กระตุกต่อม ‘เผือก’ ลดภัยคุกคามทางเพศ

กระตุกต่อม ‘เผือก’ ลดภัยคุกคามทางเพศ

เปลี่ยนความเผือกให้เป็นสัญญาณเตือนภัย ลดปัญหาการคุกคามทางเพศในพื้นที่สาธารณะ

 

ช่วงเย็นหลังเลิกงานในกรุงเทพฯ...ชีวิตดีๆ ที่ลงตัว แม้คนจะพลุกพล่านเพียงใด บนรถเมล์หรือรถไฟฟ้าจะแน่นขนัดไปด้วยผู้คนมากแค่ไหน ก็ไม่ได้หมายความว่าจะไม่เจอกับภัยคุกคามทางเพศในที่สาธารณะเหล่านั้น ทว่ากลายเป็นช่องว่างที่เปิดโอกาสให้คนลวนลามกันได้ง่ายๆ โดยที่ไม่มีใครได้ทันสังเกต 

 

ขณะเดียวกันเมื่อคุณกลับดึก และบ้านก็ดันอยู่ลึกในซอยเปลี่ยว ซ้ำไฟทางเดินก็มาเสียแล้วเสียเล่า นั่นเท่ากับว่าความเสี่ยงที่จะเกิดเหตุการณ์ไม่ดีมีค่อนข้างมาก เพราะสังคมทุกวันนี้เพียงก้าวออกจากบ้าน ก็แทบจะไม่มีความปลอดภัยในชีวิตเสียแล้ว

 

ท่ามกลางการขยายตัวอย่างรวดเร็วของเมืองใหญ่ ที่ทำให้หลายพื้นที่ถูกทิ้งร้างไม่ได้รับการพัฒนา เป็นช่องโหว่ให้เกิดพฤติกรรมที่เป็นภัยต่อสังคมได้ง่ายขึ้น จะทำอย่างไรให้ทุกคนมีสิทธิที่จะได้อยู่อาศัยในเมืองที่ปลอดภัย (Rights to the City) เดินทางและใช้ชีวิตโดยปราศจากความหวาดกลัว ไม่ว่าบนท้องถนนหรือขนส่งสาธารณะ นั่นคือจุดเริ่มต้นของโครงการในซีรีส์ ‘เผือก’ ที่ต้องการสร้างการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนเพื่อเปลี่ยนแปลงพื้นที่เสี่ยงให้เป็นเซฟโซน

 

ลวนลาม

 

 

  • ‘เผือก’ เข้าไว้ก่อนภัยมา

 

นอกจากประเด็นเรื่องของพื้นที่เสี่ยงต่างๆ ที่ควรได้รับการออกแบบใหม่เพื่อความปลอดภัยแล้ว ทัศนคติของคนก็เป็นสิ่งที่จะละเลยไม่ได้ เพราะสิ่งที่น่ากังวลกว่าภัยนั่นก็คือคนในสังคมเมินเฉยต่อสถานการณ์เสี่ยง มองว่าเรื่องภัยคุกคามทางเพศเป็นเรื่องเล็ก หากแค่ลวนลามกันนิดๆ หน่อยๆ ก็ถือเป็นความเคยชินที่ต้องเอาตัวรอดกันไป คำว่า “ไม่อยากยุ่ง” เพราะไม่ใช่เรื่องของเราจะผุดขึ้นมาในหัวทันที

 

ทว่าเรื่องของชาวบ้านบางเรื่องก็สมควรที่จะเอาตัวเองเข้าไปยุ่ง หรือที่เรียกกันว่า ‘เผือก’ นั่นเอง รุ่งทิพย์ อิ่มรุ่งเรือง ผู้จัดการโครงการและนโยบาย องค์การแอ็คชั่นเอด ประเทศไทย ตัวแทนภาคีเครือข่ายเมืองปลอดภัยเพื่อผู้หญิง และแกนนำแคมเปญ ‘ปักหมุดจุดเผือก’ เล่าถึงโ่ครงการที่ต่อเนื่องจากแคมเปญ ‘ถึงเวลาเผือก’ และ ‘How to เผือก’ ให้ฟังว่า เป็นการสื่อสารและรณรงค์ยุติการคุกคามทางเพศในที่สาธารณะ ขององค์กรแอ็คชั่นเอด ร่วมกับภาคีเครือข่าย สมาคมเพศวิถี แผนงานสุขภาวะผู้หญิงและความเป็นธรรมทางเพศ มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล และเครือข่ายสลัมสี่ภาค

