ออโต้คลินิค กับพัฒนเดช อาสาสรรพกิจ

โลกของอุตสาหกรรมและธุรกิจยานยนต์มีความสลับซับซ้อนมากขึ้น จากที่เคยมีรถยนต์เป็นสินค้าเพียงอย่างเดียวไม่แยกประเภทมานานปี
ก็เริ่มมีการซอยแยกแบ่งกลุ่มรถยนต์ออกไปหลากหลายชนิด ด้วยข้ออ้างว่าเพื่อความเหมาะสมต่อการใช้งานของผู้บริโภคแต่ละกลุ่ม เราจึงเริ่มรับรู้และรู้จักรถยนต์ชนิดต่างๆ มากขึ้นเช่น เก๋งซีดาน, ปิกอัพ, MPV, SUV, PPV ฯลฯ และรุ่นย่อยๆที่ถูกซอยแยกกันออกมาอีกมากหลายรุ่นของรถยนต์ที่มีการจัดแยกประเภทกันออกไป ก็ไม่สามารถบ่งบอกได้ว่าต่างจากรุ่นอื่นๆ อย่างไร หรือจะบอกว่ามีความทับซ้อนกันในการจัดรุ่นก็คงจะไม่ผิดนัก ซึ่งการทับซ้อนกันนั้นบางครั้งก็ทำให้ผู้บริโภคเกิดความสับสนขึ้นมา ไม่เว้นแม้แต่คนทำสื่อยานยนต์อย่างผมเองก็สับสน ตัวอย่างเช่นที่ผมเคยเขียนเอาไว้เกี่ยวกับเรื่องการเรียกประเภทรถเมื่อสองสามสัปดาห์ก่อน
มีรถยนต์ประเภทหนึ่งที่ถือว่าเกิดขึ้นในประเทศไทย และต่อมามีการส่งไปจำหน่ายทั่วโลก ชื่อเรียกเฉพาะในประเทศไทยจนรับรู้กันทั่วไปว่าเป็นรถยนต์ประเภท “ปิกอัพใช้งานส่วนบุคล หรือ Pick up Personal use Vehicle หรือ PPV” หรือรถยนต์ตรวจการณ์ที่ใช้พื้นฐานหลัก ทั้งโครงสร้าง, เครื่องยนต์ และระบบขับเคลื่อนร่วมกันกับรถปิกอัพ หรือหากท่านผู้อ่านนึกภาพรถยนต์ประเภท PPV ไม่ออก ก็นึกภาพรถยนต์ โตโยต้า ฟอร์จูนเนอร์, อีซูซุ มิว-เอ็กซ์, มิตซูบิชิ ปาเจโร่ สปอร์ต, ฟอร์ด เอฟเวอเรสต์, เชพโรเลต เทรลเบลเซอร์ ฯลฯ นั่นเองครับ
การเกิดและเติบใหญ่ของรถยนต์ประเภท PPV ต้องขอบคุณ คุณวิเชียร เผอิญโชค ผู้ก่อตั้งบริษัทไทยรุ่งยูเนียนคาร์ ที่ได้คิดดัดแปลงจนผลิตรถยนต์ไทยรุ่งฯ ซึ่งใช้โครงสร้างหลักของรถยนต์อีซูซุปิกอัพขึ้นมาเมื่อหลายสิบปีก่อน และสามารถครองใจผู้ใช้รถยนต์เมืองไทยจนได้รับความนิยมมากขึ้นทุกวัน ถึงขนาดที่ในยุคหนึ่งรถยนต์แบบ PPV ไม่ว่ายี่ห้ออะไรผลิตจากผู้ผลิตรายใด ล้วนถูกเรียกว่าเป็นรถยนต์ไทยรุ่งไปด้วยกันทั้งสิ้น ต่อมาผู้ผลิตรถยนต์ปิกอัพรายใหญ่ๆ จึงได้ทุ่มเทการค้นคว้าและพัฒนา และก้าวเข้ามาทำการผลิตภายในโรงงานมาตรฐานของตัวเองเกือบทุกยี่ห้อ ซึ่งนอกจากจะได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในประเทศไทยแล้ว ปัจจุบันยังมีการผลิตเพื่อส่งออกไปจำหน่ายยังประเทศอื่นอีกมากมาย
