โซเชียลจีนจุดประเด็น 'คนวัย 30+ ว่างงาน' สะท้อนปัญหาแรงงานในประเทศ

โซเชียลจีนจุดประเด็น 'คนวัย 30+ ว่างงาน' สะท้อนปัญหาแรงงานในประเทศ

เกิดประเด็นร้อนใหม่ในโลกโซเชียลจีน กรณีคน “วัย 30+ จนถึงวัยกลางคน” ประสบปัญหาว่างงาน ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาแรงงานในประเทศ ซึ่งคนยิ่งอายุมากยิ่งเสี่ยงตกงานสูงขึ้นและหางานได้ยากขึ้นด้วย

KEY

POINTS

  • กรณีคน “วัย 30+ จนถึงวัยกลางคน” ประสบปัญหาว่างงาน ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาแรงงานในประเทศ ได้กลายเป็นประเด็นร้อนล่าสุดในโลกออนไลน์จีน
  • ต้นตอของกระแสดังกล่าวมาจากโฆษณารับสมัครพนักงานแคชเชียร์อายุระหว่าง 18-30 ปี ของร้านสะดวกซื้อแห่งหนึ่งในจีน
  • ปัจจุบัน เกณฑ์อายุเกษียณของจีนถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ โดยเกษียณอายุที่ 60 ปีสำหรับผู้ชาย และน้อยกว่าสำหรับผู้หญิงที่อาจจะเกษียณที่เมื่ออายุ 55 ปีจากงานออฟฟิศ หรือ 50 ปีหากทำงานในโรงงาน

เกิดประเด็นร้อนใหม่ในโลกโซเชียลจีน กรณีคน “วัย 30+ จนถึงวัยกลางคน” ประสบปัญหาว่างงาน ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาแรงงานในประเทศ ซึ่งคนยิ่งอายุมากยิ่งเสี่ยงตกงานสูงขึ้นและหางานได้ยากขึ้นด้วย

ต้นตอของกระแสดังกล่าวมาจากโฆษณารับสมัครพนักงานแคชเชียร์อายุระหว่าง 18-30 ปี ของร้านสะดวกซื้อแห่งหนึ่งในจีน จนจุดชนวนให้เกิดการถกเถียงกันบนโซเชียลมีเดียเกี่ยวกับปัญหา “การว่างงานในวัยกลางคน

ด้วยเหตุที่จะมีบัณฑิตอีกหลายสิบล้านคนจบการศึกษาและเตรียมตบเท้าเข้าสู่ตลาดแรงงานในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ประเทศจีนซึ่งมีประชากรราว 1,400 ล้านคน จึงกำลังพยายามอย่างหนักเพื่อรับมือกับภัยคุกคามจากปัญหาประชากรหนุ่มสาวว่างงานจำนวนมาก ขณะที่คนอายุมากกว่า 30 ปี ขึ้นไป ก็ต้องเผชิญกับแรงกดดันในการหางานใหม่อย่างต่อเนื่อง

ความขมขื่นของคนหางานวัย 30+

ชาวเน็ตรายหนึ่งในเมืองหนิงโป ทางตะวันออกของมณฑลเจ้อเจียง คอมเมนต์ว่า “มันไม่ง่ายเลย” ลงบนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียเว่ยป๋อ (Weibo) ในโพสต์ของภาพโฆษณาร้านสะดวกซื้อแห่งหนึ่งที่รับสมัครพนักงานแคชเชียร์อายุระหว่าง 18-30 ปี

ทั้งนี้ โพสต์แสดงความไม่พอใจดังกล่าวดึงดูดผู้เข้าชมกว่า 140 ล้านวิว และจุดชนวนให้เกิดการสนทนากันกว่า 41,000 ครั้ง ซึ่งรวมถึงความคิดเห็นสะเทือนอารมณ์มากมาย

ขณะเดียวกัน ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตรายหนึ่งถามกับคนอื่น ๆ ว่า “หางานยากไหมตอนที่อายุเกิน 35 ปีแล้ว” พร้อมแนบอีโมจิที่แสดงถึงความขมขื่น