 

เจ้าหน้าที่อธิบาบวิธีปักหมุดจุดเผือกบนแผนที่ยักษ์

เจ้าหน้าที่อธิบาบวิธีปักหมุดจุดเผือกบนแผนที่ยักษ์

 

คำว่า ‘เผือก’ จะไม่ถูกตีตราในแง่ลบ ถ้าเราเผือกให้ตรงจุด ใช้ความเผือกให้เกิดประโยชน์ เพราะมันสามารถช่วยให้คนๆ หนึ่งรอดพ้นภัยคุกคามทางเพศได้ ถ้าเราใส่ใจกันมากขึ้นสังคมก็จะน่าอยู่ขึ้นมาก โดยเริ่มจากกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นเมืองที่มีความเสี่ยงต่อภัยคุกคามทางเพศสูงที่สุดในประเทศไทย

 

"ในบ้านเราความเข้าใจในประเด็นเรื่องการคุกคามทางเพศยังน้อยมาก คนยังมีความรู้สึกว่าพฤติกรรมการคุกคามทางเพศเล็กๆ น้อยๆ ไม่ได้เป็นการคุกคาม เราก็เลยคิดว่าน่าจะรณรงค์สร้างความตระหนักให้สาธารณะได้เข้าใจมากขึ้น ว่าเวลาที่พูดถึงการคุกคามทางเพศคืออะไรและพฤติกรรมแบบไหนถูกกำหนดได้ว่าเป็นการคุกคาม” แกนนำทีมเผือก ถอดรหัสปัญหาคุกคามทางเพศในสังคมไทย โดยมองว่าสิ่งที่ทุกคนสามารถช่วยได้ในการป้องปรามก็คือ ‘การเผือก’ 

 

เมื่อใดที่พบเห็นความผิดปกติหรือตกเป็นเป้าของการถูกคุกคามเสียเองอย่าได้นิ่งเฉย ให้ส่งเสียงขอความช่วยเหลือ หากเหตุการณ์รุนแรงเกินไป อาจต้องมีการดำเนินคดีกับผู้กระทำ และคนรอบข้างก็สามารถช่วยกันเผือก ในกรณีที่เห็นว่ามีการคุกคามทางเพศเกิดขึ้น ที่สำคัญคือต้องเผือกโดยที่ตัวเองไม่ตกอยู่ในอันตราย 

 

“อย่างแรกต้องประเมินสถานการณ์ก่อนว่ามีความเสี่ยงมากแค่ไหน จากนั้นส่งเสียงเผือกออกมาดังๆ เพื่อให้ผู้กระทำได้รับรู้ว่ามีคนอื่นเห็น โดยส่วนมากผู้กระทำจะกลัวเวลามีเสียงดังหรือว่ามีคนเห็น จากนั้นสะกิดคนข้างๆ ส่งสายตาให้รู้ว่ามีเหตุการณ์นี้เกิดขึ้น หรือแจ้งเจ้าหน้าที่ใกล้ๆ ถ้าไม่ได้ผลก็ลองแทรกตัวเข้าไปยืนข้างเหยื่อ วิธีนี้จะช่วยเตือนสติผู้กระทำด้วย หรือจะตีเนียนว่ารู้จักผู้ถูกคุมคาม แล้วพาเธอออกมาจากจุดนั้น และท่าไม้ตายคือคลิปหลักฐานมัดตัว ขึ้นอยู่กับว่าสถานการณ์นั้นคุณจะใช้วิธิการเผือกแบบไหน” รุ่งทิพย์ กล่าว

 

พร้อมกันนี้เธอชวนทำความเข้าใจใหม่ว่า พฤติกรรมการคุกคามทางเพศมีด้วยกันหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการคุกคามด้วยสายตาที่ไม่เป็นมิตรและชวนอึดอัด ราวกับว่าเหยื่อเป็นอาหารมื้อเด็ด การคุกคามทางวาจา อาจมาพร้อมกับคำพูดแซวต่างๆ ที่ดูเหมือนจะธรรมดาทว่าสร้างความอึดอัดใจให้กับผู้ถูกกระทำ มากไปกว่านั้นค้ือการคุกคามโดยสัมผัสร่างกาย ลูบไล้บริเวณต้นขา โอบเอว รวมถึงการคุกคามโดยใช้ระบบสื่อสารเช่นการถ่ายภาพ ถ่ายคลิปใต้กระโปรงหรือหน้าอก สถานการณ์ดังกล่าวสามารถเอาผิดกับคนที่คุกคามได้ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 397 ผู้กระทำการคุกคามทางเพศ รังแก ข่มเหง หรือกระทำให้ได้รับความอับอายหรือเดือดร้อนรำคาญ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าพันบาท ถ้ามีหลักฐานชัดเจน

 

“เราเสนอให้หน่วยงานภาครัฐทั้งหมดติดกล้องวงจรปิดในระบบขนส่งสาธารณะ เพื่อสามารถมอนิเตอร์ได้ว่าเกิดอะไรขึ้น และต้องใช้งานได้จริงเพื่อเก็บเป็นหลักฐานเอาผิดกับผู้กระทำ หรือคนรอบข้างก็ต้องให้ความร่วมมือเป็นพยานให้ด้วย แต่คนส่วนมาก มักจะไม่ค่อยเอาความเพราะว่าเสียเวลา เราต้องช่วยกันเป็นหูเป็นตา เพื่อให้ปัญหานี้ลดน้อยลง”

 

 

  • เปิดจุดเสี่ยง เลี่ยงภัยกาม

 

สองเดือนที่ปักหมุดจุดเผือกได้เริ่มรณรงค์ให้คนในพื้นที่ทั่วกรุงเทพและปริมณฑล มีภาคีเครือข่ายและประชาชนได้ร่วมกันปักหมุดผ่านแอพพลิเคชั่น Traffy Fondue ของ NECTEC สำรวจพื้นที่สาธารณะและแจ้งจุดเสี่ยงภัยคุกคามทางเพศ ตอนนี้มีจุดเสี่ยงที่ได้ปักหมุดแล้วราว 611 หมุด โดย7 อันดับจุดเสี่ยงต่อการคุกคามทางเพศมากที่สุด เป็นจุดที่ขาดการบำรุงรักษา ไฟสว่างไม่เพียงพอ จุดอับสายตา ทางเปลี่ยว ทางแคบทางตัน ไม่มีป้ายบอกทาง และไกลจากป้ายรถเมล์ และจากการสำรวจพบว่า เขตลุมพินี บริเวณสะพานเขียว มักเกิดเหตุการณ์เสี่ยงภัยมากที่สุด

 

สำหรับพื้นที่ที่มีการปักหมุดมากที่สุด ได้แก่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์และรังสิต จำนวน 288 หมุด เป็นการดำเนินการภายใต้ความร่วมมือ ‘ปักหมุดจุดเผือก x มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์’ 

 

7จุดเสี่ยง

 

ผศ.ดร.ชุมเขต แสวงเจริญ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เล่าถึงบทบาทของมหาวิทยาลัยว่า มหาวิทยาลัยก็คือเมืองย่อมๆ เมืองหนึ่ง มีนักศึกษาเกือบ 30,000 คน มีคณาจารย์และเจ้าหน้าที่นับพัน มีคนที่อยู่ในพื้นที่ของนี้เกือบ 50,000 คนด้วยกัน ดังนั้นในพื้นที่ 1,100 กว่าไร่ อาคารกว่า 100 หลัง แน่นอนว่าย่อมมีความเสี่ยง จึงต้องสร้างระบบและกลไกที่จะวางแผนและดูแลเรื่องนี้อย่างจริงจัง จึงได้จัดตั้งคณะกรรมการส่งเสริมความปลอดภัยและสร้างความเข้าใจทางเพศ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 

 

“ถ้าจะเป็นเมืองปลอดภัย นอกจากมีกฎระเบียบที่ดีแล้ว มีแผนมีกลไก มีคนทำงานแล้ว ต้องลงมือทำด้วย ปักหมุดก็คือลงมาช่วยกันสำรวจพื้นที่เสี่ยง” ผศ.ดร.ชุมเขต กล่าวและว่า แม้ธรรมศาสตร์จะมีพื้นที่เสี่ยงถึง 288 จุด แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าที่ผ่านมาพื้นที่นี้เคยเกิดภัยคุกคามมากที่สุดหรือบ่อยที่สุด แต่มันสะท้อนให้เห็นถึงการตื่นตัวของคนในพื้นที่ที่เฝ้าระวังภัย 

 

ทั้งนี้ หลังจากปักหมุดแล้วจะมีการจัดลำดับความเสี่ยงของแต่ละจุดตามสี 4 สี 4 ระดับ คือ สีเขียว-ไม่มีความเสี่ยง เหลือง-จุดเฝ้าระวัง ส้ม-จุดเสี่ยง และ แดง-จุดอันตราย มีการตรวจตรา ติดตั้งไฟ และจะติดตั้งกล้องวงจรปิดให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ไม่ให้มีจุดบอด หรือจุดลับสายตาผู้คน

 

“เราอาจมองว่าการแก้ที่พื้นที่เป็นปลายเหตุ เพราะความเสี่ยงที่จะเกิดภัยคุกคามนั้นขึ้นอยู่กับตัวบุคคล ต่อให้เราอยู่ในที่ปลอดภัยแค่ไหน ถ้าคนคิดจะคุกคามเราก็ย่อมเกิดได้ ดังนั้นสิ่งที่เราต้องทำควบคู่กันไปคือ เราต้องทำให้ประชาชนและสังคมเข้าใจว่าการคุกคามเริ่มจากทัศนคติของตัวบุคคล” ผศ.ดร.ชุมเขต ทิ้งท้าย

 

 

  • ออกแบบเมืองปลอดภัย

 

นอกจากการสำรวจจุดเสี่ยงภัยแล้ว การออกแบบเมืองให้เอื้อต่อการก่อเหตุน้อยที่สุดและใช้ประโยชน์จากพื้นที่สร้างกิจกรรมดีๆ เพื่อสังคมให้ได้มากที่สุด เป็นสิ่งสำคัญที่โครงสร้างของเมืองที่ดีควรจะมี

 

“เมืองน่าอยู่มักถูกออกแบบให้เกิดการมีส่วนร่วม ตั้งแต่กระบวนการคิด แสดงความคิดเห็น คอยเป็นหูเป็นตา แจ้งเบาะแสต่างๆ ทำให้มันเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดี ต้องเป็นเมืองที่สามารถเดินไปไหนก็รู้สึกปลอดภัยและมีพื้นที่ให้ทำกิจกรรมสำหรับทุกวัย เปลี่ยนพื้นที่เสี่ยงเป็นพื้นที่สร้างโอกาส ซึ่งมันอาจจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจชุมชน เพิ่มทราฟฟิกให้คนไปเดินมากขึ้นหรือว่าสร้างพื้นที่สุขภาวะได้” ยศพล บุญสม กรรมการผู้จัดการบริษัท ฉมา และฉมาโซเอ็น นักภูมิสถาปนิกและภาคีเครือข่ายทีมเผือก เล่าถึงเมืองน่าอยู่ที่น่าจะเป็นไปได้ในสังคมไทย

 

