รับกระแส “EV” ไทยพร้อมแค่ไหน กับการมาถึงของ “รถยนต์ไฟฟ้า” 

รับกระแส “EV” ไทยพร้อมแค่ไหน กับการมาถึงของ “รถยนต์ไฟฟ้า” 

ประเทศไทยมีความพร้อมแค่ไหน สำหรับการเป็นสังคมขับขี่ “รถยนต์ไฟฟ้า” หรือ “EV” ที่ถูกผลักดันให้สอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน และตอบสนองการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในห่วงโซ่การผลิตระดับโลก   

กระแสการขับขี่ “รถยนต์ไฟฟ้า” นั้นได้รับการตอบรับที่ดีเยี่ยมจากคนไทย โดยล่าสุดทางผู้ผลิตรถยนต์ Great Wall Motor เปิดเผยว่า ได้รับการสั่งจองเข้ามาถึง 4,296 คัน เพียง 24 ชั่วโมงหลังการเปิดจองรถยนต์ไฟฟ้ารุ่น Ora Good Cat แม้จะยังไม่ได้เปิดเผยราคาเลยก็ตาม สะท้อนให้เห็นถึงความพร้อมของคนไทยสำหรับการมาถึงของรถยนต์ไฟฟ้า 

ปฏิเสธไม่ได้ว่าทุกวันนี้เทรนด์รักษ์โลกนั้นได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก มีการรณรงค์ในหลากหลายมิติ อาทิ การใส่เสื้อผ้าซ้ำ การพกถุงผ้า การสนับสนุนสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เป็นต้น ชี้ให้เห็นว่าการบริโภคของผู้คนกำลังขยับไปในทิศทางที่คำนึงถึงความยั่งยืนเป็นหนึ่งในประเด็นหลัก

แนวโน้มดังกล่าวสอดคล้องกับพฤติกรรมการบริโภคของคนไทยเช่นกัน หนึ่งในปรากฏการณ์ที่สะท้อนแนวโน้มการบริโภคที่ยั่งยืน คือ ความต้องการลดการปล่อยมลพิษด้วยการหันมาใช้ยานยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle: EV) มีข้อมูลทางสถิติจากศูนย์วิจัยอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ สถาบันยานยนต์ ระบุว่า ในปี 2563 มีการจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้าใหม่ 36,750 คัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 13% 

 

ในระดับอุตสาหกรรม การพัฒนายานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยนั้นเป็นเรื่องที่มีการหารือกันอย่างต่อเนื่อง เพราะการผลักดันให้อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยหันมาผลิตรถยนต์หรือชิ้นส่วนรถยนต์ไฟฟ้า จะทำให้ไทยยังคงสามารถรักษาความสามารถที่มีอยู่ และไม่หลุดจากการเป็นห่วงโซ่อุปทานในระดับโลก และอีกประการคือ ไทยจะสามารถลดการปล่อยคาร์บอนได้ตามข้อตกลงปารีส และสร้างการบริโภคอุปโภคที่ยั่งยืนตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG) 

การสร้างสังคมขับขี่ยานยนต์ไฟฟ้าจึงถูกหยิบยกขึ้นมา เพื่อกระตุ้นให้เกิดความต้องการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า และยังช่วยลดการปล่อยคาร์บอนในประเทศ อย่างไรก็ตาม การมีผู้ผลิตและผู้ใช้งาน แต่ยังหมายรวมไปถึงโครงสร้างพื้นฐานอื่นที่ถือเป็นระบบนิเวศของการขับขี่ยานยนต์ไฟฟ้า 

ต่อไปนี้เราจะพาไปสำรวจโครงสร้างในปัจจุบัน และสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เพื่อสะท้อนให้เห็นความพร้อมสำหรับการขับขี่ยานยนต์ไฟฟ้าของประเทศไทย 

 

  โครงสร้างสำหรับการขับขี่และการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า ไทยมีอะไรบ้าง?  

