ข้อสังเกต เรือชนสะพานบัลติมอร์ถล่ม | ไสว บุญมา

ข้อสังเกต เรือชนสะพานบัลติมอร์ถล่ม | ไสว บุญมา

เหตุการณ์เรือบรรทุกสินค้าชนสะพานข้ามอ่าวที่เมืองท่าบัลติมอร์ ตอน 01.30 น. วันที่ 26 พ.ค. มีข้อมูลหลายด้านซึ่งตามธรรมดาจะไม่เป็นข่าวกระจายออกมา ทั้งเกี่ยวกับท่าเรือและสะพานขนาดใหญ่ เกี่ยวกับเรือและสินค้าพร้อมกับคนงานในเรือและบนสะพานซึ่งเสียชีวิตหลายคน

ท่าเรือบัลติมอร์ มีอายุกว่า 350 ปี มีความสำคัญเป็นอันดับที่ 11 ในด้านการขนส่งสินค้าของสหรัฐ ส่วนสะพานที่เรือชนจนหักนั้นเป็นสะพานเหล็ก 4 ช่องจราจร อายุ 52 ปี มีความยาว 2.6 กิโลเมตร และความสูงกว่า 56 เมตร เรือบรรทุกสินค้าลำนั้นอายุ 10 ปี เป็นเรือขนาดกลาง สร้างในเกาหลีใต้ จดทะเบียนในสิงคโปร์และเช่าไปใช้งานโดยบริษัทสัญชาติเดนมาร์ก

ในขณะที่เรือชนสะพานมีเจ้าพนักงานนำร่องของท้องถิ่น 2 คนอยู่บนเรือ พร้อมกับลูกเรือ 22 คน ซึ่งเป็นชาวอินเดีย 21 คนและชาวศรีลังกา 1 คน เรือกำลังขนสินค้าจากสหรัฐไปยังศรีลังกา ข้อมูลเหล่านี้บ่งชี้ถึงภาวการณ์เชื่อมโยงกันอย่างกว้างขวาง หรือความเป็นโลกาภิวัตน์ของโลกปัจจุบัน 

บริษัทสร้างเรือ เจ้าของเรือ และผู้เช่าเรือ มักเป็นคนของประเทศที่พัฒนาก้าวหน้ามากแล้วและมีรายได้สูง ส่วนลูกเรือมักมาจากประเทศกำลังพัฒนา โดยเฉพาะอินเดีย ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย เพราะรับค่าจ้างต่ำกว่าเมื่อเทียบกับลูกเรือในประเทศก้าวหน้ามากแล้ว ค่าจ้างดังกล่าวมักสะท้อนออกมาทางราคาสินค้า ซึ่งต่ำกว่าราคาในกรณีที่ลูกเรือมาจากประเทศที่มีรายได้สูง

เนื่องจากอุบัติเหตุเกิดในช่วงหลังเที่ยงคืนไปมากแล้ว บนสะพานจึงมีรถยนต์กำลังวิ่งผ่านจำนวนน้อย นอกจากนั้น เมื่อเครื่องเรือดับทำให้พนักงานนำร่องบังคับไม่ได้ ลูกเรือได้แจ้งให้เจ้าหน้าที่ด้านความปลอดภัยในท้องถิ่นทราบทันที สะพานจึงถูกปิดก่อนเรือชน

อย่างไรก็ดี บนสะพานยังมีคนงานซ่อมบำรุงทำงานอยู่และออกจากสะพานไม่ทัน หลายคนจึงตกลงไปในน้ำทำให้เสียชีวิต คนงานเหล่านั้นเป็นผู้อพยพไปจากกัวเตมาลา เม็กซิโก เอลซัลวาดอร์ และฮอนดูรัส

การที่ผู้เสียชีวิตเป็นผู้อพยพจากต่างประเทศเข้าไปอยู่ในสหรัฐ บ่งบอกความเป็นไปในหลายประเทศได้ในหลายแง่มุม กัวเตมาลา และ 3 ประเทศที่อ้างถึงอยู่ในกลุ่มละตินอเมริกา ที่อยู่ติดหรือใกล้กับสหรัฐที่สุด ในบรรดาผู้พยายามเข้าไปในสหรัฐจำนวนมาก ทั้งผู้ที่ต้องการเข้าไปแบบผู้ลี้ภัยและลักลอบเข้าไปแบบผิดกฎหมาย ซึ่งไปออกันอยู่ตรงเขตแดนระหว่างสหรัฐกับเม็กซิโกทุกวัน จำนวนมากจึงไปจากประเทศเหล่านี้เนื่องจากเดินทางเพียงไม่นาน 

ปัจจัยที่ทำให้พวกเขาพยายามเข้าไปในสหรัฐ ส่วนใหญ่เป็นความยากจน ซึ่งมักเกิดจากความฉ้อฉลของภาครัฐในประเทศของตน ส่งผลให้เศรษฐกิจประสบวิกฤติบ่อย และมีความเหลื่อมล้ำสูง

นอกจากความยากจนในประเทศละตินอเมริกาโดยทั่วไปแล้ว ในขณะนี้ยังมี 2 ประเทศที่ตกอยู่ในภาวะล้มเหลวและใกล้ล้มเหลวอีกด้วยได้แก่ เฮติและเวเนซุเอลา ความฉ้อฉลเป็นต้นเหตุเช่นกัน ซ้ำร้ายเวเนซุเอลายังใช้นโยบายประชานิยมแบบเลวร้ายมานานอีกด้วย ทั้งที่มีรายได้จำนวนมหาศาลจากการขายน้ำมัน ประเทศก็ทานประชานิยมไม่ไหว

ประชาชนจึงพยายามหนีความอดอยากไปตายดาบหน้าในสหรัฐ และพร้อมรับงานจำพวกค่าแรงต่ำ ทำตอนกลางคืนและเสี่ยงอันตรายดังในกรณีของผู้เสียชีวิตดังกล่าว

ในปัจจุบัน ผู้พยายามหาทางเข้าสหรัฐมิได้ไปจากประเทศในเขตทวีปอเมริกาเท่านั้น หากไปจากทุกภาคของโลกรวมทั้งชาวจีนซึ่งเป็นที่จับตาเป็นพิเศษ เนื่องจากเป็นเวลากว่า 3 ทศวรรษ

จีนฉายภาพของการพัฒนาสำเร็จสูงแบบก้าวกระโดด แต่มีชาวจีนจำนวนมากใช้บริการนายหน้าพาไป รวมทั้งที่ให้บินไปรวมกันในเปรูแล้วเดินทางต่อทั้งทางบกและทางน้ำผ่านประเทศต่างๆ ไปยังชายแดนสหรัฐ การเดินทางช่วงนี้มีอันตรายจากทั้งโจรผู้ร้ายและภัยธรรมชาติ

เมื่อวันศุกร์ที่แล้ว ชาวจีน 8 คนเสียชีวิตจากเรือขนาดเล็กล่มนอกชายฝั่งเม็กซิโก การเดินทางแบบนั้นมีความเสี่ยงสูงมาก แต่ชาวจีนก็ยังใช้

ข้อมูลดังกล่าวคงชี้ว่า ข่าวที่กระจายออกมาไม่ขาดสาย ไม่ว่าจะเป็นความสำเร็จทางเศรษฐกิจและสังคมของจีน อินเดีย และประเทศอื่น หรือความเลวร้ายในสหรัฐ อาจสะท้อนความจริงเพียงส่วนเดียว.