“แซดเอส” ยกระดับเอ็มจี เพิ่มทางเลือกสานต่อแผนธุรกิจโลก

“แซดเอส” ยกระดับเอ็มจี เพิ่มทางเลือกสานต่อแผนธุรกิจโลก

เอ็มจี เข้ามาทำธุรกิจในไทยเมื่อ 10 ปีก่อน โดยการตั้งบริษัท เอสเอไอซี มอเตอร์-ซีพี จำกัด และ บริษัท เอ็มจี เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด ดำเนินการผลิตและจำหน่ายรถยนต์เอ็มจีในประเทศไทย และจะว่าไปแล้วในช่วงของการดำเนินธุรกิจ เอ็มจี สร้างการเปลี่ยนแปลงหลายอย่างในตลาดรถยนต์ไทย 

การเปลี่ยนแปลงหลายอย่างในแวดวงอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยจากการเข้ามาของเอ็มจี เริ่มตั้งแต่การเป็นรถยนต์จากจีนที่เข้ามาเปิดตลาด mass รายแรก ที่ต่อสู้กับภาพลบของสินค้าแบรนด์จีน ซึ่งที่สุดก็สามารถฝ่าฟันมาได้ และกลายเป็นใบเบิกทางให้รถจากจีนหลายแบรนด์ที่ตามเข้ามาทำตลาดได้ง่ายขึ้น

เอ็มจี เปิดตลาดในไทยด้วย MG 6 รถยนต์นั่งกลุ่ม ซี-เซ็กเมนต์ ตามมาด้วย MG 3 แม้ช่วงแรกตลาดไม่ดีนัก แต่ต่อมากลายเป็นหนึ่งในคู่แข่งที่สำคัญในตลาดรถเล็ก

แต่จุดเปลี่ยนสำคัญของเอ็มจีในไทย คือ การเปิดตัว "MG ZS" รถเอสยูวีขนาดเล็ก ที่ได้รับการตอบรับที่ดี แม้จะยังมีมุมมองด้านลบของผู้บริโภคบางกลุ่มอยู่บ้าง แน่นอนส่วนหนึ่งก็คือประเด็นเดิมคือ การเป็นแบรนด์จีน

แต่การตอบรับของลูกค้าที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งส่วนหนึ่งต้องยอมรับว่ามาจากภาพรวมตลาดที่รถในรูปแบบ เอสยูวี ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าว

แต่สิ่งสำคัญอีกส่วนหนึ่งก็มาจากเอ็มจีเอง ทั้งในส่วนของตัวรถและแนวทางการทำตลาด

โดยแนวทางการทำตลาด MG ZS เปิดตลาดด้วยโครงสร้างราคาที่ลูกค้าเข้าถึงได้ง่าย ขณะที่ตัวรถมีความเอนกประสงค์ ใช้งานได้หลากหลาย

และจุดขายของตัวรถที่เอ็มจีชูภาพความเป็น “สมาร์ทเอสยูวี” หนึ่งเดียวของตลาดในขณะนั้น ที่มีระบบปฏิบัติการอัจฉริยะอย่าง i-SMART ที่สั่งการด้วยเสียงภาษาไทย หรือว่า ออปชั่นอย่าง หลังคาซันรูฟแบบพาโนรามาขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นสิ่งที่สร้างความตื่นเต้นให้กับตลาดสำหรับรถที่มีระดับราคาไม่แรง

หลังการเปิดตัวในปี 2560 ไม่นาน MG ZS ถือว่าสร้างการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญให้กับ เอ็มจี ในประเทศไทย ด้วยการเป็นโมเดลที่ทำให้ เอ็มจี ขึ้นแท่นเป็นผู้เล่นหลักในตลาดเอสยูวี และยังส่งผลให้เซ็กเมนต์รถอเนกประสงค์ขนาดเล็กกลายเป็นสมรภูมิ เรด โอเชี่ยน และตลาดเติบโตหลายเท่าตัวถึงทุกวันนี้

และในปี 2561 บทบาทของ ZS  สำหรับ เอ็มจี ยิ่งเด่นชัดขึ้น จากการขึ้นแท่นอันดับ 3 ของยอดขายรวมในกลุ่ม บี-เอสยูวี ในปี 2561 ด้วยยอดขาย 14,669 คัน และเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ยอดขายโดยรวมของแบรนด์ เอ็มจี โตขึ้นแบบก้าวกระโดด

ขณะเดียวกัน เอ็มจี ก็พยายามเสริมรายละเอียดของรถเพื่อเพิ่มแรงดึงดูดลูกค้าอย่างต่อเนื่อง เช่นปี 2563 นำระบบ Emergency Call จากตัวรถไปยังเบอร์โทรที่การตั้งค่าไว้ ซึ่งจะช่วยให้ผู้ขับขี่ได้รับการช่วยเหลืออย่างทันท่วงทีในเวลาฉุกเฉินเป็นครั้งแรกของเอ็มจี 