ด้านชาวเน็ตคนอื่น ๆ แสดงความคิดเห็นแตกต่างกันไปว่า “คิดว่าทุกวันนี้หางานง่ายหรือ”, “ตอนนี้ลดลงมาเหลือ 30 ปีแล้ว ขณะที่อายุเกษียณก็เพิ่มขึ้น แล้วจะทำยังไงกับคนที่อยู่ตรงกลางนี่ล่ะ”

แผนเพิ่มอายุเกษียณ ยังไร้ความคืบหน้า

ความคิดเห็นดังกล่าวมีขึ้นหลังสื่อของทางการระบุว่า จีนวางแผนที่จะเพิ่มอายุเกษียณเป็นระยะ ๆ เมื่อประชากรสูงวัยเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็ว ในปัจจุบัน เกณฑ์อายุเกษียณของจีนถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ โดยเกษียณอายุที่ 60 ปีสำหรับผู้ชาย และน้อยกว่าสำหรับผู้หญิงที่อาจจะเกษียณที่เมื่ออายุ 55 ปีจากงานออฟฟิศ หรือ 50 ปีหากทำงานในโรงงาน

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลจีนยังไม่ได้ประกาศเปลี่ยนแปลงเกณฑ์อายุเกษียณ หรือประกาศกลยุทธ์ระดับชาติที่เฉพาะเจาะจงเพื่อให้แน่ใจว่ามีการจ้างงานยาวนานขึ้น

คำสาปแห่ง “อายุ 35 ปี”

เมื่อปีที่แล้ว สื่อทางการจีนเสนอข่าวพุ่งเป้าไปที่นายจ้างโดยอ้างว่ามีพฤติกรรมการจ้างงานที่ “เลือกปฏิบัติ” ซึ่งรวมถึงการแสวงหาคนงานอายุน้อยกว่าและค่าจ้างที่ถูกกว่า จนมีคำเรียกกันอย่างกว้างขวางว่า “คำสาปแห่งอายุ 35”

ชาวเน็ตรายหนึ่งระบุบนเว่ยป๋อว่า “ฉันอายุ 29 ปี ... แต่ฉันถูกเลิกจ้างมาแล้ว 3 ครั้งตั้งแต่เรียนจบ ตอนนี้ไม่มีใครตอบเรซูเม่ของฉันเลย แม้ว่าฉันจะ (เขียน) ว่าฉันยังโสดและไม่มีลูกก็ตาม”

เมื่อเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา สำนักข่าวนิกเกอิเอเชียของญี่ปุ่นรายงานว่า นายจ้าว (นามสมมุติ) ชายชาวจีนวัย 35 ปี ที่เกิดในปี 2531 จากเมืองฝอซาน มณฑลกวางตุ้ง กล่าวว่า ถูกปฏิเสธจ้างงาน เนื่องจากมีอายุมากเกินไป โดยเขาเปิดเผยว่า ผู้สัมภาษณ์งานได้แจ้งแก่เขาว่า “เรากำลังต้องการคนที่เกิดหลังปี 2533 และไม่สามารถเสนอตำแหน่งงานให้กับคุณได้ในขณะนี้”

ขณะที่ผลสำรวจที่จัดทำโดย “จ้าวผิน” ซึ่งเป็นบริษัททรัพยากรบุคคลในเดือน เม.ย.2566 พบว่า พนักงาน 85% แสดงความกังวลเกี่ยวกับการเผชิญกับอุปสรรคในการหางานหรือการรักษาตำแหน่งงานที่ทำอยู่ เมื่ออายุเกิน 35 ปี โดยกลุ่มบุคคลที่ทำงานในอุตสาหกรรมอินเทอร์เน็ต การเงิน และยานยนต์มีความกังวลเกี่ยวกับเรื่องนี้มากเป็นพิเศษ

 

อ้างอิง: Reuters, Nikkei