เบนซ์ ต่อสัญญาโรงงาน ธนบุรีฯ 10 ปี ขยายตลาด EV -ส่งมอบแบตฯ ใช้แล้วให้ สวทช.

เบนซ์ ต่อสัญญาโรงงาน ธนบุรีฯ 10 ปี ขยายตลาด EV -ส่งมอบแบตฯ ใช้แล้วให้ สวทช.

เมอร์เซเดส-เบนซ์ ขยายสัญญาว่าจ้างโรงงานธนบุรีประกอบรถยนต์ 10 ปี รับแผนขยายการผลิต รองรับอีวี พร้อมส่งมอบแบตเตอรี ให้สวทช, หนุนโครงการศึกษาวิจัยและสร้างแหล่งพลังงานที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่

เมอร์เซเดส-เบนซ์ เข้ามาทำธุรกิจในประเทศไทยเมื่อปี 2541 แต่ยังคงความสัมพันธ์กับผู้แทนจำหน่ายเดิม คือ ธนบุรีประกอบรถยนต์ ทั้งการเป็นตัวแทนจำหน่าย และการเป็นผู้ประกอบรถยนต์เมอร์เซเดส-เบนซ์ ในรูปแบบสัญญาว่าจ้าง ที่โรงงานของธนบุรีประกอบรถยนต์ สมุทรปราการ ที่เริ่มต้นประกอบเมอร์เซเดส-เบนซ์ มาตั้งแต่ปี 2522

จากนั้นทั้ง 2 ฝ่าย ก็ทำงานร่วมกันมาตลอด รวมถึงการลงทุนยกระดับโรงงาน เทคโนโลยี และ่ล่าสุดวันที่ 7 มิ.ย. ที่ผ่านมา ทั้ง 2 ฝ่ายลงนามต่อสัญญาว่าจ้างกับ บริษัท ธนบุรีประกอบรถยนต์ จำกัด ระยะเวลา 10 ปี ในฐานะพันธมิตรระยะยาวที่มีบทบาทในการประกอบรถยนต์และผลิตแบตเตอรี่รถยนต์พลังงานไฟฟ้า 

มาร์ทิน ชเวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เมอร์เซเดส-เบนซ์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า เมื่อ 120 ปีที่แล้ว เมอร์เซเดส-เบนซ์ เป็นรถยนต์แบรนด์แรกที่เข้ามาในประเทศไทย และยังทำตลาดมาถึงวันนี้ที่แบรนด์ก้าวเข้าสู่ยุคใหม่ด้วยการเป็นรถยนต์ลักชัวรี่แบรนด์แรกที่เริ่มผลิตแบตเตอรี่และประกอบรถยนต์พลังงานไฟฟ้าในรุ่น EQS 500 4MATIC AMG Premium  โดยความร่วมมือจากพันธมิตรทางธุรกิจ

และก้าวต่อไปคือการขยายกำลังการผลิตรถยนต์พลังงานไฟฟ้าเพื่อรองรับความต้องการของผู้บริโภคด้วยการต่อสัญญาดังกล่าว 

ปัจจุบันรถยนต์เมอร์เซเดส-เบนว์ 13 รุ่น ผลิตขึ้นในโรงงานแห่งนี้ ได้แก่ A-Class, C-Class, E-Class, S-Class, GLA, GLC, GLE, GLS, C-Coupe, GLC-Coupe, CLS, Maybach S-Class, และ EQS ขณะที่ยอดสะสม โรงงานเพิ่มเฉลิมฉลองคันที่ 2 แสน ไปเมื่อเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา 

รัฐพล วิริยะพันธุ์ ประธานกรรมการ บริษัท ธนบุรีประกอบรถยนต์ จำกัด และ บริษัท ธนบุรี เอ็นเนอร์ยี่ สตอเรจ แมนูแฟคเจอริ่ง จำกัด กล่าวว่า นอกจากการเตรียมความพร้อมเกี่ยวกับปัจจัยการผลิตในทุกๆ ด้าน และการนำเอาเทคโนโลยีและนวัตกรรมจากเมอร์เซเดส-เบนซ์มาปรับใช้ในการผลิต เพื่อขยายไลน์การประกอบให้ครอบคลุมทุกเซ็กเมนต์แล้ว ธนบุรีฯ ยังรองรับการผลิตแบตเตอรี่และการประกอบรถยนต์พลังงานไฟฟ้า ผ่านโรงงานของบริษัท ธนบุรี เอ็นเนอร์ยี่ สตอเรจ แมนูแฟคเจอริ่ง จำกัด  ที่เริ่มผลิตแบตเตอรี่และประกอบรถยนต์พลังงานไฟฟ้า 100% รุ่นแรกอย่าง EQS 500 4MATIC AMG Premium 

มาร์ทินกล่าวว่า การต่อสัญญาความร่วมมือ ยังเป็นการขานรับนโยบายระดับโลกในการผลักดันแนวคิด Circular Economy อีกด้วย โดยเริ่มที่ การส่งมอบเซลล์แบตเตอรี่ลิเทียมไอออน (Cellblocks) ขนาด 2 MWh ที่ได้มาจากการรวบรวมแบตเตอรี่แรงดันสูงที่ใช้ทดสอบในกระบวนการผลิตให้สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ หรือ สวทช. เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในการศึกษาวิจัยและสร้างแหล่งพลังงานที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ 

เบนซ์ ต่อสัญญาโรงงาน ธนบุรีฯ 10 ปี ขยายตลาด EV -ส่งมอบแบตฯ ใช้แล้วให้ สวทช.

เซลล์แบตเตอรี่ดังกล่าว ยังถือเป็นทรัพยากรสำคัญที่จะช่วยยกระดับขีดความสามารถของบุคลากรชาวไทยในด้านพลังงานซึ่งจะส่งผลดีให้กับอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยในอนาคตอีกด้วย 

ศ. ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวว่า กระทรวง อว. โดย สวทช. มีส่วนสำคัญในการผลักดันให้เกิดโครงการวิจัยพัฒนาระบบกักเก็บพลังงาน หรือ ESS (Energy Storage System) จากแบตเตอรี่ยานยนต์ไฟฟ้า โดยได้ร่วมกับ บริษัทเมอร์เซเดส-เบนซ์ และ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)  สร้างศูนย์ออกแบบและการทดสอบแหล่งเก็บกักพลังงานจากแบตเตอรี่ยานยนต์ไฟฟ้าขึ้นในประเทศไทยเป็นแห่งแรกในภูมิภาคอาเซียน

"โมดูลแบตเตอรี่ที่ทางเมอร์เซเดส-เบนซ์ ได้ส่งมอบให้ สวทช. นับเป็นทรัพยากรที่สำคัญต่อนักวิจัยของเรา และเป็นส่วนหนึ่งที่จะทำให้เราบรรลุเป้าหมายด้านการวิจัยพัฒนาพลังงานสะอาดเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และสร้างความยั่งยืนต่อสังคมไทย ได้อย่างแน่นอน ”