5 ปัจจัยเสี่ยงยานยนต์ไทย "สงคราม-ขาดชิป" ฉุดยอดผลิตปีนี้ 5 หมื่นคัน

5 ปัจจัยเสี่ยงยานยนต์ไทย "สงคราม-ขาดชิป" ฉุดยอดผลิตปีนี้ 5 หมื่นคัน

ส.อ.ท.ชี้ปัจจัย "สงคราม-ขาดแคลนชิป" กระทบยอดผลิตรถยนต์ในไทย ลดเป้าทั้งปีลง 5 หมื่นคัน ห่วงปัจจัยเงินเฟ้อต่างประเทศกระทบกำลังซื้อฉุดตลาดส่งออก

กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ปรับประมาณการการผลิตรถยนต์ของสมาชิกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ฯ ในปี 2565 จาก 1.80 ล้านคัน เป็น 1.75 ล้านคัน ลดลง 50,000 คัน

ในจำนวนดังกล่าวปรับเป้าผลิตส่งออกลงจาก 1.0 ล้านคัน เป็น 900,000 คัน และปรับเป้าผลิตขายในประเทศขึ้นจาก 800,000 คัน เป็น 850,000 คัน โดยมีปัจจัยของการปรับยอดผลิตเพื่อส่งออกลดลง ดังนี้

1.สงครามยูเครน-รัสเซีย ที่เกิดขี้นปลายเดือน ก.พ.2565 คงยืดเยื้อนาน ทำให้การขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ที่มีมาตั้งแต่ต้นปีที่แล้วขาดแคลนมากขึ้น เพราะทั้งสองประเทศส่งออกรายใหญ่ก๊าซนีออนที่เป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งในการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ โดยผลจากสงครามยูเครน-รัสเซีย ทำให้การส่งออกรถยนต์ไปทั้งสองประเทศลดลงกว่า 20,000 คัน

2.การล็อกดาวน์เซี่ยงไฮ้ในเดือน เม.ย.-พ.ค.2565 ทำให้ขาดแคลนชิ้นส่วนและเซมิคอนดักเตอร์เพิ่มขึ้น เพราะโรงงานผลิตเซมิคอนดักเตอร์รายใหญ่อยู่ที่เซี่ยงไฮ้

3.ประเทศเมียนมาประกาศห้ามนำเข้ารถยนต์ เมื่อปลายเดือน ก.ค.2565 ทำให้ส่งออกรถยนต์ลดลงกว่า 2,000 คัน

4.ความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ เช่น ไต้หวัน ตะวันออกกลาง เป็นต้น

5.อัตราเงินเฟ้อที่สูงมากและการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ของประเทศชั้นนำของโลกอาจทำให้กำลังซื้อของผู้บริโภคลดลง ปัจจัยของการปรับยอดผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศเพิ่มขึ้น

สำหรับปัจจัยของการปรับยอดผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศเพิ่มขึ้น ประกอบด้วย

1.รัฐบาลผ่อนคลายมาตรการการเข้าประเทศ ของนักท่องเที่ยวและนักลงทุนจากต่างประเทศสะดวกขึ้น ทำให้มีนักท่องเที่ยวและนักลงทุนเดินทางเข้าประเทศหลายล้านคน

2.การส่งออกยังคงเติบโตจากปีที่แล้ว ที่มูลค่าส่งออกทำสถิติสูงสุด ทำให้ประชาชนมีงานทำ มีรายได้เพิ่มขึ้น

3.รัฐบาลประกันรายได้สินค้าเกษตร รวม 5 ชนิด 

4.รัฐบาลกระตุ้นเศรษฐกิจ เช่น เราเที่ยวด้วยกัน คนละครึ่ง การลดภาษีเงินได้นิติบุคคลด้วยการเพิ่มค่าใช้จ่ายการประชุม การจัดสัมมนา เป็นต้น

5.การผ่อนคลายการล็อกดาวน์เรื่องโควิด-19 ทำให้มีกิจกรรมทางเศรษฐกิจมากขึ้น ประชาชนมีรายได้มากขึ้น และมีการแนะนำรถยนต์รุ่นใหม่

สำหรับยานยนต์ไฟฟ้าป้ายแดง ประเภท BEV ในเดือน ม.ค.-ก.ค.2565 มียานยนต์ประเภทไฟฟ้าจดทะเบียนใหม่สะสมมี 8,784 คัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว 187.53% แบ่งเป็น

รถยนต์นั่ง รถประเภทต่างๆ และรถกระบะรถแวน มีทั้งสิ้น 3,618 คัน เพิ่มขึ้น 254.36% ส่วนใหญ่เป็นรถยนต์นั่ง รองลงมาเป็นรถกระบะและรถแวน รถยนต์โดยสารไม่เกิน 7 คน และรถยนต์บริการธุรกิจ

รถยนต์สามล้อรับจ้างมีทั้งสิ้น 136 คัน เพิ่มขึ้น 312.12% ส่วนใหญ่เป็นรถยนต์รับจ้างสามล้อ รองลงมาเป็นรถยนต์สามล้อส่วนบุคคล

รถจักรยานยนต์มีทั้งสิ้น 4,963 คัน เพิ่มขึ้น 148.65% ส่วนใหญ่เป็นรถจักรยานยนต์ส่วนบุคคล รองลงมาเป็นรถจักรยานยนต์สาธารณะ

ส่วนยานยนต์ไฟฟ้าประเภท HEV ในเดือน ม.ค.-ก.ค.2565 จดทะเบียนใหม่สะสม 37,265 คัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันกับปีที่แล้ว 60.91% แบ่งเป็น

รถยนต์นั่งและรถประเภทต่างๆ มีทั้งสิ้น 37,023 คัน เพิ่มขึ้น 68.70% รถจักรยานยนต์มีทั้งสิ้น 242 คัน ลดลง 80.05%

ยานยนต์ไฟฟ้าป้ายแดงประเภท PHEV จดทะเบียนใหม่สะสมเดือน ม.ค.-ก.ค.2565 จำนวน 6,722 คัน เพิ่มขึ้น 63% โดยเป็นรถยนต์นั่งและรถประเภทต่างๆ

 ณ วันที่ 31 ก.ค.2565 ยานยนต์ไฟฟ้าจดทะเบียนสะสมประเภท HEV มีจำนวน 233,369 คัน เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 26.74% โดยแบ่งประเภทได้ ดังนี้

รถยนต์นั่งและรถประเภทต่างๆ มีทั้งสิ้น 224,539 คัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันปีที่แล้ว 27.76% โดยส่วนใหญ่เป็นรถยนต์นั่ง 223,923 คัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันปีที่แล้ว 27.92%

ส่วนยานยนต์ไฟฟ้าจดทะเบียนสะสมประเภท PHEV ณ วันที่ 31 ก.ค.2565 มีจำนวนทั้งสิ้น 37,842 คัน เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 34.09% โดยส่วนใหญ่เป็นรถยนต์นั่งมีจำนวน 37,779 คัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันปีที่แล้ว 34.17%