ครั้งแรก ‘ซีอีโอ’ ฟอร์ด เยือนโรงงานไทย ย้ำนโยบาย ‘ฟอร์ด พลัส’ ลุ้นแผนผลิต EV

ครั้งแรก ‘ซีอีโอ’ ฟอร์ด เยือนโรงงานไทย ย้ำนโยบาย ‘ฟอร์ด พลัส’ ลุ้นแผนผลิต EV

จิม ฟาร์ลีย์ ประธานและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ฟอร์ด มอเตอร์ คัมปะนี (Ford Motor Co.) เยี่ยมชมฐานการผลิตรถยนต์ฟอร์ดในจังหวัดระยองเป็นครั้งแรก ตอกย้ำบทบาทของไทยในฐานะตลาดสำคัญและศูนย์กลางการผลิตและส่งออกรถยนต์ระดับโลกของฟอร์ด 

สำหรับฟอร์ด เข้ามาลงทุนในไทยตั้งแต่ปี 2538 ปัจจุบันมีโรงงานผลิต 2 แห่งในจังหวัดระยอง คือ โรงงานฟอร์ด ไทยแลนด์ แมนูแฟคเจอร์ริ่ง (เอฟทีเอ็ม) ซึ่งเป็นการลงทุนของฟอร์ด 100% และโรงงานออโต้อัลลายแอนซ์ ประเทศไทย (เอเอที) โรงงานร่วมทุนกับมาสด้า

ปัจจุบันการผลิตรถยนต์ในไทย คือ ปิกอัพ ฟอร์ด เรนเจอร์ และรถยนต์นั่งอเนกประสงค์ฟอร์ด เอเวอเรสต์ ซึ่งล่าสุด รถเจเนอเรชั่นใหม่ได้รับการตอบรับที่น่าพอใจ ยอดขายเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และมียอดขายในเดือนสิงหาคม สูงสุดเป็นอันดับที่ 4 ของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การดำเนินงาน 26 ปีของฟอร์ดในประเทศไทย และมียอดขายตั้งแต่ต้นปีจนถึงสิ้นเดือนสิงหาคม รวม 23,216 คัน

โดยการเยี่ยมชมโรงงานครั้งนี้ จิม ฟาร์ลีย์ และ คูมาร์ กัลโฮทรา ประธานฟอร์ด บลู ใช้เวลาส่วนหนึ่งในการพบปะพูดคุยกับพนักงานในสายการผลิต และร่วมกิจกรรมต่างๆ รวมถึงเยี่ยมชมการทำงานของตัวแทนจำหน่ายฟอร์ดในจังหวัดระยอง พร้อมชมการสาธิตการนำกลยุทธ์ ‘ฟอร์ด พลัส’ มาปรับใช้ในการดำเนินงาน

ทั้งนี้ ฟอร์ด มอเตอร์ คัมปะนี เป็นหนึ่งในบริษัทยานยนต์ผู้ลงทุนรายใหญ่ในไทย มูลค่าการลงทุนสะสมกว่า 3,400 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 1 แสนล้านบาท โดยล่าสุดคือการประกาศลงทุน 2.8 หมื่นล้านบาทในปี 2564 ที่ผ่านมา 

การลงทุนดังกล่าวเป็นหนึ่งในกลยุทธ์การขับเคลื่อนธุรกิจ “ฟอร์ด พลัส” (Ford+) โดยเพิ่มการลงทุนครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ 25 ปี การดำเนินธุรกิจในไทย

เพิ่มจ้างงาน โรงงาน-ซัพพลายเออร์
การลงทุน 900 ล้านดอลลาร์ครั้งนี้แบ่งเป็นการสนับสนุน ซัพพลายเออร์ ยกระดับการผลิต รองรับรถรุ่นใหม่ 400 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 1.3 หมื่นล้านบาท เพื่อส่งเสริมธุรกิจในห่วงโซ่อุปทาน และเพิ่มการจ้างงานของพันธมิตรทางธุรกิจอีกกว่า 250 ตำแหน่ง

และอีก 500 ล้านดอลลาร์ หรือ ประมาณ 1.5 หมื่นล้านบาท เป็นการใช้ปรับปรุงโรงงานผลิตทั้ง 2 แห่ง ในจังหวัดระยอง คือ ออโต้อัลลายแลนซ์ ประเทศไทย หรือ เอเอที และโรงงาน ฟอร์ด ไทยแลนด์ แมนูแฟคเจอริ่ง หรือ เอฟทีเอ็ม  รวมถึงการจ้างงานเพิ่มทั้ง 2 โรงงาน อีก 1,250 คน ทำให้มีพนักงานรวมทั้งสิ้นกว่า 9,000 คน

“การลงทุนครั้งนี้นับว่าเป็นก้าวสำคัญในการต่อยอดความมุ่งมั่นของฟอร์ดตลอดระยะเวลา 25 ปี ซึ่งจะทำให้เรายกระดับการดำเนินงานให้มีความทันสมัยยิ่งขึ้น พร้อมรองรับการผลิตฟอร์ด เรนเจอร์ เจเนอเรชัน ใหม่ หนึ่งในรถที่มียอดการผลิตสูงสุด และมียอดขายสูงสุดทั่วโลก”