สำหรับ MG ZS เป็น โกลบอล โมเดล ของเอสเอไอซี มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น ประเทศจีน (SAIC Motor Corporation) โดยมีการส่งออกไปทำตลาดในหลายประเทศ รวมถึงอังกฤษ ฝรั่งเศส อิตาลี เยอรมนี ออสเตรเลีย อินเดีย อินโดนีเซีย และเวียดนาม เป็นต้น

โดยข้อมูลถึงสิ้นเดือน ธ.ค. 2566 มียอดส่งออกสะสมสำหรับรุ่นที่ใช้เครื่องยนต์อย่างเดียว (ICE) 1.06 ล้านคัน

ส่วนตลาดประเทศไทยซึ่งทำตลาดด้วยรถที่ผลิตในประเทศ (CKD) มียอดขายสะสมสำหรับรุ่นที่ใช้น้ำมันอย่างเดียว 58,623 คัน

และตั้งแต่ช่วงเปิดตัวที่การแข่งขันยังไม่รุนแรงนัก จนถึงปัจจุบันที่เรียกได้ว่าเป็นตลาดที่ดุเดือด มีผู้เล่นในตลาดมากมาย แต่ก็ถือว่า MG ZS ยังเป็นหนึ่งในตัวเลือกที่ผู้บริโภคให้ความสนใจ

แต่แน่นอนด้วยทิศทางของตลาดที่เริ่มเปลี่ยนไป ผู้บริโภคให้ความสนใจกับพลังงานทางเลือกมากขึ้น โดยเฉพาะพลังงานไฟฟ้าที่มองว่าช่วยให้ผู้บริโภคประหยัดค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมที่กำลังกลายเป็นปัญหาใหญ่ของโลกวันนี้ เอ็มจี ก็กลายเป็นผู้ที่สร้างการเปลี่ยนแปลงสำคัญอีกครั้งกับการเปิดตลาด ZS ในเวอร์ชั่นพลังงานไฟฟ้า นั่นคือ “MG ZS EV” ในปี 2562

“แซดเอส” ยกระดับเอ็มจี เพิ่มทางเลือกสานต่อแผนธุรกิจโลก

เพราะในช่วงเวลานั้นแม้เมืองไทยจะเริ่มต้นตลาดอีวีแล้ว มีอีวีหลายรุ่นที่เข้ามาทำตลาด แต่ส่วนใหญ่ยังเป็นตลาดเฉพาะกลุ่ม (niche market) และมียอดขายรวมอยู่ในหลักร้อยคันต้นๆ ต่อปี

สาเหตุสำคัญ ก็เป็นเพราะผู้บริโภคยังไม่รู้จัก อีวี เพียงพอ ทำให้ขาดความมั่นใจในการซื้อหามาใช้งาน และอีกส่วนสำคัญคือ ระดับราคาที่สูงกว่ารถที่ใช้เครื่องยนต์มาก

แต่เอ็มจี สามารถเปิดตลาด MG ZS EV ในช่วงที่ยังไม่มีมาตรการสนับสนุนจากภาครัฐได้ในระดับราคา 1.19 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นราคาที่ลูกค้าเข้าถึงได้ง่าย และเรียกได้ว่าเป็นราคาที่ทำให้เกิดตลาด mass EV ในไทย ทำให้ปีแรกของการเปิดตัว ภาพรวมของตลาดอีวีกระโดดขึ้นสู่หลักพันคันในทันที และส่งผลให้เกิดแรงจูงใจสำหรับผู้จำหน่ายอีวี ที่ตัดสินใจเข้ามาทำตลาดในประเทศไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

และเมื่อได้แรงหนุนจากภาครัฐจากมาตรการส่งเสริมการใช้งานอีวี หรือ EV 3.0 ในปี 2565 ส่งผลให้ตลาดเติบโตแบบก้าวกระโดด เป็นหลักหมื่นคัน ล่าสุดปี 2566 มียอดจดทะเบียนรวมกว่า 7.6 หมื่นคัน

และเช่นเดียวกับรุ่นที่ใช้เครื่องยนต์ MG ZS EV ก็ถูกจัดให้เป็น โกลบอล โมเดล เช่นกัน โดยปัจจุบัน SAIC Motor Corporation ส่งออกเอสยูวีพลังงานไฟฟ้าขนาดเล็กรุ่นนี้ไปทั่วโลกแล้วว่า 1.56 แสนคัน เมื่อสิ้นสุดเดือน ธ.ค. 2566 ที่ผ่านมา