  • ค่ายรถยนต์ อาทิ
    • MG 
    • Volvo
    • Nissan 
    • Honda
    • Toyota
    • Great Wall Motor
    • BMW 
  • แพลตฟอร์มการชาร์จไฟฟ้า (ข้อมูล ณ เดือนกันยายน ปี 2564)
    • สถานีชาร์จไฟฟ้า 693 แห่งทั่วประเทศ 
      • แบบชาร์จธรรมดา 1,511 หัวจ่าย 
      • แบบชาร์จเร็ว 774 หัวจ่าย  
    • การติดตั้งที่ชาร์จด้วยบริษัท Delta
    • การชาร์จด้วยไฟฟ้าตามบ้านเรือน
      • มิเตอร์ 200 เฟส 3 
      • มิเตอร์ 400 เฟส 3 
  •  นโยบายการค้า (อัตราภาษีนำเข้าปกติ 80% จากราคาประเมิน) 
    • เขตการค้าเสรี อาเซียน-จีน : ภาษีนำเข้า 0%
    • ข้อตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจ ไทย-ญี่ปุ่น : ภาษีนำเข้า 20%
  • นโยบายส่งเสริมการลงทุน 
    • สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) 
      • กิจการผลิตรถไฟฟ้าแบบแบตเตอรีเป็นหลัก (Battery Electric Vehicle: BEV) ได้รับสิทธิละเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปี และหากมีการลงทุนด้านวิจัยและพัฒนาก็สามารถได้รับสิทธิเพิ่ม 
      • หากลงทุนต่ำกว่า 5,000 ล้านบาท ได้สิทธิละเว้นเพียง 3 ปี และจะได้รับสิทธิเพิ่มขึ้นหากดำเนินการได้ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด เช่น 
        • เริ่มผลิตรถยนต์ภายในปี 2565
        • มีการผลิตชิ้นส่วนสำคัญเพิ่มเติมจากข้อกำหนดพื้นฐาน
        • มีปริมาณการผลิตจริงมากกว่า 10,000 คันต่อปี
        • มีการลงทุนด้านวิจัยและพัฒนา 
    • ถ้ามีโครงการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบบผสมเสียบปลั๊ก (Plug-in Hybrid Electric Vehicle: PHEV) ด้วย จะได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 3 ปี ทั้งนี้ต้องการผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ไฟฟ้าอย่างน้อย 3 ชิ้น 
    • การให้สิทธิประโยชน์สำหรับการใช้เทคโนโลยีขั้นสูง หรือเพิ่มการใช้เทคโนโลยีในการผลิต 
      • ลดภาษีอากรขาเข้าสำหรับชิ้นส่วนที่ไม่มีการผลิตในไทย 90% เป็นเวลา 2 ปี 
  • นโยบายทางภาษี
    • ภาษีสรรพสามิต (อัตราปกติ 8%)
      • เครื่องยนต์ไฮบริด (HEV/PHEV) : เสียภาษี 4%
      • เครื่องยนต์แบตเตอรี่ (BEV) : เสียภาษี 0% 
  • การลงทุน
    • ภาครัฐ
      • นิคมอุตสาหกรรมแบตเตอรี่ไฮเทค จ.ฉะเชิงเทรา
    • ภาคเอกชน 
      • บีเอ็มดับเบิลยู กรุ๊ป ประเทศไทย 
        • โรงงานประกอบแบตเตอรี่แรงดันสูง นิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ ชลบุรี 2 อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี
      • Mercedes Benz และธนบุรีประกอบรถยนต์ 
        • โรงงานแบตเตอรี่เพื่อการประกอบรถไฟฟ้า 
      • บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) 
        • โรงงานแบตเตอรี่ นิคมอุตสาหกรรมฉะเชิงเทรา บลูเทค ซิตี้ 
      • บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) 
        • พัฒนาแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนแบบใหม่ด้วยเทคโนโลยีเซมิ-โซลิด (Semi-Solid)
  • การประกันภัย 
    • เมืองไทยประกันภัย ค่าเบี้ยประกันเริ่มต้น 25,999 บาทต่อปี 

 

  วิสัยทัศน์การสร้างสังคมขับขี่ยานยนต์ไฟฟ้าในไทย  

การสร้างฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในช่วงแรกจำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็นนโยบายทางภาษี การสนับสนุนการลงทุน และยังรวมไปถึงการสร้างอุปสงค์ยานยนต์ไฟฟ้า เพราะสังคมขับขี่ยานยนต์ไฟฟ้าไม่ได้เป็นเพียงการตอบสนองต่อเทรนด์ของผู้คนในปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงไป แต่ยังคงเป็นมาตรการรักษาความแข็งแกร่งและเพิ่มศักยภาพของอุตสาหกรรมยานต์ไทย อันจะนำมาสู่ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจในที่สุด 

