1 ปีแห่งความอลหม่าน "รัฐประหารเมียนมา"

1 ปีแห่งความอลหม่าน "รัฐประหารเมียนมา"

วันนี้ (1 ก.พ.) ครบรอบ 1 ปี "รัฐประหารเมียนมา" แต่สถานการณ์ยังคงเต็มไปด้วยความอลหม่านและไร้วี่แววสงบในเร็ววัน ขณะที่รัฐบาลทหารเดินหน้าปราบปรามนักการเมืองขั้วอำนาจเก่า นำโดย "ออง ซาน ซูจี" และประชาชนผู้เห็นต่าง ไปย้อนดูว่าในรอบ 1 ปีมีเหตุการณ์สำคัญอะไรบ้าง

หลังจากกองทัพเมียนมาทำการ “รัฐประหาร” ยึดอำนาจรัฐบาลพลเรือนและจับกุมผู้นำโดยพฤตินัยอย่าง “ออง ซาน ซูจี” เมื่อวันที่ 1 ก.พ. ปีที่แล้ว ตั้งแต่นั้นมา มีประชาชนเกือบ 1,500 คนถูกสังหาร และหลายพันคนถูกจับกุมจากการที่รัฐบาลทหารเลือกใช้วิธี “นองเลือด” ในการปราบปรามผู้เห็นต่าง

ผ่านมาครบ 1 ปี กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ชวนย้อนดูเหตุการณ์สำคัญในเมียนมา นับตั้งแต่กองทัพก่อรัฐประหารครั้งล่าสุด ซึ่งเป็นการปิดฉาก “การทดลอง” ปกครองระบอบประชาธิปไตย 1 ทศวรรษ หลังเมียนมาเคยถูกปกครองโดยทหารมานานราวครึ่งศตวรรษ

  รวบแกนนำรัฐบาลช่วงเช้ามืด  

กองทัพเมียนมาควบคุมตัวซูจี และพันธมิตรระดับสูงของเธอในช่วงเช้ามืดวันที่ 1 ก.พ. 2564 ก่อนหน้าการเปิดประชุมสภารอบใหม่ที่กำลังจะมีขึ้นในวันเดียวกัน

บรรดานายพลเมียนมาต่างอ้างเหตุผลในการรัฐประหารว่ามีการโกงเลือกตั้งเมื่อเดือน พ.ย. 2563 ซึ่งพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (เอ็นแอลดี) ของซูจี ชนะการเลือกตั้งแบบถล่มทลาย หรือ “แลนด์สไลด์”

1 ปีแห่งความอลหม่าน \"รัฐประหารเมียนมา\" - พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย ผู้นำรัฐประหาร แถลงข่าวผ่านโทรทัศน์หลังยึดอำนาจ วันที่ 1 ก.พ. 64 (ที่มา : AFP) -

การยึดอำนาจของกองทัพเมียนมา เรียกเสียงประณามจากทั่วโลกตั้งแต่สมเด็จพระสันติปาปาฟรานซิส ไปจนถึงประธานาธิบดีโจ ไบเดนของสหรัฐ

  บล็อกอินเทอร์เน็ต  

หลังเกิดการรัฐประหาร กลุ่มประชาชนที่ต่อต้านเริ่มใช้โซเชียลมีเดียในการนัดกันตีหม้อและกระทะ ซึ่งเป็นวิธีขับไล่ปิศาจร้ายตามความเชื่อโบราณ

ขณะที่รัฐบาลทหารพยายามบล็อกแพลตฟอร์มสังคมออนไลน์ต่าง ๆ รวมถึงเฟซบุ๊ค ซึ่งได้รับความนิยมอย่างมากในเมียนมา จากนั้น กองทัพก็สั่งตัดสัญญาณอินเทอร์เน็ตในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ

  ประชาชนต้านหนัก  

กระแสต่อต้านการรัฐประหารในเมียนมาเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ในช่วงสุดสัปดาห์แรก (6-7 ก.พ. 2564) ฝูงชนจำนวนมากรวมตัวกันเดินขบวนประท้วง เรียกร้องให้รัฐบาลทหารปล่อยตัวซูจี อดีตผู้นำ

หลังผ่านไปหลายสัปดาห์ การประท้วงเหล่านี้ขยายวงสู่มวลชนนับแสนคนในหลายเมืองและหมู่บ้านต่าง ๆ ทั่วประเทศ ขณะเดียวกัน กลุ่มแรงงานนัดกันหยุดงานประท้วงในวันที่ 8 ก.พ. 2564

1 ปีแห่งความอลหม่าน \"รัฐประหารเมียนมา\" - ผู้ประท้วงชาวเมียนมาชู 3 นิ้วต่อต้านรัฐบาลทหาร (ที่มา : AFP) -

แต่แล้วก็มีการนองเลือดเกิดขึ้น เมื่อหญิงวัย 19 ปีถูกตำรวจใช้กระสุนจริงยิงเข้าศีรษะขณะร่วมการประท้วงในกรุงเนปิดอว์ในวันต่อมา

  นานาชาติคว่ำบาตร  

ไม่นานหลังจากนั้น รัฐบาลสหรัฐประกาศคว่ำบาตรเจ้าหน้าที่กองทัพเมียนมาหลายคน รวมไปถึง พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุดและผู้นำรัฐประหาร

