นายกฯ มาเลเซียย้ำ ‘ไม่เร่งด่วน’ ลดเงินอุดหนุนพลังงาน หวั่นกระทบผู้บริโภค

นายกฯ มาเลเซียย้ำ ‘ไม่เร่งด่วน’ ลดเงินอุดหนุนพลังงาน หวั่นกระทบผู้บริโภค

นายกฯ อันวาร์ อิบราฮิม ของมาเลเซีย ยืนยัน ‘ไม่มีแผนเร่งด่วนในการลดเงินอุดหนุนเชื้อเพลิง’ หวั่นกระทบต่อราคาพลังงาน และเงินเฟ้อจนอาจส่งผลให้ประชาชนเดือดร้อน ขณะเดียวกัน รัฐบาลมุ่งมั่นปรับปรุงสถานะการคลัง และลดหนี้สินอย่างรอบคอบ

สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานถึง “อันวาร์ อิบราฮิม” นายกรัฐมนตรีมาเลเซียที่ได้ส่งสัญญาณว่า ไม่จำเป็นต้องลดเงินอุดหนุนราคาเชื้อเพลิงอย่างเร่งด่วน เพราะจะทำให้ราคาพลังงานสูงขึ้นจนกระทบต่อผู้บริโภค และยังกระตุ้นเงินเฟ้อ 

อันวาร์ กล่าวกับฮัสนิดา อามิน ผ่านช่องบลูมเบิร์กที่งาน Qatar Economic Forum เมื่อวันอังคาร (14 พ.ค. 2567) ว่า “ผมยอมรับ จำเป็นต้องดำเนินการบางอย่าง แต่ต้องกระทำอย่างรอบคอบ เพราะจะไม่ทำให้ประชาชนได้รับความลำบากเด็ดขาด”

สำหรับราคาน้ำมันของมาเลเซีย จัดอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีราคาถูกที่สุดในโลก เนื่องจากได้รับการอุดหนุนราคาจากรัฐบาล โดยเมื่อนายกฯ ผู้นี้ถูกถามว่า รัฐบาลจะยกเลิกการอุดหนุนน้ำมันในปีนี้หรือไม่ อย่างที่รัฐบาลเคยเอ่ยไว้ อันวาร์ตอบกลับว่า “ผมจะดำเนินการในเวลาที่เหมาะสม เมื่อเราพร้อมเต็มที่"

ในช่วงต้นวาระของนายกฯ อันวาร์ เขาให้คำมั่นสัญญาที่จะปรับปรุงสถานะการคลังของประเทศ และลดภาระหนี้สินของรัฐบาลลงจากระดับปัจจุบันที่เกินกว่า 60% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) โดยเขาย้ำถึงการตัดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น และปิดช่องโหว่ต่างๆ แต่ขณะเดียวกัน ก็ต้องการรักษาความพึงพอใจของประชาชน

ในการปฏิรูปนโยบายอุดหนุนพลังงาน เพื่อลดภาวะขาดดุลทางการคลัง แม้ช่วยสร้างความเชื่อมั่นจนอาจดึงดูดนักลงทุนให้เข้ามาในประเทศมากขึ้น แต่ก็อาจกระทบต่อคะแนนนิยมของอันวาร์ ซึ่งได้ลดลงตั้งแต่เขาเข้ารับตำแหน่งในปลายปี 2565 อีกทั้งเศรษฐกิจของมาเลเซียก็เติบโตช้าลงเหลือ 3.7% ในปีที่แล้ว หลังจากที่เคยเติบโตเร็วที่สุดในรอบ 20 ปีในปี 2565

ที่ผ่านมา มาเลเซียอุดหนุนราคาน้ำมัน และน้ำมันพืชให้กับประชาชนเป็นจำนวนมาก ซึ่งคาดว่าเป็นค่าใช้จ่ายราว 81,000 ล้านริงกิต ในปีที่แล้ว โดยในปีนี้ รัฐบาลเตรียมเปลี่ยนการอุดหนุนแบบหว่านแห เป็นการช่วยเหลือเฉพาะกลุ่มแทน เพื่อช่วยลดการขาดดุลงบประมาณปี 2567 จากที่เคยอยู่ที่ 5% ในปี 2566 ให้เหลือราว 4.3% ของจีดีพี 

ในส่วนของเงินเฟ้อ ธนาคารกลางได้คาดการณ์ว่า อัตราเงินเฟ้อประเทศซึ่งอยู่ต่ำกว่า 2% ตั้งแต่เดือนกันยายน อาจ “เพิ่มขึ้น” เฉลี่ยสูงถึง 3.5% ในปีนี้ อันมาจากผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการปฏิรูปนโยบายอุดหนุนพลังงานดังกล่าว

ด้วยเหตุนี้ อันวาร์จึงกล่าวว่า “แล้วเราจะดำเนินการปฏิรูปครั้งนี้โดยไม่ลงโทษคนยากจนได้อย่างไร? นั่นคือสิ่งที่สำคัญที่สุดในความคิดของผม” 

ส่วนนักวิเคราะห์จากซิตี้กรุ๊ปคาดการณ์ว่า “ความเสี่ยงที่จะมีการปรับขึ้นดอกเบี้ย” จะเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในช่วงปลายปีนี้ หากมาเลเซียเริ่มลดราคาน้ำมันในเดือนกรกฎาคม โดยธนาคารกลางของมาเลเซีย ได้ปรับอัตราดอกเบี้ยครั้งล่าสุดเมื่อปีที่แล้ว และในขณะนี้ ช่องว่างดอกเบี้ยระหว่างมาเลเซียกับธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ได้ขยายมากที่สุดในประวัติศาสตร์ จนทำให้สกุลริงกิตอ่อนค่าลง แตะระดับต่ำสุดในรอบ 26 ปี

อ้างอิง: bloomberg

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์