รถยนต์แบบ PPV ที่เกิดขึ้นประเทศไทยมีรูปลักษณ์ และประโยชน์ในการใช้งานทับซ้อนกับรถยนต์แบบ SUV อย่างยากที่จะแยกออกจากกันได้ เพียงแต่ในระยะเริ่มต้นของรถยนต์แบบPPV นั้น สมรรถนะ, ประสิทธิภาพ, รูปร่างหน้าตา, ความสะดวกสบายในห้องโดยสาร, ความง่ายในการควบคุมขับขี่ และภาพลักษณ์ที่ผู้คนทั่วไปรับรู้ ยังอยู่ในระดับที่ห่างจากรถยนต์แบบ SUV อยู่มาก ตลาดจึงไม่มีการแก่งแย่งผู้บริโภคกัน ผู้ผลิตก็มุ่งเป้าไปหาผู้บริโภคในกลุ่มที่แตกต่างกัน
แต่ด้วยปัจจุบันนี้ตัวรถปิกอัพที่เป็นโครงสร้างหลักของรถยนต์ PPV มีการพัฒนามากขึ้นทั้งสมรรถนะของเครื่องยนต์และระบบขับเคลื่อน, ความสะดวกสบายภายในห้องโดยสาร, อุปกรณ์เสริมเพื่อความปลอดภัยและความบันเทิงในห้องโดยสาร, ปรับปรุงให้รถสามารถขับเคลื่อนได้ง่ายในทุกสภาพพื้นถนน และง่ายต่อการควบคุมจากคนทุกเพศทุกวัย ฯลฯ จนสามารถกล่าวได้ว่าใกล้เคียงหรือล้ำหน้ารถยนต์เก๋งนั่งขนาดกลางค่อนข้างใหญ่ และรถยนต์เก๋งนั่งในระดับราคาเท่ากันด้วย
รถยนต์แบบ PPV จึงเริ่มขยับปรับตัวเข้ามาทับตลาด แย่งลูกค้าจากรถยนต์แบบ SUV มากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเจ้าตลาดรายใหญ่คือ โตโยต้า ฟอร์จูนเนอร์ และ อีซูซุ มิว-เซเวน ที่เพิ่งเปิดตัวรุ่นใหม่ มิว-เอ็กซ์ ไปหมาดๆ และ มิตซูบิชิ ปาเจโร่ สปอร์ต ที่สามารถทำการตลาดรุกคืบได้อย่างเต็มที่ไม่ต้องกังวลว่าจะหันมากินลูกค้าของตนเอง เพราะทั้ง 3 รายต่างไม่มีรถยนต์แบบ SUV อยู่ในตลาดประเทศไทย
ทุกวันนี้จึงเห็นรถยนต์แบบ PPV จำหน่ายในพื้นที่ของตลาดในเมืองได้มากขึ้น ผู้ใช้ก็เริ่มมีระดับนักธุรกิจ, ผู้บริหาร, ข้าราชการระดับสูง และคนรุ่นใหม่ที่มีการศึกษา รวมทั้งสุภาพสตรีใช้รถยนต์แบบ PPV มากขึ้นด้วย จากเดิมที่คนกลุ่มนี้เป็นลูกค้าหลักของรถยนต์ SUV หรือรถเก๋ง ซึ่งทำให้ฝ่ายผู้จำหน่ายรถ SUV โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้นำในตลาดคือ ฮอนด้า ซีอาร์วี ต้องหันมาเร่งรักษาตลาดเอาไว้ให้ได้
เพราะนอกจากจะต้องแข่งขันกับ SUV ยี่ห้ออื่นเหมือนเดิมแล้ว ยังต้องหันมาปกป้องตลาดจากการรุกคืบของ PPV ด้วย ในขณะที่ เชฟโรเลตนั้นคงพะวักพะวงค่อนข้างมาก ด้วยว่าหากเร่งโปรโมท เทรลเบรเซอร์ รถแบบ PPV ของตนเองมากเกินไป ก็อาจจะกระทบกับ แคปติว่า ซึ่งเป็นรถแบบ SUV ของตนเองและกำลังเดินหน้าไปได้ด้วยดี
ทุกวันนี้จึงเห็นการผลักดัน เทรลเบรเซอร์ จากเชฟโรเลตไม่มากนัก สงครามชิงดินแดนหรือชิงกลุ่มลูกค้าระหว่าง PPV กับ SUV จึงน่าจับตาดูเป็นอย่างยิ่ง ส่วนตัวเองผมเชื่อว่า PPV น่าจะเป็นฝ่ายครอบครองชัยชนะและเติบโตขึ้นได้มากกว่า ด้วยเหตุผล ราคาถูกกว่า, ทนทานต่อการสึกหรอมากกว่า, ดูแลรักษาง่ายกว่า, ค่าซ่อมบำรุงถูกกว่า และท้ายที่สุดราคาขายต่อดีกว่ารถ SUV ครับ