ตลาด EV บูมยอดจองทะลัก ทุบสถิติยอดจดทะเบียนรถป้ายแดง

ตลาด EV บูมยอดจองทะลัก ทุบสถิติยอดจดทะเบียนรถป้ายแดง

ส.อ.ท.เผยตลาด EV ไทยบูม คาดปี 2566 คาดยอดจดทะเบียน BEV อยู่ที่ 4 หมื่นคัน มั่นใจมอเตอร์โชว์หนุนยอดขาย ‘เนต้า’ เพิ่มเป้าขาย 1.5 หมื่นคัน เปิดตัวอย่างน้อยปีละ 1 รุ่น ปี 67 ส่ง 3 รุ่น คาดยอดขายอีวีทุกเจ้าในไทยปีนี้แตะ 5 หมื่นคัน โต 4 เท่า พร้อมเดินเครื่องโรงงานปลายปี 66

Key Points

  • ยอดขายรถ EV ในไทยเพิ่มขึ้นต่อเนื่องทำให้ยอดจดทะเบียนรถใหม่เดือน ก.พ.ทำสถิติสูงสุด
  • ส.อ.ท.ประเมินว่ายอดขายรถ BEV ในปี 2566 จะอยู่ที่ 40,000 คัน สูงขึ้นมากจากปีที่แล้ว
  • งานมอเตอร์โชว์ที่จะมีถึงวันที่2 เม.ย.2566 จะมีส่วนสนับสนุนยอดขายรถ EV 
  • ‘เนต้า’ ผู้ผลิตรถ EV สัญชาติจีนมั่นใจตลาดไทยเตรียมขยับเป้าหมายยอดขายเป็น 15,000 คัน

ตลาดรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ขยายตัวอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่รัฐบาลได้ประกาศมาตรการอุดหนุนการซื้อยานยนต์ไฟฟ้าตั้งแต่คันละ 70,000-150,000 บาท ทำให้มีบริษัทรถยน์หลายรายทำข้อตกลงกับกรมสรรพสามิตเพื่อรับสิทธิเงินอุดหนุนรถ เช่น เอ็มจี เกรทวอลมอเตอร์ เนต้า โตโยต้าบีวายดี

สถิติจดทะเบียนยานยนต์ไฟฟ้าในไทยขยายตัวต่อเนื่อง และทำสิถิติสูงสุดในเดือน ก.พ.2566 ตามการรายงานของกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ที่ระบุว่า ยอดจดทะเบียนป้ายแดงของรถยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่ หรือ Battery Electric Vehicle (BEV) อยู่ที่ 5,402 คัน สูงสุดนับตั้งแต่มีการบันทึกจำนวนจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้า โดยเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าในเดือนเดียวกัน 5,016.16% และเมื่อรวมยอดจดทะเบียนรถยนต์นั่งทั้งหมดในเดือนนี้ รถยนต์นั่ง BEV มีสัดส่วนคิดเป็น 7.85%

ส่วนยอดจดทะเบียนใหม่ของรถยนต์ไฟฟ้าประเภทอื่น ก.พ. 2566 ได้แก่ รถยนต์นั่งไฟฟ้าผสมเครื่องยนต์ (HEV) จำนวน 7,842 คัน เพิ่มขึ้น 46.71% และมีสัดส่วน 11.37% ของยอดรวมรถยนต์นั่ง 

รถยนต์นั่งไฟฟ้าแบบปลั๊กอิน (PHEV) จำนวน 1,249 คัน เพิ่มขึ้น 30.51% และมีสัดส่วน 1.82% ของยอดรวมรถยนต์นั่ง โดยเมื่อรวมยอดจดทะเบียนรถยนต์นั่งไฟฟ้าทุกประเภท จะทำให้คิดเป็นสัดส่วน 21.04% ของยอดรวมรถยนต์นั่งทั้งหมด 

นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ยอดจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้าสูงขึ้นก้าวกระโดดมาจากนโยบายส่งเสริมกระตุ้นการซื้อรถยนต์ไฟฟ้าของรัฐบาล จึงทำให้ราคาขายรถยนต์ไฟฟ้าลดลงอยู่ในระดับที่ประชาชนเข้าถึงได้