ในศาสตร์ของการออกแบบมีหลักการที่พิสูจน์แล้วว่าช่วยในการจัดการได้มากกว่าการไปเพิ่มแสงสว่างหรือกล้องวงจรปิด ยศพลมองว่าปัญหาเรื่องจุดเสี่ยงมันเป็นเรื่องของความรู้สึกไม่เป็นเจ้าของกับพื้นที่สาธารณะ เพราะจุดเสี่ยงส่วนใหญ่ก็อยู่นอกรั้วบ้าน ไม่ว่าจะเป็นตามถนน พื้นที่ใต้ทางด่วน หรือพื้นที่ริมคลอง ซึ่งกระบวนการที่เขาเคยทำมา อย่างการสร้างพื้นที่สาธารณะให้เกิดการมีส่วนร่วม โดยนำคนมาร่วมคิดร่วมสร้างและทำให้เกิดความรู้สึกเป็นเจ้าของขึ้น สามารถช่วยลดพื้นที่เสี่ยงและเพิ่มพื้นที่กิจกรรมที่หลากหลาย

 

ลักษณะพื้นที่ที่มีการปักหมุดจุดเสี่ยง

 

หลังจากปัดหมุดไปกว่า 600 หมุด เขาบอกว่าต้องมาจัดลำดับความสำคัญของการแก้ไข บางเรื่องอาจจะต้องเพิ่มการตรวจตรา เพิ่มกล้องวงจรปิด เพิ่งแสงสว่าง แต่บางเรื่องอาจต้องร่วมกันออกแบบ หรือเปลี่ยนให้เป็นพื้นแห่งสาธารณะประโยชน์มากขึ้น อาจจะเริ่มจากการเผยแพร่ข้อมูลแล้วทำให้เห็นว่าความเสี่ยงมันคืออะไร แล้วแก้ปัญหาอย่างไรบ้าง

 

ในส่วนของการออกแบบเมืองขณะนี้ นักภูมิสถาปนิกเปรยว่ายังไม่ถึงขั้นตอนการออกแบบ เนื่องจากเพิ่งได้ข้อมูลมา แต่ที่ทำแล้วเปลี่ยนไปก็อย่างเช่น ใต้ทางด่วนแยกอุรุพงษ์ ที่เปลี่ยนพื้นที่เสี่ยงเป็นลานกีฬา มีแสงสว่างมีอุปกรณ์เครื่องกีฬาต่างๆ ที่เหมาะสม จากพื้นที่รกร้าง เมื่อเพิ่มกิจกรรมที่ตอบสนองต่อชุมชนให้เขามีส่วนร่วม เขาก็เข้ามาใช้เป็นประจำ เกิดความรู้สึกเป็นเจ้าของและร่วมกันดูแลรักษา

 

“บางพื้นที่มีชุมชนที่มีความหนาแน่นสูง อาจมีทั้งกลุ่มประชากรใหม่แฝงที่เข้ามา เกิดพฤติกรรมใหม่ๆ และเมืองปัจจุบันมีพื้นที่รกร้างค่อนข้างมาก จากการพัฒนาเมือง ระบบรถยนต์ รถไฟฟ้าต่างๆ แต่ใต้ทางด่วนหรือทางรถไฟไม่ได้ถูกพัฒนาด้วย จึงกระตุ้นให้เกิดกิจกรรมไม่พึงประสงค์ไปแทรกตัวอยู่ตามพื้นที่เหล่านั้น อีกอย่างหนึ่งคือเมืองใหญ่ขึ้น กำลังของเจ้าหน้าที่ที่จะตรวจตราก็ลำบากมากขึ้น และความเป็นสังคมเมืองเองที่ไม่ปฏิสัมพันธ์กันมากนัก การระแวดระวังในสังคมมันก็น้อยกว่าสังคมในชนบท พอนอกรั้วเราก็รู้สึกว่ามันเป็นเรื่องของคนอื่น”

 

ผู้เข้าร่วมงานร่วมปักหมุดจุดเผือก

 

การ ‘เผือก’ อย่างสร้างสรรค์จึงเป็นส่วนสำคัญในการเปลี่ยน ‘พื้นที่เสี่ยง’ ให้เป็น ‘พื้นที่ปลอดภัย’ พร้อมๆ ไปกับการสร้างความเข้าใจเรื่องการคุกคามทางเพศที่ไม่ได้เป็นปัญหาของใครคนใดคนหนึ่งหรือเพศใดเพศหนึ่ง แต่เป็นปัญหาเรื่องทัศนคติที่ต้องช่วยกันปรับ เพื่อสร้างเมืองน่าอยู่สำหรับทุกคน