ภัยแล้งหนุนต้นทุนปลูกกาแฟพุ่ง เวียดนามหันปลูกทุเรียนส่งขายจีน

ภัยแล้งหนุนต้นทุนปลูกกาแฟพุ่ง เวียดนามหันปลูกทุเรียนส่งขายจีน

เวียดนามส่งออกทุเรียน ฉายา“ราชาแห่งผลไม้” ไปจีนคิดเป็นมูลค่ากว่า 2,000 ล้านดอลลาร์ในปี 2566 มากกว่าปีก่อนหน้านี้กว่า5 เท่าตัว

นิกเคอิ เอเชีย นำเสนอรายงานเรื่องนี้ โดยระบุว่า ราคากาแฟที่อยู่ในช่วงขาขึ้น เพราะผลผลิตน้อยสภาพอากาศที่ร้อนระอุและแห้งแล้งจากปรากฏการณ์เอลนีโญ ประกอบกับความต้องการบริโภคกาแฟทั่วโลกที่โตต่อเนื่อง ทำให้ต้นทุนต้นกาแฟสายพันธุ์โรบัสตา ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่นิยมปลูกในเวียดนามแพงขึ้น เกษตรกรชาวเวียดนามจึงพากันปลูกพืชเกษตรที่สร้างรายได้อย่างอื่น เช่น ทุเรียน ซึ่งตอนนี้กำลังเป็นผลไม้ยอดนิยมของผู้บริโภคชาวจีน

“ตอนนี้ราคาเมล็ดกาแฟและไข่แพงขึ้นมาก”ตัวแทนร้าน Cafe Giang ซึ่งตั้งอยู่ในย่านเมืองเก่ากรุงฮานอย เมืองหลวงของเวียดนาม กล่าว

ร้านนี้ตั้งขึ้นเมื่อปี 2489 เป็นร้านกาแฟที่ถือเป็นแหล่งกำเนิดของ กาแฟไข่เวียดนาม เครื่องดื่มรสชาติแปลกใหม่ที่ใช้ไข่แดงตีกับน้ำตาลทรายหรือนมข้นหวานจนขึ้นฟูเป็นฟองครีมเหนียวนุ่ม แล้วเติมส่วนผสมอื่นๆ ลงไปตามสูตร ก่อนนำไปโปะไว้ด้านบนของกาแฟดำอันเข้มข้น ถือเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กาแฟร้อนธรรมดาๆได้อย่างประสบความสำเร็จ 

แต่ถึงจะต้องแบกรับต้นทุนสูงขึ้น ร้านกาแฟเก่าแก่แห่งนี้ก็ยืนยันว่าจะไม่ปรับราคากาแฟขึ้นจากปัจจุบันที่ขายอยู่แก้วละ 35,000 ดอง(1.38 ดอลลาร์)ถูกกว่าราคากาแฟสตาร์บัคส์ ที่มีสาขาตามย่านสำคัญต่างๆทั่วกรุงฮานอยประมาณครึ่งหนึ่ง            

“เราไม่สามารถขึ้นราคาได้ง่ายๆ เมื่อนึกถึงลูกค้าขาประจำที่มาดื่มกาแฟที่ร้านเราตั้งแต่รุ่นคุณปู่ซึ่งเป็นผู้ก่อตั่้งร้านกาแฟแห่งนี้”ตัวแทนร้านกาแฟ กล่าว ร้านกาแฟจึงแก้ปัญหาต้นทุนเพิ่มด้วยการหารายได้เพิ่มด้วยการขายขนมปังอบและเมล็ดกาแฟสด

ทั้งนี้ ราคาเมล็ดกาแฟพันธุ์โรบัสต้าซื้อขายล่วงหน้าในกรุงลอนดอนช่วงปลายเดือนเม.ย.ปรับตัวสูงขึ้นทำสถิติรอบใหม่ โดยอยู่ที่ 4,500 ดอลลาร์/ตัน  สูงกว่าราคาช่วงปลายปีที่แล้วอยู่มาก   

เวียดนามเป็นประเทศที่ผลิตเมล็ดกาแฟรายใหญ่สุดอันดับ2ของโลกและเป็นประเทศที่ผลิตกาแฟโรบัสต้ารายใหญ่สุดของโลกแต่ตอนนี้เกษตรกรชาวเวียดนามหันไปปลูกทุเรียนกันมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะสู้ต้นทุนการเพาะปลูกกาแฟโรบัสตาที่สูงขึ้นและให้ผลผลิตน้อยจากภัยแล้งไม่ไหว

เวียดนามส่งออกทุเรียน ฉายา“ราชาแห่งผลไม้” ไปจีนคิดเป็นมูลค่ากว่า 2,000 ล้านดอลลาร์ในปี 2566 มากกว่าปีก่อนหน้านี้กว่า5 เท่าตัว และคาดว่าปีนี้จะส่งออกทุกเรียนไปจีนได้เพิ่มขึ้น

การหันไปปลูกทุเรียนของเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟทำให้พื้นที่เพาะปลูกต้นกาแฟลดน้อยลง ส่งผลให้ผลผลิตกาแฟลดตามไปด้วย ขณะที่การตัดไม้ทำลายพื้นที่ป่าทำให้เกิดความแห้งแล้งในพื้นที่ปลูกกาแฟ ก็ถือเป็นความท้าทายครั้งใหญ่ของกาแฟเวียดนาม  เพราะกาแฟดีที่คนส่วนใหญ่ชื่นชอบต้องมีความฉ่ำ ปลูกใต้ป่าสมบูรณ์ที่มีร่มเงา

รายงานจากองค์การกาแฟระหว่างประเทศ ระบุว่า ผลผลิตกาแฟโดยรวมของเวียดนามอยู่ที่ 29.2 ล้านถุง(ปริมาณ 60 กก.)ในช่วงเดือนต.ค.ปี 2565 และก.ย.ปี 2566 ลดลงปีละ 9.8%  

“อากาศร้อนเกินไปและน้ำก็มีไม่เพียงพอ ทำให้ผลผลิตกาแฟน้อย” แม่ค้าเมล็ดกาแฟคนหนึ่งจากโฮจิมินห์ ซิตี้ ซึ่งอยู่ทางตอนใต้ของเวียดนาม กล่าว โดยเธอทำสัญญากับๆไร่กาแฟแห่งหนึ่งในจังหวัดดก หน่อง แต่ต้นกาแฟที่ไร่นี้ให้ผลผลิตน้อยมากเพราะปัญหาสภาพอากาศแล้งที่กินระยะเวลานาน

ขณะที่มารุเบนิ บริษัทการค้าสัญชาติญี่ปุ่น มีความเห็นว่า ตัวแปรสำคัญอีกประการที่ส่งผลต่อตลาดกาแฟเวียดนามคือ บริษัทรายใหญ่ทั้งในสหรัฐและในสหภาพยุโรป(อียู)กำลังเปลี่ยนจากการบริโภคเมล็ดกาแฟสายพันธุ์อาราบิก้าราคาแพง ซึ่งส่วนใหญ่ผลิตในอเมริกากลางและอเมริกาใต้มาเป็นเมล็ดพันธุ์โรบัสต้าที่มีราคาถูกกว่ามากเพื่อรับมือกับต้นทุนขนส่งและราคาเชื้อเพลิงที่เพิ่มขึ้น

ตัวแปรเชิงโครงสร้าง เช่น การบริโภคกาแฟที่เพิ่มขึ้นในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และในจีน เป็นอีกปัจจัยที่หนุนให้ราคากาแฟโรบัสต้าปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยตั้งแต่เดือนต.ค.ปี 2565 ถึงเดือนก.ย.ปี 2566 การบริโภคกาแฟในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก มีปริมาณรวม 44.5 ถุง มากกว่า 1 ใน 4 ของปริมาณการบริโภคโดยรวมทั่วโลก และเพิ่มขึ้น 12% เมื่อเทียบกับ 4 ปีก่อนหน้านี้ ขณะที่การบริโภคทั่วโลกเติบโตแค่ 1% ในช่วงเวลาดังกล่าว

ตอนนี้ไลฟ์สไตล์ชาวเวียดนามทั้งชาย-หญิงเปลี่ยนไป นิยมนั่งดื่มและพูดคุยกันในร้านกาแฟจนกลายเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินชีวิตประจำวัน แม้ว่าเวียดนามเพิ่งเริ่มปลูกต้นกาแฟในช่วงที่ยังตกเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศสศตวรรษที่ 19 จนกระทั่งช่วงทศวรรษที่ 1980 การดื่มกาแฟก็เริ่มได้รับความนิยม และความต้องการบริโภคกาแฟในเวียดนามก็เติบโตขึ้นต่อเนื่องเพราะผลพวงการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ

ส่วนการบริโภคกาแฟในกลุ่มประเทศที่ผลิตกาแฟส่วนใหญ่มักบริโภคเมล็ดกาแฟเกรดต่ำ ที่ไม่เหมาะส่งออกไปขายในต่างประเทศ แต่เมื่อกาแฟสดแบรนด์ดังอย่างสตาร์บัคส์ และเชนกาแฟอื่นๆเริ่มเข้ามาตั้งเครือข่ายกันมากขึ้่น พฤติกรรมของผู้บริโภคก็เปลี่ยนไป ทำให้ความต้องการเมล็ดกาแฟคุณภาพสูงเพิ่มขึ้นตามไปด้วย