‘The Outdoor Economy’ ตลาดสดใส เปิดรับผู้ประกอบการหน้าใหม่

‘The Outdoor Economy’ ตลาดสดใส เปิดรับผู้ประกอบการหน้าใหม่

ท่ามกลางปัญหาฝุ่น PM 2.5 และอากาศอันร้อนระอุ แต่พฤติกรรม และไลฟ์สไตล์ผู้คนสวนทางกับปัญหาเหล่านั้น คนยังโหยหาธรรมชาติ และการทำกิจกรรมกลางแจ้ง เพราะต้องการหลีกหนีจากชีวิตในเมืองที่วุ่นวาย และเคร่งเครียด ไม่ใช่แค่ไทยแต่เป็นเทรนด์ร่วมในระดับโลก

เศรษฐกิจกลางแจ้ง (Outdoor Economy) ครอบคลุมกิจกรรมที่เชื่อมโยงกับธรรมชาติ เช่น การเดินป่า ตั้งแคมป์ ตกปลา รวมไปถึงอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องต่างๆ ทั้งบริการลานกางเต็นท์ ไกด์นำทาง กีฬาผจญภัย หรือการผลิตอุปกรณ์สำหรับทำกิจกรรมกลางแจ้ง เศรษฐกิจเหล่านี้เติบโตได้จากความต้องการของผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้น ปฏิเสธไม่ได้ว่าโซเชียลมีเดียมีผลทำให้กิจกรรมนี้บูม จากคลิปโชว์ไลฟ์สไตล์ความชิว ภาพสวยๆ ของธรรมชาติ ไปจนถึงอุปกรณ์ และเสื้อผ้าคูลๆ ส่งผลทำให้คนอยากทำตาม

โอกาสมีอยู่มากมายในตลาด Outdoor โดยเฉพาะตลาดอุปกรณ์สำหรับทำกิจกรรมกลางแจ้ง ทั่วโลกคาดว่าจะเติบโตอยู่ที่ 5.98% ในระหว่างปี 2567-2571 โดยมี "จีน" เป็นผู้นำตลาดทั้งการผลิตและบริโภค

ความคิดสร้างสรรค์ในการพัฒนาอุปกรณ์สำหรับกิจกรรมกลางแจ้งกำลังเปลี่ยนโฉมหน้าของตลาดให้สดใส และน่าตื่นเต้นยิ่งขึ้น ผู้บริโภคมีแนวโน้มที่จะถูกดึงดูดให้ทดลองใช้ ไม่ว่าจะเป็นอุปกรณ์ที่ออกแบบมาเพื่อเผชิญกับสภาพอากาศที่ไม่แน่นอน อุปกรณ์ตอบสนองสไตล์แฟชั่น หรืออุปกรณ์ที่มีจุดประสงค์การใช้งานเฉพาะ ตัวเลือกสินค้าที่มากขึ้น รวมถึงการซื้อหาที่ง่ายขึ้นทั้งออนไลน์ และออฟไลน์ ทำให้ฐานลูกค้าขยายตัว ส่งเสริมการเติบโตของตลาด

พฤติกรรมผู้บริโภคในตลาด Outdoor กำลังมองหาอะไร? WGSN ได้สรุปข้อมูล “Brand Strategy: The Outdoor Economy” เป็นแนวทางสำหรับผู้ประกอบการที่ให้บริการและผลิตอุปกรณ์เกี่ยวเนื่อง ดังนี้

- แบรนด์ควรคำนึงถึงการมีส่วนร่วมของชุมชนท้องถิ่น ชวนเข้ามาสนับสนุนในงานบริการต่างๆ เช่น เป็นไกด์พื้นที่พาเดินป่า เตรียมวัตถุดิบท้องถิ่นในการประกอบอาหารสำหรับผู้ตั้งแคมป์ หรือจัดหาอุปกรณ์เพื่อสร้างการเรียนรู้ ตัวอย่างเช่น แบรนด์กล้องส่องทางไกล “Nocs Provisions” ร่วมมือกับ “Usal” ซึ่งเป็นชุมชนผู้ทำกิจกรรมกลางแจ้งในแคลิฟอร์เนีย ทำการจัดหาอุปกรณ์สำหรับการดูนก ให้นักท่องเที่ยวได้ศึกษาวิถีของสัตว์ในธรรมชาติ

