เกิดอุบัติเหตุแล้วหลอก จนท. เปลี่ยนตัวคนขับ หนีเป่าเมา-หลอกประกัน โทษหนัก

เกิดอุบัติเหตุแล้วหลอก จนท. เปลี่ยนตัวคนขับ หนีเป่าเมา-หลอกประกัน โทษหนัก

ตำรวจเตือน! เกิดอุบัติเหตุ แล้วหลอกเจ้าหน้าที่ เปลี่ยนตัวคนขับ หนีเป่าเมาแล้วขับ หรือหวังหลอกประกัน โทษหนักกว่าที่คิด

กรณีเกิดอุบัติเหตุแล้วหลอกเจ้าหน้าที่ เปลี่ยนตัวคนขับ หนีเป่าเมาแล้วขับ หรือหวังหลอกประกัน ล่าสุด พ.ต.อ.ศิริวัฒน์ ดีพอ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า ในห้วงที่ผ่านมา สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พบว่า มีหลายกรณี เมื่อมีอุบัติเหตุรถชนเกิดขึ้น ไม่ว่าจะมีผู้ได้รับบาดเจ็บหรือไม่ก็ตาม 

เจ้าหน้าที่ตรวจสอบพบภายหลังว่า ผู้ที่แสดงตัวเป็นผู้ขับขี่กับเจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นคนละคนกับผู้ขับขี่ในขณะที่เกิดอุบัติเหตุ ซึ่งจากการตรวจสอบมักจะพบว่าเหตุที่มีการเปลี่ยนตัวคนขับ มักจะมีเหตุมาจาก ผู้ขับขี่ไม่มีใบอนุญาตขับขี่ ผู้ขับขี่ขับขี่ขณะเมาสุรา รถคันที่ขับขี่ทำประกันภัยประเภทระบุชื่อคนขับ หรืออาจเป็นผู้ที่มีชื่อเสียงไม่อยากให้ตนเองตกเป็นผู้ต้องหาจากการทำให้เกิดอุบัติเหตุ เป็นต้น

สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ขอเตือนไปยังพี่น้องประชาชน ที่คิดจะหลอกลวงเจ้าหน้าที่ตำรวจ หรือพนักงานสอบสวนที่ไปตรวจสถานที่เกิดเหตุ อ้างว่าตนเอง หรือบุคคลอื่น เป็นผู้ขับขี่ยานพาหนะในขณะเกิดโดยไม่เป็นความจริง เพราะความผิดของท่านจะไม่ได้เพียงข้อหาแจ้งความเท็จต่อเจ้าพนักงาน ตาม ป.อาญา มาตรา 137 ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

เกิดอุบัติเหตุแล้วหลอก จนท. เปลี่ยนตัวคนขับ หนีเป่าเมา-หลอกประกัน โทษหนัก

แต่จะเป็นความผิดตาม ป.อาญา มาตรา 172 ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “ผู้ใดแจ้งข้อความอันเป็นเท็จเกี่ยวกับความผิดอาญาแก่พนักงานอัยการ ผู้ว่าคดี พนักงานสอบสวน หรือเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญา ซึ่งอาจทำให้ผู้อื่นหรือ ประชาชนเสียหาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ” และยังต้องรับโทษในฐานะผู้ขับขี่ หากอุบัติเหตุดังกล่าวเกิดจากความประมาท หรือเกิดจากการขับขี่ในขณะเมาสุรา เพราะถือเป็นการกระทำความผิดต่างกรรมต่างวาระกัน อีกทั้งในบางกรณี การเปลี่ยนตัวผู้ขับขี่อาจเป็นเหตุให้บริษัทประกันภัยฟ้องร้องค่าสินไหมทดแทนที่ชดใช้ให้กับคู่กรณี คืนจากเจ้าของรถหรือผู้ขับขี่อีกด้วย
     
สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จึงขอเตือนไปยังพี่น้องประชาชน ว่าอย่าคิดที่จะเปลี่ยนตัวคนขับเป็นอันขาด ไม่ว่าตนเองจะเป็นฝ่ายผิด หรือฝ่ายถูกก็ตาม เพราะถือเป็นความผิดตามกฎหมาย และสุดท้ายนี้หากพี่น้องประชาชนพบเห็นอุบัติเหตุบนท้องถนน สามารถโทรศัพท์แจ้งเหตุได้ที่ โทรศัพท์สายด่วน 191 และสายด่วนสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ 1669 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง