“หญ้าแฝก” อุ้มน้ำ โอบดินพลิกชีวิต เกษตรกรไทย

“หญ้าแฝก” อุ้มน้ำ โอบดินพลิกชีวิต เกษตรกรไทย

 

หญ้าแฝก ถูกเรียกขานว่า หญ้ามหัศจรรย์ อุ้มน้ำ โอบดิน ช่วยพลิกฟื้นผืนดิน และชีวิตของเกษตรกรไทย มูลนิธิชัยพัฒนา สำนักงาน กปร. บริษัท ปตท. จำกัด(มหาชน) และกรมพัฒนาที่ดิน ได้สนับสนุนการใช้หญ้าแฝก ทั้งด้านการเรียนรู้ การขยายผลการปลูก การศึกษาทดลองวิจัย การพัฒนาฝีมือหัตถกรรม และการเผยแพร่ ประชาสัมพันธ์ เพื่อให้ใช้ประโยชน์จากหญ้าแฝกอย่างแพร่หลาย

ซึ่ง "พิธีมอบรางวัลการประกวดการพัฒนาและรณรงค์การใช้หญ้าแฝกอันเนื่องมาจากพระราชดำริ" ครั้งที่ 11 (ประจำปี 2561-2562) เป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่ทั้ง 4 หน่วยงาน ได้ดำเนินการจัดมาอย่างต่อเนื่อง โดยปีนี้มีความพิเศษ นอกจากมอบรางวัลให้แก่เกษตรกร หน่วยงานที่ส่งเสริมการใช้หญ้าแฝก จำนวน 32 ผลงานแล้ว ยังจัดมหกรรมเครือข่ายคนรักษ์แฝก เปิดโอกาสให้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน

“หญ้าแฝก” อุ้มน้ำ โอบดินพลิกชีวิต เกษตรกรไทย

ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา และประธานในพิธีมอบรางวัลฯกล่าวว่า ครั้งนี้เป็นอีกครั้งหนึ่งในรอบ 11 ปี ที่มีการประกวดการใช้ประโยชน์จากหญ้าแฝก ซึ่งหญ้าแฝกมีความสำคัญต่อชีวิตของคนเรา เพราะหญ้าแฝกมีผลต่อปัจจัย 4 ที่เกิดจากดิน น้ำ ลม ไฟ โดยเฉพาะดินที่ทุกคนมุ่งใช้ เพื่อสร้างความร่ำรวย ปากอาจพูดถึงความยั่งยืน แต่การกระทำไม่ได้เป็นอย่างนั้น ทุกคนใช้แผ่นดินอย่างสิ้นเปลืองตลอดเวลา และตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระองค์ท่านได้รับสั่งเกี่ยวกับหญ้าแฝก ขณะนั้นหลายคนงงว่าจะนำหญ้ามาปลูกให้เกิดประโยชน์ได้อย่างไร เพราะหญ้า คือ วัชพืช พระองค์รับสั่งว่า วันนี้เราเจอหญ้าแห่งธรรมะแล้ว ซึ่งหญ้าแฝกเป็นหญ้ารากลงลึกนำความชื่น อากาศ ไนโตรเจน น้ำลงไปในดิน ทำให้ดินดี

"ถึงเวลาแล้วที่ทุกคนต้องร่วมกันรักษาความสมบูรณ์ให้แก่ดิน โดยใช้หญ้าแฝกในการรักษาแผ่นดิน ซึ่งหญ้าแฝกมีประโยชน์มหาศาล วันนี้ต้องขอขอบคุณ 4 หน่วยงาน โดยเฉพาะภาคเอกชน อย่าง ปตท. ที่เข้ามาสนับสนุนร่วมรักษา สืบทอด ต่อยอดหญ้าแฝก พัฒนาผืนดิน เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่ามากขึ้น ทำให้ผลประโยชน์คืนสู่ประชาชน และอนุรักษ์ส่งต่อผืนดินให้แก่ลูกหลานไทยต่อไป" เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนากล่าว