"มาตรการของรัฐบาลสร้างความเชื่อมั่นให้รถยนต์ไฟฟ้าอันดับต้น เข้ามาตั้งฐานผลิตและจำหน่ายในประเทศไทยมากขึ้น ผู้ซื้อก็มั่นใจและสามารถเลือกซื้อรุ่นรถตามความนิยมของตนได้”

สำหรับสถิติการจดทะเบียนยานยนต์ไฟฟ้าสะสม ณ 28 ก.พ.2566 แบ่งได้ดังนี้ 1.BEV 44,294 คัน เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบช่วงเดียวกันกับปีที่แล้ว 244.19% โดยรถยนต์นั่งเป็นกลุ่มที่มีมากที่สุด รองลงมาเป็นรถจักรยานยนต์ 2.HEV 275,193 คัน เพิ่มขึ้น 33.47% โดยรถยนต์นั่งเป็นกลุ่มที่มีมากที่สุด รองลงมาเป็นรถจักรยานยนต์ 3.PHEV 44,596 คัน เพิ่มขึ้น 36.19% 

มอเตอร์โชว์หนุนยอดขายอีวี

ทั้งนี้การจัดงานบางกอก อินเตอร์เนชั่นแนล มอเตอร์โชว์ 2023 ระหว่างวันที่ 22 มี.ค.ถึงวันที่ 2 เม.ย.2566 คาดว่าจะมียอดจำหน่ายสูงกว่าปีก่อน หรือมากกว่า 40,000 คัน โดยส่วนหนึ่งจะมาจาดกยอดขายรถยานยนต์ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น โดยปัจจุบันรถยนต์นั่ง BEV มียอดจดทะเบียนสะสมณ วันที่ 28 ก.พ. 2566 จำนวนทั้งสิ้น 21,875 คัน เพิ่มขึ้น 375.75% จากช่วงเวลาเดียวกันปี2565

ขณะที่จำนวนรถยนต์ทั้งหมดที่ผลิตได้ในเดือน ก.พ.2566 มีทั้งสิ้น 165,612 คัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 6.39% เนื่องจากได้รับชิ้นส่วนเซมิคอนดักเตอร์ (ชิพ) เพิ่มขึ้น ทำให้สามารถผลิตได้ตามออเดอร์ที่ยังค้างอยู่ โดยคาดว่าสถานการณ์ขาดแคลนชิพเริ่มคลี่คลายตามลำดับ หลังจากการเปิดประเทศทำให้ความต้องการสินค้าอิเล็กทรอนิกส์จากการทำงานที่บ้านลดน้อยลง จึงทำให้ชิพสามารถถูกจัดสรรให้แก่อุตสาหกรรมยานยนต์ได้ตามปกติ 

โดยรวมยอดการผลิตรถยนต์ 2 เดือนแรกปีนี้ (ม.ค.-ก.พ.2566) อยู่ที่ 327,939 คัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อนหน้า 6.68%

จับตาเศรษฐกิจโลกฉุดส่งออกรถ 

อย่างไรก็ตามยังมีปัญหาเรื่องพื้นที่ในเรือขนส่งรถยนต์ (Ro-Ro) ไม่เพียงพอและวนกลับมาจากท่าเรือประเทศออสเตรเลียมารับรถยนต์รอบใหม่ล่าช้าจากรถยนต์ที่ส่งจากประเทศไทยมีดอกหญ้าติดไปกับรถ ต้องล้างทำความสะอาดรถเป็นจำนวนมาก ทำให้รถยนต์บนเรือไม่สามารถขึ้นท่าเรือได้

“ทั้งนี้ยังต้องจับตาผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกที่อาจส่งผลต่อการส่งออกรถยนต์ไทยระยะต่อไปโดยเฉพาะช่วงนโยบายดอกเบี้ยขาขึ้น รวมทั้งวิกฤติธนาคารต่างประเทศ ซึ่งอาจยังเป็นเพียงภูเขาน้ำแข็ง ขณะที่สถาบันการเงินในไทยอาจเข้มงวดการปล่อยสินเชื่อ และจะกระทบกำลังซื้อนอกจากนี้ต้องติดตามปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ใกล้ชิด หากวิกฤติไม่ลุกลามคาดว่าการผลิตรถยนต์ของไทยจะกลับไปสู่ระดับ 2 ล้านคันได้ในปี 2567”