แม้ในปัจจุบันโครงสร้างที่ไทยมีอยู่ยังไม่เพียงพอสำหรับการสร้างสังคมขับขี่ยานยนต์ไฟฟ้า อย่างไรก็ตาม หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีการวางแนวทางพัฒนายานยนต์ไฟฟ้าในประเทศ อาทิ กระทรวงการคลังที่กำลังพิจารณาเรื่องมาตรการทางภาษีเพิ่มเติมสำหรับผู้ใช้ EV สำนักงานส่งเสริมการลงทุน (BOI) ที่พิจารณามาตรการทางการค้าและการลงทุน เพื่อผลักดันไทยให้เป็นฐานผลิต รวมถึงกระทรวงพลังงานที่มีรับหน้าที่ดูแลแผนปฏิรูปการใช้พลังงานที่จะเปลี่ยนไปในอนาคต  เป็นต้น 

นอกจากนั้น สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้เสนอแบบร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ฉบับที่ 13 (พ.ศ. 2566- 2570) ซึ่งได้บรรจุหมุดหมายของการเป็นฐานผลิตยานยนต์ไฟฟ้าที่สำคัญของโลก และเป็นสังคมคาร์บอนต่ำ สะท้อนถึงทิศทางการผลักดันให้ไทยมีความพร้อมสำหรับการสร้างฐานผลิตและสังคมขับขี่ยานยนต์ไฟฟ้าในอนาคตอันใกล้นี้ 

 

  สิ่งที่จะเกิดขึ้นเพื่อเสริมสร้างสังคมขับขี่ยานยนต์ไฟฟ้า  

  • นโยบายทางภาษี
    • ภาษีสรรพสามิต (อัตราปกติ 8%)
      • เครื่องยนต์ไฮบริด (HEV/PHEV) : เสียภาษี 8%
      • เครื่องยนต์แบตเตอรี่ (BEV) 
        •  ปี 2565 : 0%
        • ปี 2566 - 2567 : 2%
    • การลดหย่อนภาษีให้ผู้ใช้ EV 
      • ภาษีรถยนต์ประจำปี
    • มาตรการกระตุ้นความต้องการซื้อ
      • การลดค่าทางด่วน
      • สนับสนุนที่จอดรถยนต์ไฟฟ้า
  • แพลตฟอร์มการชาร์จไฟฟ้า  
    • การกระจายสถานีชาร์จไฟฟ้าให้ครอบคลุมพื้นที่ในประเทศ 
    • ปี 2570 : มีสถานีหัวจ่ายชาร์จเร็วสาธารณะ เพิ่มขึ้น 5,000 หัวจ่าย 
  • กำลังคน
    • ปี 2570 : แรงงานที่ได้รับการพัฒนาฝีมือด้านยานยนต์ไฟฟ้า จำนวนไม่น้อยกว่า 30,000 คน และแรงงานใหม่จำนวน 5,000 คน 
  • การลงทุนด้านวิจัยและพัฒนาที่เกี่ยวข้องกับยานยนต์ไฟฟ้า
    • มูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 20 ต่อปี 
    • จัดตั้งกิจการค้าร่วม (Joint Venture) ด้านการวิจัยและนวัตกรรม 
  • การผลิตยานยนต์ไฟฟ้า 
    • ปี 2568 : ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าสัดส่วน 30% จากทั้งหมด (1.05 ล้านคัน) 
    • ปี 2573 : ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าสัดส่วน 50% จากทั้งหมด
    • ปี 2578 : ผลิตรถยนต์ไฟฟ้า 100% 

 

  “ความปลอดภัย” ประเด็นที่ไม่ควรมองข้าม  

ถึงแม้ว่าหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนจะเร่งหาแนวทางพัฒนาให้ไทยเป็นสังคมขับขี่ยานยนต์ไฟฟ้าอย่างรอบด้าน โครงสร้างพื้นฐานหลายๆ อย่างอยู่ในแผนการพัฒนาที่เกี่ยวข้อง ถึงกระนั้นก็ยังมีบางประเด็นที่สำคัญ แต่ยังไม่เห็นแนวทางที่ชัดเจน นั่นคือ “การกู้ภัย” 

