'กูเกิล' ตกลงลบข้อมูลลูกค้าพันล้านราย จบคดีโหมด Incognito ไม่ลับจริง

'กูเกิล' ตกลงลบข้อมูลลูกค้าพันล้านราย จบคดีโหมด Incognito ไม่ลับจริง

'กูเกิล' ตกลงจะลบข้อมูลส่วนตัวของลูกค้านับพันล้านราย หวังจบคดีที่ถูกฟ้องว่าโหมดปกปิดตัวตน Incognito ในเบราว์เซอร์โครม 'ไม่ได้ลับจริง' ยังมีการแอบเก็บข้อมูลผู้ใช้งานอยู่

สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า บริษัทกูเกิล อิงค์ (Google) ตกลงที่จะทำลายข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้นับพันล้านรายเพื่อจบคดีที่บริษัทถูกฟ้องว่า "โหมดปกปิดตัวตน" (Incognito) ในเบราว์เซอร์กูเกิลโครม และโหมดความเป็นส่วนตัวในเบราว์เซอร์อื่นๆ ไม่ได้เป็นการเข้าใช้งานแบบลับๆ อย่างที่หลายคนเข้าใจ เพราะยังคงมีการเก็บข้อมูลหลังบ้านของผู้ใช้อยู่

 

ทั้งนี้ กูเกิลถูกฟ้องร้องเมื่อปี 2563 โดยเป็นการดำเนินคดีแบบกลุ่มจากโจทก์ที่เป็นตัวแทนของผู้ใช้งานโหมดปกปิดตัวตนนับล้านราย นับตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย. 2559 เป็นต้นมา

\'กูเกิล\' ตกลงลบข้อมูลลูกค้าพันล้านราย จบคดีโหมด Incognito ไม่ลับจริง

ฝ่ายโจทก์ฟ้องว่า แม้จะใช้งานโหมดปกปิดตัวตน หรือ Incognito ในเบราว์เซอร์กูเกิลโครม และโหมดปกปิดตัวตนในเบราว์เซอร์อื่นๆ แล้ว แต่กูเกิลก็ยังปล่อยให้ระบบกูเกิล แอนาไลติกส์ รวมถึงระบบคุกกี้และแอปพลิเคชันเก็บข้อมูลของผู้ใช้อยู่ ทำให้กูเกิลมีฐานข้อมูลมหาศาลที่ไม่อาจนับได้จากการเก็บข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้ ตั้งแต่ข้อมูลกลุ่มเพื่อนฝูง งานอดิเรก อาหารที่ชอบ พฤติกรรมการชอปปิง รวมไปถึง "ข้อมูลส่วนตัวที่น่าอาย" ซึ่งผู้ใช้ไม่ต้องการเปิดเผยจึงต้องเข้าใช้งานโหมดปกปิดตัวตน 

ล่าสุด กูเกิลได้ยื่นข้อตกลงยอมความแก่ศาลแขวงแคลิฟอร์เนียเมื่อวันที่ 1 เม.ย. แต่ยังต้องรอการอนุมัติจากผู้พิพากษาก่อน โดยฝั่งทนายของกูเกิลตีความข้อตกลงการทำลายข้อมูลลูกค้าครั้งนี้ว่ามีมูลค่าถึงกว่า 5,000 ล้านดอลลาร์ (ราว 1.83 แสนล้านบาท) และมูลค่าที่แท้จริงอาจสูงถึง 7,800 ล้านดอลลาร์ (ราว 2.86 แสนล้านบาท) ซึ่งกูเกิลจะไม่มีการจ่ายค่าเสียหายเพิ่มเติม แต่ผู้ใช้งานอาจฟ้องเรียกค่าเสียหายเป็นรายบุคคลได้  

นอกจากนี้ กูเกิลจะอัปเดตการเปิดเผยว่าบริษัทมีการเก็บข้อมูลอะไรจากโหมดความเป็นส่วนตัว ซึ่งบริษัทได้เริ่มดำเนินการในส่วนนี้ไปแล้ว และกูเกิลจะเปิดทางให้ผู้ใช้งานโหมด Incognito สามารถบล็อกคุกกี้จากบุคคลที่สามได้นาน 5 ปีด้วย  

เดวิด โบอีส์ ทนายของฝ่ายโจทก์ระบุถึงข้อตกลงยอมความครั้งนี้ว่า เป็นก้าวสำคัญครั้งประวัติศาสตร์ในการร้องขอความซื่อสัตย์และความรับผิดชอบจากบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ 

"ผลจากข้อตกลงนี้คือ กูเกิลจะเก็บข้อมูลผู้ใช้งานจากโหมดความเป็นส่วนตัวน้อยลง และกูเกิลจะทำเงินจากข้อมูลนั้นน้อยลง" ทนายฝ่ายโจทก์ระบุ