สร้างความเชื่อมั่น E-Commerce ด้วยความปลอดภัยทางไซเบอร์และการรักษาข้อมูลส่วนบุคคล

สร้างความเชื่อมั่น E-Commerce ด้วยความปลอดภัยทางไซเบอร์และการรักษาข้อมูลส่วนบุคคล

เคพีเอ็มจี แนะธุรกิจอีคอมเมิร์ซต้องเพิ่มความปลอดภัยและความไว้วางใจของผู้บริโภคท่ามกลางความกังวลด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ และการรักษาข้อมูล

การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ปฏิสัมพันธ์แบบดั้งเดิมระหว่างธุรกิจกับผู้บริโภคลดลง และทำให้ช่องทางดิจิทัลเติมเต็มช่องว่างให้กับลูกค้าได้ เนื่องจากช่องทางเหล่านี้มีการเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยผลสำรวจของเคพีเอ็มจี Responding to consumer trends in the new reality เผยว่า ผู้บริโภคใช้ช่องทางดิจิทัลเพิ่มขึ้นร้อยละ 18 (จากร้อยละ 26 ในช่วงก่อนการแพร่ระบาดของโควิด-19 เพิ่มเป็นร้อยละ 44 ในปัจจุบัน)1 อย่างไรก็ตาม การเติบโตอย่างรวดเร็วของผู้ใช้และความกดดันของธุรกิจอีคอมเมิร์ซในการพัฒนาและขยายขีดความสามารถของแพลตฟอร์มออนไลน์อย่างรวดเร็ว ยังมาพร้อมกับความเสี่ยงด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์และการรักษาข้อมูลส่วนบุคคลซึ่งอาจส่งผลกระทบในแง่ลบต่อความไว้วางใจและชื่อเสียงของแพลตฟอร์ม

จากกรณีการรั่วไหลของข้อมูลในประเทศไทย กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (DES) ได้ผลักดันให้แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซจดทะเบียนกับสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA) เพื่อเพิ่มการป้องกันและเสริมสร้างความปลอดภัยทางไซเบอร์เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2563

การที่ผู้บริโภคตระหนักถึงความปลอดภัยและการรักษาข้อมูลส่วนบุคคลเพิ่มสูงขึ้น เป็นสัญญาณให้แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซจัดการความเสี่ยงทางไซเบอร์ให้ดียิ่งขึ้นและดำเนินการอย่างจริงจังเพื่อปกป้องข้อมูลของผู้ใช้

ผลการสำรวจของเคพีเอ็มจียังเผยอีกว่า ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาความเชื่อมั่นของลูกค้าในแบรนด์ลดลง ความสำเร็จในการสร้างความไว้วางใจและกระตุ้นการเติบโตในอนาคตจึงขึ้นอยู่กับการสื่อสารและการแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในการรักษาความปลอดภัยของข้อมูลลูกค้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (PDPA) ซึ่งกำหนดให้บทบัญญัติหลักมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มิถุนายน 25642 ผู้ประกอบการอีคอมเมิร์ซจึงควรเริ่มเตรียมการตั้งแต่ตอนนี้เพื่อให้พร้อมสำหรับกำหนดระยะเวลาที่ต้องปฏิบัติตาม

ศิราภรณ์ จูฬเศรษฐ์ภักดี หุ้นส่วนสายงานที่ปรึกษาธุรกิจ และหัวหน้าฝ่ายความปลอดภัยทางไซเบอร์ เคพีเอ็มจี ประเทศไทย กล่าวว่า “การมุ่งเน้นไปที่เทคโนโลยีเพียงอย่างเดียวเพื่อแก้ไขปัญหาเหล่านี้ไม่เพียงพอ การจัดการความเสี่ยงทางไซเบอร์อย่างมีประสิทธิภาพจะต้องมีการวางระบบการกำกับดูแลและกระบวนการสนับสนุนที่เหมาะสม ตลอดจนถึงเทคโนโลยีด้านความปลอดภัยที่เหมาะสม แนวปฏิบัติในการรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์และการรักษาข้อมูลส่วนบุคคลต้องเป็นองค์รวม ซึ่งประกอบไปด้วย การป้องกัน การตรวจจับ และการมีแผนรับมือ”

“แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซจะต้องแสดงความมุ่งมั่นในการปกป้องข้อมูลและตอบสนองต่อข้อสงสัยหรือความกังวลของผู้บริโภค โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านความไว้วางใจ โดยใช้มาตรการเสริมความปลอดภัยทางไซเบอร์เพื่อสร้างการเติบโตในระยะยาว ธุรกิจอีคอมเมิร์ซต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่องและมีการประเมินและพัฒนามาตรการอย่างสม่ำเสมอเพื่อให้บริการธุรกรรมออนไลน์ที่มีความปลอดภัยสูงสุดต่อลูกค้า” เจริญ ผู้สัมฤทธิ์เลิศ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เคพีเอ็มจี ประเทศไทย เมียนมาร์ และลาว กล่าวสรุป