ครั้งแรก ‘ซีอีโอ’ ฟอร์ด เยือนโรงงานไทย ย้ำนโยบาย ‘ฟอร์ด พลัส’ ลุ้นแผนผลิต EV

ฟอร์ดระบุว่าการลงทุนครั้งนี้ทำให้โรงงานฟอร์ดในประเทศไทย มีประสิทธิภาพการผลิตเทียบเท่าโรงงานระดับแถวหน้าของโลก เพิ่มความยืดหยุ่นในการผลิตรถได้หลากหลายรูปแบบในสายการผลิตเดียว สามารถเลือกผลิตรถรุ่นย่อยที่แตกต่างสลับกันได้  ไม่ว่าจะเป็น ปิกอัพตอนเดียว ตอนครึ่ง และแบบ 4 ประตู ทำให้สามารถบริหารสต็อกได้ดีขึ้นตรงกับความต้องการของลูกค้า ช่วยร่นเวลาในการรอรับรถ

"แต่เดิมการผลิตจะต้องทำเป็นล็อตๆ แต่เทคโนโลยีใหม่ที่นำมาใช้ เมื่อได้รับคำสั่งซื้อมาจากลูกค้า เราสามารถปรับเปลี่ยนสายการผลิตได้ทันที" 

เพิ่มโรบอทในสายการผลิต 356 ตัว

นอกจากนี้ ยังเพิ่มหุ่นยนต์อุตสาหกรรม หรือ โรบอท จำนวน 356 ตัว รวมเป็นทั้งสิ้น 700 ตัว เพื่อเสริมกำลังการผลิตทั้งที่โรงงานเอเอที และเอฟทีเอ็ม โดยหุ่นยนต์ที่เพิ่มขึ้นจะนำมาใช้ในส่วนงานประกอบตัวถัง งานพ่นสี ซึ่งจะทำให้ฟอร์ดมีจำนวนเครื่องจักรในส่วนงานประกอบตัวถังเพิ่มขึ้นจาก 34% เป็น 80% ในโรงงาน เอฟทีเอ็ม และ 69% ใน เอเอที 

นอกจากนี้ยังลงทุนเครื่องมือทันสมัยอื่นๆ เช่น เครื่องมือสแกน บ็อกซ์ เพื่อสแกนชิ้นส่วนต่างๆ แบบ 3 มิติ ได้อย่างแม่นยำ และรวดเร็วกว่าเครื่องมือแบบเดิม จากที่ใช้เวลา 240 นาที/คัน เหลือ 15 นาที และลงทัุนเครื่องจักรพับขอบประตูตัวถัง เครื่องมือสแกนสี สำหรับรถที่ทำสีเสร็จเรียบร้อยแล้ว

ทั้งนี้การติดตั้งเครื่องจักรใหม่ ยังนำผู้เชี่ยวชาญกว่า 500 คน จากต่างประเทศเข้ามาฝึกอบรมพนักงานในโรงงาน 

ครั้งแรก ‘ซีอีโอ’ ฟอร์ด เยือนโรงงานไทย ย้ำนโยบาย ‘ฟอร์ด พลัส’ ลุ้นแผนผลิต EV

"พนักงานจะทำงานร่วมกับอุปกรณ์และเครื่องมือต่างๆ ที่ล้ำสมัยได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อยกระดับคุณภาพการผลิต และสร้างความพึงพอใจสูงสุดให้กับลูกค้า การลงทุนที่ให้ฟอร์ดก้าวขึ้นเป็นผู้ผลิตรถยนต์รายแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่นำเทคโนโลยีตรวจสอบพื้นผิวหรือสแกนบ็อกซ์ มาใช้ตรวจสอบรถทั้งคันในระหว่างขั้นตอนการประกอบรถได้อย่างละเอียดถี่ถ้วน และรวดเร็วกว่าเดิมถึง 5 เท่า"

นอกจากนี้ โรงงานเอฟทีเอ็มและเอเอที ยังยกระดับเรื่องสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นการใช้พลังงานทดแทน ลดการปล่อ

คาร์บอนไดออกไซด์ รวมไปถึงการยกเลิกการกำจัดขยะด้วยวิธีฝังกลบ

เพิ่มผลิต-ส่งออก-ขายในประเทศ
การยกระดับโรงงานครั้งนี้ รวมถึงการเพิ่มกะการผลิตช่วงกลางคืน จะทำให้ฟอร์ดสามารถเพิ่มการผลิตได้มากขึ้น จากเดิมประมาณ 2.3 แสนคัน/ปี เป็น 2.8 แสนคัน/ปี

การเพิ่มการผลิต เพื่อรองรับความต้องการของตลาดที่คาดว่จะเพิ่มสูงขุึ้นในอนาคต รวมถึงการส่งออก ที่จะเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน โดยเป้าหมายการส่งออก เรนเจอร์ใหม่ที่จะเริ่มต้นผลิตและทำตลาดกลางปี 2565 อยู่ที่ 60% ของการผลิตทั้งหมด โดยมีตลาดเป้าหมายมากกว่า 100 ประเทศ 

ครั้งแรก ‘ซีอีโอ’ ฟอร์ด เยือนโรงงานไทย ย้ำนโยบาย ‘ฟอร์ด พลัส’ ลุ้นแผนผลิต EV

ทั้งนี้การเยือนไทยครั้งนี้ เกิดขึ้นหลังจากที่มีข่าวจากผู้บริหารฟอร์ด ในงาน ดีทรอยท์ ออโต้ โชว์ ที่เมืองดีทรอยท์ มิชิแกน สหรัฐอเมริกา ที่ระบุว่า ฟอร์ด กำลังวางแผนที่จะผลิตรถยนต์พลังงานไฟฟ้า (EV) ในประเทศไทย เพื่อรองรับการทำตลาดในประเทศ และส่งออกไปยังอีกหลายประเทศ