรอย่างนี้ครับ"

20170628101856972

ชัพวิชญ์บอกต่ออีกว่า จริงๆ แล้วในการเขียนดนตรีประกอบหนังที่ได้เรียนที่อเมริกาก็ยังมีความเปิดกว้างอยู่บ้าง

เมื่อถามถึงแรงบันดาลใจในการเขียนเพลงแต่ละครั้งมาจากไหน ชัพวิชญ์เผยให้ฟังอย่างไม่หวงเคล็ดลับว่า "การทำดนตรีประกอบภาพยนตร์มันขึ้นอยู่กับภาพ ขึ้นอยู่กับหนัง อันนี้แล้วแต่ ถ้ายิ่งเราดูหนังเยอะ เราก็จะยิ่งมีความครีเอทีฟ กับการฟังเพลงให้หลากหลาย ฟิล์มสกอร์มันต้องได้เครื่องดนตรีเกือบทุกอย่าง บางทีมันก็ต้องเป็นสตริง เป็นแอคชั่นวงใหญ่ๆ หรือบางทีต้องเป็นอิเล็กทรอนิกส์ คนที่เขียนฟิล์มมันจะต้องเขียนเพลงได้กว้าง มันถึงจะมาทำฟิล์มสกอร์ได้ ไม่งั้นมันจะทำได้แค่อย่างใด อย่างหนึ่งเท่านั้นครับ"   

นักทำดนตรีประกอบภาพยนตร์มือรางวัล

ชัพวิชญ์เล่าถึงกระบวนการทำดนตรีประกอบภาพยนตร์ให้ฟังด้วยความกระตือรือล้น "อันดับแรกเราก็จะคุยกับผู้กำกับก่อนครับ ต้องรู้สโคปของหนังก่อนคร่าวๆ ว่าเพลงจะออกมาเป็นแนวไหน ต้องคุยกับเขาว่าเขาชอบอะไร สมมติว่าเขาไม่รู้อะไรเลยเราก็จะหาเพลงให้เขาว่าชอบเพลงแบบนี้ไหม ซึ่งมันก็มีงานบางงานที่เขาให้อิสระมาก เอาหนังเปล่าๆ ไปเลย แล้วเราก็แต่งมา พอถึงการแต่งสามารถเริ่มเขียนไปก่อนตั้งแต่อ่านบทหนัง หรือทำหลังจากที่หนังได้คัตติ้งอะไรแล้ว ก็คือเริ่มเขียนเพลงพร้อมกับดูภาพ ก็เขียนเพลงเป็นซีนๆ ไป ซึ่งส่วนใหญ่เราจะรอจนหนังเกือบสมบูรณ์เพราะว่ามันจะได้ไม่ต้องแก้เยอะครับ" 

20170628101857510

ชัพวิชญ์เล่าว่าการทำดนตรีประกอบภาพยนตร์ต้องสั่งสมประสบการณ์ ซึ่งระหว่างเรียนเขาก็มีอัลบั้มดนตรีในสไตล์ของเขาเอง และมีผลงานดนตรีประกอบภาพยนตร์ให้กับผู้กำกับหลายท่านอย่างต่อเนื่อง จนได้รับรางวัลดนตรีประกอบยอดเยี่ยมจากเรื่อง ‘อนธการ’ หรือ The Blue Hour ของผู้กำกับอนุชา บุญวรรธนะ จาก Starpics Thai Films Awards ครั้งที่ 13 และจากชมรมวิจารณ์บันเทิง ครั้งที่ 24 ประจำปีพ.ศ. 2558 ยังไม่นับรวมได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลภาพยนตร์หลายสถาบัน

สำหรับคนที่สนใจศาสตร์ด้านนี้ ชัพวิชญ์บอกแต่เพียงว่าให้เริ่มลงมือทำ เพราะการทำดนตรีประกอบภาพยนตร์เป็นงานที่ขึ้นอยู่กับประสบการณ์ ประสบการณ์จะทำให้เรารู้ว่าควรจะต้องทำอะไร และไม่ควรทำอะไร

เราถามคำถามสุดท้าย ดนตรีประกอบภาพยนตร์ที่ดีต้องเป็นอย่างไร ชัพวิชญ์ตอบอย่างแน่วแน่ในแนวทางว่า... “ดนตรีประกอบภาพยนตร์ ก็เป็นส่วนช่วยในภาพยนตร์ มันไม่ได้เป็นตัวของมันเอง ยกเว้นเอามาขายก็สามารถเป็นตัวของมันเองได้ แต่ถ้าอยู่กับหนัง คนดูดูแล้วรู้สึกขัดแย้งกัน ขัดๆ กัน ก็ถือว่าไม่ดีเพราะว่าถ้าจะเป็นฟิล์มสกอร์ ดนตรีต้องทำเพื่อหนังครับ"

 

ขอบคุณสถานที่: ร้าน Kofe Loft ซ.รามคำแหง 32