ตลาดรถอีวี เนต้าเพิ่มเป้าขาย 1.5 หมื่นคัน

เนต้า ปรับเพิ่มเป้าขาย 1.5 หมื่นคัน หลังบริษัทแม่เห็นศักยภาพตลาดประเทศไทยคาดภาพรวมอีวีปีนี้ทะลุ 5 หมื่นคัน วางแผนเปิดตัวรถใหม่ต่อเนื่องทั้งเอสยูวี, สปอร์ต เนต้า จีทีส่งรถขนาดเล็กศึกษาตลาดเจาะกลุ่มขนส่ง ธุรกิจส่วนตัว ด้านการผลิตพร้อมเดินเครื่องโรงงานบางชันปลายปีนี้

นายเป่า จ้วงเฟย ผู้จัดการทั่วไป บริษัท เนต้า ออโต้ (ไทยแลนด์) จำกัด กล่าวว่า หลังจากเนต้าเข้ามาเปิดตลาดไทยเป็นแห่งแรกนอกประเทศจีนในเดือน ส.ค.2565 พบว่าได้รับการตอบรับจากลูกค้าจำนวนมาก ก่อนที่จะเริ่มต้นส่งมอบในช่วงปลายเดือน ก.ย. อย่างไรก็ตามด้วยปัญหาการผลิตจากการขาดแคลนชิ้นส่วน โดยเฉพาะเซมิคอนดัคเตอร์ที่เกิดขึ้นทั่วโลก ทำให้เนต้า ไม่สามารถส่งมอบรถได้พอ

ขณะนี้เนต้า วี รถรุ่นแรกที่ทำตลาด ส่งถึงมือลูกค้าประมาณ 3,000 คัน และมียอดค้างจองอีก4,000 คัน แต่ล่าสุดรถล็อตใหญ่ 3,600 คัน ได้ออกเดินทางจากท่าเรือกวางโจว ประเทศจีน มาไทยเพื่อส่งมอบให้ลูกค้าแล้ว

ปรับเพิ่มเป้าอีก 5,000 คัน

สำหรับปี 2566 เดิมตั้งเป้าหมายการขาย 10,000 คัน แต่ล่าสุดเพิ่มเป็น 15,000 คัน เพราะเห็นทิศทางการเติบโตของตลาดอีวีไทยที่ปีนี้จะเติบโตโดดเด่น เป็น 30,000-50,000 คัน ขณะที่ปี2565 มีประมาณ 14,000 คน

นอกจากนี้ก็เป็นผลจากการตอบรับของลูกค้า รวมถึงการที่ผู้บริหาร เนต้า ออโต้ บริษัทแม่ประเทศจีน มาเห็นตลาดประเทศไทยด้วยตัวเอง และเห็นว่ามีศักยภาพที่ดี จึงพร้อมที่จะสนับสนุนเต็มที่

“จีนเพิ่งเปิดประเทศได้ไม่นานจากปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้การเดินทางสะดวกขึ้น และเมื่อมาเห็นตลาดประเทศไทย ก็เห็นว่ามีโอกาสเติบโตได้อีกมาก”

รวมทั้งเพื่อให้สอดคล้องกับตัวเลขการขายที่เพิ่มขึ้น เนต้าจะขยายเครือข่ายจำหน่ายเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันที่เซ็นสัญญาแล้ว 27 แห่ง จะเพิ่มเป็น 40-50 แห่งภายในปีนี้

เปิดตัวอย่างน้อยปีละ 1 รุ่น

ด้านผลิตภัณฑ์ แม้ช่วงนี้จะมีรถทำตลาดหลักแค่รุ่นเดียว แต่เนต้าวางแผนในอนาคตจะเปิดตัวอย่างต่อเนื่อง อย่างน้อยปีละ 1 รุ่น แต่ปี 2567 จะมี 2-3 รุ่น ซึ่งมีทั้งรถเอสยูวี และรถสปอร์ต

