‘ตักศิลา-คันธาระ’มรดกพุทธปากีสถาน

‘ตักศิลา-คันธาระ’มรดกพุทธปากีสถาน

‘ตักศิลา-คันธาระ’มรดกพุทธปากีสถาน

สาธารณรัฐอิสลามปากีสถานกับราชอาณาจักรไทยสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกันครบ 70 ปีในปีนี้ ตลอดเวลาที่ผ่านมาทั้งสองฝ่ายร่วมมือกันในหลากหลายมิติ หนึ่งในนั้นคือด้านวัฒนธรรมพุทธที่ควรส่งเสริมให้เข้มข้นยิ่งๆ ขึ้นไป พูดแบบนี้หลายคนอาจสงสัย งานพิพิธภัณฑ์เสวนา “สัมพันธ์หลากมิติไทย – ปากีสถาน” ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร เมื่อวันก่อนได้อธิบายเรื่องนี้ไว้อย่างชัดเจน

ผศ.สุดแดน วิสุทธิลักษณ์ จากคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เล่าว่า ปากีสถานเป็นประเทศมุสลิม มีประชากรมุสลิมมากเป็นอันดับ 2่ ของโลก แต่เป็นแหล่งมรดกวัฒนธรรมพุทธศาสนามากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก

ความสำคัญที่ทำให้ปากีสถานโดดเด่นมากที่สุดคืออาณาจักรคันธาระ เป็นสถานีส่งต่อพุทธศาสนาจากอินเดียขึ้นไปเอเชียกลางแล้วส่งต่อไปให้จีน ที่สำคัญที่สุดคือคันธาระเป็นพื้นที่ที่ตะวันตกกับตะวันออกมาพบกัน คนไทยอาจจะคุ้นเคยกับมิลินทปัญหา ที่พูดถึงการสนทนาธรรมระหว่างพระเจ้ามิลินท์ กษัตริย์เชื้อสายกรีกที่ได้สนทนาธรรมกับพระนาคเสน

การพบกันครั้งนี้หมายถึงการพบกันระหว่างเทพเจ้ากับพระพุทธเจ้า ความเชื่อทางพุทธบอกว่า ต้องดับสิ้นเรื่องตัวตน แต่ตะวันตก (กรีก-โรมัน) เชื่อมั่นในความเป็นมนุษย์ การเผชิญหน้ากันของความคิดสองกระแสในคันธาระ ทำให้ศาสนาพุทธมีพระพุทธรูป มรดกวัฒนธรรมพุทธอันโดดเด่นปัจจุบันสามารถหาชมได้ที่พิพิธภัณฑ์ 3 แห่งในปากีสถาน ได้แก่ พิพิธภัณฑ์ลาฮอร์ งานที่เด่นที่สุดคือพระพุทธรูปคันธาระปางบำเพ็ญทุกรกิริยา พิพิธภัณฑ์เปชวาร์ พระพุทธรูปงามที่สุดชิ้นหนึ่งคือปางสมาธิ มีภาพสลักหินพุทธประวัติจำนวนมาก และพิพิธภัณฑ์ตักศิลาที่นี่มีเศียรพระพุทธรูปโบราณมากมาย เป็นงานศิลปะที่ไม่ใช่แค่รับอิทธิพลจากอินเดียเท่านั้นแต่มีอิทธิพลตะวันตกแทรกซึมเข้ามาด้วย

“ความโดดเด่นของพระพุทธรูปคันธาระทำให้พิพิธภัณฑ์ทุกแห่งในโลกอยากมีและนำไปจัดแสดง ใครมีก็ถือได้ว่าเป็นพิพิธภัณฑ์ที่สำคัญมาก” ผศ.สุดแดนกล่าว

ด้านศาสตราจารย์ (พิเศษ) ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ยอมรับว่า คนไทยส่วนใหญ่ไม่ค่อยทราบเรื่องตักศิลา-คันธาระ

"ผมสอนหนังสือมาจนปูนนี้ ยังเคยหลงเชื่อว่า ตักศิลาอยู่ในอินเดีย ทั้งๆท่ี่อยู่ปากีสถาน อะไรหลายอย่างเกี่ยวกับพุทธศาสนา โดยเฉพาะเรื่องเกี่ยวกับศิลปะ พระพุทธรูปยุคแรกๆ ของโลกในคันธาระก็อยู่ในปากีสถาน"

ส่วนความประทับใจต่อปากีสถานนอกเหนือจากภูมิประเทศ สถาปัตยกรรม นักวิชาการรายนี้ประทับใจ ผู้คนกับรถบรรทุกที่ตกแต่งอย่างอลังการ

"ผู้คนเฟรนด์ลี ยิ้มง่าย ชอบคนไทยมากๆ เข้ามามะรุมมะตุ้มจะถ่ายรูปด้วย เด็กๆ กำลังเล่นน้ำอยู่ก็กระโดดน้ำให้เราดู มาส่งถึงรถ" ดร.ชาญวิทย์รำลึกบรรยากาศครั้งไปท่องเที่ยวปากีสถานหลายครั้งสมัยที่โควิด-19 ยังไม่ระบาด

สิ่งที่นักวิชาการทั้งสองคนพูดสอดคล้องกับความตั้งใจของรัฐบาลปากีสถาน อะศิม อิฟติคัร อะห์มัด เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐอิสลามปากีสถานประจำประเทศไทย ต้องการเพิ่มความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนกับประชาชนโดยมีวัฒนธรรมและการท่องเที่ยววิถีพุทธเป็นตัวตั้ง เพราะวัฒนธรรมเป็นรากฐานของสังคม สะท้อนการดำเนินชีวิตของผู้คน บอกเล่าเรื่องราวสร้างความเข้าใจระหว่างกัน

"ความสัมพันธ์ระหว่างผู้คนของเรานับย้อนไปได้นับพันปีผ่านมรดกวัฒนธรรมพุทธ คนไทยส่วนใหญ่รับรู้ความสำคัญของตักศิลา แท้จริงแล้วปากีสถานเป็นแหล่งอารยธรรมสำคัญไม่ว่าจะเป็นคันธาระ หรือแหล่งอารยธรรมลุ่มแม่น้ำสินธุ เราภาคภูมิใจมาก นอกจากมรดกวัฒนธรรมอิสลามแล้วเรายังเป็นตำนานสำคัญของพุทธศาสนา ทั้งยังอนุรักษ์มรดกวัฒนธรรมของชาวคริสต์ ฮินดู ซิกข์ในปากีสถาน ชี้ให้เห็นว่าประชาชนของเรารักและเคารพความหลากหลาย" ทูตปากีสถานกล่าวและว่า ขณะนี้ทางการของทั้งสองประเทศกำลังประสานนำโบราณวัตถุทางพุทธศาสนาจากปากีสถานมาจัดแสดงให้คนไทยได้ชมกันในปีนี้ ถือเป็นหนึ่งในกิจกรรมเฉลิมฉลองความสัมพันธ์ไทย-ปากีสถาน ครบรอบ 70 ปี