“หญ้าแฝก” อุ้มน้ำ โอบดินพลิกชีวิต เกษตรกรไทย

คุณชาญศิลป์ ตรีนุชกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า จากความร่วมมือทั้ง 4 หน่วยงานดำเนินโครงการประกวดการพัฒนาและรณรงค์การใช้หญ้าแฝกอันเนื่องมาจากพระราชดำริ มาตั้งแต่ปี 2549 จนถึงปัจจุบัน ปีนี้เป็นปีที่ 11 เพื่อร่วมสืบสานงานตามพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในการอนุรักษ์ดินและน้ำ ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้กับประเทศไทย เวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่องการใช้ประโยชน์หญ้าแฝก เพื่ออนุรักษ์ดินน้ำ และใช้ประโยชน์ที่ดินอย่างยั่งยืน เป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ให้กับสถาบันการศึกษา หน่วยงานทั้งในและต่างประเทศ ในการนำความรู้ต่างๆ ไปใช้ในการดำเนินชีวิตตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง และต่อยอดการพัฒนาตามพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว

"โครงการนี้ ถือเป็นกระบวนการสร้างความร่วมมือที่สำคัญในการเชื่อมโยงการดำเนินงานหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน สู่ภาคประชาชนอย่างแท้จริง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ผลสำเร็จสู่สาธารณชนได้ศึกษาเรียนรู้ ขยายผลการใช้ประโยชน์จากหญ้าแฝกในระดับภูมิภาค และระดับประเทศ รวมถึงดำเนินการพัฒนาและรณรงค์การใช้หญ้าแฝกตามแนวพระราชดำริดำรงอยู่คู่กับแผ่นดินไทยสืบต่อไป โดยปีนี้ ผู้ได้รับรางวัล ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระราชทานโล่รางวัลพร้อมรับใบประกาศเกียรติคุณ เพื่อเป็นกำลังใจให้แก่เกษตรกร หน่วยงานต่างๆ" ชาญศิลป์ กล่าว

“หญ้าแฝก” อุ้มน้ำ โอบดินพลิกชีวิต เกษตรกรไทย

ปิดท้ายด้วยผู้ได้รับรางวัลประเภทความยั่งยืน หนึ่งเดียวในงาน สมาน ศรีโมรา ชาวเกษตรกร จ.สุพรรณบุรี เล่าว่า รู้สึกดีใจมากที่ได้รับรางวัลดังกล่าว เพราะถือเป็นแรงบันดาลใจให้ใช้ประโยชน์ และร่วมเผยแพร่การใช้หญ้าแฝก หญ้ามหัศจรรย์ที่พลิกผืนดินและเป็นทางกั้นน้ำอย่างดีในการทำเกษตรเรือกสวนไร่นา 

ซึ่งจากการปลูกหญ้าแฝกมาตั้งแต่ปี 2548 ถึงปัจจุบัน ผืนดินดีมาก สามารถปลูกผลไม้ ได้ตามที่ต้องการ แถมช่วงน้ำท่วมยังสามารถกั้นน้ำไม่ให้มาทำลายไร่สวนได้อีกด้วย ส่งผลให้มีรายได้จากการทำเกษตรตลอดปี ที่สำคัญหญ้าแฝกทั้งต้นสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ทุกส่วน ช่วยให้เกษตรกรไทยได้มีผืนดินทำกิน และได้ร่วมกันอนุรักษ์ดิน ต้นน้ำ และป่าไม้ต่อไป อยากขอบคุณทั้ง 4 หน่วยงาน โดยเฉพาะปตท. ที่นอกจากมาให้ความรู้เกษตรกรแล้ว ยังสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินการอีกด้วย

ทั้งนี้การใช้หญ้าแฝกในพื้นที่ต่างๆ ส่งเสริมให้ดินมีความอุดมสมบูรณ์ เพิ่มผลผลิตทางการเกษตร ซึ่งทั้ง 4 หน่วยงานจะบูรณาการทำงาน เพื่อ ให้เกษตรกรได้เข้าถึงการใช้หญ้าแฝกมากขึ้น