'ผูกมิตรประชาคมโลก'นโยบายหลักรัฐบาล'ไบเดน'
'ผูกมิตรประชาคมโลก'นโยบายหลักรัฐบาล'ไบเดน' ซึ่งแตกต่างอย่างสิ้นเชิงจากนโยบายอเมริกาต้องมาก่อนของรัฐบาลภายใต้การบริหารของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่ทำให้สหรัฐแทบจะไม่มีพันธมิตรเหลืออยู่เลย
เมื่อวันจันทร์(23พ.ย.) โจ ไบเดน ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐ เปิดตัวผู้ที่จะเข้ามาทำหน้าที่ในคณะรัฐบาลชุดใหม่บางส่วน ครอบคลุมด้านการต่างประเทศและความมั่นคง โดยเลือกคนเก่า ๆ หลายคนจากสมัยรัฐบาลประธานาธิบดีบารัก โอบามา มารับตำแหน่งด้านความมั่นคงระดับสูงของประเทศ เป็นการส่งสัญญาณถึงการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ และเป็นการหวนกลับมาสู่แนวทางแบบดั้งเดิมของพรรคเดโมแครตที่ให้ความสำคัญกับการกระชับความสัมพันธ์กับส่วนอื่น ๆ ของโลกมากขึ้น ซึ่งแตกต่างอย่างสิ้นเชิงจากนโยบายอเมริกาต้องมาก่อนของรัฐบาลภายใต้การบริหารของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่ทำให้สหรัฐแทบจะไม่มีพันธมิตรเหลืออยู่เลย
ไบเดนเลือก “แอนโทนี บลิงเคน” ที่ปรึกษาเก่าให้เป็นรัฐมนตรีต่างประเทศ อเลฮานโดร มายอร์กัส ชาวอเมริกันเชื้อสายคิวบา เป็นรัฐมนตรีด้านความมั่นคงแห่งมาตุภูมิ ถือเป็นคนเชื้อสายลาติโนคนแรกที่ได้นั่งในตำแหน่งนี้ โดยมายอร์กัส เคยเป็นรองปลัดกระทรวงนี้สมัยโอบามา เลือก“ลินดา โธมัส - กรีนฟิลด์” สตรีผิวดำที่เคยดำรงตำแหน่งระดับสูงของกระทรวงการต่างประเทศ เป็นเอกอัครราชทูตประจำสหประชาชาติ(ยูเอ็น) เลือก“เอฟริล ไฮน์” อดีตรองผู้อำนวยการซีไอเอเป็นผู้อำนวยการหน่วยข่าวกรองแห่งชาติ ซึ่งจะเป็นผู้หญิงคนแรกที่ดำรงตำแหน่งนี้
ไบเดน กล่าวถึงการเลือกบลิงเคน วัย 58 ปี ให้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศว่า เพื่อฟื้นฟูจิตวิญญาณและความเชื่อมั่นภายในกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐ และเป็นการประกาศแก่ประชาคมโลก รวมถึงชาติพันธมิตรในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกว่าสหรัฐกำลังจะกลับมาเป็นผู้นำ มีส่วนร่วมกับภูมิภาคนี้และไม่โดดเดี่ยวตัวเองอีกต่อไปแล้ว
นอกจากนี้ ไบเดนยังยืนยันการที่รัฐบาลวอชิงตันในอนาคตจะขับเคลื่อนกิจการต่างประเทศด้วยหลักการทูตก็เพื่อหลีกเลี่ยงสงครามที่ไม่จำเป็นนั่นเอง
“การเลือกทีมงานใหม่บางส่วนของไบเดน สะท้อนว่าเขาต้องการให้สหรัฐหวนกลับมามีความสัมพันธ์ที่ดีกับชาติพันธมิตรอีกครั้ง”อิสซาแอค สโตน ฟิช สมาชิกระดับอาวุโสของเอเชีย โซไซเอตี ให้ความเห็น
ส่วน“เฉิน ยาเม่ย” รองผู้อำนวยการและผู้ติดตามด้านการวิจัยสัมพันธ์แผนกอเมริกาศึกษาจากสถาบันเพื่อการศึกษาระหว่างประเทศของจีน มองว่า ช่วงที่ผ่านมารัฐบาลทรัมป์ได้สร้างรอยร้าวลึกด้านความสัมพันธ์จีน-สหรัฐ และถึงแม้ทีมงานของไบเดนจะคุ้นเคยกับจีน แต่ก็เลี่ยงปัญหานี้ไม่พ้น
ขณะที่ทีมงานฝ่ายเศรษฐกิจ การเงินและการคลังนั้น สื่อชั้นนำของโลกอย่างหนังสือพิมพ์วอลล์สตรีท เจอร์นัล รายงานโดยอ้างแหล่งข่าววงในว่า ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐ มีแผนจะเสนอชื่อเจเน็ต เยลเลน อดีตประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีคลังคนใหม่ ซึ่งหากการเสนอชื่อได้รับการรับรองจากวุฒิสภา เยลเลนในวัย 74 ปี จะกลายเป็นสุภาพสตรีคนแรกที่ได้นั่งตำแหน่งรัฐมนตรีคลังของสหรัฐ
แต่ข่าวการเสนอชื่อเยลเลนเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ช่วยหนุนดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กพุ่งขึ้นกว่า 300 จุดในช่วงที่ผ่านมา เนื่องจากตลาดเชื่อมั่นว่า เยลเลนจะสามารถกอบกู้เศรษฐกิจสหรัฐให้รอดพ้นวิกฤตการณ์ โดยเฉพาะในช่วงที่เศรษฐกิจกำลังเผชิญกับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
“แบร์รี แนปป์” หัวหน้าฝ่ายวิจัยของบริษัทไอรอนไซด์ส แมคโครอิโคโนมิกส์ ให้ความเห็นว่า ตลาดขานรับข่าวไบเดนมีแผนที่จะเลือกเยลเลนเป็นรัฐมนตรีคลังสหรัฐ เพราะในอดีตประธานเฟดผู้นี้มีความมุ่งมั่นในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ มากกว่าที่จะมุ่งเน้นเรื่องการเมืองซึ่งเป็นประเด็นที่นักลงทุนกังวล
ส่วน“เอ็ด มิลส์” นักวิเคราะห์จากบริษัทเรย์มอนด์ เจมส์ วอชิงตัน มีความเห็นว่า เยลเลนมีความน่าเชื่อถือในการบังคับใช้มาตรการที่แข็งแกร่ง รวมถึงการจัดทดสอบภาวะวิกฤต (stress test) ของธนาคารพาณิชย์ และกล้าที่จะบังคับใช้มาตรการที่แข็งกร้าวต่อธนาคารเวลส์ ฟาร์โก
ด้านเยลเลน ซึ่งขณะนี้ทำงานให้กับสถาบันวิจัยบรูคกิ้งส์ เป็นหนึ่งในกลุ่มนักเศรษฐศาสตร์ที่ได้ทำการรายงานสรุปเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจให้ไบเดนรับทราบนับตั้งแต่เดือนส.ค.ที่ผ่านมา เมื่อไบเดนยอมรับการเสนอชื่อเป็นตัวแทนพรรคเดโมแครตลงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐและในยุคประธานาธิบดีโอบามา เยลเลนถือเป็นสตรีคนแรกที่ได้รับเลือกเป็นประธานเฟดหนึ่งสมัย ก่อนที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์จะแต่งตั้งเจอโรม พาวเวลขึ้นมาดำรงตำแหน่งประธานเฟดคนปัจจุบัน