แน่นอนว่าการเปิดตัวช่วงแรกๆ ไม่ง่ายนัก แม้จะมีราคาที่เข้าถึงง่าย แต่ความไม่มั่นใจในการใช้งานของผู้บริโภคสำหรับ อีวี ยังมีอยู่ แต่การดำเนินกิจกรรมหลายๆ อย่างก็ทำให้ลดจุดด้อย หรือ pain point ตรงนี้ลง เช่น กิจกรรมขับขี่ในเส้นทางจริงที่หลากหลายรูปแบบในประเทศไทย หรือ EV Marathon ต่อเนื่อง 7 วัน เป็นต้น

รวมถึงการได้รับการยอมรับจากหลายๆ ตลาดทั่วโลก หรือการคว้ารางวัลต่างๆ ก็ส่งผลให้ผู้บริโภคมั่นใจยิ่งขึ้น เช่น

  • รางวัล Top EV Sales Award 2019 ผู้จำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้ารวมสูงสุด ปี 2562 จัดโดย สมาคมผู้สื่อข่าวรถยนต์และรถจักรยานยนต์ไทย
  • รางวัล Product of the Year Awards 2020 สุดยอดสินค้าแห่งปี 2563 ประเภทรางวัล “ยานยนต์ยอดเยี่ยมแห่งปี” ในกลุ่มผลิตภัณฑ์ยานยนต์ไฟฟ้า จัดโดย นิตยสาร Business+ ร่วมกับวิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล
  • รางวัล รถยนต์แห่งปี (Car of the Year 2022) และ รางวัล Best Value Electric Car จากทีมงาน Driving Electric
  • รางวัล Best Family Electric Car จาก CARBUYER BEST CAR AWARD 2023
  • รางวัลรถยอดเยี่ยมแห่งปี “Car of The Year 2023” ประเภทรางวัล The Most Valuable EV Car เป็นต้น

และอีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กันก็คือการขยับตัวของเอ็มจี ในช่วงที่ผู้บริโภคยังไม่มั่นใจเรื่องความสะดวกในการใช้งานอีวี ด้วยการเป็นแบรนด์แรกที่มีเครือข่ายสถานีชาร์จไฟ เป็นของตนเอง คือ MG SUPER CHARGE ซึ่งปัจจุบันเปิดให้บริการ 146 แห่ง

และหากมองในภาพรวมตลาด เอสยูวี ขนาดเล็ก นอกจากเครื่องยนต์ และ อีวี จริงๆ แล้วเอ็มจี ยังมีอีกหนึ่งทางเลือก นั่นคือลูกผสมอย่างเทคโนโลยี ไฮบริด เพียงแต่ว่าไม่ได้เป็น ZS แต่ก็จัดอยุ๋ในกลุ่มตลาดเดียวกัน ก็คือ “VS HEV” ที่เปิดตัวเป็นในปี 2565

“แซดเอส” ยกระดับเอ็มจี เพิ่มทางเลือกสานต่อแผนธุรกิจโลก

มาพร้อม เครื่องยนต์เบนซิน 4 สูบ 16 วาล์ว VTi-TECH ทำงานคู่กับมอเตอร์ไฟฟ้า ให้กำลังสูงสุดที่ 177 แรงม้า ส่งกำลังผ่านเกียร์อัตโนมัติ E-CVT นอกจากนี้ ยังเป็นจุดขายอื่นๆ เช่น ครั้งแรกของรถยนต์ในกลุ่ม บี เอสยูวี ที่มี Dual Widescreen Cockpit ที่ให้จอ Widescreen ขนาด 12.3 นิ้ว ติดกัน 2 จอหรือ กระจังหน้าในรูปแบบ Electrified Matrix Grille Design เป็นต้น

ท้ายที่สุดหากมอภาพปัจจุบัน ตลาดรถยนต์แข่งขันรุนแรง ทั้งในด้านของตลาด บี-เอสยูวี ที่ยังคงได้รับความนิยมจากผู้บริโภค และความสนใจทำตลาดของผู้ประกอบการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และกระแสของพลังงานไฟฟ้า

แต่ดูเหมือนเอ็มจี จะไม่ได้เทหน้าตักไปยังพลังงานใดพลังงานหนึ่งทั้งหมด เพราะเชื่อว่าตลาดยังมีความต้องการที่หลากหลาย และสิ่งที่เอ็มจีกำลังดำเนินการอยู่นี้น่าจะเป็นแนวทางที่ให้คำตอบได้ดีที่สุด

และขณะเดียวกัน ตระกูล ZS ก็จะยังมีบทบาทสำคัญต่อไป โดยบริษัทแม่ SAIC Motor Corporation ยืนยันว่า ในช่วงเวลาที่แบรนด์เอ็มจี จะมีอายุครบ 100 ปี MG ZS ถูกวางให้เป็นหนึ่งโมเดลสำคัญ ที่จะสร้างความสำเร็จบทใหม่ และจะมีความเคลื่อนไหวใหม่ๆ ที่น่าสนใจเร็วๆ นี้