1 ปีแห่งความอลหม่าน \"รัฐประหารเมียนมา\"
- พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย ผู้นำรัฐประหารเมียนมา (ที่มา : AFP) -

ตามมาด้วยการคว่ำบาตรเพิ่มเติมจากสหราชอาณาจักรและสหภาพยุโรป (อียู)

  การปราบปรามขยายวง  

เมียะ เทว็ต เทว็ต ข่าย” หญิงวัย 19 ปีที่ถูกตำรวจยิงเข้าศีรษะ 10 วันก่อนหน้านั้น เสียชีวิตเมื่อวันที่ 19 ก.พ. 2564 หลังจากนั้น เธอก็กลายเป็นสัญลักษณ์การต่อต้านรัฐบาลทหารของชาวเมียนมาทั่วประเทศ

นับตั้งแต่นั้นมา การใช้กำลังปราบปรามผู้ประท้วงบนท้องถนนทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ และวันที่ 11 มี.ค. 2564 “แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล” ออกมาประณามว่า รัฐบาลทหารเมียนมาใช้อาวุธสงครามกับกลุ่มผู้ประท้วงที่ไร้อาวุธ

วันต่อมา ผู้เชี่ยวชาญพิเศษด้านเมียนมาของสหประชาชาติ (ยูเอ็น) กล่าวหาว่า กองทัพเมียนมาก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ

1 ปีแห่งความอลหม่าน \"รัฐประหารเมียนมา\" - กลุ่มผู้ประท้วงในเมียนมาทำป้ายประกาศจับผู้นำรัฐประหารแปะในที่สาธารณะหลายแห่ง (ที่มา : AFP) -

  วันนองเลือดที่สุด  

มีพลเรือนกว่า 100 คนถูกสังหารจากการปราบปรามผู้ประท้วงเมื่อวันที่ 27 มี.ค. 2564 ซึ่งเป็นวันเหล่าทัพประจำปีของเมียนมา และทำให้วันนั้นกลายเป็นวันที่นองเลือดที่สุดนับตั้งแต่มีการรัฐประหาร

เดือนต่อมา บรรดาส.ส.พลเรือนที่พ้นตำแหน่งหลังการรัฐประหาร จำต้องเดินเกมใต้ดินด้วยการประกาศตั้งรัฐบาลเงา ภายใต้ชื่อ “รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ” (National Unity Government)

  เปิดไต่สวนคดีซูจี  

ในเดือน มิ.ย. 2564 หรือกว่า 4 เดือนหลังจากซูจีถูกกองทัพเมียนมาควบคุมตัว เธอก็ถูกนำตัวขึ้นไต่สวนคดีในศาลของรัฐบาลทหาร

ซูจีเผชิญกับหลายข้อกล่าวหา รวมไปถึงลักลอบนำเข้าวิทยุมือถือ (walkie-talkie) โดยผิดกฎหมาย และละเมิดกฎหมายควบคุมการระบาดของโควิด-19 ระหว่างการเลือกตั้งปี 2563

1 ปีแห่งความอลหม่าน \"รัฐประหารเมียนมา\" - ออง ซาน ซูจี อดีตผู้นำโดยพฤตินัยของเมียนมา ถูกรัฐบาลทหารตั้งข้อหาหลายคดี (ที่มา : AFP) -

  วิกฤติเศรษฐกิจ  

ในเดือน ก.ค. 2564 ธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจของเมียนมาจะหดตัวลง 18% ในปี 2564 ผลจากการรัฐประหารและการระบาดของโควิด-19

ขณะเดียวกัน เวิลด์แบงก์ประเมินว่า อัตราความยากจนในประเทศจะพุ่งขึ้น 2 เท่าจากระดับในปี 2562

  ยกเลิกผลเลือกตั้งปี 63  

ช่วงปลายเดือน ก.ค. 2564 รัฐบาลทหารเมียนมาประกาศยกเลิกผลเลือกตั้งปี 2563 ที่พรรคของซูจีชนะขาดลอย โดยอ้างว่า ตรวจพบความผิดปกติของคะแนนมากกว่า 11 ล้านคะแนน

6 เดือนหลังจากกองทัพเมียนมายึดอำนาจ พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย ประกาศว่า จะจัดการเลือกตั้งใหม่ภายในเดือน ส.ค. 2566

  จำคุกซูจี  

วันที่ 6 ธ.ค. 2564 ศาลของรัฐบาลทหารสั่งจำคุกซูจีเป็นเวลา 4 ปี ฐานยุยงปลุกปั่นให้มีการต่อต้านกองทัพและละเมิดมาตรการคุมโควิด-19 แต่ลดโทษจำคุกเหลือ 2 ปี

วันที่ 10 ม.ค. 2565 ซูจีถูกตัดสินจำคุกอีก 4 ปี ในความผิด 2 ข้อหาเกี่ยวกับการนำเข้าและครอบครองวิทยุมือถือ (walkie-talkie) โดยผิดกฎหมาย และละเมิดกฎควบคุมการระบาดของโควิด-19

นอกจากนี้ ศาลเมียนมาจะเริ่มพิจารณาคดีทุจริตเลือกตั้งของซูจี ในวันที่ 14 ก.พ.นี้ หลังจากที่ถูกกล่าวหาว่าใช้อำนาจในทางมิชอบเพื่อให้ได้รับชัยชนะเป็นสมัยที่สองจากการเลือกตั้งปี 2563

--------------

ที่มา : AFP