- พื้นที่กลางแจ้งในเมืองใหญ่สำหรับเด็กน้อย ใช้ศึกษาธรรมชาติและวิ่งเล่นได้อย่างปลอดภัย ตัวอย่างจาก “Kurkku Fields” ในชิบะ ประเทศญี่ปุ่น เป็นฟาร์ม และสถานที่พักผ่อนสำหรับครอบครัว และเด็กๆ สามารถเรียนรู้เกี่ยวกับวิถีเกษตรกรรม และใช้เวลาร่วมกับครอบครัวทำกิจกรรมกลางแจ้งต่างๆ เช่น ปิกนิก หรือ เล่นจานร่อน

- อุปกรณ์เตรียมพร้อมรับมือกับสภาพภูมิอากาศเลวร้าย ซึ่งส่งผลกระทบต่อรูปแบบการใช้ชีวิต และทำกิจกรรมกลางแจ้ง แบรนด์ต่างๆ จึงต้องพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ปรับให้เข้ากับสภาวะอากาศที่อาจรุนแรงแบบคาดเดาไม่ได้ ตัวอย่างเช่น คอลเลกชันอุปกรณ์วิ่งของ “Satisfy Running” ออกแบบมาเพื่อให้ทนกับสภาพอากาศที่หนาวจัด ประกอบด้วยเสื้อกั๊กแบบถอดได้ เพื่อปรับให้เข้ากับอุณหภูมิที่อาจเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

ส่วน “ROA” แบรนด์อุปกรณ์ Outdoor สัญชาติอิตาลี เปิดตัวเสื้อเดินป่าที่ช่วยให้ผู้บริโภคปรับตัวเข้ากับการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศได้ ผลิตจากผ้าตาข่าย Polartec® Power Dry® ที่ระบายอากาศได้ดีในช่วงอุณหภูมิที่อบอุ่น แต่สามารถกักเก็บความร้อนไว้ได้เมื่ออากาศเย็น

- ทำให้ผู้พิการสามารถเข้าถึง และทำกิจกรรมกลางแจ้งได้ โดยใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีช่วยสร้างอุปกรณ์เสริม อำนวยความสะดวกให้ผู้พิการมีโอกาสเท่าเทียมในการสัมผัสกิจกรรมกลางแจ้ง ตัวอย่างแบรนด์ที่น่าสนใจ เช่น สมาร์ตวอทช์ “Garmin” ใช้ข้อมูลเพื่อประเมินความยากของเส้นทางแก่นักวิ่งและนักเดินป่า ทำให้ผู้ใช้สามารถเลือกเส้นทางที่ดีที่สุดตามความสามารถของตนได้ง่ายขึ้น หรือ “Esper Bionics” ได้เริ่มโครงการสร้างมือไบโอนิค เพื่อวิเคราะห์วิธีการใช้มือเทียม ข้อมูลนี้จะสอนให้เครื่องสามารถคาดคะเนแนวทางการเคลื่อนไหว ปรับวิธีการตอบสนอง ช่วยให้ผู้พิการเพลิดเพลินกับการทำกิจกรรมกลางแจ้งได้มากขึ้น

โดยสรุปผู้บริโภคกำลังมองหาประสบการณ์กลางแจ้งที่เป็นมิตรกับคนทุกกลุ่ม สร้างการมีส่วนร่วมของชุมชน เกิดรายได้ และจ้างงานให้กับคนในท้องถิ่น และมีความคิดสร้างสรรค์ในการออกแบบกิจกรรม อุปกรณ์ที่เสริมไลฟ์สไตล์ หรือคอนเทนต์น่าสนใจเสริมการเรียนรู้ ช่วยสร้างความตระหนักรู้ถึงความสำคัญของการอนุรักษ์ธรรมชาติอย่างยั่งยืน ยังมีโอกาสอีกมากให้ผู้ประกอบการหน้าใหม่ "Rethink" เพื่อปรับปรุงสินค้าและบริการ

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์