ทั้งนี้ที่ผ่านมา เนต้า นำรถเข้ามาเข้ามาแสดงในไทยทั้งเอสยูวี เนต้า ยู โปร และรถสปอร์ต เนต้าเอส และมีความสนใจที่จะทำตลาด อย่างไรก็ตาม การที่มาตรการส่งเสริมการใช้งานรถยนต์พลังงานไฟฟ้าระยะเร่งด่วนของภาครัฐจะหมดในปีนี้ และบริษัทแม่เตรียมเปิดตัวรถเจเนอเรชั่นใหม่ของเอสยูวี ซึ่งจะมาแทนที่ เนต้า ยู โปร ทำให้บริษัทตัดสินใจยังไม่ทำตลาดในปีนี้

ขณะที่ เนต้า เอส ซึ่งเป็นอีกรุ่นที่ผู้บริโภคชาวไทยให้ความสนใจ บริษัทแม่เตรียมปิดตัวรถสปอร์ตรุ่นใหม่ เนต้า จีที ในเดือน มิ.ย.ที่จะถึงนี้ ดังนั้นบริษัทจึงรอพิจารณาว่าจะนำรุ่นไหนเข้ามาทำตลาดในไทยต่อไป

ขณะเดียวกันบริษัทก็ให้ความสนใจตลาดรถเพื่อการพาณิชย์ขนาดเล็ก ระยะทางใช้งานประมาณ 120 กิโลเมตร ต่อการชาร์จไฟ 1 ครั้ง ซึ่งนำมาจัดแสดงในงานบางกอก อินเตอร์เนชั่นแนล มอเตอร์โชว์ ขณะนี้

โดยรถดังกล่าวเหมาะกับลูกค้าที่ต้องการรถประกอบอาชีพ เช่น รถขายอาหาร รถขนส่งสินค้าระยะทางใกล้ พื้นที่คับแคบ หรือรถที่ใช้ภายในโรงงาน ที่พัก เพราะมีความคล่องตัว และไม่มีไอเสีย

รวมทั้งบริษัทจะดูการตอบรับของลูกค้าในงานมอเตอร์โชว์ รวมถึงศึกษาเรื่องภาษีในประเทศไทย ก่อนพิจารณาทำตลาดต่อไป โดยค่อนข้างมั่นใจว่าจะได้รับความสนใจจากตลาดประเทศไทย

สำหรับรถรุ่นรถนี้ เป็นแบบมีที่นั่งเดียว พัฒนาในตลาดประเทศจีนเพื่อรองรับการขนส่งแทนที่รถสามล้อ และมีราคาจำหน่ายคิดเป็นเงินไทยไม่ถึง 2 แสนบาท

พร้อมเดินเครื่องโรงงานปลายปี 66

ส่วนความคืบหน้าของแผนการประกอบรถในไทย ที่ร่วมมือกับ บางชัน เยเนอเรล เอเซมบลี ในนิคมอุตสาหกรรมบางชัน อยู่ในช่วงการติดตั้งไลน์การประกอบ และติดตั้งเครื่องมืออื่นๆ คาดว่าจะเริ่มต้นเดินเครื่องได้ปลายปีนี้ และเปิดสายการผลิตอย่างเป็นทางการต้นปี 2567 เบื้องต้นโรงงานแห่งนี้มีกำลังการผลิตปีละ 10,000 คัน/กะ และสามารถผลิตได้ 2 กะ

นอกจากนี้ควบคู่ไปกับการเตรียมแผนการผลิต บริษัทก็รุกหาพันธมิตรบริษัทผู้ผลิตแบตเตอรีในไทย เพื่อเพิ่มศักยภาพการผลิต และสอดคล้องกับข้อกำหนดของรัฐบาลบไทยในอนาคตอีกด้วย

สำหรับเนต้า ออโต้ ประเทศจีน เริ่มโดยกลุ่มสตาร์ทอัพในปี 2557 ปัจจุบันผลิตรถ 3 รุ่น คือ เนต้า วี, เนต้า ยู และเนต้า เอสมียอดจำหน่ายรวมกว่า 2.5 แสนคัน และเป็นกลุ่มบริษัทอีวีที่มียอดขายที่เติบโตสูงอย่างต่อเนื่องในจีน