เนื่องด้วยประเทศไทยถูกจัดโดยองค์การอนามัยโลก (WHO) ให้เป็นประเทศที่มีอัตราการเกิดอุบัติเหตุสูงเป็นอันดับ 9 ของโลก และสูงที่สุดเป็นอันดับ 1 ในเอเชียและอาเซียน ดังจะเห็นได้จากการเฝ้าระวังทุกช่วงวันหยุดสำคัญ โดยอุบัติเหตุนั่นเกิดขึ้นได้กับยานยนต์ทุกประเภท ยานยนต์ไฟฟ้าก็มีความเสี่ยงเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม ข้อแตกต่างที่ควรพิจารณสำหรับยานยนต์ไฟฟ้าที่ประสบอุบัติเหตุ คือ ระบบการขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้า การกู้ภัยจึงจะต่างไปจากรถเครื่องยนต์สันดาปทั่วไป ฉะนั้นผู้ที่เข้าไปทำการกู้ภัยจำเป็นต้องมีความรู้การกู้ภัยรถไฟฟ้าเป็นการเฉพาะ ถึงจะสามารถลดความเสียหายที่จะเกิดขึ้นได้

กรณีตัวอย่างจากประเทศเนเธอร์แลนด์ คือ อุบัติเหตุรถยนต์ Tesla ชนต้นไม้อย่างรุนแรง เจ้าหน้าที่ดับเพลิงต้องใช้เวลาหลายชั่วโมงในการนำร่างของเขาออกจากตัวรถ เนื่องจากลักษณะการเกิดอุบัติเหตุที่รุนแรงในครั้งนี้ แบตเตอรี่ของรถยนต์ได้รับความเสียหาย และบางส่วนลุกติดไฟ ขณะที่แบตเตอรียังคงติดอยู่ในตัวรถยนต์ ทำให้เจ้าหน้าที่ดับเพลิงไม่สามารถแน่ใจได้ว่ารถยนต์ได้เกิดกระแสไฟฟ้ารั่วหรือไม่ จึงกังวลว่าหากเข้าไปช่วยคนที่ติดอยู่ภายในอย่างไม่ระวังนั้นอาจจะถูกไฟช็อตได้  

จากกรณีตัวอย่างจะเห็นได้ว่า การเข้าช่วยเหลือผู้ประสบอุบัติเหตุและกู้ภัยรถยนต์ไฟฟ้า จำเป็นที่ต้องมีได้รับการอบรมหรือความรู้ที่เฉพาะเจาะจง ไม่เช่นนั้นตัวผู้กู้ภัยเองอาจจะได้รับอันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้ ซึ่งจะเป็นการเพิ่มความเสียหายของอุบัติเหตุที่เกิดขึ้น 

นอกจากนั้น ภาครัฐหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรมีการกำหนดเกณฑ์ตรวจสอบคุณภาพของการยานยนต์ไฟฟ้าและอะไหล่ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ยานยนต์บนท้องถนนได้มาตรฐานและมีความปลอดภัยในการขับขี่ และยังถือว่าเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ใช้ยานยนต์ไฟฟ้าอีกด้วย 

การผลักดันสังคมขับขี่ยานยนต์ไฟฟ้าให้เกิดขึ้นในไทยนั้น ไม่เพียงแต่มีความพร้อมในด้านการผลิตหรือกำลังซื้อ แต่ยังต้องมีความพร้อมในด้านโครงสร้างพื้นฐานที่จะทำให้การใช้ยานยนต์ไฟฟ้านั้นมีความสะดวกสบาย และมีต้นทุนต่ำ นอกจากนั้น โครงสร้างทั้งหมดยังจำเป็นที่จะต้องมั่นคงและปลอดภัย เพื่อให้คนในสังคมไทยมีความมั่นใจที่จะใช้ยานยนต์ไฟฟ้า อันจะมีผลให้สังคมและเศรษฐกิจไทยพัฒนาได้อย่างยั่งยืน 

 

อ้างอิง 

เมืองไทยประกันภัย

สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน 

สำนักงานสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ 

InfoQuest Limited 

Motorraka 

MReport

Rattanakosin College of Innovation Management