เปิดตัว โทรฟี่ “โมโตจีพี” แรงบันดาลใจแสงอาทิตย์ลอดปราสาทหินพนมรุ้ง

เปิดตัว โทรฟี่ “โมโตจีพี” แรงบันดาลใจแสงอาทิตย์ลอดปราสาทหินพนมรุ้ง

กระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา ร่วมกับ การกีฬาแห่งประเทศไทย หน่วยงานภาครัฐ-เอกชน เปิดตัวถ้วยรางวัลโมโตจีพี (MotoGP) รายการ “โออาร์ ไทยแลนด์ กรังด์ปรีซ์ 2022” พร้อมระเบิดศึก30 กันยายน – 2 ตุลาคม 2565

กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา แถลงข่าวนับถอยหลังการจัดการแข่งขันรถจักรยานยนต์ทางเรียบชิงแชมป์โลก หรือโมโตจีพี (MotoGP) ที่ไทยเป็นเจ้าภาพ ภายใต้ชื่อรายการ “โออาร์ ไทยแลนด์ กรังด์ปรีซ์ 2022” (OR THAILAND GRAND PRIX 2022) ที่สนามช้าง อินเตอร์เนชั่นแนล เซอร์กิต จ.บุรีรัมย์ ระหว่าง 30 กันยายน – 2 ตุลาคม 2565 ซึ่งเป็นการแข่งขันที่ไทยเป็นเจ้าภาพปีที่ 3

พิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า ขณะนี้ประเทศไทยพร้อมเกิน 100% ที่จะจารึกหน้าประวัติศาสตร์การแข่งขันร่วมกันอีกครั้ง โดยทางกระทรวงฯ มีกำหนดการนำคณะทำงานลงพื้นที่ตรวจความพร้อมครั้งสุดท้าย ก่อนเริ่มงานวันที่ 28 กันยายน 2565

นอกจากนี้ยังเปิดโฉมถ้วยรางวัลสำหรับการแข่งขันปีนี้ โดยการออกแบบสื่อถึงปรากฏการณ์ธรรมชาติที่แสงอาทิตย์ลอดช่อง 15 ประตู ของปราสาทหินพนมรุ้ง โบราสถานที่สำคัญและมีชื่อเสียงโด่งดังของ จ.บุรีรัมย์

ขณะที่ด้านบนของฐานคือลวดลาย บนแทร็กของ สนามช้างฯ ผสมผสานตัวละครหนุมานที่ใช้ในสื่อประชาสัมพันธ์ของ ThaiGP โดยหนุมานเป็นสัญลักษณ์ที่สื่อถึงความรวดเร็ว ว่องไว เปรียบเสมือนการแข่งขันโมโตจีพีที่เป็นกีฬาแห่งความเร็วเช่นกัน

เปิดตัว โทรฟี่ “โมโตจีพี” แรงบันดาลใจแสงอาทิตย์ลอดปราสาทหินพนมรุ้ง

เปิดตัว โทรฟี่ “โมโตจีพี” แรงบันดาลใจแสงอาทิตย์ลอดปราสาทหินพนมรุ้ง

นอกจากนี้ในส่วนของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ได้เปิดพาวิลเลี่ยนภายใต้แนวคิด Amazing Thailand Festival at ThaiGP ศูนย์รวมข่าวสารด้านการท่องเที่ยว มีเจ้าหน้าที่สื่อสารไทย-อังกฤษ ให้บริการกับนักท่องเที่ยวตลอดการจัดงานทั้ง 3 วัน

โดยพาวิลเบียน แบ่งเป็นโซนต่างๆ เช่น โซนเที่ยวไทย  5 ภาค, โซน Sport Event หรือกิจกรรมกีฬาในรูปแบบเกม Interactive เช่น มาราธอน, ไตรกีฬา, จักรยานทางไกล ฯลฯ

ธัชกร หัตถาธยากูล ผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ กล่าวว่า จังหวัดยังคงรักษามาตรฐานให้งานที่กำลังจะมาถึงมีความสมบูรณ์แบบที่สุด มีการนำของดีบุรีรัมย์ เช่น ผ้าไหม ผ้าฝ้ายอัคนีที่เป็นผลิตภัณฑ์จากชุมชน อาหารของฝากขึ้นชื่อและงานฝีมือต้อนรับผู้มาเยือน

นอกจากนี้ยังมีในการบริการด้านข้อมูลสำคัญต่างๆสำหรับผู้เข้าชมงาน นอกจากจะมีอาสาสมัครและจิตอาสานับพันคนที่ดูแลด้านต่างๆ แล้ว ปีนี้ยังได้จัดเตรียม Line Official, Website  2 ภาษา ทั้งไทยและอังกฤษ ซึ่งนักท่องเที่ยวสามารถสแกน QR Code เพื่อเข้าแพลตฟอร์มต่างๆ และเช็กข้อมูลที่จำเป็นได้ตลอด 24 ชั่วโมง

และยังมีข้อมูลที่จำเป็นทุกอย่าง เช่น เส้นทางเข้าออกสนามแข่งขัน จุดบริการรถรับส่ง สถานที่จอดรถ ผังของงาน ข้อมูลที่พัก ร้านอาหาร แหล่งท่องเที่ยว เพื่ออำนวยความสะดวก สร้างความเชื่อมั่นและสร้างความประทับใจ

“ยังมีไฮไลต์สำคัญคือโครงการนำร่องท่องเที่ยววิถีชุมชนหมู่บ้านนกกระเรียนพันธุ์ไทย ชุมชนบ้านสวายสอ จ.บุรีรัมย์ มีมัคคุเทศก์นำเที่ยวเส้นทางท่องเที่ยวในชุมชน พักโฮมสเตย์ ทำโฮมสปาภูมิปัญญาชาวบ้าน รับประทานอาหารจากเถียงนาเชฟเทเบิ้ล และช้อปปิ้งของพื้นถิ่นผลิตภัณฑ์ชุมชน"

ธัชกรกล่าวว่า เป็นสิ่งที่ชาวบุรีรัมย์ทุกคนร่วมใจกันนำเสนอและหวังว่าจะเป็นต้นแบบ Buriram Model ในการให้ชุมชนอื่น หมู่บ้านอื่นของไทยได้นำไปเป็นต้นแบบให้เกิดการพัฒนา วิถีชุมชนที่ยั่งยืนต่อไป”